posttoday

อรวรรณ กอเสรีกุล เปลี่ยนขยะมุ้งลวด เป็นกระเป๋าดีไซน์เก๋

31 ธันวาคม 2561

สาวนักครีเอทีฟจากรั้วแคแสดอรวรรณ กอเสรีกุล

โดย กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

สาวนักครีเอทีฟจากรั้วแคแสดอรวรรณ กอเสรีกุล บัณฑิตจบใหม่จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม สาขาออกแบบสิ่งทอ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ทำโครงการสุดสร้างสรรค์ทิ้งท้ายไว้เป็นผลงานจบการศึกษา

และมากไปกว่านั้น มันไม่ใช่แค่การบ้านในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ยังเป็นตัวจุดประกายไอเดีย นำวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมสิ่งก่อสร้างอย่าง “มุ้งลวด” มาออกแบบเป็นสิ่งทอแนวใหม่ที่ทั้งสวยงามและมีมูลค่า

อรวรรณ เจ้าของโครงการออกแบบสิ่งทอจากมุ้งลวดปักลาย กล่าวว่า เธอได้นำวัสดุเหลือใช้จากระบบอุตสาหกรรมมาต่อยอดสู่สิ่งใหม่ โดยได้คัดเลือกวัสดุใกล้ตัวที่เจอทุกวันอย่าง มุ้งลวด ซึ่งมีผิวสัมผัสที่น่าสนใจ มีความยืดหยุ่นคล้ายผ้า และเป็นวัสดุที่มักเหลือทิ้งในการติดตั้งตามบ้านเรือน มาออกแบบและคิดหาวิธีสร้างสรรค์ใหม่ๆ จนกลายมาเป็นกระเป๋าใบสวยที่ไม่มีใครเหมือน

จากการลงพื้นที่หาซื้อมุ้งลวด พบว่า มุ้งลวดมี 3 ประเภท คือ ทำจากอะลูมิเนียมที่สะท้อนแสงได้ดีมีคุณสมบัติช่วยทำให้บ้านสว่าง อีกประเภท คือ ทำจากไนลอนซึ่งมีความหนาและดักฝุ่นได้มากกว่าประเภทอื่น และประเภทสุดท้าย คือ ทำจากไฟเบอร์กลาสมีความอ่อนตัวและดูทันสมัย

เธอลองนำมุ้งลวดทุกประเภทมาปักด้วยวิธีต่างๆ ปรากฏว่าวัสดุที่ขึ้นรูปได้ดีคล้ายสิ่งทอที่สุด คือ มุ้งลวดไฟเบอร์กลาส

อรวรรณ กอเสรีกุล เปลี่ยนขยะมุ้งลวด เป็นกระเป๋าดีไซน์เก๋

“เราอยากเพิ่มลวดลาย เพิ่มคุณค่าทางความงาม เพื่อสร้างประโยชน์ใช้สอยด้านอื่นๆ ให้กับมุ้งลวดเหลือใช้” เธอ กล่าว

“ซึ่งก่อนจะมาค้นพบการปักลายก็ได้ลองมาหลายวิธี ทั้งใช้สีทาเล็บเหลือทิ้งมาทา เพราะเราเป็นคนชอบทาเล็บและไม่เคยใช้หมดขวด ปรากฏว่าก็ดูสวยดีแต่ไม่รู้ว่าจะนำมุ้งลวดสีๆ ไปทำอะไร จากนั้นได้ลองใช้เอ็นใสมาร้อยเข้าไปก็ทำให้สวยงามได้แต่ใช้เวลาทำนานมาก ไม่เหมาะกับการผลิตซ้ำ

แล้วพอดีได้ลงเรียนคอร์สปักครอสติช(Cross Stitch) จึงลองปักลายแทรกเข้าไปในรูมุ้งลวด แต่เทคนิคนี้ก็ไม่เวิร์กอยู่ดีเพราะไม่เหมาะกับขนาดรูของมุ้งลวดที่เล็กเกินไป”

