posttoday

เตรียมพร้อมวางแผน ภาษีมรดก

15 มกราคม 2562

พอเริ่มต้นปีเริ่มขึ้น พ.ศ.ใหม่ เรื่องแรกๆ ที่ทุกคนต้องทำก็คือการจ่ายภาษี ก็ขยันทำงานมาทั้งปี

เรื่อง  กันย์ ภาพ Pixabay

พอเริ่มต้นปีเริ่มขึ้น พ.ศ.ใหม่ เรื่องแรกๆ ที่ทุกคนต้องทำก็คือการจ่ายภาษี ก็ขยันทำงานมาทั้งปี เตรียมเก็บเงินมาทั้งชีวิต เพื่อหวังว่าจะเก็บไว้ใช้หลังเกษียณและที่เหลือก็ส่งต่อไปยังลูกหลานรุ่นต่อไป ชีวิตคือการวางแผน อย่าประมาท ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอภายใต้ท้องฟ้านี้ ถ้าเราเตรียมพร้อมทุกอย่างไว้ดีพอจะได้ไม่ยุ่งยากกับคนข้างหลัง

ทุกคนรู้วันเกิดของตัวเอง แต่ไม่รู้ว่าเราจะจากโลกนี้ไปวันไหน คนส่วนใหญ่มักไม่ได้เตรียมตัววางแผน และปล่อยให้เวลาผ่านไป จนถึงวันที่ตัวเองจากไปและมรดกถูกแจกจ่ายไปยังทายาท ยิ่งมรดกมีมูลค่ามากก็จะยิ่งเกิดภาระทางภาษีแก่ผู้รับมรดกมากขึ้นตามไปด้วย จึงควรเตรียมแผนไว้ให้ดีจะได้ไม่วุ่นวายในการรับมือกับภาษีมรดก มี 4 ขั้นตอนที่ต้องเตรียม...

1.ทำบัญชีทรัพย์สินอยู่เสมอ

เพื่อให้ทราบถึงสถานะทางการเงินของตัวเองว่า มีทรัพย์สินอะไรบ้าง เป็นมูลค่า เท่าไร พร้อมทั้งวางแผนจัดสรรว่า ส่วนใดที่จะนำไว้ใช้ในบั้นปลายชีวิตและส่วนใดที่จะต้องนำไปวางแผนมรดกเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลัง โดยทรัพย์สินที่จะต้องเสียภาษีมรดก ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ ยานพาหนะ หลักทรัพย์ตามกฎหมาย เงินฝาก และทรัพย์สินทางการเงิน

2.ศึกษากฎหมายภาษีมรดกและภาษีจากการให้

เพื่อวางแผนให้เกิดประโยชน์ในการให้มรดกอย่างสูงสุด โดยหลักเกณฑ์ในเบื้องต้น เกิดขึ้นเมื่อมีการเสียชีวิตของเจ้าของมรดกและส่งต่อทรัพย์สินไปตามพินัยกรรม ซึ่งทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดก จะเสียเฉพาะส่วนเกิน 100 ล้านบาท ในอัตรา 10% เมื่อผู้รับมรดกเป็นบุคคลธรรมดา เช่น ผู้รับตามพินัยกรรม หรืออัตรา 5% เมื่อผู้รับมรดกเป็นบุพการีหรือทายาท โดยถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้คำนวณจากราคาประเมิน ส่วนหลักทรัพย์ให้คำนวณจากราคาปิดตลาด ณ วันโอน หรือเมื่อของเจ้าของมรดกได้มอบทรัพย์สินในขณะที่มีชีวิตอยู่ให้กับทายาท ซึ่งการให้ดังกล่าว แบ่งเป็นประเภทสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ โดยส่วนเกินของมูลค่าที่กฎหมายกำหนด จะต้องนำมาคำนวณภาษี

สังหาริมทรัพย์นั้นถ้ามอบให้บุคคลธรรมดา ส่วนเกินมูลค่าทรัพย์สิน 10 ล้านบาท จะเสียภาษี 5% แต่ถ้ามอบให้ทายาทตามกฎหมาย ทายาทสนิท หรือให้ด้วยความเสน่หา ส่วนเกินมูลค่าทรัพย์สิน 20 ล้านบาท จะเสียภาษี 5%

อสังหาริมทรัพย์ ถ้าเฉพาะการมอบให้บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม จะเสียภาษี 5% ของส่วนเกิน มูลค่าทรัพย์สิน 20 ล้านบาท

3.วางแผนการมอบมรดก

โดยการทยอยส่งมอบทรัพย์สินในแต่ละปีเป็นจำนวนเงินที่เหมาะสมและไม่ทำให้เสียภาษีมากจนเกินไป เช่น มีมรดก 40 ล้านบาทและทายาท 1 คน ก็สามารถทยอยมอบให้ปีละ 20 ล้านบาทจำนวน 2 ปี ก็จะไม่เสียภาษีจากส่วนเกินมูลค่าทรัพย์สินที่จะให้เป็นมรดก ทั้งนี้ ในการวางแผนมรดกควรพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบ ไม่ควรให้มรดกชิ้นเดียวกัน กับทายาทหลายๆ คนเพราะอาจจะเกิดปัญหาระหว่างทายาทตามมาได้ รวมทั้งไม่ควรรีบมอบมรดกเพราะกลัวการจ่ายภาษีจนเราเกิดความลำบากเมื่อทรัพย์สินถูกแจกจ่ายไปแล้ว

4.เลือกส่งต่อมรดกเป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

หากมีมรดกจำนวนมากและไม่สามารถทยอยมอบให้ในเร็ววันได้ ก็ควรเปลี่ยนทรัพย์สินที่เสียภาษีมรดกเป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การทำประกันชีวิตเพื่อรับสินไหมมรณกรรม โดยระบุผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์เป็นทายาทที่เราต้องการมอบทรัพย์สินก้อนสุดท้ายไว้ให้

การวางแผนมรดกที่ดี ควรเริ่มต้นจากการรู้สถานะทางการเงินของตัวเองด้วยการทำบัญชีทรัพย์สินที่มีอย่างละเอียด การศึกษาข้อกฎหมายและวางแผนให้ส่งต่อมรดกไปยังทายาท โดยได้รับประโยชน์สูงสุดทางภาษี ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการทยอยให้

การเปลี่ยนทรัพย์สินที่เสียภาษีเป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น ประกันชีวิต ที่สำคัญคือควรพิจารณาความเหมาะสมในการมอบทรัพย์สินมรดก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับตัวเองและทายาทตามมา