posttoday

พ่อลูกนัก (บุก) ธุรกิจ วิจัย+ณัฐพล วิสุทธิไกรสีห์

02 มีนาคม 2562

ยกให้เป็นอีกหนึ่งลูกไม้ใต้ต้น สำหรับคู่พ่อลูกนักธุรกิจ วิจัยวิสุทธิไกรสีห์ วัย 67 ปี

ยกให้เป็นอีกหนึ่งลูกไม้ใต้ต้น สำหรับคู่พ่อลูกนักธุรกิจ วิจัยวิสุทธิไกรสีห์ วัย 67 ปีประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัทเอเซียติค อุตสาหกรรมเกษตร และผู้ช่วยคนสำคัญ “ณัฐ” ณัฐพล วิสุทธิไกรสีห์ บุตรชายคนโต วัย 41 ปี ผู้เข้ามาช่วยดูแลกิจการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เพื่อสานต่อกิจการของครอบครัว

เอเซียติค อุตสาหกรรมเกษตรก่อตั้งในปี 2536 ดำเนินธุรกิจส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวมากว่า 25 ปี มีลูกค้ากว่า 80 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบันเป็นผู้นำด้านการผลิต แปรรูป และส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวรายใหญ่ของประเทศไทยหลากหลายแบรนด์ ซึ่งหลายคนรู้จักดีแล้ว เช่น โคโค่แม็ก น้ำมะพร้าวแท้ 100%, กะทิ “อัมพวา” และน้ำนมมะพร้าว “มิลค์กี้ โคโค่” นั่นเอง

พ่อเล่าถึงลูกชายคนเก่ง “ประสบการณ์คือสิ่งสำคัญ”

พ่อลูกนัก (บุก) ธุรกิจ วิจัย+ณัฐพล วิสุทธิไกรสีห์

“ผมเป็นพ่อที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของเวลาและความสัมพันธ์กับลูกและครอบครัว ถึงแม้ว่างานที่ทำจะหนัก แต่การทำหน้าที่พ่อต้องไม่บกพร่อง”

วิจัย เล่าว่า สมัยที่ลูกๆ ยังเล็ก หากเขาต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งภาระหน้าที่ไม่ได้เป็นทางการจนเกินไป ก็จะพาลูกไปด้วยทุกครั้ง ระหว่างการเดินทางก็มีท่องเที่ยว เดินเล่น พูดคุย ถ่ายภาพร่วมกัน บ่อยครั้งที่ลูกมีคำถาม มีข้อสงสัย จากการสังเกตเห็นสิ่งต่างๆ ที่แปลกใหม่ แตกต่างไปในแต่ละสถานที่

“เมื่อลูกถาม เราก็ตอบ ไขข้อสงสัยเหล่านั้นของเขาด้วยการตั้งคำถามกลับไป ให้เขาได้ฝึกการคิด การวิเคราะห์ และตัดสินใจด้วยตัวของเขาเอง ถือว่าฝึกให้กระบวนการคิดของเขาได้ทำงาน ไม่ปิดกั้นสำหรับการเดินทางไปทำงานไปในแต่ละครั้งเป็นระยะเวลาสั้นยาวต่างกัน ให้ลูกได้ค่อยๆ สัมผัส และซึมซับการทำงานของเราไปในตัว”

วิจัย กล่าวว่า สิ่งที่ลูกได้รับกลับมานั้นเป็นสิ่งมีค่า ที่จะอยู่ติดตัวเขาไปตลอดเวลา นั่นคือ “ประสบการณ์” ตอนเป็นเด็กต้องใช้เวลาซื้อประสบการณ์ เมื่อเติบใหญ่มีประสบการณ์มากขึ้น เขาก็จะสามารถใช้ประสบการณ์ซื้อเวลา ใช้ประสบการณ์เป็นเครื่องทุ่นแรงให้เราทำสิ่งต่างๆ ในเวลาที่สั้นที่สุด แต่ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

