posttoday

ต้องพร้อมทุกขณะเมื่อโอกาสมาถึง ธิติ วงศ์ธนาศักดิ์

12 มกราคม 2562

Robot หรือหุ่นยนต์ เพื่ออุตสาหกรรมการผลิต

โดย พลพัต สาเลยยกานนท์

Robot หรือหุ่นยนต์ เพื่ออุตสาหกรรมการผลิต กำลังเป็นกลไกชิ้นแกร่งที่จะเข้ามาเสริมทัพให้กับการผลิตทุกอุตสาหกรรมตั้งแต่รายย่อยไปจนถึงรายใหญ่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต โดยคุณภาพของชิ้นงานต้องได้มาตรฐาน ร่นระยะเวลาและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

ที่สำคัญทุกกระบวนการผลิตต้องสร้างความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สิน อนาคตอันใกล้สายการผลิตผ่านหุ่นยนต์จะเป็นก้าวที่แกร่งพร้อมผงาดในทุกอุตสาหกรรม และประเทศไทยต้องก้าวสู่การยกระดับเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งให้ทุกหน่วยธุรกิจนำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ มาเป็นกลไกในการขับเคลื่อน

ภาพรวมการใช้หุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรมเมืองไทย มีอยู่ราว 2,000-3,000 ตัว/ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 1.4 แสนแห่งในประเทศไทย และมีกลุ่มเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตราว 5 แสนราย และนั่นก็หมายถึงโอกาสอีกมหาศาล

ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีที่สามารถทำซ้ำได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้ ปัจจุบันโรงงานการผลิตต่างๆ จึงมีการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์กันมากขึ้น ทำให้มีอัตราการเติบโตราว 5-10% ต่อปี

ธิติ วงศ์ธนาศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิ อาร์ค หนึ่งในซีอีโอไฟแรง กล่าวถึงสถานการณ์ของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสำหรับภาคการผลิตในไทยว่า

“เดิมเราจะเห็นภาพโรบอต หรือหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในภาคของอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลัก แต่ในวันนี้ภาคการผลิตได้พลิกโฉมไปแล้ว ผู้ประกอบการในภาคการผลิตต่างหันมาให้ความสนใจในการนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

ต้องพร้อมทุกขณะเมื่อโอกาสมาถึง ธิติ วงศ์ธนาศักดิ์

เพราะจุดเด่นในการนำโรบอตมาใช้ก็เพื่อให้ชิ้นงานมีคุณภาพได้มาตรฐาน สอดคล้องกับระบบอัจฉริยะที่สร้างขึ้นมาอย่างเฉพาะเจาะจง ที่สามารถสั่งงานผ่านโปรแกรมที่เรียกว่าแอพพลิเคชั่นได้เป็นอย่างดี ทำให้การควบคุมสะดวกสบายขึ้น มีความแม่นยำ และลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บของพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายการผลิตที่ต้องใช้แรงงานในการผลิตแบบซ้ำๆ เน้นปริมาณและใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน

นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการลดปัญหาการใช้แรงงานในอนาคต ที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอีกด้วย”

การก้าวเข้าสู่ธุรกิจนี้ ธิติ เล่าว่า ไม่ได้ราบรื่นหรือเรียบง่ายเหมือนกับสายพานที่ขับเคลื่อน แต่ต้องเป็นคนที่สนใจใฝ่รู้ สืบค้น ช่างสังเกต และมีความพร้อมในทุกช่วงเวลา

“ผมบ่มเพาะทักษะความรู้พื้นฐานทางธุรกิจ โดยคิดเป็นระบบเมื่อตอนเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) และเข้าทำงานด้านบริหารการเงินกับคุณพ่อ ซึ่งบอกเลยว่าเป็นการเริ่มต้นที่ทำให้ผมแกร่งโดยไม่รู้ตัว ระหว่างการช่วยงานกับทางคุณพ่อ ผมไม่เคยหยุดนิ่งในการแสวงหาโอกาสให้กับตัวเอง แต่เฝ้ามองหาช่องทางการเรียนรู้ใหม่ๆ ผ่านการสมัครงานเพื่อค้นหาตัวเอง จนได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมขายเครื่องจักรเพื่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา

ก้าวสำคัญของผมอยู่ที่จุดเปลี่ยนในการทำงานอีกครั้งเมื่อผมได้มีโอกาสคิดนอกกรอบ โดยการเริ่มเขียนแผนงาน (Proposal) เสนอบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรที่ประเทศญี่ปุ่น และเปิดบริษัทเมื่ออายุ 28 ปี ซึ่งแผนธุรกิจในครั้งนั้นได้รับการอนุมัติให้ผม หรือบริษัท ยูนิ อาร์ค ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์อุตสาหกรรม อะไหล่และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์อุปกรณ์อัตโนมัติสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์เครื่องเชื่อม เครื่องตัด จากแบรนด์ผู้ผลิตชั้นนำระดับโลก

