posttoday

รถไฟไทย การเดินทางโรแมนติกแบบไทยๆ [1]

02 มีนาคม 2562

จะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเดินทางโดยรถไฟ

จะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเดินทางโดยรถไฟเป็นความโรแมนติกที่สุดในบรรดาวิธีการเดินทางทั้งหมด

ยกเว้นการขี่ม้า ซึ่งฉันคิดว่าการขี่ม้ากับอัศวินเป็นที่สุดของคู่รัก

แม้กระทั่งละคร “บุพเพสันนิวาส”ยังมีฉากพระเอกพานางเอกขี่ม้าชมเมือง แต่ในปี พ.ศ.นี้ มันคงเป็นแค่ภาพจำลองในอดีตที่เราเห็นในหนังหรือละคร เวลาเราต้องการแสดงให้เห็นถึงความโรแมนติกของคู่รัก

รถไฟก่อกำเนิดมาสักประมาณ 200 กว่าปีที่แล้ว เมื่อปี 2357 จอร์จ สตีเฟนสัน ชาวอังกฤษ ได้ประดิษฐ์รถจักรไอน้ำชื่อว่าร็อกเกต ได้สำเร็จ เพื่อใช้ลากจูงแทนม้าขนถ่านหินในเหมือง หลังจากนั้นค่อยพัฒนานำมาใช้ขนส่งผู้โดยสารและสินค้า

ส่วนรถไฟเข้ามาในกรุงรัตนโกสินทร์ในปี 2398 ก็เพราะ เซอร์จอห์น เบาว์ริง นักเจรจาชาวอังกฤษนี่แหละ เป็นผู้เจรจาสนธิสัญญาใหม่ โดยคราวนี้ได้อัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการของสมเด็จพระนางวิกตอเรียแห่งอังกฤษ เพื่อถวายแด่รัชกาลที่ 4

ประกอบด้วยรถไฟจำลองย่อส่วนจากของจริง เป้าหมายคือจะให้เป็นเครื่องดลใจคิดสถาปนากิจการรถไฟขึ้นในราชอาณาจักรไทย

แต่ในช่วงเวลานั้นภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังไม่มั่นคง และมีจำนวนพลเมืองน้อย กิจการจึงระงับไว้ก่อน จนกระทั่งปี 2430 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 การเริ่มต้นกิจการรถไฟจึงเกิดขึ้น

เนื่องด้วยสาเหตุการเข้าถึงราษฎรในที่ห่างไกลลำบากโดยทางเรือและทางเกวียน และการล่าอาณานิคมก็ขยายไปทั่วอินโดจีนการสร้างทางรถไฟจึงเป็นการตรวจตราป้องกันการรุกราน และเปิดภูมิประเทศให้ประชาชนพลเมืองเข้าบุกเบิกพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ได้แลกเปลี่ยนขนส่งสินค้าและผู้โดยสารไปมาถึงกันได้สะดวกขึ้น

เส้นทางแรกที่สำรวจเพื่อการสร้างทางรถไฟคือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ หลายปีต่อมาเราก็มีรถไฟอย่างเป็นทางการ การสร้างรถไฟในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนใหญ่จะเป็นฝรั่งทั้งหมดที่เป็นผู้ดำเนินการ มีคนไทยอยู่น้อยมากที่จะเป็นลูกมือ

การพัฒนาการรถไฟต่อมาจึงเป็นเรื่องยากยิ่งนัก ฉันเข้าใจว่าการส่งลูกหลานไปเรียนเรื่องวิศวกรรมในต่างประเทศสมัยนั้นเป็นเรื่องของเจ้าขุนมูลนาย ความรู้ที่ส่งมาถึงคนไทยในการต้องดำเนินกิจการรถไฟไทยจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนยิ่งกว่า

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงโครงสร้างที่การรถไฟที่มีระบบขั้นตอนมากมาย แล้วยิ่งทำให้คนไทยซึ่งมีการศึกษาแค่ขั้นพื้นฐานมีน้อย ยิ่งทำให้เกิดการพัฒนาได้ยาก แต่ถึงกระนั้น ไม่ว่ารถไฟจะมีปัญหาแค่ไหน การเดินทางโดยรถไฟก็จะได้รับเลือกเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยความปลอดภัยและราคาถูก

โดยเฉพาะรถไฟชั้นสาม ที่ได้เห็นวิวหลักล้านแต่จ่ายที่นั่งแค่หลักสิบ ซื้อความโรแมนติกได้ไม่ยากเลย และในช่วงที่รัฐยื่นมือเข้ามาช่วยก็ได้นั่งฟรี

ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนฉันตัดสินใจในบ่ายวันหนึ่งว่าฉันจะขึ้นเชียงใหม่ในวันหยุดยาว ครั้งนั้นฉันจำไม่ได้ว่าเป็นวันหยุดเนื่องในโอกาสใด แต่เป็นครั้งแรกที่ฉันคิดจะกลับไปเยี่ยมเมืองเชียงใหม่อีกครั้งในรอบหลายปี

