posttoday

Dialogue of Father & Son บทสนทนาของพ่อกับลูก วิโชค&วิชญ มุกดามณี

24 กุมภาพันธ์ 2562

ได้มีโอกาสแวะเวียนไปบนเกาะรัตนโกสินทร์

ได้มีโอกาสแวะเวียนไปบนเกาะรัตนโกสินทร์ แหล่งรวมศิลปวัฒนธรรมเชิงจารีตและร่วมสมัยอีกครั้ง คราวนี้ไปเดินชมและละเลียดงานศิลปะในนิทรรศการ “Dialogue of Father & Son : บทสนทนาของพ่อกับลูก” โดยศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี และ ดร.วิชญ มุกดามณี

ถือเป็นการรวบรวมผลงานศิลปกรรมร่วมสมัยจำนวน 105 ชิ้น ณ ห้องแสดงนิทรรศการชั้น 1-3 หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพมหานคร

แนวความคิด “บทสนทนาของพ่อกับลูก” มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนความคิดของพ่อกับลูกที่มีบทบาทในการศึกษา การสร้างสรรค์ และการทำกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปะ

Dialogue of Father & Son บทสนทนาของพ่อกับลูก วิโชค&วิชญ มุกดามณี

กระบวนการสร้างสรรค์ทางจิตรกรรมผลงานสื่อผสม วิดีโอ และผลงานจัดวาง เปรียบเสมือนสื่อกลางในการพูดคุย แลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจ ทัศนคติระหว่างสองคน บางครั้งสะท้อนแง่มุมของการเห็นคล้อยตาม บางครั้งเป็นการถกเถียง และบางครั้งเป็นดั่งถ้อยคำปลอบประโลม

นิทรรศการครั้งนี้ บอกเล่าเรื่องราวความแตกต่างของศิลปินจากยุคสมัยที่แตกต่างกันมากกว่า 30 ปี หากแต่มีสายสัมพันธ์แนบชิดกันทั้งด้วยสายเลือดและความชื่นชอบในงานศิลปะที่ถ่ายทอดถึงกัน

ว่าไปแล้ว ศ.วิโชค ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สื่อผสม) ปี 2555 เป็นศิลปินที่สร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยมายาวนาน โดยเริ่มจากการสร้างงานจิตรกรรมในยุคแรกๆ ช่วงปี 2516 จากรูปร่างและเรื่องราวของมนุษย์

Dialogue of Father & Son บทสนทนาของพ่อกับลูก วิโชค&วิชญ มุกดามณี

จากนั้นจึงนำเรื่องราวชีวิตมนุษย์ ธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมของสังคมไทย ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความเจริญทางด้านวัตถุและสภาวการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาพัฒนาการสร้างสรรค์ โดยแสดงออกสู่รูปแบบศิลปะแนวสื่อผสม ผลงานจิตรกรรมและศิลปะแนวสื่อผสม ได้รับรางวัลทั้งในระดับชาติและนานาชาติ จึงนับได้ว่าเป็นศิลปินที่มีความทันสมัย และมีคุณูปการต่องานศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศ

หากใครได้ชมรูป “ม้าสีน้ำตาลที่ประจวบคีรีขันธ์” จะรับรู้ได้ว่า ศ.วิโชค ได้แรงบันดาลใจจากหลานสาว ซึ่งปู่จะหยิบอากัปกิริยาความเคลื่อนไหว ความมีชีวิต เข้ามาอยู่กับสิ่งแวดล้อม อยู่กับสิงสาราสัตว์ ซึ่ง ศ.วิโชค บอกถึงการแสดงนิทรรศการศิลปะครั้งนี้กับลูกชายว่า เป็นการรวมงานในโอกาสพิเศษจริงๆ ได้รับแรงบันดาลใจจากวัตถุสิ่งของที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน นำมาแสดงออกถึงประเด็นเนื้อหา ซึ่งสะท้อนและตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสังคมร่วมสมัยรอบตัว

“ทั้งในแง่มุมของความรัก ความอบอุ่นในครอบครัว วิถีชีวิตที่ได้รับอิทธิพลจากอุตสาหกรรม ทุนนิยม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความเชื่อ ความศรัทธาต่อศาสนา ความเชื่อ ความสะเทือนใจจากผลกระทบของเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจและบรรทัดฐานของสังคม รวมไปถึงการตระหนักรู้และวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษ ธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนไปเนื่องจากน้ำมือมนุษย์”

Dialogue of Father & Son บทสนทนาของพ่อกับลูก วิโชค&วิชญ มุกดามณี

ดร.วิชญ เป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัยมาเป็นเวลานานพอสมควร มีผลงานหลากหลายรูปแบบ จัดแสดงสู่สาธารณชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ในรูปแบบสองมิติ สามมิติ ผลงานแนวจัดวาง ภาพถ่าย และวิดีโอ เป็นต้น

ผลงานที่สร้างชื่อ เช่น งานในชุด “วิถีชีวิตเมือง” (City Life, Bangkok) ปี 2550 “วัฏจักรเมือง” (Urban Motion) และ “นัยของวัตถุ” (Implication of Materials) ปี 2551 งานชุด “คืนกลับ-ผันเปลี่ยน” (Re-Appearing) อีกงานแสดงสำคัญคือ ชุด “วัตถุคือชีวิต” (Art-ificial Being) ที่โดดเด่นของศิลปินผู้นี้ยังสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ผสมผสานศิลปะไทยและตะวันตกอย่างลงตัว

“คิดว่านิทรรศการครั้งนี้น่าจะมีการเสนอมุมมอองจากสองคนที่ต่างบุคลิก ต่างวัย ต่างเวลา แต่มันมีความเชื่อมโยงกัน ด้วยความเป็นครอบครัวเดียวกัน แล้วก็เป็นเรื่องความรักในงานศิลปะที่ถ่ายทอดมาถึงกัน ชิ้นที่ชอบมากเป็นชุดลูกสาวของผม เป็นหลานสาวของปู่เป็นแรงบันดาลใจจากชีวิตจริงๆ

Dialogue of Father & Son บทสนทนาของพ่อกับลูก วิโชค&วิชญ มุกดามณี

ผมว่าไอเดียเรื่องบทสนทนา การแลกเปลี่ยน การแชริ่ง เข้าใจว่าเขาคิดอย่างไร เราคิดยังไง ความเคารพความคิดซึ่งกันและกัน มันต่อยอดออกจากความเป็นแค่ครอบครัวไปสู่สังคมวงกว้างได้”

แวะไปชมนิทรรศการได้ถึงวันที่ 3 มี.ค. 2562 โดยหอศิลป์เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันพุธ เวลา 10.00-19.00 น. โทร. 02-281-5360-1 หรือที่เว็บไซต์ www.queengallery.org และที่เฟซบุ๊กเพจ queengallerybkk

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : [email protected]