posttoday

‘ทุกคนมีการเดินทางของตัวเอง’ ฉัตรพร นิลธรรมชาติ

13 มกราคม 2562

ไม่แน่ใจว่าหนังสือเล่มนี้จะเรียกว่า บันทึกการเดินทางได้หรือไม่

โดย กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ : ไม่เครดิต

ไม่แน่ใจว่าหนังสือเล่มนี้จะเรียกว่า บันทึกการเดินทางได้หรือไม่ เพราะมันคือ บันทึกชีวิตของหญิงสาวที่ไปใช้ชีวิตอยู่ออสเตรเลียนาน 1 ปี หลังจากกลับมา แพร-ฉัตรพร นิลธรรมชาติ ได้กางไดอารี่ เปิดสมุดวาดภาพ ล้างฟิล์ม และเขียนหนังสือยาว 272 หน้าเรื่อง AUS stay LIA ที่มีทั้งข้อมูลการเดินทาง ความทรงจำ และบทเรียนชีวิตที่ทำให้เติบโต

แพรเดินทางไปออสเตรเลียด้วยวีซ่าเวิร์กแอนด์ฮอลิเดย์ ซึ่งเป็นวีซ่าที่สามารถอยู่และทำงานอย่างถูกต้องได้นาน 1 ปี “แพรมีเป้าหมายว่าอยากไปเที่ยวยาวๆ แต่เราไม่มีเงินมากขนาดนั้น เลยต้องทำงานเพื่อนำเงินไปเที่ยวต่อได้นานๆ” เธอกล่าว

ถามต่อว่า ตอนนั้นคิดอย่างไรถึงตัดสินใจออกจากบ้าน 1 ปี แพรตอบว่า ช่วงนั้นเธออายุ 29 ย่าง 30 ปี มีงานทำ มีชีวิตที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็เป็นวัยที่ทำงานมาถึงจุดหนึ่งและรู้สึกอยากเปลี่ยนแปลง “แพรเริ่มสนใจเรื่องการพึ่งพาตัวเองว่าถ้าเราไม่มีเงินจะอยู่ยังไง แพรเลยไปเรียนทำบ้านดินอยู่เอง ปลูกผักกินเอง ซึ่งทำให้มั่นใจในระดับหนึ่งว่าเราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ เลยคิดอยากไปทดลองวิชาดูว่าถ้าเราไปอยู่ต่างประเทศนานๆ เราจะพึ่งพาตัวเองได้แค่ไหน”

นักเขียนสาวเล่าต่อว่า การเดินทางครั้งนี้เธอไม่ตั้งใจไปเพื่อกลับมาเขียนหนังสือ เพราะเธออยากไปท่องเที่ยวเพื่อโฟกัสกับตัวเองมากกว่าคนอ่าน และอยากเรียนรู้อะไรบางอย่างในตัวเอง ถึงกระนั้นเมื่อกลับมาเธอก็รู้สึกอยากเล่าทุกอย่างให้คนอื่นฟัง

‘ทุกคนมีการเดินทางของตัวเอง’ ฉัตรพร นิลธรรมชาติ

“การได้เขียนออกมาจะเป็นการทบทวนตัวเอง และจะเป็นบันทึกเล่มหนึ่งที่อีก 10 ปี 20 ปีกลับมาอ่านก็ยังมีรายละเอียดครบ การเขียนหนังสือจึงเป็นการจดบันทึกของแพรอีกรูปแบบหนึ่ง และถ้าถามว่าชอบช่วงไหนมากที่สุด แพรชอบทุกช่วงเวลาในออสเตรเลียเพราะแต่ละช่วงมันให้อะไรต่างกัน”

