posttoday

ดร.วันเกษม สัตยานุชิต จากเด็กท้ายห้อง สู่อาจารย์แถวหน้า

23 ธันวาคม 2561

ประเทศที่หลายคนตั้งคำถาม แต่มีบางคนเท่านั้นที่ไปหาคำตอบอย่าง อินเดีย มีภาพจำที่เต็มไปด้วยความเชื่อ ความยากจน และความหลากหลายทางวัฒนธรรม

เรื่อง : กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ : ดร.วันเกษม สัตยานุชิต

ประเทศที่หลายคนตั้งคำถาม แต่มีบางคนเท่านั้นที่ไปหาคำตอบอย่าง อินเดีย มีภาพจำที่เต็มไปด้วยความเชื่อ ความยากจน และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซ้อนทับกับภาพจริงของความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี ปัจจุบันอินเดียมีโครงการส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ มีระบบการศึกษาแบบอังกฤษ ซึ่งคนไทยจำนวนไม่น้อยส่งลูกหลานไปเรียน และเป็นเป้าลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากมีประชากร 1,300 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของโลก

วันนี้อินเดียก้าวหน้าไปมากหลังเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน แต่เมื่อย้อนกลับไปเมื่อหนึ่งทศวรรษ อินเดียยังเป็นอินเดียอย่างในภาพจำ ซึ่งในตอนนั้น “เด็กชาย” คนหนึ่งได้เดินทางไปเมืองแปลกถิ่นเพื่อเล่าเรียนกับเพื่อนแปลกหน้า ใช้ชีวิตตัวคนเดียวจนจบมหาบัณฑิต และกลับบ้านมาพร้อมแรงบันดาลใจเปี่ยมล้น

ดร.วันเกษม สัตยานุชิต จากเด็กท้ายห้อง สู่อาจารย์แถวหน้า

ดร.วันเกษม สัตยานุชิต หรือ ดร.กริ่ง วัยย่าง 37 ปี ปัจจุบันเป็นหัวหน้าศูนย์บริหารสื่อสารการตลาด และอาจารย์ประจำหลักสูตรธุรกิจระหว่างประเทศ (ภาคภาษาอังกฤษ) คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล นครราชสีมา เขาเคยใช้ชีวิตและร่ำเรียนอยู่ที่อินเดียนาน 9 ปี ซึ่งชีวิตได้กลับตาลปัตรเปลี่ยนจากเด็กท้ายห้องสู่อาจารย์มหาวิทยาลัย

“ด้วยอดีตผมเป็นนักเรียนที่มีเกรดระดับกลางถึงท้ายแถวของห้องตั้งแต่ ม.ต้น ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ นครราชสีมา ทำให้มีแนวคิดที่จะศึกษาต่อในสายอาชีพ เมื่อจบชั้นมัธยม 3 เพื่อนที่สนิทก็ต่างแยกย้ายไปสมัครเรียนต่อในระดับ ปวช. ผมจึงตัดสินใจไปสมัครเรียน ปวช. คณะสถาปัตยกรรม ที่เทคโนฯ ราชมงคล (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) กับเพื่อนสนิท

ในวันสอบผมยังไม่เตรียมแม้แต่ดินสอไปวาดรูป เพราะไม่รู้และไม่มีทักษะด้านออกแบบหรือวาดรูปแต่อย่างใด จึงขอหักดินสอจากเพื่อนแล้วเข้าห้องสอบ สุดท้ายก็สามารถสอบคัดเลือกเข้าได้ เป็นห้องสมทบ พอได้เรียนจริงๆ ก็เจอกับกิจกรรมมากมาย เช่น รับน้อง ซ้อมเชียร์ มีเพื่อนใหม่เกิดขึ้นทั้งในและนอกสถาบัน จากนั้นก็เริ่มเที่ยวเตร่ตามประสาวัยรุ่น การเรียนเริ่มไม่ดี เพื่อนสนิทเริ่มถูกรีไทร์ไปทีละคนสองคน เมื่อเพื่อนน้อยลง เริ่มเรียนไม่สนุก เกรดก็เสี่ยงสูงที่จะโดนรีไทร์ ผมจึงตัดสินใจหยุดเรียนตอนอยู่ ปวช.ปี 2 และปรึกษาที่บ้านเพื่อหาทางออก”

