posttoday

สฤกกา พงษ์สุวรรณ+วสุธา เชน แท็กทีมสร้างเมือง‘Well-Being’

16 มีนาคม 2562

สองนักวิจัยรุ่นใหม่ทำงานด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน

สองนักวิจัยรุ่นใหม่ทำงานด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน ด้วยอยากเห็นเมืองไทยเต็มไปด้วยบ้านและอาคารแนว Well-Being อยู่แล้วต้องสุขกาย สุขใจ ไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อม ดีทั้งต่อสุขภาพ และความปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตสำหรับคนทุกเพศทุกวัยได้แท้จริง

สฤกกา พงษ์สุวรรณ กับ วสุธา เชน สองนักวิจัยของ RISC - ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ศูนย์นี้ก่อตั้งโดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ระดับแนวหน้า แมกโนเลียควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) มีหลักการดำเนินธุรกิจพัฒนา ลงทุน และจัดการเพื่อที่อยู่อาศัยทั้งแบบบ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม รวมไปถึงตึกระดับบิ๊กโปรเจกต์ในแบบมิกซ์ยูส

มีพันธกิจใส่ใจทุกสิ่งที่มีชีวิตบนโลกใบนี้ โดยให้ความสำคัญกับการวิจัย การพัฒนาทุกๆโครงการภายใต้แบรนด์ แมกโนเลียส์ และวิสซ์ดอม อัพเดทนวัตกรรมอยู่เสมอ เพื่อการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นที่อยู่อาศัยชูคุณค่าให้แก่สังคมได้ชัดเจน

ที่นี่คือแหล่งความรู้ด้านงานวิจัยของภาคเอกชน ศูนย์วิจัยตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงย่านราชประสงค์ พื้นที่ 990 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น 8 โซน มีการติดตั้งระบบอัจฉริยะ (IntelligentSystem) ตรวจจับการใช้พลังงานและตรวจจับคุณภาพอากาศ (IAQ) และควบคุมในทุกพื้นที่ เพื่อสุขภาวะที่ดี ศูนย์ RISC ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก Well Building Standardโดยสถาบันระดับสากล The InternationalWELL Building Institute (IWBI) เป็นแห่งแรกของไทย

การทำงานในกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลทางสิ่งแวดล้อม ทั้งในกลุ่มนักวิชาการไทยและแวดวงระดับนานาชาติ ซึ่งจัดเป็นผู้ริเริ่มทำอาคารรูปแบบ Well ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สองคนทำงานได้พูดคุยกันถึงแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสังคม โดยเอื้อประชาชนทุกๆ คนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการอนุรักษ์โลกอนาคต นับเป็นคนทำงานวิจัยรุ่นใหม่ที่สร้างทีมอย่างแข็งแกร่ง

“ที่นี่คือแหล่งความรู้”

สฤกกา พงษ์สุวรรณ+วสุธา เชน แท็กทีมสร้างเมือง‘Well-Being’

นักวิจัยหญิงในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน สฤกกา หรือ ดร.จั้ม บอกว่าRISC เปิดให้เข้าเยี่ยมชม ตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ใครสนใจสามารถเดินเข้ามาชมได้เลย ที่นี่เปิดให้เข้าชม “ฟรี” อีกทั้งยินดีมอบองค์ความรู้ที่มีทุกอย่างให้โดยไม่มีปิดบัง

หรือใครจะเข้ามานั่งทำงาน นั่งคุยแลกเปลี่ยนความรู้ความเห็นกันก็ได้ สำหรับนักเรียน นักศึกษา หรือนักพัฒนาอสังหาฯ

รวมทั้งคนที่สนใจข้อมูลเชิงลึก ใคร่รู้ขอติดต่อขอเข้ามาฟังบรรยายแบบลงลึก หรือสัมผัสสถานที่จริงได้เลย ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของEco Material Library รวบรวมรายละเอียด และตัวอย่างวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่า 300 รายการ แสดงให้เห็นชัดถึงความมุ่งมั่นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพชีวิตให้แก่วงการอสังหาฯ ได้ยั่งยืน