เธอเล่าว่า ช่วงแรกเป็นช่วงหางานซึ่งนับเป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์และการเรียนรู้ “ไม่ใช่ความทุกข์ที่ต้องทำงาน แต่เป็นความทุกข์กับอัตตาตัวเอง เพราะอยู่เมืองไทยเราทำอะไรก็สำเร็จ เรามีแบรนด์ของตัวเอง เราสร้างบ้านดินเองได้ แต่พอไปอยู่ที่นั่นเรากลายเป็นคนธรรมดาที่พูดภาษาบ้านเขายังไม่ค่อยได้เลย พอเราไปสมัครงานเขาไม่สนใจหรอกว่าเราเคยทำอะไรมา เขาสนแค่ว่าคุณพูดภาษาเขาได้ไหม ทำหน้าที่ได้ดีหรือเปล่า จึงเป็นการทบทวนว่า เราก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ไม่ใช่คนเก่ง คนเจ๋ง แต่ทุกคนเท่าเทียมกัน ดังนั้นมันดีมากเลยสำหรับที่ผ่านชีวิตมาช่วงหนึ่ง และเริ่มมีหัวโขนเป็นของตัวเอง”

‘ทุกคนมีการเดินทางของตัวเอง’ ฉัตรพร นิลธรรมชาติ

จนกระทั่งเธอได้งานเป็นคนงานในฟาร์มเบอร์รี่นอกเมือง และทำงานจนเก็บเงินซื้อรถยนต์มือสองได้ 1 คัน เธอเรียกช่วงนี้ว่า ช่วงเวลาแห่งความสัมพันธ์ และได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอรู้ว่าอยากใช้ชีวิตแบบไหนต่อไป จากนั้นจบด้วย 3 เดือนสุดท้าย เธอขับรถเที่ยวทั่วออสเตรเลียตั้งแต่แทสมาเนียทางตอนใต้ ใช้เส้นทางอีสต์โคสต์ขับย้อนกลับขึ้นไปทางเหนือ ก่อนจะสิ้นสุดด้วยการไปดำน้ำที่ เกรท แบริเออร์ รีฟ และประกาศขายสัมภาระก่อนกลับเมืองไทย

“หลังจากทำงานที่ฟาร์มเบอร์รี่ทำให้มีเงินเก็บหนึ่งก้อน ตอนนั้นคิดว่าจะทำงานต่อเพื่อเติมเงินก้อนนี้ให้ใหญ่ขึ้นไหม เพื่อกลับมาจะได้ซื้อที่ดินและทำอะไรสักอย่างที่เมืองไทย แต่พอคิดถึงเป้าหมายแรกของเราคือมาทำงานเก็บเงินแล้วไปเที่ยว เลยตัดสินใจใช้เงินก้อนนั้นไปกับโรดทริป และถือว่าเป็นของขวัญของทริปนี้” เธอกล่าวเพิ่มเติม

‘ทุกคนมีการเดินทางของตัวเอง’ ฉัตรพร นิลธรรมชาติ

การใช้ชีวิตในออสเตรเลียทำให้เธอรู้จักตัวเองมากขึ้น และเธอหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะกระตุ้นให้คนอ่านมองข้ามขีดจำกัดของตัวเอง “แพรตัดสินใจไปออสเตรเลียตอนอายุจะสามสิบ ซึ่งเพื่อนในวัยเดียวกันได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้า หรือบางคนได้เงินเดือนแตะแสนกันแล้ว แต่เรากำลังจะออกเดินทางและยังไม่รู้ว่าจะไปทำงานอะไร แต่แพรคิดว่า อย่าไปยึดติดแล้วใช้ชีวิตให้มีอิสระ ข้อจำกัดไหนที่สร้างขึ้นมาเองก็อยากให้ลดมันลง แต่ถ้าเป็นข้อที่จำเป็นและมีผลกับคนอื่นก็พยายามทำในจุดที่เราทำได้ หาบาลานซ์ให้ตัวเอง ถ้าอยากลองทำอะไรใหม่ๆ ก็ออกไปทำ และอยากให้ทุกคนมีความสุขกับการเดินทางของตัวเอง”

เธอเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับการเดินทางมาแล้ว 2 เล่ม คือ Kashmir If You Can และ Knock Knock, Kanto สำหรับเรื่อง AUS stay LIA เป็นเล่มล่าสุด ซึ่งเป็นการเดินทางที่นานที่สุดและใช้เวลาเขียนนานที่สุด เชื่อว่าถ้าได้อ่านแล้วจะอยากออกเดินทางให้เร็วที่สุด เพื่อตอบคำถามตัวเองให้มากที่สุด