posttoday

จระเข้ตัวเล็กนิดเดียว ความภูมิใจที่ยิ่งใหญ่

03 กุมภาพันธ์ 2562

จิ๋ว เป็นจระเข้ตัวเล็ก หางก็เล็ก แขนขาก็เล็ก

โดย มัลลิกา นามสง่า ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

จิ๋ว เป็นจระเข้ตัวเล็ก หางก็เล็ก แขนขาก็เล็ก มันไม่มั่นใจว่าจะทำงานได้ผลดีเท่าตัวอื่น ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า แต่สุดท้ายขนาดไม่สำคัญ ความรับผิดชอบในหน้าที่ต่างหากทำให้จิ๋วได้รับคำชื่นชม

“ไอริณ อิสริยะเนตร” คือผู้เขียนและวาดภาพประกอบครอบครัวจิ๋ว ในนิทานเรื่อง “จระเข้ตัวนิดเดียว” ผลงานเล่มแรกที่เธอเองก็ไม่มั่นใจเพราะชั่วโมงบินน้อย หากนิทานเรื่องนี้ก็สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ นิทานรางวัลแว่นแก้วครั้งที่ 14 ปี 2561 ชุดนิทานส่งเสริมคุณธรรม

ไอริณ เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปัจจุบันเป็นนักวาดภาพประกอบอิสระ แน่นอนเรียนมาสายนี้ สิ่งที่เธออยากทำมากที่สุด คือ หนังสือเพื่อเด็กๆ และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น

ความรู้ ประสบการณ์ที่ได้จากการเรียน ทำให้เธอตกผลึกจนเกิดนิทานเล่มแรก “ตอนเรียนได้ทำสื่อการเรียนการสอนเด็ก ออกแบบฝึกหัดให้เด็ก เรียนตั้งแต่การคิดจนออกมาเป็นรูปเล่ม เด็กในแต่ละวัยต้องการอะไร

การที่เรียนด้านนี้ช่วยในการเขียนนิทานมาก มีคำถามถามตัวเองตลอดเวลา ตรงนี้ใส่ทำไม อันนี้มีความหมายต่อเรื่อง ต่อจุดประสงค์ของเราไหม ถ้าภาพเล่าเรื่องแทนได้แล้วไม่ต้องใส่คำก็ได้”

จระเข้ตัวเล็กนิดเดียว ผ่านกระบวนการคิดมาแล้วอย่างแยบยลและน่ารัก “การประกวดมีหัวข้อ ชุดนิทานส่งเสริมคุณธรรม มีหัวข้อแยกย่อยอีกหลายอย่าง เช่น ขยัน ประหยัด มีวินัย สุภาพ มีน้ำใจ หนูเลือก ความรับผิดชอบ คิดว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญของเด็ก ถ้าเด็กมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อสังคม เขาเติบโตก็ไม่สร้างปัญหาให้กับคนอื่น

หนูก็เริ่มวาดก่อน เพราะชอบทำงานจากสิ่งที่อินที่สุดในตอนนั้น แล้วตอนนั้นชอบวาดจระเข้ ชอบรูปทรงของมัน คนมักนึกถึงจระเข้น่ากลัว ตัวใหญ่ แต่เราสามารถสื่อออกมาน่ารัก ตัวอวบ ขาเล็ก แขนเล็ก หางเล็ก ใช้โทนสีตัดกัน เขียว เหลือง ชมพู ให้ดูสดใส

จระเข้ตัวเล็กนิดเดียว ความภูมิใจที่ยิ่งใหญ่

พอได้จระเข้ กลับมาที่หัวข้อ จะเอาความรับผิดชอบมาสอนเด็กยังไง เริ่มหาข้อมูล ยุคนี้พ่อแม่จะสอนเด็กในเรื่องนี้เขาทำกันยังไง

ก็ได้มาคือ ให้หน้าที่เด็กรับผิดชอบหนึ่งอย่าง เจาะลึกลงไป นึกถึงตอนหนูเด็ก พ่อแม่ให้ทำอะไรสักอย่าง แล้วชม หนูก็รู้สึกดีแล้วทำมาเรื่อยๆ กลายเป็นความชอบไม่ใช่หน้าที่ ทำบ่อยๆ จนกลายเป็นนิสัยไปแล้ว

ถ้าให้เด็กมีความสุขกับสิ่งที่ทำเขาจะทำได้ สนุกสนานกับมัน และต้องมีคำชม หนูว่ามันเป็นแรงผลักดันที่ดี อย่าพูดไปก่อนว่า ทำไม่ได้หรอก หรือบังคับว่าต้องทำให้ได้นะ ถ้าพ่อแม่บังคับแล้วเด็กทำไม่สำเร็จยิ่งออกมาทางลบ”

เมื่อได้คอนเซ็ปต์ของเรื่อง ในรายละเอียดก็อบอวลไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ “จระเข้มีหางที่ใหญ่ เอามาประยุกต์ให้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ใช้หางทาสี ตัวเอกตัวเล็ก หางไม่ใหญ่เหมือนคนอื่น เป็นอุปสรรคในเรื่องว่าเขาจะใช้หางยังไง

พอพูดถึงความรับผิดชอบ หนูไม่อยากสอนว่า เด็กไม่มีความรับผิดชอบเป็นเด็กไม่ดี เด็กมีความรับผิดชอบเป็นเด็กดี เลยนำเสนอด้านบวก ให้ตัวแวดล้อมไม่มีใครพูดแย่ๆ กับเขาเลย ถึงเขาจะแย่กังวล ก็มีแต่คนพูดดีๆ ให้กำลังใจ

ตอนที่เขาเสนอความคิดเห็นกับพี่ๆทุกคนก็รับฟัง ไม่มีใครขัด เขาช่วยทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่สิ่งน้อยๆ ที่เขาทำ ช่วยให้ภาพรวมน้ั้นสมบูรณ์

ตรงนี้ได้ไอเดียมาจากตอนเรียน นิทานหลายเรื่องเอาเรื่องลบมาก่อนแล้วมาบอกผลตอนจบว่าเป็นบวก หนูคิดว่า ถ้าอยากให้เห็นด้านดีๆ ให้เนื้อเรื่องมันบวกไปเลยดีกว่า ก็ถูกจริตกับตัวเองด้วยที่มองอะไรในทางบวก”

ในปี 2562 ไอริณ กำลังคิดคอนเซ็ปต์นิทานเรื่องใหม่ เพื่อส่งเข้าประกวดเวทีเดิม รอติดตามกันว่า เธอจะสร้างอะไรออกมาเป็นสื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน