posttoday

ภัคพงศ์ พจนารถ ถ้า3ปีแก้ฝุ่นไม่จบ มันจะอยู่กับเราอีกยาวนาน

09 กุมภาพันธ์ 2562

กว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ชาว กทม.และปริมณฑล

โดย ธเนศน์ นุ่นมัน  

กว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ชาว กทม.และปริมณฑล พร้อมใจกันตื่นตัวต่อปรากฏการณ์พิษหมอกควันจากฝุ่นขนาดอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า ฝุ่น PM2.5

ความสนใจเรื่องนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ แสวงหาความรู้ เฝ้าดูตัวเลขระดับมลพิษในทุกเช้า ตามหาต้นตอที่แท้จริงของฝุ่นละออง PM2.5 จนได้ทราบว่าส่วนใหญ่เกิดจากอะไร และได้ทราบด้วยว่ามลพิษนี้เคยอาละวาดมาแล้วทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ปัญหา PM2.5 เป็นสิ่งที่ ผศ.ภัคพงศ์ พจนารถ รักษาการแทนคณบดีคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) บอกว่า ไม่ใช่ปัญหาใหม่ เป็นเรื่องที่มีมานานหลายปี

“ที่จริงแล้ว เราสามารถเรียกกรณีฝุ่น PM2.5 ว่าเป็นปัญหามลพิษประจำฤดูหนาวของ กทม. เมื่อก่อนก็เคยเกิดขึ้นแล้ว แต่เราคิดว่าเป็นหมอกช่วงหน้าหนาวซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ เรื่องนี้เพิ่งตื่นตัวกันเมื่อปีสองปีก่อนนี้เอง เมื่อมีการพูดถึงอันตรายก็มีการเรียกร้องให้ภาครัฐเผยแพร่ข้อมูล กรมควบคุมมลพิษต้องหาเครื่องมือมาตรวจสอบและออกมาระบุค่าดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ AQI มีการตรวจติดตามฝุ่นละออง PM2.5 อย่างต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ

ภัคพงศ์ พจนารถ ถ้า3ปีแก้ฝุ่นไม่จบ มันจะอยู่กับเราอีกยาวนาน

...เป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงฤดูฝนไม่มีปัญหานี้ ทั้งๆ ที่การจราจรก็เหมือนเดิม แต่พบในระดับวิกฤตในฤดูหนาว เพราะสภาพอากาศฤดูนี้มีความกดอากาศสูง และมักจะเกิดสภาพอากาศนิ่งไม่ค่อยมีการระบายอากาศ ทำให้ฝุ่นละอองที่ถูกปล่อยมาแต่ละวันจึงสามารถสะสมตัวในแนวดิ่ง ต่างจากช่วงฤดูฝนที่อากาศระบายได้ดี มลพิษทางอากาศต่างๆ จะยกตัวขึ้นไปในบรรยากาศระดับสูงขึ้นด้วยการพาความร้อนของอากาศ และฝนที่ตกลงมาก็จะช่วยลดปริมาณฝุ่น

...เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็สรุปได้ว่า ถ้าแหล่งกำเนิดซึ่งหมายถึงไอเสียจากรถยนต์ยังไม่เปลี่ยนแปลง ทุกฤดูหนาว เราก็เสี่ยงที่จะเจอปัญหาฝุ่น PM2.5 ในระดับวิกฤตในอนาคตอย่างต่อเนื่อง”

นอกจาก กทม.และปริมณฑลแล้ว อาจารย์ภัคพงศ์ ระบุว่า จังหวัดอื่นๆ ก็เจอปัญหานี้เช่นกัน และเกิดขึ้นทุกปีในภาคเหนือ รวมถึงพบว่าปัญหานี้กำลังกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของเมืองใหญ่ๆทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศจีนและอินเดีย

“ปัญหานี้เกิดคู่กับการพัฒนาเมืองมาตลอด มีเมืองที่ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศเป็นอันดับต้นๆ ของโลกหลายแห่ง สาเหตุหลักๆ มาจากแหล่งกำเนิดที่ปล่อยออกมามากเกินกว่าขีดความสามารถของตัวกลางคืออากาศจะรองรับและระบายได้ทัน ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างอเมริกา ญี่ปุ่น หรือหลายประเทศในยุโรปก็เคยประสบปัญหานี้เมื่อหลายสิบปีก่อน ปัจจุบัน สามารถจัดการแก้ไขปัญหาได้แล้ว โดยใช้เวลาแก้นับสิบปี

