posttoday

สุภชัย เพ็ชรโยธา ชีวิตสโลว์ไลฟ์ที่ไร่อิ่มบุญ

10 กุมภาพันธ์ 2562

ชีวิตของเรา...เราเลือกได้เสมอ สุภชัย เพ็ชรโยธา วัย 36 ปี เจ้าของไร่อิ่มบุญ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย บอกตัวเองเช่นนั้น

เรื่อง วันพรรษา อภิรัฐนานนท์  ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข/ไร่อิ่มบุญ

ชีวิตของเรา...เราเลือกได้เสมอ สุภชัย เพ็ชรโยธา วัย 36 ปี เจ้าของไร่อิ่มบุญ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย บอกตัวเองเช่นนั้น ก่อนจะตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิต จากคนงานทำงานในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ นิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา เขาบอกตัวเองว่า “พอแล้ว”
ไม่เอาอีกแล้วชีวิตในเมือง จากนี้ไปคือชีวิตนอกเมือง ชีวิตที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ ชีวิตสโลว์ไลฟ์ที่ “ไร่อิ่มบุญ”

สุภชัยเล่าว่า ชีวิตเลือกกลับบ้านเกิด เดิมเป็นชาวศรีสัชนาลัย พ่อแม่เป็นชาวนาชาวไร่ ชีวิตหนหลังอยู่กับเรือกสวนไร่นามาตลอด กระทั่งเมื่อจบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องกล สถาบันราชภัฏวไลยอลงกรณ์ จบแล้วเข้าทำงานที่โรงงานอุตสาหกรรมย่านนวนคร

“ผมทำงานอยู่ที่นี่ 8 ปีเต็ม ต่อมาเมื่อประมาณปี 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ โรงงานเลย์ออฟคนงานบางส่วน ผมยกมือเลย”

โรงงานปลดคนงานครั้งใหญ่ สุภชัยสมัครใจใช้สิทธิขอลาออกเป็นคนแรกๆ เนื่องจากเป็นลูกชายคนเดียวและมีความตั้งใจอยากกลับไปช่วยพ่อกับแม่ทำไร่ที่ศรีสัชนาลัยบ้านเกิด นึกเบื่อชีวิตในเมือง ที่ไม่มีอะไรมากไปกว่าการตื่นเช้าเพื่อเดินทางมาโรงงาน ทำงานเดิมๆ ในโรงงาน กินอาหารเดิมๆ ในโรงครัว หมดกะก็กลับบ้าน

หันหลังให้ชีวิตคนงานโรงงานอุตสาหกรรม สุภชัยเล่าว่า กลับบ้านได้มาช่วยพ่อแม่ทำไร่ เขาเองเป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ ก็คิดว่าทำถูกแล้ว ตัดสินใจถูกแล้ว เดิมไร่ของบิดาเป็นไร่อ้อยตัดส่งโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ หากสุภชัยมองว่า ที่สุโขทัยไม่มีและไม่เห็นคนทำน้ำอ้อยคั้นสด (เมื่อ 7 ปีก่อน) จึงหาข้อมูลและซื้อพันธุ์ไปปลูกที่ไร่

สุภชัย เพ็ชรโยธา ชีวิตสโลว์ไลฟ์ที่ไร่อิ่มบุญ

“สมัยก่อนตอนทำงานที่อยุธยา มีรถคั้นน้ำอ้อยสดระหว่างทางหอพักกับโรงงาน ผมแวะซื้อกินบ่อย ก็คิดว่ามันน่าจะทำได้ที่สุโขทัย ก็ทำเลย ปรากฏว่าขายดีมาก ช่วงแรกๆ ประมาณ 3 ปีแรกที่ผมทำน้ำอ้อยคั้นสด ผมไม่มีคู่แข่งเลย”

ไร่อ้อยที่สุโขทัยนั้นเดิมนิยมปลูกเพื่อป้อนโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ หากสุภชัยมองว่า ตลาดน้ำอ้อยคั้นสด โดยเฉพาะน้ำอ้อยออร์แกนิก ที่ไม่ปนเปื้อนสารเคมี ก็มีตลาดของคนรักสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการตลาด กระทรวงพาณิชย์ในพื้นที่ จึงตัดสินใจเดินหน้า