“สองคนพ่อลูกชอบอ่านหนังสือเหมือนกัน หนังสือเล่มไหนที่เห็นว่าดี ก็จะส่งต่อให้ลูกอ่านด้วย ซึ่งการเลือกอ่านหนังสือ หรือความชอบในประเภทของหนังสือต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงนิสัย และความสนใจของลูกๆ แต่ละคน”

สำหรับณัฐ หรือณัฐพล ลูกชายคนโต วิจัย บอกว่า เป็นคนช่างสังเกต ช่างคิด มีสมาธิ และใส่ใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ถ้าสนใจอยากรู้สิ่งใด จะใช้เวลาในการศึกษาสิ่งเหล่านั้นแบบเจาะลึก ใช้เวลาศึกษาถึงแก่นแท้ของมัน

“เท่าที่เลี้ยงดูกันมา ณัฐไม่ได้มองอะไรผิวเผินแค่ภายนอก แต่จะมองทุกอย่างแบบวิเคราะห์เจาะลึก สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อ คือไม่มีคำว่า เก่ง กับ เฮง เพราะนั่นคือความสำเร็จเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่สิ่งที่ยั่งยืนก็คือ เก่ง กับ ดี เพราะความเก่งเป็นที่หมายปองของทุกคน แต่ความดีเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างบารมี และการเป็นที่ยอมรับ”

การที่ลูกเข้ามารับผิดชอบธุรกิจ วิจัย ชี้ว่าก็หมายถึงการที่เขารับภาระหน้าที่รับอำนาจต่อจากเขาไป แต่อำนาจไม่ใช่บารมี บารมีต้องเกิดจากความดีที่เขาทำและสร้างด้วยตัวของเขาเอง วิจัยเชื่อว่าความดีสามารถสร้างบริวารในเชิงธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม เกิดการสนับสนุนและปกป้อง ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

วิจัย ยังเล่าถึงความภาคภูมิใจในตัวลูกชาย ได้แก่ การที่ณัฐพยายามฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ เริ่มต้นก้าวจากศูนย์ และค่อยๆ พัฒนาตนเอง สร้างประสบการณ์และภูมิคุ้มกันที่ดี หลายคนตั้งข้อสังเกตเรื่องการเริ่มจากศูนย์ แต่วิจัยเชื่อในความสำคัญของการเป็นคนทำงานที่แท้ หากเท้าไม่ติดดินก็จะไม่เข้าใจชีวิตจริงของคนทำงาน

“การที่เขาค่อยๆ ขยับทีละก้าวๆ ทำให้เขาเข้าใจว่าเวลาสั่งงานคนอื่น คนที่ทำงานคิดอย่างไร มีข้อจำกัดตรงไหน มีความเป็นไปได้หรือเปล่า ไม่ใช่ว่าสั่งๆ ไป แล้วทุกคนต้องทำตามคำสั่ง ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่ปฏิเสธที่จะเรียนรู้ลงมือทำในแบบที่เราอยากให้เขาได้สัมผัส จนเป็นผู้บริหารอย่างเต็มตัว เราในฐานะพ่อก็ยังคงอยู่เคียงข้าง ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา”

ลูกเล่าถึงพ่อนักทำงานต้นแบบ “พ่อคือโมเดลแห่งความมุ่งมั่น”

พ่อลูกนัก (บุก) ธุรกิจ วิจัย+ณัฐพล วิสุทธิไกรสีห์

ณัฐพล หรือณัฐ ย้อนอดีตถึงคุณพ่อให้ฟังว่า ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นพ่อทำงานหนักมาตลอด ในช่วงที่ธุรกิจเพิ่งเริ่มต้น พ่อจะดูแลงานทุกอย่างทั้งหมด