ภัคพงศ์ พจนารถ ถ้า3ปีแก้ฝุ่นไม่จบ มันจะอยู่กับเราอีกยาวนาน

ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ญี่ปุ่นแก้โดยใช้ยาแรง ห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งในเขตโตเกียว เป็นการออกคำสั่งห้ามโดยท้องถิ่น คือเมืองโตเกียวเอง ไม่ใช่จากรัฐบาลกลาง

ภัคพงศ์ กล่าวว่า เมืองใหญ่ทั่วจีนที่แก้ปัญหาเรื่องนี้มาแล้ว 5-6 ปี ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจังทั้งในภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน มีบทลงโทษขั้นรุนแรงสำหรับผู้ก่อมลพิษทางอากาศ ที่สำคัญคือ รัฐบาลจีนทุ่มงบประมาณมหาศาลในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ มาตรการระยะสั้น จีนได้จำกัดการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง กำหนดพื้นที่และเวลาที่ห้ามรถยนต์ส่วนตัววิ่งเข้าเมือง กำหนดทะเบียนเลขคู่และเลขคี่สำหรับบางพื้นที่และบางเวลาปรับปรุงอุตสาหกรรมรถยนต์ให้เปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นใช้ไฟฟ้า กำหนดค่ามาตรฐานของน้ำมันให้สูงขึ้น ในระยะยาวได้ออกคำสั่งย้ายโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษสูงออกไปจากเมืองใหญ่ให้ไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เห็นได้ว่าการจัดการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองมีการพัฒนาการที่รวดเร็วและเห็นผลทันใจกว่าเมื่อสมัยที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเสียอีก

คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม นิด้า ระบุว่า หากมองปัญหานี้อย่างจริงจัง ก็ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนต้องตระหนักว่าแม้ในปีนี้จะคลี่คลายลงเมื่ออากาศเปลี่ยนไป แต่ปัญหานี้ก็จะวนกลับมาเกิดใน กทม.และปริมณฑลอีก การแก้ปัญหานี้จึงต้องดำเนินการอย่างในระยะยาว

“เราต้องลด PM2.5 จากแหล่งกำเนิด แต่ก็เป็นวิธีการที่ใช้ต้นทุนทางการเงินสูงและกระทบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน ภาครัฐในหลายประเทศจึงยังไม่กล้าใช้ยาแรงกับการลดที่แหล่งกำเนิด หากเราจำกัดหรือยกเลิกการใช้รถดีเซลใน กทม. ควบคุมการเผาในที่โล่งในปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง รับรองว่าคุณภาพอากาศดีขึ้นแน่นอน

ภัคพงศ์ พจนารถ ถ้า3ปีแก้ฝุ่นไม่จบ มันจะอยู่กับเราอีกยาวนาน

...มาตรการระยะยาว คือ เปลี่ยนประเภทของเชื้อเพลิงของรถโดยสารสาธารณะ การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงและคุณภาพรถยนต์ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5/6 การปรับลดอายุการตรวจสภาพรถยนต์ใช้งาน การเพิ่มภาษีรถยนต์เก่า จัดโซนนิ่งจำกัดจำนวนรถเข้าเมืองในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น หากทำได้จริงก็มีส่วนช่วยลดฝุ่น PM2.5 ได้”

อาจารย์คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อมนิด้า กล่าวอีกว่า แม้ในอนาคตอันใกล้นี้ หลายพื้นที่ใน กทม.และปริมณฑลจะก่อสร้างรถไฟฟ้าเสร็จ สามารถใช้งานได้แล้วแต่ก็อาจจะไม่ช่วยให้สถานการณ์ฝุ่นคลี่คลาย เนื่องจาก กทม.และปริมณฑล เป็นกลุ่มเมืองที่มีความพิเศษคือ เป็นเมืองหลักแห่งเดียวของประเทศ ระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกและมีเครือข่ายมากขึ้น จะยิ่งทำให้เมืองขยายใหญ่ขึ้นไปอีก ซึ่งในอนาคตหากคนจำนวนมากจะยังคงโยกย้ายเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ปริมาณรถก็ยากที่จะลดลง