“งานของเราพูดเรื่องอนาคต เช่น ปัญหาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดขึ้นได้ในบ้าน เรื่องสารเรดอลในหินแกรนิต วัสดุหรูหราที่ใช่ว่าจะมีผลดีต่อสุขภาพ และอีกหลายๆ ปัญหา ทีมวิจัยเราทำมา 10 กว่าปีแล่วค่ะ ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ได้คิด (ทำ) เพื่อเป็นฐานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เน้นในเรื่องความปลอดภัยทั้งสุขภาพจิต และสุขภาพใจ จะทำอย่างไรให้ผู้อยู่อาศัยมีความสุข

ในช่วงปีที่ผ่านมาเรื่องยากๆ เหล่านี้กำลังถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในวงการอสังหาฯในกลุ่มที่ใส่ใจผู้อยู่กันมากขึ้นค่ะ การออกแบบที่อยู่อาศัยทำให้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้กลายเป็นเรื่องเดียวกันและไม่ใช่เรื่องแปลกแยกกับการกินคลีน การวิ่งเพื่อสุขภาพ แล้วคนยุคนี้ก็เข้าใจ และเลือกใช้ชีวิตที่มีคุณภาพกันมากขึ้นด้วยค่ะ”

งานคิดค้นที่อยู่อาศัยให้คนอยู่แล้วมีความสุข จะเปลี่ยนนิยามคำว่าลักซ์ชัวรี่ในอนาคต สฤกกา ให้ความหมายใหม่ว่า คือที่อยู่ซึ่งให้สุขภาวะ ไม่ใช่ที่อยู่ที่สร้างจากวัสดุราคาแพงอีกต่อไป

“อาคารที่ทำให้เราพูดคุยกับคนข้างๆ มากขึ้น อาคารที่อยู่แล้วสุขภาพดีขึ้น หรือไปทำงานเครียดๆ พอกลับเข้ามาในบ้านความเครียดก็หายวับไปได้ทันที หรือพ่อแม่ลูกมีปากเสียงกันประจำ แต่บ้านหลังใหม่ที่เพิ่งเข้ามาใช้ชีวิตอยู่กลับไม่เคยทะเลาะกันเลย

นี่คือสิ่งที่เรานำผลงานวิจัยใส่เข้าไปใช้ค่ะและในอนาคตก็คือการคิดเทคโนโลยีเพื่อความสุขของผู้อยู่อาศัยมากขึ้น

เน้นสุขภาพจริงๆ ค่ะ เช่น มอนิเตอร์อากาศอุณหภูมิ ฝุ่น ซึ่งเมื่อแสดงผลออกมาแล้วก็ต้องไม่หยุดแค่นี้ แต่ต้องควบคุมต่อไปได้อีกนะคะ ในเรื่องไลฟ์สไตล์ความปลอดภัย เช่นถ้าลืมถอดปลั๊กเตารีด มีการคิดค้นระบบคอนโทรลสั่งปิดตัดสวิตช์โดยไม่ต้องตัดไฟตู้เย็นก็ยังทำงานต่อไปได้ค่ะ ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าเทคโนโลยีจะมาแทนคน แต่จะช่วยดูแลการใช้ชีวิตของคนให้มีคุณภาพชีวิตที่มีความสุขมากขึ้นค่ะ”

พื้นที่ทำงาน “กรีน”

สฤกกา พงษ์สุวรรณ+วสุธา เชน แท็กทีมสร้างเมือง‘Well-Being’

นักวิจัยหนุ่มรุ่นใหม่ วสุธา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และระดับปริญญาโท MSc in Advanced Sustainable Design จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ สหราชอาณาจักร

เริ่มต้นการทำงานเป็นสถาปนิก จากนั้นผันตัวสู่งานด้านวิจัยของศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC ด้วยพื้นฐานทั้งศาสตร์และศิลป์ ทำให้สนใจรูปแบบงานวิจัยที่ให้ความสำคัญทั้งด้านตรรกะเหตุผล และความสวยงาม

