posttoday

ชีวิตหลากสีของอดีตปาปาราซซี่ กฤช มิคาระเศรษฐ์ เหมะรักษ์

30 ธันวาคม 2561

ถ้าเปรียบชีวิตของคนเราเป็นหนังสือ 1 เล่ม

โดย อณุสรา ทองอุไร 

ถ้าเปรียบชีวิตของคนเราเป็นหนังสือ 1 เล่ม แต่ละคนก็คงมีความหนาบางของหนังสือไม่เท่ากัน ความหลากหลายของสีสันในชีวิตก็แตกต่างกันไป เช่นเดียวกับเขาคนนี้ที่มีชีวิตคัลเลอร์ฟลูมาก มีครบทุกอารมณ์กว่าจะมาถึงวันนี้ของเขา ออยล์-กฤช มิคาระเศรษฐ์ เหมะรักษ์ ผู้บริหารพรมงคลฟาร์ม จากช่างภาพปาปาราซซี่ ที่อยู่อเมริกามาหลายปี แต่ตอนนี้กลับมาทำฟาร์มปลาที่ จ.หนองคาย และมีร้านอาหารปลาเผาที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้

เขาย้อนอดีตให้ฟังว่าจากเด็กสงขลาที่จบชั้น ม.6 แล้วดิ้นรนจนมีโอกาสได้ไปเรียนภาษาที่เยอรมนี ตอนนั้นอายุ 18 ปี เรียนได้แค่ปีกว่า เรียนไปทำงานไป แต่แล้วชีวิตก็ผกผัน เพราะเพื่อนรักที่เมืองไทยมีปัญหาเขาเลยต้องกลับมา แล้วต้องกลับไปเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงควบคู่กับการทำงานเป็นครีเอทีฟที่บริษัทโฆษณาแห่งหนึ่งไปด้วย เรียนได้แค่ปี 3 แฟนที่คบหากันไปเรียนต่อที่อเมริกา เขาจึงรีบทำงานเก็บเงินเพื่อหาทางตามแฟนไปเรียนด้วย เรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังไม่ทันจบ ก็ได้ไปหาแฟนที่อเมริกา โดยไปเรียนภาษาก่อน 3 เดือน พอเงินหมดก็ต้องหางานทำไปตามระเบียบ

ชีวิตช่วงแรกที่ไปอเมริกาของเขานั้นก็ลำบากมาก เพราะอยู่คนละรัฐกับแฟน เงินหมดตั้งแต่ 3 เดือนแรก แล้วยังหางานไม่ได้ ต้องร่อนเร่ไปขอนอนตามวัดไทยบ้าง ไปตามบ้านคนรู้จักบ้างอยู่หลายเดือนกว่าจะได้งาน ทำร้านอาหารไทยควบคู่กับรับส่งอาหารตามบ้านแล้วก็เรียนไปด้วย

อยู่อเมริกามา 4 ปี จนทางบ้านแฟนรู้ว่าเขาตามไป ก็เลยให้กลับมาแต่งงานเป็นเรื่องเป็นราว เขาจึงกลับมาทำพิธีแต่งงานที่ไทยและกลับไปแต่งที่อเมริกากับเพื่อนๆ อีกครั้ง เพราะมีเพื่อนสนิทที่ไม่ได้มางานที่ไทย

ชีวิตหลากสีของอดีตปาปาราซซี่ กฤช มิคาระเศรษฐ์ เหมะรักษ์

จุดเปลี่ยนครั้งแรกในชีวิตก็คือเขาจ้างช่างภาพฝรั่งคนหนึ่งมาถ่ายภาพงานแต่งงานที่อเมริกาให้ โดยเพื่อนคนหนึ่งแนะนำมาว่าถ่ายดี ถ่ายสวย และก็คิดราคาไม่ได้ถูกเลย 800 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เขายอมจ่าย เพราะเห็นว่าเป็นครั้งเดียวในชีวิต ปรากฏว่าภาพงานแต่งงานที่ได้มาไม่ได้ดีอย่างที่พูดไว้ เขาเสียความรู้สึกและเสียดายเงินที่จ่ายไปไม่น้อย ภาพมืดทั้งงาน ส่วนคนถ่ายก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบอะไรเลย แถมพูดจาไม่ดีใส่ เขาบอกว่าอยากให้ดีก็ถ่ายเองสิ ถ่ายเองได้ไหมล่ะ