“ถ้าภายใน 3 ปีนี้เราไม่สามารถออกมาตรการควบคุมปริมาณรถยนต์อย่างจริงจัง และไม่เริ่มใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น การโซนนิ่งการจราจร ระบบภาษี มาตรการเรื่องที่จอดรถ การตรวจสภาพรถ การส่งเสริมการใช้ยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษต่ำๆ ไม่หามาตรการต่างๆ มาดำเนินการอย่างเป็นระบบ รับรองว่าปัญหาฝุ่น PM2.5ยังคงอยู่กับเราไปอีกนานแน่นอน ตราบเท่าที่รถยนต์เก่าๆ ของเรายังอยู่ตามท้องถนน ยังปล่อยให้มีการลักลอบเผาไร่นา เผาขยะกันในที่โล่ง หรือไม่ควบคุมแหล่งปล่อย ปัญหานี้ก็ไม่มีวันหมดไป

...สิ่งที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ และทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ คือ กำหนดมาตรฐานการระบายมลพิษจากยานพาหนะที่เข้มงวดขึ้น หรือการตรวจสภาพและบำรุงรักษาสภาพรถที่เข้มงวดจริงจัง รถยนต์เก่าที่อายุเกิน 7 ปีต้องรับการตรวจสภาพ รถเก่านั้นสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่มันเป็นต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาว ต้องเอารถเก่าออกจากระบบให้ได้”

ภัคพงศ์ พจนารถ ถ้า3ปีแก้ฝุ่นไม่จบ มันจะอยู่กับเราอีกยาวนาน

ภัคพงศ์ กล่าวว่า ในอนาคตต้องเร่งสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV เต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นมาตรการที่อเมริกา ยุโรป จีน กำลังให้ความสำคัญมาก ในประเทศจีนยอดขายรถยนต์ EV สูงถึง 40% นอร์เวย์ประสบความสำเร็จในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ยอดขายรถยนต์ใหม่ 1 ใน 3 กลายเป็นรถ EV
ขณะที่ในประเทศไทย รัฐบาลเหมือนจะให้การสนับสนุน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน การผลิตในประเทศจึงยังไม่มีความชัดเจน ส่วนรถ EV นำเข้า แม้จะลดภาษีศุลกากรลง แต่ราคาก็ยังเกินเอื้อมสำหรับครอบครัวคนรายได้ปานกลางส่วนใหญ่

“การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ต้องใช้เวลา ปัจจุบันในประเทศไทยพิสูจน์แล้วว่า มาตรการที่ภาครัฐรวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมาย การใช้เครื่องมือต่างๆ ยังไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากปัญหา PM2.5 PM10 ที่ จ.สระบุรี หรืออีกหลายแห่งในพื้นที่
ภาคเหนือซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน ปัจจุบันปัญหาก็ไม่คลี่คลายหรือหายไปไหน

แม้จะเปลี่ยนฤดูจนสภาพอากาศทำให้ปัญหาฝุ่นคลี่คลายลง แต่ตราบใดที่แหล่งปล่อยมลพิษยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาก็ยังถูกปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งในฝุ่นแม้จะเจือจางลงแต่ก็อาจจะหมายถึงสารพิษอื่นๆ ที่เป็นสารก่อมะเร็ง ซุกซ่อนอยู่อีกจำนวนมากยังไม่นับถึงคาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน การสัมผัสกับมลพิษอาจจะแค่น้อยลง แต่ไม่ได้หายไปไหน เราจึงจำเป็นต้องคิดเรื่องนี้ คิดถึงการป้องกันตัวเอง เมื่อต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น เพราะในระยะยาวต้นทุนเรื่องสุขภาพที่ถูกบั่นทอนลงจะสร้างปัญหาอื่นๆ ที่คาดไม่ถึงได้อีกมากมาย” รักษาการแทนคณบดีคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อมกล่าวทิ้งท้าย