งานรับผิดชอบในตำแหน่งสถาปนิกวิจัยอาวุโส RISC ต้องบูรณาการองค์ความรู้เกี่ยวกับสุขภาวะที่สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างด้วยวสุธา มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเด็นนี้ให้เป็นที่เข้าใจในวงกว้าง ด้วยการนำมาตรฐานการออกแบบระดับสากล Well มาปรับใช้ได้จริงกับการพัฒนาโครงการ

“ตอนเริ่มงานก็คิดเสียดายครับว่า เราอดออกแบบแล้วนะ แต่การได้ทำงานกับรุ่นพี่นักวิจัยทีม RISC ผมได้ไปฟังเสวนาทั้งในและต่างประเทศ ขอใช้คำนี้ได้เลยครับว่าเปิดกะโหลกฟังนักวิชาการเจ๋งๆ ให้ข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มประสบการณ์การทำงานให้เราได้ตลอดเวลา

วันนี้คนออกมาวิ่งเพื่อดูแลสุขภาพ กลายเป็นเทรนด์ แล้วก็คือเรื่องเดียวกันครับเทรนด์งานออกแบบที่อยู่อาศัยก็กำลังพูดถึงสุขภาพ ผมได้มาทำงานกับพี่ๆ มุ่งทำงาน “กรีน” หัวใจเดียวกัน และกลายเป็นพื้นที่การทำงานของเราที่คิดเหมือนๆ กัน โดยไม่แค่คิดนวัตกรรมรักษ์โลก หรือคิดดูแลแค่สิ่งแวดล้อม”

ในงานสัมมนามีประโยคที่วสุธาได้ฟังแล้วคิดว่า มันใช่เลย! ประโยคที่ว่าก็คือ โลกเราไม่เคยหยุดการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ยุคน้ำแข็งมาแล้วที่มีการเกิดไคลเมต เชนจ์ หรือภาวะโลกร้อนขึ้นอย่างรุนแรง และเปลี่ยนโลกไปสู่อีกยุค

“วันนี้โลกคงเกิดวิวัฒนาการไม่มีวันหยุดซึ่งเรื่องนี้ก็อาจดูไกลตัวนะครับ ฟังดูอาจเหมือนว่าไม่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของเราเลยเราอาจคาดไม่ถึงกับการใช้ชีวิตด้วยความเคยชิน บ้าน หรือคอนโดที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วย 10-20 ปี กลายเป็นสิ่งที่มีผลต่อสุขภาพเราอย่างมากที่สุด

การใช้ชีวิตในห้องเล็กลงทุกวันพื้นที่ 20 ตร.ม. บ้านในเมืองมีห้องแทบเหมือนตู้ปลาและไม่มีการถ่ายเทอากาศ งานของเราคือนำกรีนเข้าไปอยู่ในงานดีไซน์ ผมได้คิดงานกว่างานออกแบบที่เคยทำมาก่อนหน้านี้นะครับ”

สฤกกา พงษ์สุวรรณ+วสุธา เชน แท็กทีมสร้างเมือง‘Well-Being’

ในฐานะคนทำงานพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย วสุธาไม่คิดเพียง 1 ห้องมีแอร์ 2 เครื่อง แต่ควรมีเครื่องระบายอากาศให้เพิ่มไปด้วย เพื่อแลกอากาศภายในห้องกับนอกห้องเกิดการไหลเวียน

“ตึกอาคารบ้านต้องดีกับคนอยู่ คอนโดมีคนแก่ที่เฝ้าห้องทั้งวันก็สบายขึ้น ไม่ป่วยง่ายไม่เป็นอัลไซเมอร์ได้ง่ายๆ ด้วยครับ”

โครงการ เดอะ ฟอเรสเทียส์ (The Forestias) คือ การสร้างชุมชนที่ส่งเสริมให้มีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และคนหลากหลายวัย ด้วยพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ใจกลางโครงการ วสุธาชี้ว่ากระบวนการวิจัยของการศึกษานี้ ต้องการเก็บข้อมูลปัจจัยด้านสุขภาพของคนในชุมชนที่มีผลจาก
การอยู่ร่วมกัน สร้างพื้นที่การออกกำลังกาย การเข้าถึงพื้นที่สีเขียว และการวิเคราะห์ประมวลวิจัยให้ออกมาเป็นรูปธรรมหรือสุขภาพของผู้ใช้โครงการที่ชี้วัดได้ รวมทั้งสิ่งที่จับต้องไม่ได้เป็นนามธรรม หรือสุขภาวะทางด้านอารมณ์ และจิตใจ สิ่งที่คนเมืองล้วนต้องการ

นอกจากนี้ วสุธายังมีส่วนร่วมอีกหนึ่งโครงการวิจัยที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาวะในอาคารของไทย ได้แก่ “COGfx study : Global Buildings” เป็นการศึกษาร่วมกันกับศูนย์เพื่อสุขภาพและสภาพแวดล้อมสากล (Center for Health and Global Environment - CHGE)โดยศูนย์วิจัย RISC ได้รับคำเชิญเพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเก็บข้อมูล และนำไปศึกษาต่อยอด ถึงปัจจัยของสภาพแวดล้อมภายในอาคารสำนักงานที่ส่งผลต่อสุขภาพ และประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน

ผลลัพธ์ของงานวิจัยนี้ ประยุกต์ไปสู่การทำงานจริง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอาคารในระดับสากล

“เรากำลังเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์เกาะความร้อน หรือ Heat Island Effect ปรากฏการณ์พื้นที่ในมหานครมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณโดยรอบ ความแตกต่างของอุณหภูมิทำให้ไม่มีลมหรือมีลมพัดอ่อน สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเกราะความร้อนที่เราเรียกว่า ป่าคอนกรีตสร้างเกราะความร้อน
ครอบเมือง และเป็นภาพใหญ่ของโลก มหานครปารีสมีเป้าหมายลดอุณหภูมิเมืองให้ได้ 2 องศาเซลเซียส

ทิศทางการทำงานของเราก็ตั้งเรื่องนี้เป็นโจทย์เช่นกันครับ ทีมวิจัย RISC เกิดขึ้นมาเพื่อคิดวิธีรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และเรื่องนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถทำได้สำเร็จโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มันต้องเป็นความร่วมมือกันหลายๆ ฝ่าย เช่น การลดโลกร้อน ถ้าทั้งโลกเราช่วยกัน ตัวเลขอุณหภูมิมันจะค่อยๆ ลดลงได้แน่ๆ ครับ”

ด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างสุขภาวะที่ดีในสิ่งแวดล้อม วสุธามีโอกาสเป็นผู้จัดการร่วมในงานวิจัย “Health And Well-Being” ของโครงการ เดอะ ฟอเรสเทียส์ (The Forestias)ได้ร่วมงานกับนักวิจัยชั้นนำจากคณะสาธารณสุข แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จึงถือเป็นการยกระดับมาตรฐานของวงการอสังหาฯ
ในไทยไปได้อีกหนึ่งรุ่นคนทำงาน

“เราทำระบบ Well-Being มีการระบายอากาศภายนอกเข้ามาข้างในบ้าน มีเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่นละอองที่ทำให้รู้ว่าจุดที่เราอยู่อากาศดี-ไม่ดี ระบบแอร์ แสง ที่พอเหมาะ พื้นที่ปูมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาล เราสร้างตึกกลางเมืองที่อยู่สบาย ผมทำงานอยู่กับทีมนี้3 ปีแล้วครับ

การร่วมทีมวิจัยพื้นที่ RISC คือ งานที่ผมภาคภูมิใจมาก งานพัฒนาธุรกิจอสังหาฯก็คือ ผู้สร้างเมือง แล้วการสร้างสิ่งที่ดีก็ไม่แค่ขายโครงการ ผมมีหลักการทำงานโดยคิดว่าโครงการแรกอาจไม่สมบูรณ์นักแต่เราก็จะได้ข้อมูลเพื่อสร้างโครงการที่ 2ให้สมบูรณ์แบบขึ้นครับ”