posttoday

เอกเขนกพักผ่อนบนฟูก จินดา รอดฟ้า

20 มกราคม 2562

จากพนักงานธนาคาร บอล-จินดา รอดฟ้า

โดย วราภรณ์ ภาพ : จินดา รอดฟ้า และพอแล้วดี 

จากพนักงานธนาคาร บอล-จินดา รอดฟ้า เลือกทำในสิ่งที่รักคืออยากมีร้านกาแฟเป็นของตัวเอง จึงกลับไปบ้านเกิดไปเป็นเพื่อนคุณแม่ สานต่อความฝัน กลายเป็นธุรกิจ ล้มบนฟูก (LOM BON FOOK) Home & Café จ.สระบุรี แหล่งนอนเอกเขนกนั่งจิบกาแฟ และรับประทานอาหารริมแม่น้ำ เพื่อปลดเปลื้องความเหนื่อยเมื่อยล้าในการทำงาน รวมทั้งใช้แนวคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ให้เกิดความสุขในชีวิตอย่างแท้จริง

แรงบันดาลใจทำ โฮม แอนด์ คาเฟ่

เอกเขนกพักผ่อนบนฟูก จินดา รอดฟ้า

“ผมอยากทำในสิ่งที่รัก กับคนที่รัก” บอล จินดา เล่าแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจได้ด้วยตัวเอง และขยายความว่า ทำในสิ่งที่รัก คือ ทำอาชีพร้านกาแฟ คนที่รัก คือ คุณแม่ ย้อนกลับไปชีวิตวัยเด็กของบอลเป็นคน อ.เมือง จ.สระบุรี พ่อแม่มีฐานะปานกลาง เขาเติบโตมาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมคนต่างจังหวัดทั่วไป ไม่ได้กันดารแต่ก็ไม่ได้ศิวิไลซ์ แต่เขาเป็นเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบคิดทำนู่นทำนี่อยู่เสมอๆ เช่น ทำละคนเวที แต่กลับเลือกเรียนสายวิทย์คณิตศาสตร์ ค่าที่ไม่กล้าทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ หรือทำได้ดี เมื่อศึกษาจบชั้นมัธยมเขาไปเรียนต่อกรุงเทพฯ ด้านสื่อสารมวลชน เอกโฆษณา แต่กลับไม่ชอบ จึงย้ายคณะและมหาวิทยาลัยมาเรียนสาขาเอกคอมพิวเตอร์ คณะบริหารธุรกิจ เพราะคิดว่าเป็นสาขาที่หางานทำได้ง่าย แล้วก็ไม่ผิดหวังเมื่อเขาสามารถสอบเข้าทำงานในธนาคารออมสินได้ นับเป็นสิ่งที่ทำให้พ่อแม่รู้สึกภาคภูมิใจมาก

“อดีตผมทำงานอยู่ฝ่ายกฎหมาย ธนาคารออมสิน ผมดูในส่วนของธนาคารทำงานได้ถูกต้องของหลักเกณฑ์แบงก์ชาติกำหนดหรือไม่ โดยทำงานอยู่สำนักงานใหญ่ย่านสะพานควาย ผมทำให้แม่ภูมิใจได้ 7 ปี และผมรู้สึกตลอดว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ของผม พอผมอายุ 28 ปีผมเริ่มถามตัวเองว่า งานที่ผมทำมันใช่ตัวเองไหม กรุงเทพฯ คือบ้านของผมจริงหรือไม่ และผมจะอยู่กรุงเทพฯ ต่อไปอีกนานแค่ไหน ซึ่งคำตอบอยู่ในใจผมคือ กรุงเทพฯ ไม่ใช่บ้านของผม ผมรู้สึกไม่มีความสุขเพราะมันไม่ใช่ที่ของผม ประกอบกับพ่อเสียชีวิตลง และแม่ต้องอยู่บ้านคนเดียว อีกทั้งพี่สาว 2 คนแต่งงานและแยกบ้านออกไปอยู่ต่างจังหวัดแล้ว ผมจึงขอย้ายกลับไปทำงานที่สระบุรี แต่ทำได้สักพักรู้สึกว่าความเป็นผมไปไม่ได้กับองค์กร จึงขอลาออก และบอกตัวเองว่าถึงเวลาสักทีที่ผมจะต้องกล้าทำอะไรบางอย่างที่ตอบโจทย์ตัวเอง”

ก่อนออกจากงานควรคิดให้รอบคอบ

เอกเขนกพักผ่อนบนฟูก จินดา รอดฟ้า

“สังเกตตัวเอง” คำบอกเล่าที่ต้องคิดให้หนักๆ ก่อนออกจากงานว่า เราอยู่กับอะไรแล้วมีความสุข หรือเราเหมาะกับอะไรกันแน่ ที่ทำแล้วจะเป็นอาชีพของตนเองได้ และสามารถพัฒนาให้มีความมั่นคง ต้องคิดให้ถ้วนถี่และชัดเจน

“ก่อนออกจากงานผมใช้เวลาพิจารณาตัวเองนานปีกว่าๆ ผมรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้อยู่ในคาเฟ่ หรือได้อยู่ในร้านกาแฟสวยๆ งามๆ เพราะผมชอบบรรยากาศ เป็นช่วงเวลาได้อยู่กับตัวเอง ผมชอบร้านกาแฟในหอศิลป์ การนั่งในร้านเหมือนได้อยู่กับตัวเองแม้คนจะเยอะ ถือเป็นช่วงเวลาที่ผมได้คิดทบทวนได้เบรกตัวเอง แม้ครึ่งชั่วโมงต่อวันก็ยังดี ผมรู้สึกว่ามีพลังงานไปทำนู่นนี่ต่อ” ความคิดของจินดาตกผลึกด้วยจังหวะ คุณพ่อเสียชีวิตตอนท่านอายุ 59 ปี เลยรู้สึกว่า ถึงเวลาต้องย้ายกลับไปอยู่เป็นเพื่อนแม่แล้วล่ะ เพราะสิ่งที่เขาต้องโฟกัสต่อไป คือ แม่

“เมื่อย้ายมาทำงานธนาคารออมสินที่สระบุรี ผมยิ่งได้คำตอบว่าผมไม่เหมาะกับการทำงานประจำ ล้มบนฟูกจึงเกิดมาได้เกือบ 2 ปีแล้ว ด้วยการไปเช่าบ้านที่อดีตเป็นจวนผู้ว่าฯ ที่ปล่อยทิ้งรกร้าง ผมมองเห็นโอกาสจึงขอเช่าอสังหาริมทรัพย์ โดยไม่ต้องซื้อที่ดิน เพราะผมกำลังไม่พอ แต่เป็นการเช่าบ้าน ซึ่งมีความเป็นไปได้ ผมจึงตัดสินใจเช่าบ้านไม้เก่าอายุ40 ปีทำเป็น โฮม คาเฟ่ ล้มบนฟูก ที่มีโลเกชั่นที่เหมาะแก่การพักผ่อน เพราะอยู่ใกล้แม่น้ำ และมีต้นไม้ใหญ่ต้นจามจุรีอายุนับ 120 ปี ให้ร่มเงา แผ่กิ่งก้านสวยงาม ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของผมเพียง 3 กิโลเมตรเท่านั้น คือบ้านหลังนี้ปล่อยทิ้งมานาน 30 ปี อดีตเคยเป็นจวนผู้ว่าฯ จนต้นไม้ขึ้นรกร้าง ผมมองเห็นศักยภาพของบ้านและที่แปลงนี้ มองเห็นความเป็นไปได้ว่าเนื้อที่ 300 งาน น่าจะเป็นแหล่งพักพิงให้คนได้พักผ่อนได้”

“ประมาณตน” หลักทำธุรกิจแบบพอเพียง

เอกเขนกพักผ่อนบนฟูก จินดา รอดฟ้า

หลังปรับปรุงพื้นที่และตัวบ้านราว 5 เดือน จนกลายเป็นโฮม แอนด์ คาเฟ่ ล้มบนฟูก ที่ทำด้วยแรงปรารถนาของจินดาล้วนๆ คือ เขารู้สึกว่ากรุงเทพฯ รถติด ชีวิตการทำงานเหนื่อย ทุกอย่างดูยากหมด แต่เขาก็อยากจะมีที่สักที่หนึ่งที่มาแล้วทำให้หายเหนื่อย ที่นั่งมีลักษณะเหมือนฟูกหรือเตียงนอน แค่ล้มตัวลงนั่งหรือนอนก็รู้สึกได้พักผ่อน อีกทั้งสระบุรียังอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ อยากให้คนแวะมาเยี่ยมแล้วได้ชาร์จแบตเตอรี่กลับไปสู้งานต่อ