“อ้อยของไร่อิ่มบุญได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ GAP พืช จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอมาตรฐาน Organic Thailand”

ไม่เสียใจที่เลือกทางเดินเกษตรกร สุภชัยบอกว่า เขามาถูกทาง หัวจิตหัวใจเดิมนั้นมีความรักชอบในงานเกษตรกรรมอยู่แล้ว จึงไม่เคยนึกเสียดายชีวิตหรือตำแหน่งหน้าที่ที่จากมา ชีวิตทุกวันนี้ไม่ต้องเร่งรีบ แข่งกับเวลา สมัยก่อนต้องตื่นตี 5 จึงจะทันเวลาไปเข้างานที่โรงงาน กลับอีกทีก็สองทุ่ม

“ปลูกผัก ทำสวน สุขภาพดีขึ้น 6 ปีมาแล้ว หรือตั้งแต่ออกจากงานโรงงาน ที่ผมไม่เคยเจ็บป่วยหนักๆ เลย เรียกว่าสุขภาพร่างกายดีขึ้นอย่างชัดเจน”

สุภชัยแบ่งปันว่า มีเงินแต่สุขภาพไม่ดี ไม่มีประโยชน์ ทุกวันนี้เขาทั้งสุขภาพดี พ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวก็สุขภาพดีหมดทุกคน เขาเชื่อว่าเป็นเพราะการได้ปลูกพืชผักกินเองไร้สารพิษ ได้ออกกำลังแรงกายในไร่เสริมสร้างสมรรถนะร่างกาย จิตใจแจ่มใสเบิกบาน สูดอากาศเต็มปอด

สุภชัย เพ็ชรโยธา ชีวิตสโลว์ไลฟ์ที่ไร่อิ่มบุญ

แนวคิดคือการปลูกไร่นาสวนผสม พืชไร่เลือกปลูกที่ตัวเองชอบกิน ชอบรับประทาน สิ่งที่ครอบครัวได้ใช้ได้อยู่ ถือว่าประสบผลสำเร็จเพราะลดรายจ่ายได้มากทั้งค่าอุปโภคบริโภค สมัยก่อนเทียบกับชีวิตในเมือง มีเงินเดือน 2 หมื่นบาท แต่เงินไม่เคยเหลือเก็บ ปัจจุบันนี้ผ่อนส่งค่างวดที่ดินเดือนละ 1.6-1.7 หมื่นบาทแล้ว ยังเหลือเก็บ

พืชไร่ในสวนอิ่มบุญมีมากมาย ยึดหลักว่าชอบกินอะไรก็ปลูกอันนั้น แน่นอนคืออ้อย โดยสายพันธุ์เดิมที่ตัดส่งโรงงานน้ำตาลก็ยังทำอยู่ ขณะเดียวกันก็แยกแปลงมาปลูกออร์แกนิกสำหรับอ้อยสำหรับคั้นน้ำ (สายพันธุ์สุพรรณบุรี 50) ยังมีมะม่วง กระท้อน ลำไย ส้มโอ มัลเบอร์รี่ กล้วยหอมทอง กล้วยน้ำว้า มะนาว และอีกมาก

สิ่งสำคัญคือบ่อน้ำ ที่ดินมีทั้งหมด 80 ไร่ แบ่งออกเป็นหลายแปลง โดยบ่อน้ำคิดเป็น 2 ใน 4 ส่วนหรือเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ บ่อน้ำคือหลักของการเกษตร โดยเฉพาะในหน้าแล้ง ที่ดินของสุภชัยไม่มีปัญหาเรื่องน้ำเพราะให้ความสำคัญกับบ่อเก็บ ในบ่อยังปล่อยปลา มีปลาบึก ปลานิล ปลาสวาย ฯลฯ ที่ได้อาศัยกิน เป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี เพราะเลี้ยงเอง ไร้ฮอร์โมนสารเร่งใดๆ อ้อ ยังมีเนื้อและไข่จากแม่ไก่ในฟาร์มด้วย

