posttoday

เริ่มต้นปี‘โดยไม่เป็นหนี้’

17 มกราคม 2562

อยู่แบบไม่เป็นหนี้ สบายกายใจที่สุด และเป็นการสร้างนิสัยการบริหารการเงินที่ใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัย

เรื่อง เรื่อง ราตรีแต่ง 

อยู่แบบไม่เป็นหนี้ สบายกายใจที่สุด และเป็นการสร้างนิสัยการบริหารการเงินที่ใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัย ปีใหม่นี้ถ้าไม่เหลือเงินในบัญชี แต่กำลังวางแผนออกรถยนต์เพื่อใช้อำนวยความสะดวกในการทำงาน แต่บางวันแทบนับเหรียญเติมน้ำมันกันเลยทีเดียว หรือสภาวะใช้เงินเดือนชนเดือนคงดำรงอยู่ ไม่ต่างจากปีที่แล้ว ชีวิตไม่สุขแน่นอน ลองปรับพฤติกรรมใช้ชีวิตใหม่ เริ่มกันเลย

ทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายประจำวัน

ยังไม่เคยทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายประจำวันใช่ไหมล่ะ? ก็เลยไม่(เคย)มีเงินเก็บ นั่นเป็นเพราะจะไม่สามารถเห็นภาพรวมของการใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้อย่างชัดเจน

ลองมาเริ่มต้นใหม่ด้วยแบบฟอร์มบันทึกรายรับ-รายจ่ายประจำวัน ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแบบฟอร์มบันทึกรายรับ-รายจ่ายให้ดาวน์โหลด www.bot.or.th/Thai/Segmentation/Public/Documents/SavingBOT_2559.xls ในรูปแบบไฟล์ Excel ใช้งานง่าย โปรแกรมนี้จะช่วยมอนิเตอร์การใช้จ่ายแบบรายวัน

แค่เพียงกรอกรายรับ-รายจ่ายที่ใช้ไปในแต่ละวัน ระบบจะคำนวณตัวเลขค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน และมีเงินเหลือสำหรับเก็บออมเท่าไร

การบันทึกรายรับ-รายจ่าย นับเป็นวิธีสำคัญช่วยให้รู้นิสัยการใช้จ่ายของตัวเองมากขึ้น ใครอยากเก็บเงินให้งอกเงย ไม่อยากติดลบอยู่ทุกเดือน ต้องรู้จักเริ่มต้นทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายทุกวัน เพราะรายรับ-รายจ่ายในแต่ละวันนั้นมากมาย มีแบงก์ร้อยก็หมดร้อย แบงก์พันเผลอๆ บางวันก็เกลี้ยงในพริบตาแบบจำแทบไม่ได้ ใช้จ่ายอะไรไปบ้างหนอ?!! หรือแทบไม่รู้ตัวว่ารายจ่ายประจำเดือนอาจมากกว่ารายรับด้วยซ้ำ สัญญาณสุขภาพการเงินย่ำแย่เริ่มต้นแล้ว

เก็บออมเงินก่อนใช้เสมอ

กฎเหล็กคือวางแผนออมเงิน 10% ของรายได้ หรือจัดกระเป๋าที่แตะต้องไม่ได้ ลับๆ เล็กๆ เพื่อเก็บออมเดือนละ 2,000 บาท เก็บไปเรื่อยๆ เมื่อประสบสภาวะฉุกเฉิน เงินก้อนนี้เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน จะช่วยเราได้อย่างเหลือเชื่อ

ไม่อยากเป็นลูกหนี้ ต้องสร้างนิสัยเก็บสะสมเงินให้เพียงพอ ถ้าปีนี้อยากเริ่มต้นฝันโดยการมีสินทรัพย์มั่นคงสัก 1 ชิ้น ซื้อบ้านเพื่อที่อยู่อาศัย ควรพิจารณาอย่างรอบคอบอย่าเพิ่งรีบตัดสินใจก่อหนี้ก้อนใหญ่ อย่าคิดเหมารวมว่าการซื้อบ้านเป็นการสร้างหนี้ดี ก็คงไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะยังต้องดูไปถึงการบริหารจัดการหนี้ ความมีวินัยทางการเงินและการชำระหนี้ด้วย ตรงกันข้ามหากเลือกซื้อแบบเกินตัว ก็กลายเป็นความฟุ่มเฟือยได้เช่นกัน อาจส่งผลให้การเงินรวน ปั่นป่วน และไม่สามารถจัดการควบคุมได้

ถือว่าเป็นการก่อหนี้ที่ไม่ดี นอกจากจะส่งผลที่ไม่ดีต่อตัวผู้สร้างหนี้เองแล้ว ยังส่งผลไปถึงคนรอบข้างอีกด้วย