เมื่อลองผิดลองถูกด้วยวิธีที่คิดว่าน่าจะสร้างความสวยงามได้ สุดท้ายเธอค้นพบเทคนิคการ “ปักฟู” (Needle Punching)ซึ่งมีวิธีการทำคล้ายอุตสาหกรรมพรม คือ มีแผ่นแข็งเป็นฐานและใช้เส้นพรมแทงเข้าไปให้ขึ้นฟู

“เมื่อค้นพบวิธีทำได้แล้ว ต่อไปก็คือการหาคอนเซ็ปต์เพื่อสร้างลวดลายให้กับมุ้งลวด เลยมาคิดว่าเราเลือกวัสดุที่มีความโฮมมี่ (Homey) หรือเป็นของใช้ในบ้านอยู่แล้ว เลยคิดสร้างลายในคอนเซ็ปต์แม่บ้านยุค’50 ที่ล้อเลียนมาจากโปสเตอร์โฆษณาจากถุงผงซักฟอก และโปสเตอร์น้ำอัดลม

อรวรรณ กอเสรีกุล เปลี่ยนขยะมุ้งลวด เป็นกระเป๋าดีไซน์เก๋

เพราะในยุคนั้นเป็นยุคเฟื่องฟูของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้าน จึงเน้นใช้ผู้หญิงมาเป็นไอคอนในโฆษณา ซึ่งเป็นยุคตัวอย่างของการเหลื่อมล้ำทางเพศ ตามแนวคิดแบบเก่าที่ว่าผู้หญิงต้องอยู่กับการทำงานบ้านเท่านั้น และเมื่อการทำงานบ้านเป็นไปได้ด้วยดี แม่บ้านก็จะมีความสุข แต่เรานำมาตีความหมายใหม่ว่า ผู้หญิงสามารถมีความสุขได้โดยที่ไม่ต้องทำงานบ้าน เราจึงนำภาพผู้หญิงยุคนั้นมาแล้วตัดสิ่งที่เกี่ยวกับงานบ้านทิ้งหมดเลย”

แนวคิด 50s Happy Housewife หรือแม่บ้านที่มีความสุขในทศวรรษที่ 50 ถูกนำไปใส่ไว้บน “กระเป๋า” โดยการออกแบบได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงถุงพลาสติก ถุงกระดาษใส่ของในซูเปอร์มาร์เก็ต และถุงหูรูด เพื่อสะท้อนถึงความเป็นแม่บ้านตัวจริง

“การปักฟูด้วยมือต้องใช้เข็มที่ใช้สำหรับการปักฟูโดยเฉพาะ ปลายเข็มจะคล้ายเข็มฉีดยา และต้องเลือกเบอร์เส้นไหมที่สอดคล้องกับตารางมุ้งลวดทำให้ไหมเรียงตัวกันฟูและแน่นพอดี โดยกระเป๋าต้นแบบชุดแรกมี 7 ชิ้น ทำขึ้นด้วยการทำมือทั้งหมด

เราได้หาข้อมูลมารองรับว่าในระบบอุตสาหกรรมสามารถผลิตได้จริง เพราะนอกจากมันจะคล้ายกับอุตสาหกรรมพรม ยังไปคล้ายกับอุตสาหกรรมผลิตผ้าขนหนู จึงสามารถผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมและสามารถผลิตซ้ำได้จริง”

อรวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า มุ้งลวดไฟเบอร์กลาสยังเอื้อในด้านดีไซน์ เพราะเป็นวัสดุสีดำที่ช่วยขับสีเส้นไหมให้โดดเด่นและดูทันสมัย ซึ่งในกระบวนการทำมุ้งลวดในบ้านเรือนจะเหลือมุ้งลวดเหลือใช้เสมอ เนื่องจากแต่ละครั้งจะเหลือเศษมุ้งลวดติดม้วนกระดาษประมาณ 1-2 เมตร ซึ่งเป็นจำนวนมากพอให้นำไปต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่น

อรวรรณ กอเสรีกุล เปลี่ยนขยะมุ้งลวด เป็นกระเป๋าดีไซน์เก๋

อย่างไรก็ตาม กระเป๋าต้นแบบที่เธอทำขึ้นได้หยิบมุ้งลวดมาใช้เป็นเพียงองค์ประกอบของลายเท่านั้น เมื่อถามว่าหากนำมุ้งลวดมาทำเป็นกระเป๋าทั้งใบได้หรือไม่? เธอตอบว่าสามารถทำได้แต่อาจไม่คงทนในการใช้งาน