รถไฟเป็นอันดับแรกผุดขึ้นมาในความคิด เมื่อคิดแล้วโทรไปถามรายละเอียดการเดินทางในค่ำวันนั้น ทางปลายสายแจ้งว่าให้มาซื้อตั๋วเลย เพราะรถไฟชั้นหนึ่งชั้นสองเต็มหมดแล้ว เหลือชั้นสามซึ่งไม่รับจอง เพราะเปิดให้นั่งได้ตามอัธยาศัย

ฉันโทรหาเพื่อนเพื่อชวนขึ้นเชียงใหม่ด้วยกัน เพื่อนตอบรับทันที เรานัดเจอกันตอน 2 ทุ่ม เพราะรถไฟเที่ยวที่เราจะไปออก 4 ทุ่ม เมื่อถึงหัวลำโพง ฉันดิ่งไปที่ช่องซื้อตั๋ว ฉันได้ตั๋วชั้นสาม 2 ใบ ตอนนั้นจำได้ว่าราคาไม่ถึง 200 บาท

ฉันเคยนั่งรถไฟตอนเด็กๆ และเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก แม้ว่าจะเป็นชั้นสามก็ตาม มันสนุกมาก ได้กินไก่ปิ้ง อาหารจากชาวบ้านที่ขึ้นมาขายตามสถานี และยิ่งได้ดูหนัง “ผีเสื้อและดอกไม้” ชีวิตบนรถไฟยิ่งตอกย้ำความโรแมนติกมากขึ้น

กลับมายังหัวลำโพงในปีนั้น รถไฟชั้นสามที่ฉันขึ้นค่อนข้างแออัด ฉันกับเพื่อนเริ่มเข้าใจสถานการณ์ว่าอีกอย่างน้อย14 ชั่วโมง เราจะเจอกับอะไร

เรามองหน้ากันและตัดสินใจไปยังตู้เสบียง รถไฟยังไม่ออก ตู้เสบียงยังไม่เปิด แต่ฉันกับเพื่อนก็ถามเจ้าหน้าที่ว่าฉันนั่งรอสั่งอาหารได้ไหม เจ้าหน้าที่ตู้เสบียงบอกได้ แต่ถ้าจะนั่งยาวต้องมีเงื่อนไข

ฉันถามว่าเงื่อนไขอะไร เขาตอบว่าต้องสั่งเบียร์อย่างน้อย 6 ขวด เพื่อนฉันตอบทันทีว่าได้ เอามาเลย 12 ขวด พี่ขอ 2 ที่ เจ้าหน้าที่จัดการเคลียร์ที่นั่งให้ฉันและเพื่อนทันที และขอให้จ่ายเงินเลย ฉันและเพื่อนไม่มีปัญหา เพียงแต่บอกว่าให้ทยอยมาเสิร์ฟ เพราะเบียร์จะไม่เย็น

ฉันและเพื่อนจึงได้นั่งที่ตู้เสบียงอย่างสบาย เงื่อนไขที่พนักงานรถไฟยื่นให้ก็น่าแปลกอยู่ ราคาเบียร์ก็แพงกว่าร้านค้านิดหน่อยไม่มากนัก ฉันคิดว่าการรถไฟฯ คงไม่ได้รับรายได้จากสิ่งนี้แน่นอน แต่ฉันคิดว่าก็คุ้มที่เราจะนั่งกินเบียร์ไปคุยกันไปทั้งคืน และได้ดูวิวตอนเช้าในช่วงเข้าเด่นชัย คงสวยน่าดู

ระหว่างนั้นเราก็ดูเมนูอาหารสั่งเป็นกับแกล้ม สักพักนายสถานีประกาศ รถไฟเริ่มเคลื่อนออกจากสถานี ผู้คนเริ่มวิ่งตามรถไฟ แล้วเริ่มล้นทะลักมาที่ตู้เสบียงซึ่งไม่มีประตูกั้น เพราะประตูเสีย ฉันและเพื่อนนั่งกันอย่างสบาย 2 คน ขณะที่มีที่นั่ง 4คน ไม่มีใครสามารถมานั่งเพิ่มได้ เรามีอภิสิทธิ์นี้ได้ เพราะเราสั่งเบียร์ถึง 12 ขวด

ในวันนั้น 12 ขวดสำหรับพวกเราไม่มากนัก เดี๋ยวก็คงหมด และอาจไม่เมาเท่าไหร่ด้วยภูมิคุ้มกันที่มีมาดี บรรยากาศเริ่มจ๊อกแจ๊กจอแจ เมื่อรถไฟจอดสถานีไหน ก็มีผู้คนขึ้นมาเพิ่มอีกจนเรียกว่าต้องยืนเท่านั้น นั่งก็ยังไม่ได้ คนเริ่มล้นเข้ามาที่ตู้เสบียง ฉันนั่งอยู่ติดกับทางเข้าพอดีและยังมีที่นั่งว่างอย่างละ 1 ที่ข้างฉันและเพื่อน

พอมีที่ว่างจึงมีวัยรุ่นชายค่อยๆ เนียนมานั่งกับฉันและเพื่อน แต่ในที่สุดเจ้าหน้าที่ผู้อารักขาตู้เสบียงก็ไล่วัยรุ่นออกไป บอกไม่มีสิทธินั่ง ความจริงฉันก็ค่อนข้างโล่งใจเพราะไม่แน่ใจในความปลอดภัย