ดร.กริ่ง กล่าวต่อว่า พี่สาวคนโตมีโอกาสรู้จักท่านทูตฝ่ายการศึกษา ณ สถานทูตอินเดีย ซึ่งเคยแนะนำให้ไปเรียนภาษาอังกฤษหรือเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่อินเดีย จึงได้แนะนำให้รู้จักกับผู้ประสานงานที่มีประสบการณ์ส่งนักเรียนไป จากนั้นได้ติดต่อประสานโรงเรียนกินอยู่ที่มีหอพักในโรงเรียน และจองตั๋วเครื่องบินให้เสร็จสรรพ โดยเริ่มแรกวางแผนเพื่อไปเรียนภาษาอังกฤษแค่ 3 เดือน แต่สุดท้ายอยู่นานเกือบ 10 ปี

โลกห้องเรียน

“ผมบินเดี่ยวไปอินเดีย ภาษาอังกฤษก็พูดไม่ได้ จำได้ว่าใช้เวลาเดินทาง 2-3 วันกว่าจะถึงโรงเรียน” ดร.กริ่ง เล่าย้อนกลับไปสมัยเป็นเด็กอายุ 16 ปี โรงเรียนของเขาตั้งอยู่บนภูเขาในหมู่บ้านโกฏคีรี รัฐทมิฬนาฑู ทางตอนใต้ของอินเดีย

เมื่อบรรลุเป้าหมายเรียนภาษาอังกฤษ 3 เดือน เขาตัดสินใจเรียนต่อชั้นมัธยมปลาย และยาวไปจนถึงปริญญาโท ดร.กริ่ง กล่าวถึงระบบการศึกษาที่อินเดียว่า อินเดียได้รับการพัฒนามาตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครอง ใช้ภาษาฮินดีและภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ทำให้สื่อและเอกสารต่างๆ นำเสนอสองภาษา โดยในระดับประถม-มัธยมจะบังคับให้เรียนขั้นต่ำสองภาษาด้วย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดี

ดร.วันเกษม สัตยานุชิต จากเด็กท้ายห้อง สู่อาจารย์แถวหน้า

นอกจากนี้ นักเรียนยังสามารถเลือกสายเรียนได้ตั้งแต่ชั้นมัธยม 2 จากนั้นเมื่อถึงชั้นมัธยม 6 นักเรียนทุกคนต้องสอบข้อสอบเดียวกันทั้งประเทศ ทำให้นักเรียนตื่นตัวในการเรียน และช่วยพัฒนาคุณภาพระบบการศึกษาของประเทศ

“พอจะจบมัธยมก็เริ่มศึกษาพบว่า ที่อินเดียเรียนปริญญาตรี 3 ปี จึงตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัยต่อที่เมืองจันดิการ์ รัฐปัญจาบ ซึ่งเป็นเมืองที่สะอาดที่สุดในอินเดีย”

ดร.กริ่งศึกษาปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยปัญจาบ จากนั้นศึกษาต่อระดับปริญญาโท คณะพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเปิดแห่งชาติอินทิรา คานธี ในเมืองนิวเดลี

“การศึกษาแบบอินเดียเป็นการเรียนให้เข้าใจพื้นฐานอย่างแท้จริง แต่จะไม่มีความหลากหลายเหมือนประเทศไทยที่เรียนหลายวิชา แต่ไม่เจาะหรือชำนาญด้านใดเลย ส่วนการสอบวัดผลแบบอินเดียจะเน้นไปที่การสอบข้อเขียน การวิเคราะห์ ประยุกต์ และปรับใช้ความรู้ในการตอบคำถาม ซึ่งทำให้นักเรียนนักศึกษามีทักษะการคิดวิเคราะห์ที่ดี” เขากล่าวเพิ่มเติม