“อดีตผมเคยอยู่กรุงเทพฯ แล้วรู้สึกเหนื่อยอ่อนมาก แต่พอผมได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการพอแล้วดีปี 2 ผมได้เรียนรู้และได้คำตอบหนึ่งให้กับชีวิตคือ อะ พาร์ต ทู บี เลซี่ ล้มบนฟูกเกิดจากตอนเข้าพอแล้วดีได้ระยะหนึ่ง ความคิดทำธุรกิจแบบพอดีพอเพียงของผมมีความชัดเจนขึ้น หลักคำสอนที่ผมได้เรียนรู้จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ ประมาณตน ทำให้ชีวิตผมดีขึ้นมาก ผมรู้สึกเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ทำให้ผมรู้จักตัวเองมากขึ้น และผมรู้ว่าโฟกัสของผมคือทำอะไร และจะทำอย่างไร ผมรู้สึกว่าทั้งชีวิตผมคือล้มบนฟูก พอผมรู้ว่าผมคือใคร ฐานะการเงินเราเป็นอย่างไร สนใจอะไร ทำอะไรได้ดี พอผมรู้ว่า ผมคือเด็กคนหนึ่งที่ตายไม่ได้แน่เลยถ้าไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ เพราะผมมีความฝันคืออยากมีร้านกาแฟเป็นของตัวเอง” และหัวใจสำคัญคือได้ทำอะไรร่วมกับแม่อันเป็นที่รักของเขา โดยดึงความเก่งและโดดเด่นของแม่คือ อดีตเปิดร้านขายอาหารตามสั่งที่มีรสมือดี มีลูกค้าแวะมาชิมไม่ขาด และเขาก็เติบโตมากับหม้อก๋วยเตี๋ยวและตะหลิวของแม่ ผสานกับพรสวรรค์ของเขาคือชอบการจัดวาง และชอบตกแต่งร้าน จึงคิดว่าทั้งสองอย่างมาร่วมกันได้ กลายเป็นคาเฟ่ขายอาหารตามสั่ง และขายกาแฟเก๋ๆ ริมแม่น้ำป่าสัก

“พอแล้วดีทำให้ผมรู้ว่า เราดำเนินธุรกิจแบบไม่มีความรู้ มีแต่แรงบันดาลใจไม่ได้ ที่จริงแล้วการดำเนินธุรกิจไม่ใช่แค่มีแรงบันดาลใจแล้วจะไปได้ ต้องบวกกับความรู้ อิงตามหลักเหตุและผล ทำแล้วสมเหตุสมผลหรือไม่ ทำแล้วได้อะไร เสียอะไร พอแล้วดีสอนองค์ความรู้ทำธุรกิจและการดำเนินชีวิต สอนเรื่องการประมาณตน ซึ่งก่อนหน้านี้หากผมอยากทำธุรกิจผมคงกู้และลงมือทำเลยด้วยปรารถนาแรงกล้า แต่พอรู้หลักเศรษฐกิจพอเพียงคือการประมาณตน ทำให้ผมมีสติมากขึ้น ประมาณตนว่าทำแล้วจะเกิดความเครียดไหม ทำให้ผมรอบคอบขึ้นเรื่องการใช้เงิน อีกทั้งคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ยังสอนให้ไม่เบียดเบียนคนอื่น ธุรกิจต้องหาเงินได้ด้วย แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อใคร หากสร้างประโยชน์ให้คนอื่นได้เราควรทำ เช่น สนับสนุนการปลูกและรับซื้อพืชผักสวนครัวของชาวบ้านในละแวกร้าน”

ล้มบนฟูกจึงไม่ใช่แค่คาเฟ่ แต่เป็นที่ที่คนได้มาพักกาย พักใจ ลูกค้าจะได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง เพราะบรรยากาศเงียบสงบ ไม่วุ่นวายแม้อยู่ริมถนน นี่คือความตั้งใจของจินดา