“เราเลือกใช้หนังกลับมาเป็นวัสดุของตัวกระเป๋า เพราะหนังกลับจะให้สีหม่นๆ ให้ความรู้สึกวินเทจเหมาะกับชิ้นงาน และสามารถเย็บมือได้ง่าย” เธอ กล่าว

“โดยการปักฟูขนาดเอ4 จะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง อาจฟังดูนานเพราะต้องเปลี่ยนสีด้ายเยอะ เข้าเข็มบ่อย จึงเป็นงานฝีมือที่ใช้เวลาเล็กน้อยแต่ก็ไม่นานเกินไป”

ก่อนจะออกมาเป็นลวดลายบนมุ้งลวด ขั้นตอนแรกจะเริ่มจากการวาดภาพในคอมพิวเตอร์เพื่อออกแบบภาพและไล่เฉดสี จากนั้นไปหาซื้อไหมสีเดียวกับที่วาดไว้ แล้วพรินต์ภาพออกมาทาบกับมุ้งลวดแล้วเริ่มปัก ซึ่งมุ้งลวดมีลักษณะเป็นตารางเหมือนภาพพิกเซลทำให้การลงสีตามภาพจึงไม่ยาก

แต่ที่เป็นปัญหา คือ การปักผ้าต้องดึงผ้าให้ตึง เพราะมุ้งลวดมีความยืดหยุ่นสูงทำให้ใช้สะดึงธรรมดาไม่ได้ เธอจึงให้ช่างทำสะดึงแบบพิเศษขึ้นมา โดยมีลักษณะเหมือนกรอบหน้าต่างเพื่อขึงมุ้งลวดเหมือนทำหน้าต่างจริง แล้วค่อยปักลายลงไป เมื่อเสร็จก็เลาะมุ้งลวดออกมาไปเย็บประกบกับตัวหนัง โดยต้องเย็บขึงให้มุ้งลวดตึงเหมือนตอนปักเพื่อคงความละเอียดและความสวยงามของลาย

อรวรรณ กอเสรีกุล เปลี่ยนขยะมุ้งลวด เป็นกระเป๋าดีไซน์เก๋

หลังจากนั้นเคลือบกาวที่ด้านหลังของลายเพื่อให้เส้นไหมยึดติดกับมุ้งลวด เวลาใช้งานจริงจะได้ไม่หลุดออกง่าย และเทคนิคการปักฟูยังทำให้เกิดภาพ 3 มิติ ดูสวยงามไม่ซ้ำใคร และเพิ่มมูลค่าให้มากกว่าการปักผ้าแบบธรรมดาด้วย

กล่าวได้ว่า เธอเป็นนักออกแบบรับใช้สังคมที่สามารถออกแบบและต่อยอดผลิตภัณฑ์ ด้วยการประยุกต์ใช้ความรู้ควบคู่ไปกับนวัตกรรมสู่การเป็นนักออกแบบที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ จากข้อมูลสถิติปริมาณขยะที่เข้าระบบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่า ปี 2560 ประเทศไทยมีปริมาณขยะอุตสาหกรรมสูงถึง 31 ล้านตัน จากการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ โรงงาน เขตนิคมอุตสาหกรรม การเร่งขยายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก การเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกต่างประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้วงการอุตสาหกรรมหันมาให้ความสำคัญในการลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้น และเปลี่ยนขยะเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

ไม่เว้นแม้กระทั่งวงการการออกแบบอย่างที่อรวรรณได้ลงมือทำ ที่จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนเล็กๆ แต่เป็นไอเดียที่ยิ่งใหญ่ในการช่วยลดปริมาณขยะจากอุตสาหกรรมก่อสร้างไม่มากก็น้อย

ปัจจุบันอรวรรณทำงานประจำ แต่ก็ยังไม่ทิ้งไอเดียกระเป๋ามุ้งลวดปักลาย คนที่สนใจสามารถสั่งพรีออร์เดอร์ได้ที่อินสตาแกรม meshography.hq และติดต่อเธอได้ทางไลน์ lhinglhinh