“ชีวิตผมก็มีความสุขดี ได้ทำไร่ ทำอินทรีย์ ถือว่าทำแล้วได้เงิน ได้อิ่ม และได้บุญด้วย ได้เงินก็ได้ปัจจัยจากอาหารอินทรีย์มาเลี้ยงครอบครัว ได้อิ่มก็เราเองที่ได้อิ่มได้อร่อยจากของในไร่ ปลอดภัยจากสิ่งที่ปลูก ได้บุญเพราะเราขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ คนกินของในไร่เราเขาก็ไม่ต้องเจอสารพิษ เขาก็ปลอดภัย นั่นคือบุญของเรา ที่ก็ได้ด้วย”

ได้ทำในสิ่งที่เป็นอาหารปลอดภัยของคน นั่นเป็นที่มาของชื่อไร่อิ่มบุญ เพราะมีแนวคิดแบบนี้ จึงเป็นที่มาของไร่อิ่มบุญ อาหารที่เป็นอินทรีย์ อาหารที่คนกินแล้วปลอดภัย ชีวิตที่ต่างคนก็ต่างเลือก แต่สุภชัยถือว่า เขาเลือกแบบนี้แล้วมีความสุขความดีกับใจของตัวเองมากที่สุด

“บางทีบางจังหวะได้เจอกับเพื่อนที่เคยทำงานในโรงงานด้วยกันสมัยก่อน บางคนก็กลับบ้านต่างจังหวัดเหมือนกัน เขาก็อิ่มตัวเหมือนกัน แต่บางคนที่ยังใช้ชีวิตแบบเมือง ก็ทรุดโทรมเห็นชัดเลยนะ เพราะการกินการอยู่การปนเปื้อนสารเคมีที่เลี่ยงไม่ได้”

สุภชัย เพ็ชรโยธา ชีวิตสโลว์ไลฟ์ที่ไร่อิ่มบุญ

ด้านภรรยา มุกดา จริตวงษ์ วัย 36 ปี เล่าให้ฟังว่า ชีวิตเลือกเดินตามรอยพ่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยสมัยก่อนตอนทำงานที่นิคมอุตสาหกรรมนวธานี ใกล้ๆ กันกับโรงงานมีพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ ก็ได้แวะไปเยี่ยมไปดูอยู่เรื่อยๆ

“แฟนทำงานด้วยกันที่นิคมฯ เขามีความสนใจทางนี้ ถ้ามีเวลาเขาก็จะพามาดูเรื่อย เขาบอกว่าความรู้เป็นเรื่องสำคัญ ทำงานการเกษตรต้องทำอย่างมีความรู้ ต้องทำอย่างมีหลัก” มุกดาเล่า

ในที่สุดก็ตัดสินใจแต่งงานกันตอนเลย์ออฟออกจากงาน (ฮา) พร้อมๆ กับการตัดสินใจเดินทางไปเป็นชาวไร่ที่บ้านเกิดของสามี ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะ จากที่เคยทำงานหน้าสายการผลิตในโรงงาน ก็ไปทำงานในไร่ มองออกไปไกลสุดลูกหูลูกตา เช้าตื่นขึ้นมาก็ไปไร่ดูไร่ให้อาหารปลา เปิดระบบน้ำ ฯลฯ เหนื่อยหรือร้อนก็นอนเล่น ชีวิตเป็นไปตามที่ทางของมัน

“อยู่ที่นี่ ไม่มีคำว่ารถติด นอนตื่นสายได้ นึกๆ เหนื่อยๆ ก็นอนเปลเล่นอยู่ในสวน อากาศดีมาก ถามว่าคิดถึงชีวิตในเมืองมั้ย ก็ต้องตอบเลยว่าไม่”

ตบท้ายด้วยสุภชัยที่เล่าว่า ชีวิตดำเนินตามเบื้องพระยุคลบาท แนวพระราชดำริของพระองค์ท่านได้นำมาปรับใช้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง อีกทั้งครอบครัวชุมชน โดยเฉพาะแนวพระราชดำริเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ในไร่นา เรื่องดินเรื่องน้ำ เป็นโมเดลหรือต้นแบบที่ใช้ได้จริง ที่สำคัญคือแนวคิดปรัชญาเรื่องความพอเพียง

“พยายามดำเนินชีวิต ดำเนินความพอเพียง ตามรอยพระองค์ท่าน ความสุขและรอยยิ้มในครอบครัวคือผลลัพธ์”