posttoday

วิถีไบค์เกอร์ เส้นทางของ‘จอห์น ไรเดอร์’

23 กุมภาพันธ์ 2562

หากจะเอ่ยถึงชื่อบุคคลที่เกี่ยวกับแวดวงรถจักรยานยนต์

หากจะเอ่ยถึงชื่อบุคคลที่เกี่ยวกับแวดวงรถจักรยานยนต์ หนึ่งในชื่อที่โดดเด่นขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้นชื่อของ “จอห์น ไรเดอร์” หรือ อริยะพงษ์ เจริญสุข พิธีกรรายการรถจักรยานยนต์หลายรายการ ที่มีผลงานส่วนตัวเป็นการไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กและมีผู้ติดตามมากถึง 3.7 แสนคน ทำให้เขากลายเป็นเน็ตไอดอลได้รับความนิยมอย่างมาก

อริยะพงษ์ เปิดเผยว่า เขาเริ่มต้นเข้าสู่แวดวงรถยนต์ด้วยการพากย์เสียงการแข่งขันรถดริฟท์ รถเซอร์กิต จากนั้นได้มีโอกาสจัดรายงานเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์เป็นต้นมา มีชื่อรายการว่า “สปีดไรเดอร์” ซึ่งตอบโจทย์ความสนุกของตัวเอง

เนื่องจากมีความชื่นชอบการตกแต่งรถจักรยานยนต์มาตั้งแต่วัยเด็ก จากนั้นไม่นาน ได้เปลี่ยนมาทำรายการถามตอบปัญหารถจักรยานยนต์ ในชื่อรายการว่า “กะโหลกกะลาไรเดอร์” มาถึงทุกวันนี้

เขาเล่าว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่ขณะนี้คือการถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้คนเป็นจำนวนมากเข้ามารับชมและกดติดตาม ทำให้ชื่อเพจเฟซบุ๊ก “จอห์นไรเดอร์” กลายเป็นที่รู้จักของคนในสังคม

ความนิยมเกิดจากการที่เป็นรายการแนะนำร้านจำหน่ายสินค้าตกแต่งรถจักรยานยนต์ เพราะในประเทศไทยมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นจำนวนมากจึงเห็นว่าน่าจะทำรายการที่มุ่งเน้นแนะนำร้านค้า หรือนำอุปกรณ์ตกแต่งนั้นๆ มาทดสอบคุณภาพ นำเสนอองค์ความรู้ที่หลายๆ คนอาจยังไม่รู้

ดังนั้นเนื้อหารายการจึงเน้นไปที่การทำเครื่องยนต์ น้ำมันเครื่อง แบตเตอรี่ ทั้งหมดเป็นรายละเอียดเล็กน้อยที่มีความสำคัญมากกับรถที่ผู้คนในประเทศกำลังใช้อยู่ ทว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงความสำคัญนี้

วิถีไบค์เกอร์ เส้นทางของ‘จอห์น ไรเดอร์’

ดังนั้นจึงต้องทำให้คนดูได้ประโยชน์มากที่สุดจากการรับชมรายการ ผ่านการทดสอบด้วยตัวเอง ใช้งานจริง อะไรดีก็บอกว่าดี อะไรไม่ดีเราก็ยืนยันว่าไม่ดี ไม่มีการอวยเด็ดขาด จากนั้นให้ผู้ชมเป็นผู้ตัดสินใจเอง

“ไม่คาดคิดว่าจะมีผู้ติดตามเยอะขนาดนี้ตอนแรกคิดแค่ว่าทำเล่นๆ ทำเพราะชอบและใจรัก ซึ่งปรากฏว่าผลตอบรับดี ผู้ชมได้ประโยชน์ ผมใช้วิธีซื้อของตกแต่งรถจักรยานยนต์มาทำรีวิวด้วยตนเอง ไม่มีการมาถึงแล้วอวย เพราะถ้าไม่ดีจริงจะเสียชื่อ ผมไม่ยอมเสียชื่อแน่นอน”

อริยะพงษ์ เล่าอีกว่า หนึ่งในของสะสมที่จอดอยู่ภายในบริเวณบ้าน มีทั้งจักรยานยนต์บิ๊กไบค์คันใหญ่ เรียงลำดับรองลงมาเป็นจักรยานยนต์ขนาดกลาง และปิดท้ายด้วยคันเล็ก เริ่มจากรถสกูตเตอร์ที่เลือกใช้ต้องมีสมรรถนะทนทาน เครื่องยนต์แรง อะไหล่หาง่าย และมีคนใช้มากเพื่อที่จะนำมาทำเนื้อหาความรู้ให้ผู้ใช้รถรุ่นนั้นๆ ได้ศึกษาต่อยอด

สำหรับรถขนาดกลางของเขา มีทั้งขนาดเครื่องยนต์ตั้งแต่ 125-150 ซีซี เช่น ฮอนด้าเวฟ ฮอนด้าซูเปอร์คับ และฮอนด้ามังกี้ ทั้งหมดเป็นรถที่ชื่นชอบมาก เพราะมีความสวยงาม น่ารักดี จึงตกแต่งด้วยอะไหล่ที่ผลิตจากฝีมือคนไทย มีผลงานสวยงามในราคาถูกกว่าสินค้าต่างประเทศ

ส่วนจักรยานยนต์ขนาดกลาง เครื่องยนต์ 300 ซีซี ที่มี อาทิ ฮอนด้าฟอร์ซ่า และยามาฮาเอ็กแม็ก ทั้งสองรุ่นนี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้คน จึงเลือกซื้อมาสะสมและตกแต่งเช่นเดียวกัน

เขาเล่าอีกว่า ของสะสมที่รักมากที่สุดคือ รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ แบ่งเป็นรถสปอร์ต รถทัวริ่ง เช่น ยามาฮ่า ทีแม็กซ์ 530 และ ยามาฮา เอฟเจอาร์ 1,300 ซีซี ใช้เมื่อต้องการเดินทางไกลๆ ออกต่างจังหวัด เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อนแวดวงคนเล่นจักรยานยนต์บิ๊กไบค์มีอยู่จำนวนน้อยหาซื้อยาก และอุปกรณ์ตกแต่งแทบไม่มี

วิถีไบค์เกอร์ เส้นทางของ‘จอห์น ไรเดอร์’

ฉะนั้นผู้ที่หาซื้อมาขับขี่ได้ต้องมีใจรักจริงๆ ไม่ใช่มีเงินแล้วซื้อ แต่เพราะชอบและต้องการอยู่กับมันจริงๆ แตกต่างจากทุกวันนี้ที่มีรถบิ๊กไบค์ให้เลือกซื้อหลากหลาย หาซื้อได้ง่าย

ทั้งนี้ รถที่กำลังตกแต่งเสริมสมรรถนะอยู่ในขณะนี้ และเรียกได้ว่าเป็นที่สุดในประเทศ ยังไม่มีใครทำเหมือนอย่างที่เขาทำนั่นคือ ฮอนด้าฟอร์ซ่า 300 ตัวใหม่ล่าสุดปี 2018 ถูกนำมาโมดิฟายตามความต้องการ

เริ่มที่เปลี่ยนสีใหม่หมดให้มาเป็นสี บลู เมทัลลิก เกล็ดเพชร ส่วนล้อเปลี่ยนเป็นสีโครเมียมประกายทอง จากนั้นเพิ่มประสิทธิภาพเบรกใช้ของเบรมโบ้ รุ่นเอ็ม 4สีดำ ประกอบเข้ากับตัวปั๊มเบรกบนของ เกลสปีด

ขณะที่เรื่องของเครื่องยนต์ ปรับปรุงใหม่ทั้งหมดขนาดกระบอกสูบเดิมอยู่ที่ 72 มิลลิเมตร แต่ถูกขยายให้เป็นขนาด 76 มิลลิเมตร

“ในอนาคตคิดว่าจะขยายเพิ่มเต็มพิกัดเป็น 80 มิลลิเมตร ส่วนระบบคลัตช์เปลี่ยนเป็นคลัตช์แห้งแบบแผ่น แก้ไขปัญหาการออกตัวแล้วสั่นที่เกิดกับฟอร์ซ่าโดยเฉพาะ อีกทั้งย้ายหม้อน้ำจากเดิมที่อยู่บริเวณกลางตัวรถให้มาอยู่บริเวณด้านหน้ารถ สอดรับกับการติดตั้งออยคูลเลอร์ เพิ่มประสิทธิภาพระบายอากาศได้ดีมากยิ่งขึ้น ความเร็วสูงสุดที่ทำได้ของรถคันนี้อยู่ที่ 175 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่หากเปลี่ยนลูกสูบใหม่เชื่อว่าจะทำความเร็วได้มากขึ้นอีก”

อริยะพงษ์ กล่าวถึงเรื่องของสินค้าตกแต่งจักรยานยนต์ฝีมือคนไทยนั้น นับว่าไม่น้อยหน้าสินค้าจากต่างประเทศ เนื่องจากมีหลายชิ้นทางต่างประเทศได้สั่งทำในประเทศไทยแล้วส่งออกไปขายยังทั่วโลก

วิถีไบค์เกอร์ เส้นทางของ‘จอห์น ไรเดอร์’

“แบรนด์มีชื่อเสียงหลายยี่ห้อราคาหลายพันบาท บางชิ้นมีต้นทุนเพียงหลักร้อย ผลิตจากโรงงานในไทย แต่ไปประทับตราแบรนด์ยุโรป แบรนด์ญี่ปุ่น ยืนยันได้เลยว่าฝีมือคนไทยมีเยอะมาก ขณะเดียวกันสินค้าบางอย่างก็อยู่ในระดับไม่ได้คุณภาพเช่นเดียวกัน นั่นเป็นเพราะยังขาดองค์ความรู้ในการผลิต

อีกส่วนเกิดจากจุดมุ่งหมายของผู้ประกอบการบางคนพยายามลดต้นทุนทำราคาให้ถูก จึงไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน จุดนี้ทำให้รายการจอห์นไรเดอร์ ต้องเข้ามาชี้แนะถึงคุณประโยชน์ ประสิทธิภาพว่าดีจริงหรือไม่ ทำให้ลูกค้าไม่ถูกหลอก