ควรรู้ศักยภาพในการชำระหนี้ เลือกขนาดและราคาของบ้านที่สามารถจ่ายชำระ ภาระหนี้สินที่จะผูกพัน หรือจำนวนดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย หาข้อมูลเปรียบเทียบให้รอบด้านก่อนตัดสินใจ

ลงมือจัดการหนี้สินอย่างจริงจัง

ปีที่ผ่านมาเป็นหนี้ ปีนี้ก็หมดหนี้ได้ อย่าท้ออย่าแพ้ และไม่ว่าหนี้สินนั้นจะก่อปัญหาทางการเงินหรือไม่ก็ตาม ผู้มีหนี้ควรลงมือจัดระเบียบทางการเงิน หาวิธีจัดการลดหรือปลดหนี้ที่มีอยู่อย่างจริงจัง เพื่อลดภาระดอกเบี้ย ลดภาระผูกพันทางการเงิน รวมทั้งเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น เกิดอุบัติเหตุ เจ็บไข้ได้ป่วย หรือตกงานโดยไม่คาดฝัน

แนวคิดหนึ่งที่ทำให้ลูกหนี้ทั้งหลายเข้าใจผิดเกี่ยวกับการต่อสู้กับปัญหาหนี้สิน คือ มีหนี้แล้วจะออมเงินไม่ได้ เมื่อมีรายได้เข้ามาแล้วก็ต้องรีบนำไปชำระหนี้ทันที หนี้จะได้หมดเร็วๆ หมุนวนเข้ากระเป๋าซ้าย จ่ายออกกระเป๋าขวาอยู่หลายปี สุดท้ายหนี้ก้อนใหญ่ก็ยังมีอยู่ คุณภาพชีวิตก็แย่ลงกว่าเดิม ถ้าการแก้หนี้แบบวิธีเก่าไม่ได้ผล เรามาลองวิธีใหม่

เทคนิคออมเงินไปพร้อมกับการจ่ายหนี้ จากรายได้ประจำควรแบ่งไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน 40% ส่วนที่เหลืออีก 60% นำไปจ่ายชำระหนี้ทั้งหมด กระเป๋าเบาโหวง ไม่มีเงินออมฉุกเฉินไว้เลย ซึ่งการเงินที่ดีควรเก็บเงินฉุกเฉินไว้ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่าย มีวิธีพิจารณาทั่วไปคือ ภาระหนี้ เช่น ค่างวดบ้าน รถ ต้องไม่เกิน 40% ของรายได้สุทธิต่อเดือน ไม่ควรมากเกินไปกว่านี้เพราะรายได้ต้องนำไปใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ค่าน้ำมันรถ ค่าบำรุงรักษาบ้าน ค่าน้ำไฟ ฯลฯ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็สามารถปรับอัตราส่วนให้เพิ่มมากขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับวินัยทางการเงินมากเพียงใด

หนี้ดี กับหนี้ไม่ดี

ไม่เป็นหนี้ แต่ไม่มีอะไรเลย ชีวิตแบบนี้ก็ไม่ไหวนะ การเลือกเป็นหนี้เพื่อความมั่นคงของชีวิตในอนาคต ก็ควรถือว่าเป็นหนี้ที่มีการวางแผนชีวิต การเป็นหนี้เพื่อคุณภาพชีวิตของครอบครัว เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ อาจจะถือได้ว่าเป็นการก่อหนี้ที่ดี

ส่วนหนี้ที่ไม่ดี เช่น กู้เงินไปทำธุรกิจขาดประสบการณ์ ขาดความชำนาญ เงินก้อนใหญ่ใช้ในสิ่งที่ไม่ก่อรายได้ ก่อนจะตัดสินใจเป็นลูกหนี้ ลองถามตัวเองดูก่อนว่าเงินที่จะกู้มานี้จะเอาไปสร้างรายได้ให้งอกเงยได้ไหม ถ้าพิจารณาดูแล้วว่าเป็นอะไรที่ใช้แล้วหมดไป ไม่สร้างผลตอบแทน ไม่ก่อให้เกิดรายรับเพิ่มเลย ถ้าแบบนี้โอกาสจะกลายเป็นหนี้เสียในอนาคตก็ยิ่งมากขึ้นไปอีก เห็นทีอย่าเสี่ยงจะดีกว่า ขึ้นปีใหม่ เริ่มใหม่ ท่องไว้มีหนี้ก็ได้ แต่ให้อยู่ในหลักเกณฑ์ที่มีจ่ายได้โดยไม่เดือดร้อน