“มาร้านผมต้องถอดรองเท้าจะยิ่งทำให้คนรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน ธุรกิจผมค่อยๆ คิดค่อยๆ ทำ ขอร้องแม่ช่วยมาทำกับข้าวให้ คิดสูตรเป็นของร้านเอง ความน่ารักของแม่คือ อาหารทุกจาน เราช่วยกันคิดสูตร คือรสชาติคนโบราณกินแบบไหนผมกับแม่ได้แชร์กัน เมนูเด็ดๆ ที่แม่ทำอร่อย เช่น น้ำพริกปลาทูคลุกน้ำปลาสูตรนี้แม่คิดและผมกินตั้งแต่เด็กอร่อยมากหรือข้าวแกงส้มผักรวมไข่เจียว คือคอนเซ็ปต์ทุกอย่างผมคิดเองทั้งหมด ผมพยายามใช้วัตถุดิบท้องถิ่น บวกกับความรู้ในการทำอาหารพื้นบ้านของแม่ อาหารเครื่องดื่มทั้งหมดถูกคิดภายใต้คอนเซ็ปต์นี้ ผมชอบอยู่กับอะไรแบบนี้ มีความสุขอยู่กับอาหารไทย ไปซื้อผักของป้าข้างบ้าน ไปเดินตลาดท้องถิ่นที่คุณป้าคุณยายเอาพืชผักมาขาย ผมอยากสนับสนุนผักของคนท้องถิ่น”

ละเลียดกาแฟ เรียกสติ

เอกเขนกพักผ่อนบนฟูก จินดา รอดฟ้า

เงินลงทุนเพียง 1 ล้านบาท แต่ได้ความสุขมหาศาล เพราะคอนเซ็ปต์ร้านดี ใครๆ ก็อยากแวะมาเยี่ยมเยียน

“ผลดำเนินธุกริจไปได้น่าพอใจ ศุกร์เสาร์อาทิตย์ครึกครื้น ผมไม่ทำร้านให้แออัด ไม่ต้องจองที่นั่งแต่ 3 เดือนแรกที่เปิดให้บริการไม่มีที่ให้แขกนั่งเลย ผมคิดว่าจุดดึงดูดคือ แปลก คาเฟ่อะไรนอนได้ด้วย เพราะมีฟูกปูเต็มริมแม่น้ำ ลักษณะโดดเด่นมีฟูกปูบนลานไม้ใต้ต้นจามจุรี ริมแม่น้ำป่าสักซึ่งกว้างประมาณ 30 เมตร ผมไม่มองไปถึงทำเป็นรีสอร์ทเพราะจะแออัดไป ทำให้อยู่ไม่สบาย ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปไม่วุ่นวาย”

สุดท้าย บอลนิยามการใช้ชีวิตช้าๆ ในแบบของตัวเองแม้ช่วงนี้เขาตั้งใจทำงานหนัก เพื่อวางระบบร้านให้ดีที่สุด แต่ก็ขอมีบางมุมที่ขอใช้ชีวิตอย่างมีสติ เช่น การหามุมเงียบๆ คิดนู่นคิดนี่ เพื่อเรียกสติกลับมา

“ผมมีความสุขมากๆ ได้อยู่กับแม่ ได้ทำความฝัน ได้เป็นนายตัวเอง และได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำจริงๆ อยากตื่นมาทำงานทุกเช้าในบ้านที่ทำให้ผมมีความสุข เห็นผู้คนมาใช้ชีวิตพักผ่อน เห็นเขาได้นอนพักผมก็มีความสุข ยิ่งการใช้ชีวิตที่ได้กลับมาที่บ้านเกิดช่างแตกต่างจากตอนอยู่กรุงเทพฯ โดยสิ้นเชิง เพราะอยู่ธนาคารต้องหาลูกค้าต้องทำยอดบัตรเครดิต ชีวิตเป็นรูทีนมากตื่นเช้ากลับบ้านค่ำ ชีวิตวนอยู่แบบนั้น แม้ตอนนี้ผมยังตื่นเช้า 6 โมงเช้า เข้านอน 4 ทุ่ม ได้ใช้ชีวิตเป็นเด็กต่างจังหวัด ตารางชีวิตผมคือเวลาสัก 9 โมงเช้าเมื่อจัดการวางแผนการทำงานเรียบร้อยผมก็มานั่งจิบกาแฟ อ่านหนังสือซึ่งผมหวงเวลาช่วงนี้มาก เพราะผมมีความสุขอยู่กับโมเมนต์ตรงนี้ เวลาแค่ครึ่งชั่วโมงแต่สุขมากๆ ในแบบของผมครับ” จินดา รอดฟ้า เจ้าของโฮม แอนด์ คาเฟ่ ล้มบนฟูก วัย 30 กล่าวทิ้งท้าย