โลกธรรม

จากนั้นบทใหม่ของชีวิตเริ่มต้นอีกครั้งเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ดร.กริ่งได้รับการชวนไปบวชจากรุ่นพี่ ไพโรจน์ ด้วงนคร (ปัจจุบันคือ ผศ.ดร.ไพโรจน์ ด้วงนคร ดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย) เมื่อได้ยินคำชวนจึงเกิดความรู้สึกปีติและอยากไปบวชเช่นกัน จึงได้ปรึกษาและขออนุญาตบุพการีเพื่อขอบวช 1 เดือน

“เตี่ยกับแม่มีความยินดีมากและอนุญาตให้ผมบวชตามขอ ผมจึงได้ประสานต่อพระอาจารย์ที่วัดอโศกวิหารที่รัฐปัญจาบว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร ด้วยความโชคดีพระอาจารย์เดช ผู้ร่วมสร้างวัดอโศกวิหาร กำลังเดินทางจากเมืองไทยมาที่เมืองจันดิการ์ พร้อมญาติโยมผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา และจะเดินทางต่อไปสักการะต้นศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา ผมจึงรีบให้ที่บ้านประสานงานส่งผ้าไตรจีวรต่างๆ มากับพระอาจารย์เดช และพระอาจารย์เดชก็พาผมไปบวชที่วัดไทยพุทธคยา”

ดร.กริ่งได้รับฉายาว่า โพธิเขมิโก เล่าต่อว่า ในขณะที่บวชอยู่วัดไทยพุทธคยามีประสบการณ์เดินบิณฑบาตบ้าง แต่คนอินเดียไม่ค่อยใส่บาตร เพราะคนอินเดียส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ต้องเล่าเรียนพระธรรมพระวินัยเกือบทุกวัน และชีวิตประจำวันจะสวดมนต์ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ นอกจากนี้ ระหว่างบวชอยู่นั้น พระโพธิเขมิโกมีโอกาสใกล้ชิดท่านดาไล ลามะ ผู้นำทางศาสนาแห่งทิเบต ที่วัดไทยพุทธคยา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ปลื้มปีติและไม่มีวันลืม

ดร.วันเกษม สัตยานุชิต จากเด็กท้ายห้อง สู่อาจารย์แถวหน้า

สุดท้ายพระโพธิเขมิโกบวชห่มผ้าเหลืองนานกว่าที่ตั้งใจไว้เป็นเวลา 7 เดือน โชคดีที่ทางมหาวิทยาลัยปัญจาบอนุญาตให้ไปเรียนไปสอบได้ตามปกติ และที่เมืองจันดิการ์มีวัดอโศก ซึ่งเป็นวัดไทย เขาจึงสามารถจำวัดต่อที่นั่นได้ ส่วนอีกหนึ่งเหตุผลที่บวชนานกว่าที่คิดไว้ คือ ตั้งใจห่มผ้าเหลืองกลับมาเมืองไทยเพื่อให้บุพการีและญาติมิตรร่วมอนุโมทนาบุญด้วย

“ด้วยประสบการณ์และเหตุการณ์ต่างๆ ในขณะที่บวชห่มผ้าเหลือง ผมได้ใกล้ชิดพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์มากขึ้นเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้ผมมีสติ มีหลักในการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก มีเป้าหมายที่ไม่คิดเพียงทำเพื่อตัวเองอย่างเดียว แต่นึกถึงการทำทาน ทำงาน เพื่อช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้น” ดร.กริ่งตกผลึกหลังสึกพระ

โลกการศึกษา

หลังจากกลับมาเมืองไทย ดร.กริ่งศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกและฝ่าฟันจนสามารถจบดุษฎีบัณทิต คณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการเมือง มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากนั้นได้เข้าสู่สายอาชีพอาจารย์ ซึ่งแนวคิดการเป็นเรือจ้างถูกฟูมฟักมาตั้งแต่ที่อินเดีย