เวลาผมเดินทางไปที่ร้านอะไหล่รถเพื่อทำรีวิว ผมจะชอบมากที่ได้ไปขอให้เจ้าของร้านมีส่วนลดสินค้าเพื่อเป็นการตอบแทนผู้รับชมประมาณ 10% จากราคาสินค้าที่ตั้งจำหน่าย ทั้งหมดผมไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเลย ผมทำเพื่อคนดูที่กำลังสนใจ

ทุกฝ่ายมีความสุขทั้งทางด้านผู้ประกอบการร้านค้าและผู้บริโภค ถ้าบอกว่ามาจากแฟนเพจของจอห์นไรเดอร์ ก็จะได้ส่วนลดเป็นพิเศษ ทุกวันนี้รู้สึกดีใจมากๆ ที่เวลาออกไปทำรีวิวแล้วพบกับแฟนคลับเข้ามาทักทาย เมื่อผมเจอกับพวกเขาผมจะให้เกียรติเขามากๆ เพราะนั่นคือแฟนรายการที่รักเรา ทำให้เรามีทุกวันนี้ได้”

กระนั้น หากจะกล่าวถึงบิ๊กไบค์ที่เกิดเป็นกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ บางส่วนมองว่าพวกกลุ่มบิ๊กไบค์เสียงท่อไอเสียดังสร้างความเดือดร้อนรําคาญประชาชน

“ในฐานะคนขับบิ๊กไบค์คนหนึ่ง เรื่องท่อเสียงดังอาจจะดูเท่เฉพาะแค่ในกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วไม่จำเป็นเลยที่ต้องตกแต่งท่อให้เสียงดัง เพราะท่อสูตรบางตัวเสียงเงียบแต่กลับทำให้รถวิ่งดีกว่าท่อเสียงดัง ดังนั้นรถของเขาทุกคันจึงไม่เสียงดัง เพราะทำให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคมกลุ่มวัยรุ่นอีกด้วย”

วิถีไบค์เกอร์ เส้นทางของ‘จอห์น ไรเดอร์’

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน อริยะพงษ์ บอกว่าเขาชื่นชอบจักรยานยนต์ตระกูลเครื่องยนต์ 2 จังหวะ ยอมรับว่าเคยมีประสบการณ์แสบๆ ตามวัยมาบ้าง เช่น แข่งรถบนถนนหลวง ขี่ตระเวนไปตามเส้นทางต่างๆ อย่างถนนเส้นบางนา วิภาวดี มีบ้างบางครั้งที่ขับหนีด่านตำรวจ แหกด่านกันบ้าง รู้ว่าไม่ใช่เรื่องดีตอนนี้ก็เลิกทำผิดกฏหมายไปนานแล้ว แต่ยุคนั้นจะไม่มีการปิดถนนก่อกวนเพื่อนบ้าน อย่างที่กลุ่มเด็กสร้างความเดือดร้อนทำอยู่ทุกวันนี้

“ผมเป็นคนหลายแนว ชื่นชอบมอเตอร์ไซค์ที่ครอบคลุมทุกการใช้งาน เช่นบางอารมณ์อยากขับขี่แบบสบายๆ วันนั้นจะเลือกบิ๊กสกูตเตอร์ บางครั้งอยากพักผ่อนชื่นชมธรรมชาติ ก็จะเลือกใช้มอเตอร์ไซค์ตระกูลมอเตอร์ครอส ลุยเข้าป่า

และหากต้องการขับขี่ไปกับครอบครัวใช้ความเร็วจะเลือกใช้มอเตอร์ไซค์ทัวริ่งหรือบางครั้งแค่อยากขับขี่แถวบ้านจะเลือกใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ฉะนั้นบุคลิกของผมจึงถือได้ว่าเป็นมอเตอร์ไซค์ที่ต้องมีสมรรถนะหลากหลาย ขอให้เป็นสองล้อขับขี่ตามอารมณ์ได้จะดีที่สุด”

อริยะพงษ์ บอกทิ้งท้ายว่า ต่อจากนี้จะยังคงทำรีวิวเรื่องเกี่ยวกับสังคมรถจักรยานยนต์ต่อไป ในอนาคตคิดว่าต้องทำรายการที่ตามยุคตามสมัย

“อาจเป็นเรื่องของรถไฟฟ้า พยายามหาความรู้มาบอกผู้ชมให้ได้ว่าการดูแลรักษาจักรยานยนต์ไฟฟ้ามีขั้นตอนอย่างไร? เสริมสมรรถนะให้ดียิ่งขึ้นอย่างไร? และควรนำมาใช้หรือไม่เพราะสิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นในอนาคต ต้องมองไปข้างหน้า ในเรื่องของจักรยานยนต์มีไม่สิ้นสุด เรายังมีช่องทางให้ผู้รับชมได้เรียนรู้ ศึกษาอีกมากต่อจากนี้แน่นอน”