posttoday

บ้านหมุนอาการนี้ไม่ปกติ

05 กุมภาพันธ์ 2562

อาการวิงเวียนศีรษะ สิ่งของรอบตัวหมุนเคว้ง รู้สึกโคลงเคลงแม้ยืนนิ่งอยู่กับที่ อาการเหล่านี้ไม่ใช่แค่เกิดจากการพักผ่อนไม่พอ

เรื่อง พุสดี สิริวัชระเมตตา 

อาการวิงเวียนศีรษะ สิ่งของรอบตัวหมุนเคว้ง รู้สึกโคลงเคลงแม้ยืนนิ่งอยู่กับที่ อาการเหล่านี้ไม่ใช่แค่เกิดจากการพักผ่อนไม่พอ ความเครียด หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น เพราะทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นแค่ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ “บ้านหมุน” ซึ่งแท้จริงแล้วมีต้นตอมาจากหลายสาเหตุ แต่หนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อยนั้น เกิดจากโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

พญ.ภัทราพร อุ่ยรุ่งโรจน์ แห่งแผนกโสต ศอ นาสิกวิทยา (หู คอ จมูก) โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายถึงโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (Benign Paroxysmal Positional Vertigo : BPPV) ว่า เกิดจากตะกอนหินปูนภายในอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นในเคลื่อนที่หลุดออกจากอวัยวะควบคุมการทรงตัว ทำให้เกิดการส่งสัญญาณไปยังระบบประสาทส่วนกลางที่กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนขึ้นมา

อาการบ้านหมุน จากโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน จะสำแดงอาการเมื่อมีการเปลี่ยนท่าทางศีรษะ หรืออาจมีอาการเวียนศีรษะทันทีทันใด เมื่อล้มตัวลงนอน พลิกตะแคงขวา หรือก้มเงยหน้า บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

“อาการเวียนศีรษะมักเกิดไม่นานราว 1 นาทีก็จะทุเลาลง แต่อาการอาจกลับมาได้อีก เมื่อขยับศีรษะในท่าเดิมซ้ำ แต่จะไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก ทั้งนี้อาการเวียนศีรษะมักเป็นอยู่หลายวันแล้วจะดีขึ้นภายในสัปดาห์ถึงเดือน”

ถามว่าใครคือกลุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับอาการบ้านหมุน พญ.ภัทราพร ระบุว่า อาการนี้มักพบในผู้ที่มีอายุ 30-70 ปี ส่วนมากมักเกิดกับผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อัตราส่วนประมาณ 2:1 โดยโรคนี้สามารถเกิดขึ้นกับหูทั้งสองข้าง แต่โดยทั่วไปมักเกิดกับหูเพียงข้างเดียว

สาเหตุของโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนมาจากหลายสาเหตุ ในบางรายอาจเกิดจากอุบัติเหตุ การกระแทกบริเวณศีรษะ ความเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น มีภาวะอักเสบในหูชั้นใน มีการผ่าตัดหูชั้นกลางหรือใน หรือมีการเคลื่อนไหวศีรษะซ้ำๆ เช่น การทำงานที่ต้องก้มๆ เงยๆ

สำหรับแนวทางการตรวจวินิจฉัย และแนวทางรักษาอาการบ้านหมุน แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทดสอบ Dix-Hallpike Maneuver โดยจะให้ผู้ป่วยล้มตัวลงนอนหงายอย่างรวดเร็ว ในท่าศีรษะตะแคง และห้อยศีรษะเล็กน้อย หากพบการกระตุกของลูกตาร่วมกับอาการเวียนศีรษะจะเป็นลักษณะที่บ่งชี้ของโรคนี้ ซึ่งหากพบว่าเกิดจากโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนจะมีแนวทางการรักษาตามอาการให้ยาบรรเทาการเวียนศีรษะ และแนะนำให้หลีกเลี่ยงท่าทางหรือกิจกรรมที่กระตุ้นให้เวียนศีรษะ

“นอกจากนี้ ยังอาจมีการทำกายภาพบำบัด เน้นฝึกการเคลื่อนไหวศีรษะและลำคอ เพื่อให้ตะกอนหินปูนเคลื่อนกลับเข้าไปภายในอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นในตามเดิม หรือในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดไม่ได้ผลอาจใช้การผ่าตัด” พญ.ภัทราพร ทิ้งท้าย