“ด้วยความคุ้นเคยกับพี่คนไทยหลายคนที่ประเทศอินเดียที่เรียนในระดับปริญญาเอก และเกือบทุกคนมีอุดมการณ์แนวคิดที่จะกลับมาเมืองไทยเพื่อเป็นอาจารย์ ทุกคนต้องการนำความรู้มาสอน และคิดนำอาชีพอาจารย์เลี้ยงชีพ ส่วนด้านครอบครัวผมมีญาติเป็นอาจารย์หลายคน ซึ่งผมมองว่าอาชีพครูบาอาจารย์เป็นอาชีพที่มีแต่การให้ ให้ความรู้ ให้ปัญญา ทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียน และยังให้โอกาส ทำให้ผู้เรียนนำความรู้ไปเลี้ยงชีพต่อได้ การเป็นอาจารย์จึงเป็นอาชีพที่มีเกียรติและได้บุญมาก”

ดร.วันเกษม สัตยานุชิต จากเด็กท้ายห้อง สู่อาจารย์แถวหน้า

เขาตัดสินใจสมัครงานเพื่อเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในปี 2560 โดยเลือกสมัครมหาวิทยาลัยใกล้บ้านที่มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล จ.นครราชสีมา

ถามต่อว่า ตอนนี้อยู่ในระบบการศึกษาแล้ว มีเป้าหมายที่จะนำระบบการศึกษาอินเดียมาปรับใช้กับการเรียนการสอนหรือไม่ เขากล่าวว่า ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ (ภาคภาษาอังกฤษ) ก็ได้นำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ต่างๆ มาประยุกต์

“ผมจะเน้นให้นักศึกษาทุกคนต้องคิดวิเคราะห์ให้ได้ นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงให้ได้ นักศึกษาต้องฝึกปฏิบัติให้คล่องเพื่อเพิ่มทักษะที่จำเป็นเพื่อการเข้าสู่ตลาดแรงงานในทศวรรษที่ 21 ให้พร้อมต่อการทำงานจริงในอนาคต เมื่อนักศึกษาสามารถนำความรู้ไปทำประโยชน์ต่อในอาชีพการงานก็จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กร ซึ่งจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจสังคมของประเทศต่อไป”

สำหรับเป้าหมายชีวิตในตอนนี้ ดร.กริ่ง กล่าวว่า แม้จะอยู่ในฐานะผู้ให้ความรู้ แต่ก็ยังต้องใฝ่หาความรู้ที่เป็นแก่นแท้ ซึ่งต้องเป็นความรู้ที่ช่วยให้หลายคนได้ประโยชน์ ทั้งด้านทรัพย์สินเงินทอง และประโยชน์ด้านจิตใจ

“ถ้าความรู้นำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ มันก็ไม่ตอบโจทย์ เหมือนเรากินข้าวแต่ไม่อิ่มและยังหิวเหมือนเดิม หากความรู้บางอย่างไม่สามารถทำให้การงานอาชีพดีขึ้นได้ เราก็ต้องไปศึกษาหาความรู้ที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ตรงกับคำว่า อย่าหยุดเรียนรู้ แม้จะจบการศึกษาไปแล้วก็ยังต้องหาความรู้นอกรั้วมหาวิทยาลัย เพราะความรู้มีให้เรียนอยู่เรื่อยไป ไม่สิ้นสุด”

จากเด็กหางแถวในวันวาน วันนี้เขากลายเป็นผู้ส่งมอบความรู้แก่อนาคตของชาติ ทั้งยังส่งต่อแรงบันดาลใจผ่านเพจเฟซบุ๊ก แรงบันดาลใจชีวิต : Inspired Man Thailand เพื่อหวังเป็นกำลังใจในการใช้ชีวิต และนำเสนอแนวคิดที่เป็นประโยชน์แก่ทุกคน