จากจุดนี้ทำเองทำให้เขาซื้อกล้องถ่ายรูปเพื่อจะฝึกถ่ายรูปด้วยตัวเองให้ดี เขาลงทุนซื้อกล้องราคา 4,000 ดอลลาร์ ซึ่งแพงมากสำหรับเขา เขายอมจ่ายไปเพื่อที่จะลบล้างคำสบประมาทของช่างภาพคนนั้น เขาหัดฝึกปรือฝีมือมาเรื่อยๆ จนดีขึ้น และโอกาสก็มาถึงเมื่อเขาได้รู้จักชาวอเมริกันผิวดำเชื้อสายจาไมกาคนหนึ่งที่เขาเคยไปส่งอาหารให้ที่บ้าน เขามีอาชีพเป็นปาปาราซซี่

“ผมก็คุยกับเขาถูกคอ มักจะถามเรื่องการใช้กล้องกับเขาว่าจะถ่ายให้ดีนั้นมีเทคนิคอย่างไร ดาราเดินมาแบบไหนถึงจังหวะที่จะกดชัตเตอร์ แสงยังไง เดินมาต้องเห็นหน้าชัดๆ ในระยะกี่เมตร ควรใช้เลนส์ความยาวแค่ไหนจะกำลังดี ช่างภาพยืนกลางแดด ดารายืนในร่มจะถ่ายยังไงให้ออกมาชัดดูดี เขาก็ใจดีสอนให้คำแนะนำจนวันหนึ่งผมรวบรวมความกล้าขอตามเขาไปทำงานด้วย ไปเห็นเขาทำงานก็รู้สึกสนุกและชอบ เขาก็เลยแนะนำบริษัทแห่งหนึ่งให้เราไปเป็นช่างภาพปาปาราซซี่ ผมก็ไปซึ่งเป็นงานฟรีแลนซ์ ไม่ได้มีงานทุกวัน ไม่มีเงินเดือนประจำ มีรายได้จากการขายรูปที่ได้มา ถ้าภาพยาก ภาพเอ็กซ์คลูซีฟมากๆ เช่น ภาพคนดังใส่ชุดว่ายน้ำเห็นหน้าอก ภาพกำลังจูบกัน ภาพที่แสดงอารมณ์โมโห แต่มีงานอาทิตย์ละ 2-3 วัน โดยทางบริษัทจะโทรมาบอกล่วงหน้าว่าพรุ่งนี้ให้ไปดักเก็บภาพใคร ที่ไหน ทางบริษัทจะมีสายข่าวแจ้งมา”

ผลงานแรกๆ ก็ยังไม่ได้ภาพเด็ดๆ เท่าไร เพราะยังไม่มีประสบการณ์ จนผ่านมาหลายเดือนฝีมือดีขึ้น มีลูกเล่นในการทำงานมากขึ้น รูปถ่ายที่ได้เริ่มมีความเป็นส่วนตัว ภาพที่ทำเงินให้เขามากที่สุดก็คือภาพของ บริตนีย์ สเปียร์ ไปเล่นน้ำทะเลกับลูกและอดีตสามี กับรูปของแองเจลินา โจลี
กำลังยกนิ้วกลางอย่างใส่อารมณ์ให้ หรือรูปปารีส ฮิลตัน กำลังเมาในผับแห่งหนึ่ง ภาพแบบนี้จะราคาสูงถึง 8,000-10,000 ดอลลาร์ แต่ถ้าภาพพื้นๆ ทั่วไปก็ 100-150 ดอลลาร์

ชีวิตหลากสีของอดีตปาปาราซซี่ กฤช มิคาระเศรษฐ์ เหมะรักษ์

ดาราหรือเซเลบบางคนที่ยังไม่ดังแต่อยากเป็นข่าวก็มีที่โทรมาแจ้งให้ช่างภาพตามไป หรือมีบางคนที่พวกแม่บ้าน คนขับรถ มาขายข่าวพอนายจะไปไหนก็โทรมาบอก ภาพแบบนี้ราคาจะไม่แพง แต่ถ้าภาพที่ทางบริษัทสั่งให้ไปส่วนใหญ่จะเป็นภาพเอ็กซ์คลูซีฟ บริษัทจะจ้างรถ หรือเหมาเครื่องบินเล็กให้ไปทำงานเลย ตอนนั้นเขาทำงานร้านอาหารควบคู่กับช่างภาพปาปาราซซี่ ได้นอนวันละ 4 ชั่วโมง เพราะวีซ่าก็กำลังจะหมดอายุ

แล้วตอนนั้นเขาก็เรียนจบแล้ว จึงขอวีซ่าเพิ่มได้อีกแค่ 6 เดือนเท่านั้น โชคดีว่าร้านอาหารนาตาลีในแอลเอ ซึ่งมีร้านอาหารในเครือถึง 5 สาขา ที่เขาทำงานด้วยเห็นเขาทำงานดี ขยันขันแข็ง ก็เลยเลือกพนักงานชาวต่างชาติจาก 200 คน เหลือเพียง 2 คน ออกใบรับรองการทำงานให้ไปขอกรีนการ์ดจนสำเร็จ เขาโล่งใจมากเพราะเครียดที่ยังไม่มีใบเขียวและแฟนก็กำลังตั้งครรภ์

พอฝีมือดีขึ้นได้ภาพที่เป็นส่วนตัวขึ้น รายได้เริ่มดีขึ้น เขาก็เลยออกจากร้านอาหารมาช่วยภรรยาเลี้ยงลูกแล้วเป็นปาปาราซซี่อย่างเดียว

ซึ่งภาพที่ถ่ายได้เขาต้องส่งให้บริษัททั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทห้ามก๊อบปี้เอาไว้ เขาทำงานเป็นช่างภาพอยู่ประมาณ 5 ปี ตัวเขาเริ่มเป็นที่รู้จักของดาราและเซเลบบางคน พอเขาไปงานพอคนจำได้ก็เริ่มระวังตัว อย่าง คิม คาร์เดเชียน ก็เชิญเขาไปปาร์ตี้ที่บ้าน ก็เริ่มรู้สึกถึงจุดอิ่มตัว เพราะมายุคหลังๆ โทรศัพท์มือถือคุณภาพดี ใครๆ ก็ถ่ายรูปได้ ทุกคนสามารถเป็นปาปาราซซี่ได้หมด เขาก็เลยเลิกเป็นช่างภาพในที่สุด

ชีวิตหลากสีของอดีตปาปาราซซี่ กฤช มิคาระเศรษฐ์ เหมะรักษ์

มาถึงบทใหม่ในชีวิตอีกครั้ง พอเลิกจากการเป็นปาปาราซซี่ เขาก็มาถ่ายภาพคอนเสิร์ตแทน โดยเฉพาะคอนเสิร์ตของคนไทยที่ไปแสดงที่อเมริกา และเฉพาะคอนเสิร์ตของ เบิร์ดธงไชย นั้นเขาจะได้ถ่ายทุกครั้ง รวมถึงศิลปินคนอื่นๆ ของค่ายแกรมมี่ พี่เล็ก-บุษบา จะเรียกใช้งานเขาเป็นประจำ ถ้าว่างจากคอนเสิร์ตเขาก็รับถ่ายภาพงานแต่งงาน การันตีถ้าถ่ายไม่ได้ตามแบบที่คุยไว้เขาจะคืนเงิน

“รับงานเวดดิ้งนี่มีช่างภาพ 6-7 คน กระจายงานไปตามจุดต่างๆ ไม่มีเดินซ้ำไลน์กันเลย ภาพออกมาสวยครบทุกมุมไม่มีหลุด ผมรับแพงครั้ง 7,000-8,000 ดอลลาร์ แพงแต่ดี ผมไม่อยากให้ใครโดนแบบงานแต่งผม มันเสียเวลาเสียความรู้สึก ผมตั้งใจทำให้เต็มที่ เพราะเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่เป็นความทรงจำของเราตลอดไป” เขาเล่าอย่างจริงจัง

พอมีเงินเก็บได้ก้อนใหญ่เขาก็อยากทำหนังสือ ซึ่งเป็นหนังสือแจกฟรีเป็นรายเดือน ชื่อ Belive in เป็นหนังสือภาษาไทยอาร์ตมัน 4 สี หนา 50 หน้า เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทยที่ไปอยู่อเมริกา ทำแจก 500 เล่ม ตอนแรกหมดในเวลา 2-3 วัน คนเรียกร้องเยอะก็เพิ่มเป็น 2,000 เล่ม ทำเองสัมภาษณ์เอง ออกแบบรูปเล่มเอง หาโฆษณาเอง มีทีมงาน 5-6 คน ทำเพราะใจรักจริงๆ คนก็ขอให้ไปแจกรัฐอื่นด้วยผมก็บ้ายอทำตามคำขอ ปรากฏว่าค่าขนส่งมันแพงมาก ทำไปแรกๆ ก็ดีมาก หลังๆ สู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหวทำได้ 2 ปีกว่าก็เลิก เขาถือเป็นผู้บุกเบิกฟรีก๊อบปี้ยุคแรกๆ ของอเมริกา หลังจากเขาปิดไปก็ยังไม่มีใครทำฟรีก๊อบปี้แบบนั้นอีกเลย