“จะได้ยินพ่อพูดคุยเรื่องงานแทบทุกที่ทุกเวลา สมัยเรียนหนังสือจะต้องไปที่ออฟฟิศพ่อก่อน เพื่อรอกลับบ้านพร้อมกัน บ่อยครั้งที่พ่อมีภารกิจรับรองลูกค้าต่างประเทศ ก็จะพาเราไปด้วย ทำให้ซึมซับเรื่องของการทำงานและธุรกิจอย่างไม่รู้ตัว”

ณัฐ จบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบแล้วทำงานในสายสถาปัตยกรรม 2-3 ปี ก่อนตัดสินใจทิ้งงานสถาปนิกที่ชอบ มาเรียนรู้งานด้านบริหาร เพื่อสานต่อธุรกิจของครอบครัว จากวันนั้นถึงวันนี้ก็กว่า 15 ปีแล้ว

“จุดเริ่มต้นเกิดขึ้น เมื่อพ่อแยกตัวมาทำธุรกิจของตัวเอง ซึ่งค่อนข้างลำบาก เพราะต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด มีปัญหามีอุปสรรคให้ต้องฝ่าฟันค่อนข้างมาก ตรงนี้เองเป็นจุดที่เราตัดสินใจว่าต้องแบ่งเบาภาระของที่บ้าน ต้องเรียนรู้งาน ตั้งแต่การผลิต โรงงาน และการตลาด โดยมีพนักงานในบริษัทช่วยทำหน้าที่เป็นครูเป็นพี่เลี้ยงที่ดีมาก

การที่เราเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ที่สานต่อธุรกิจของครอบครัว เปรียบเสมือนกับการที่เรากำลังจะขึ้นรถที่ขับมาแล้ว การที่จะกระโดดขึ้นไป ต้องวิ่งตามรถให้ทันก่อน ต้องเข้าใจกระบวนการทำงานทั้งหมด ไม่งั้นกระโดดขึ้นไปก็ตกลงมา” ณัฐเล่า

นอกเหนือจากการทำธุรกิจที่พ่อได้สอนให้ ณัฐ ชี้ว่ามีสิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่าง คือการถ่ายทอดเทคนิคการบริหารงานบริหารคน

“ทำให้เราคิดเป็นทำเป็น ไม่ใช่คิดเองทำเอง องค์กรใหญ่ต้องรู้จักการบริหารทรัพยากรบุคคล จึงจะสามารถจัดการธุรกิจขนาดใหญ่ได้ สำหรับพ่อ ถือเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งในด้านการทำงานและการใช้ชีวิต พ่อจะบอกเสมอว่า ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ หากเรามีความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ

มีบ้างเหมือนกันที่ในบางสถานการณ์ ความคิดเห็นอาจจะไม่ตรงกัน เพราะต่างคนต่างก็มีวิธีคิดในแบบฉบับของตัวเอง แต่ทุกความต่างก็สามารถจัดการได้ด้วยการพูดคุย ถ้าเป็นเรื่องของธุรกิจ แลกเปลี่ยนกันด้วยตรรกะและเหตุผล บทสรุปที่ดีที่สุดรออยู่”

ณัฐ เล่าต่อว่า สิ่งที่เป็นห่วงพ่อมากที่สุดคือสุขภาพ ปัจจุบันพ่ออายุ 67 ปีแล้ว แต่ยังทำงานตลอดเวลา คอยให้คำปรึกษาเหมือนที่ผ่านมา ถึงทุกวันนี้ความใกล้ชิดกับพ่อไม่เคยเปลี่ยนแปลง เรื่องที่คุยกันมีตั้งแต่เรื่องงานและคำแนะนำเรื่องครอบครัว

“เพราะมีพ่อเป็นต้นแบบ เป็นตัวอย่างทั้งด้านการทำงานและการดำเนินชีวิต บ่อยครั้งที่ผมเจอเรื่องยากเรื่องท้าทาย ก็แค่คิดว่าก้าวผ่านทุกอย่างไปให้ได้ในแบบที่พ่อเคยทำ และรู้สึกภาคภูมิใจในตัวพ่อมาก”