ในวันที่ได้รับข่าวดีตรงกับวันเกิดของตัวเองพอดี ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่คิดจะเป็นเจ้าของธุรกิจในขณะนั้น และเราก็ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทต่างๆ ระดับโลกในเวลาต่อมาอีกหลายแห่ง”

ธิติ บอกว่าวันนี้ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักรอัตโนมัติ อุปกรณ์การเชื่อมทุกรูปแบบ และระบบเครื่องจักรกลโรงงานอัตโนมัติ ภายใต้แบรนด์ OTC Daihen, Nachi, Omron, Trump, CKD, Siemens ฯลฯ

ต้องพร้อมทุกขณะเมื่อโอกาสมาถึง ธิติ วงศ์ธนาศักดิ์

“หัวใจสำคัญที่เป็นกุญแจไขทางแห่งความสำเร็จของผมในวันนี้ ก็คือผมเป็นคนใส่ใจในทุกรายละเอียด ทุกวันนี้ผมเปิดส่วนหนึ่งของบริษัทให้เป็นโรงเรียนในการถ่ายทอดความรู้ผ่านหลักสูตรการอบรมสัมมนาเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับไลน์การผลิตรูปแบบต่างๆ ตลอดเวลา อาทิ การเชื่อมไฟฟ้าจากโอทีซี ไดเฮ็น ซึ่งเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีเครื่องเชื่อมและอุปกรณ์งานเชื่อมของประเทศญี่ปุ่น โครงการอบรมการใช้งานหุ่นยนต์ให้สถาบันการศึกษา เป็นต้น”

ล่าสุด เป็นโครงการใหญ่ที่ธิติจับมือกับสถาบันทางการเงินในโครงการ “สินเชื่อหุ่นยนต์” ภายใต้ชื่อโครงการ “UNI ARC 5 YEARS ROBOTPAYLITE FOR SMART FACTORIES & SMEs” เพื่อเสริมโอกาสให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและรายย่อยได้เข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ดี ก็สามารถยกระดับและเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้เหมือนกัน

“ถามถึงวันว่างของผม ต้องบอกว่า วัยของผมอยู่ในช่วงเริ่มต้นในการทำธุรกิจ เวลาส่วนใหญ่ในช่วงนี้จะเป็นเรื่องของการเก็บประสบการณ์ต่างๆ ให้มากที่สุดก่อนครับ อาทิ การเข้าอบรมในโครงการต่างๆ ที่จะเป็นการเพิ่มความรู้ เพิ่มคอนเนกชั่น นอกนั้นก็จะเป็นเรื่องการแบ่งเวลาไปให้กับการออกกำลังกายอย่างเทนนิส กอล์ฟ ว่ายน้ำ เพราะสุขภาพก็จะเป็นเรื่องที่เราละเลยไม่ได้เช่นกัน

ผมอยากบอกทุกคนว่า ความชอบเรื่องกีฬาต้องเริ่มกันตั้งแต่เด็ก ซึ่งผมเองก็เป็นนักกีฬามาตั้งแต่เด็กด้วย สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเกิดความเคยชินและเป็นความรัก เวลาที่ทำงานหนักการผ่อนคลายที่ดีที่สุด ผมคิดว่าเป็นการออกกำลังกาย เพราะจะได้พลังบวกกลับมาเสมอๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกรอบตีกอล์ฟจะเป็นกีฬาที่ได้ทั้งการผ่อนคลาย ได้ออกกำลังกาย และได้การตกลงที่ดีบนขอบกรีนเสมอๆ”

จากการที่อยู่ในธุรกิจนี้มายาวนานกว่า15 ปี ธิติ มองไกลว่าก็คงจะยังไม่หยุดที่จะก้าวไปข้างหน้าและแสวงหาโอกาสใหม่ๆอยู่เสมอ

ผมเชื่อว่าคนเราทุกคนต้องมี ‘โอกาส’ แต่โอกาสบางครั้งไม่ได้มาในขณะที่เรา ‘พร้อม’ ฉะนั้นเราจึงต้อง ‘แตะ’ ทุกอย่างเพื่อเปลี่ยนคำว่า ‘ไม่รู้’ ให้กลายเป็น ‘รู้’ ซึ่งนี่คือแนวทางการพยายามทำตัวเองให้พร้อมสำหรับผม และเมื่อโอกาสมาถึงในช่วงเวลาเดียวกับที่เราพร้อม เมื่อนั้นคุณก็จะสามารถรับโอกาสและลงมือทำในสิ่งนั้นได้อย่างสนุกบนเส้นทางที่มีความสำเร็จรออยู่”

นี่คือบทสรุปจากผู้บริหารหนุ่ม ผู้ที่เชื่อและศรัทธาในเรื่องของการสร้างและให้ “โอกาส” ถ้าถามเป้าหมายของคนหนุ่มคนนี้ในปีถัดๆ ไปของเขา อยู่ที่การนำองคาพยพของยูนิ อาร์ค ให้แตะตัวเลขที่ 200 ล้านบาท