ตอนนั้นเขาอายุ 30 ปีต้นๆ ลูกคนโตก็ 4 ขวบแล้ว ภรรยากำลังตั้งครรภ์คนที่สอง ทำงานเยอะแยะมากมาย มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว เงินทองก็ไม่ค่อยมีเหลือเท่าไร แต่เขาไม่ย่อท้อคิดว่ามันคือรสชาติของชีวิต มันคือสีสันและประสบการณ์ ทำให้คุ้มค่า ทำให้ถึงที่สุด เพราะเมื่อเวลาผ่านไปจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียดายว่ารู้อย่างงี้ทำไมไม่ทำ

ชีวิตหลากสีของอดีตปาปาราซซี่ กฤช มิคาระเศรษฐ์ เหมะรักษ์

ชีวิตช่วงปีท้ายๆ ที่อเมริกาของเขายังเปิดร้านอาหารออร์แกนิกอีกด้วย ทำเองขายเอง เป็นร้านเล็กๆ แบบอาหารคลีน เขามักจะเป็นผู้นำเทรนด์ในหลายเรื่อง ซึ่งร้านก็ขายดีแต่ก็เหนื่อยมาก เพราะทำกับภรรยาแค่ 2 คน ไม่มีผู้ช่วยใดๆ เลย จุดปลี่ยนครั้งใหญ่ล่าสุดในชีวิตเขาก็คือตอนที่พ่อตาของเขาไม่สบายและภรรยาอยากกลับมาดูแลครอบครัวบ้าง เพราะไปอยู่อเมริกากันเกือบจะ 10 ปีแล้ว “มีอีกจุดที่ผมตัดสินใจคือลูกสาววาดรูปแล้วเอามาอวด ผมไม่มีเวลาแม้จะหันไปดูผลงานที่ลูกตั้งใจเอามาโชว์ แล้วลูกสาวก็เดินน้ำตาคลอเสียใจออกไป ขณะที่ผมนั่งทำงานอยู่มันสะเทือนใจมากว่าเราไม่มีเวลาแค่จะหันไปดูงานที่ลูกเอามาอวด แฟนเลยชวนกลับบ้านเถอะ ก็เลยตัดสินใจกลับบ้านเมื่อ 2 ปีที่แล้ว” เขาเล่าอย่างจริงจัง

พอกลับมาไทยเขาก็มาช่วยครอบครัวของภรรยา ซึ่งทางพ่อตาทำฟาร์มปลาอยู่แล้ว เขาก็มาช่วยพัฒนาต่อยอดทำปลาแปรรูปแช่แข็งทำปลาเส้น กุนเชียงปลา ทำส่งออกและขายพันธุ์ปลาด้วย ขยายฟาร์มเพิ่ม และทำร้านอาหารมีหน้าร้านเป็นของตัวเองให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบ ชื่อร้านกินปลา ณ หนองคาย ซึ่งเป็นร้านที่เป็นที่นิยมของวัยรุ่นและคนทำงานในย่านนั้น เพราะเขาตั้งใจจับกลุ่มรุ่นใหม่ และเขากำลังจะทำฟาร์มกุ้งก้ามกรามเพิ่มอีก 200 ไร่

“ผมตั้งใจจะมาลงหลักปักฐานที่เมืองไทย ก็ต้องมาช่วยพ่อตาสร้างงานต่อยอดธุรกิจให้มั่นคงและขยายงานออกไป ท่านก็สร้างรากฐานเอาไว้เยอะอยู่ เราก็เอาเรื่องใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาเพิ่มเข้าไปทำส่งออก แปรรูป แล้วก็ทำหน้าร้านขายของสดเพิ่มขึ้น ผมก็ตั้งใจทำให้ดีขึ้นโตขึ้น เพื่ออนาคตของทุกคนในครอบครัวผมยืนอยู่ที่จุดไหนผมก็อยากทำให้มันดีที่สุดของตรงนั้น ส่วนอเมริกาผมก็กลับไปทุกปี ยังคิดถึงเพื่อนและสังคมที่นั่นอยู่ ถือว่าเป็นบ้านหลังที่สองของผม” เขากล่าวทิ้งท้าย