posttoday

‘โต๋’ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร ตารางชีวิตที่มีคุณค่าและใช้อย่างคุ้มค่า

22 ธันวาคม 2561

หลายคนอาจจะรู้จัก ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร หรือ “โต๋” ในฐานะศิลปินและนักเปียโนที่อยู่ในวงการมากกว่า 16 ปี และเห็นพัฒนาการมาก ตลอดจนก้าวข้ามไปสู่บททดสอบใหม่ๆ ในวงการบันเทิงมากขึ้น

เรื่อง : บงกชรัตน์ สร้อยทอง ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข

หลายคนอาจจะรู้จัก ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร หรือ “โต๋” ในฐานะศิลปินและนักเปียโนที่อยู่ในวงการมากกว่า 16 ปี และเห็นพัฒนาการมาก ตลอดจนก้าวข้ามไปสู่บททดสอบใหม่ๆ ในวงการบันเทิงมากขึ้น ทั้งเล่นละครเวที หรือล่าสุดกับบทบาทนักแสดงในละครเรื่อง “น.ส.ไม่จำกัดนามสกุล”

แต่คราวนี้ไม่ได้มาในโหมดของศิลปิน บทบาทในชีวิตจริงด้วยวัย 34 ปี คนนี้ กลับต้องการที่จะให้โลว์โปรไฟล์มากที่สุด ซึ่งน้อยนักที่จะได้รับการเปิดเผยในเรื่องส่วนตัว แม้ภายหลังจะมีการหยิบยกเรื่องหัวใจออกสื่อให้เห็นบ้าง

มาพูดคุยกับโต๋ถึงวิธีการบริหารการเงิน การใช้ชีวิต และการทำงานของเขามากขึ้น โต๋ย้อนเล่าอดีตให้ฟังว่า ตั้งแต่เด็กจนโต คุณพ่อคุณแม่วางพื้นฐานและสอนให้มี “ตารางชีวิต” ที่ชัดเจนว่าต้องทำอะไรอย่างไร และต้องรู้จักใช้เงิน โดยยึดหลักของที่จะเลือกใช้หรือซื้อมาแต่ละชิ้น “ควรมีคุณค่าและรู้จักใช้ให้คุ้มค่า” เพราะถ้าคิดแล้วว่าซื้อมาใช้ไม่คุ้มก็อย่าซื้อ

โต๋ เล่าว่าหลายคนอาจมองเขาว่า น่าจะเป็นคุณหนูที่ถูกเลี้ยงดูแบบตามใจมาก แต่ชีวิตจริงตรงข้ามมาก แม้จะเข้าเรียนโรงเรียนภาคภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็ก แต่ต้องนั่งรถเมล์ไปเอง ช่วงแรกจะมีพี่เลี้ยงนั่งไปด้วย แต่พอขึ้นระดับมัธยมต้นคุณพ่อให้หัดขึ้นรถไปกลับเอง

‘โต๋’ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร ตารางชีวิตที่มีคุณค่าและใช้อย่างคุ้มค่า

“แรกๆ มีลงก่อนป้ายหรือนั่งเลยป้ายบ้าง คือกลับถึงบ้านทีไรจะเหนื่อย ช่วงเวลาเดียวกัน สอนให้รู้จักการบริหารเงินโดยเริ่มให้เงินเป็นรายสัปดาห์พอใช้หรือไม่อยู่ที่ตัวเรา พอเรียนระดับปริญญาตรีได้ทุนการเรียนคณะบริหารธุรกิจ เอกบริหารระหว่างประเทศ ที่ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ก็ไม่ได้มีรถขับไปเหมือนคนอื่นเขา ต้องนั่งรถตู้วินหน้าเสรีเซ็นเตอร์สมัยนั้น ตอนนี้คือพาราไดซ์ พาร์ค เที่ยวละ 45 บาท และเพิ่งมีรถขับไปเรียนเองเมื่ออยู่ปี 4 แล้ว เริ่มจากเอารถเบนซ์คันเก่าของคุณพ่อไปใช้ แต่ถ้าเกิดความเสียหาย เช่น เคยไปเบียดกำแพง ค่าซ่อมบำรุงเราก็ต้องเป็นคนออกค่าใช้จ่ายเองหมด

ผมไม่ได้ของทุกอย่างมาง่ายๆ ตั้งแต่เด็กก็เหมือนเด็กๆ ทั่วไปที่อยากได้ แต่ราคาเอื้อมไม่ถึง เช่น ตอน ป.5 อยากได้รองเท้าไนกี้คู่แรกของชีวิตราคา 1,500 บาท แม่ต้องตั้งเงื่อนไขว่าต้องทำคะแนนสอบในระดับนี้ถึงจะได้ หรืออยากได้รองเท้าแอร์จอร์แดนคู่ละ 4,000-5,000 บาท สมัยก่อนราคานี้ก็ถือว่าแพงมาก แต่แม่บอกว่าอย่าเวอร์ ถ้าอยากได้จริงก็ต้องเก็บเงินจากค่าขนมหรือเงินแต๊ะเอียตรุษจีนซื้อเอง”

อย่างกรณีที่มีการวิจารณ์บนโลกโซเชียลมีการบอกว่า แต่งตัวไปสยามตอนนี้ทั้งชุดราคาเท่าไร ในมุมมองของเขาคือจะไม่วิจารณ์เด็ก เพราะแต่ละคนมีสภาพแวดล้อมหรือมีต้นทุนที่ไม่เท่ากัน แต่สิ่งสำคัญมากกว่านั่นคือ ผู้ปกครองต้องสอนให้เด็กรู้จักคิด

“มีระบบความคิดที่รู้จักการใช้เงินมากกว่า โดยพยายามให้เขาคิดว่าสิ่งที่ซื้อมามันคุ้มค่าหรือเปล่า ซื้อมาได้ใช้กี่ครั้งบางคนซื้อของชิ้นเดียวกันราคาเท่ากัน แต่การใช้ต่างกัน การซื้อของแพงไม่ได้ผิด แต่อยู่ที่ว่าก่อนที่คุณจะซื้อนั้นคิดก่อนว่าถ้าเอาออกจากร้านแล้วจะใช้มันได้คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปหรือไม่ เพราะของทุกอย่างบนโลกนี้เมื่อคุณจ่ายเงินไปออกจากร้านแล้วค่าของมันจะลดทันทีไปแล้ว 95%

จริงๆ คำที่อธิบายที่ดีที่สุดในเรื่องการดำรงชีวิตคือ คำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่อง ‘ความพอเพียง’ แต่คำว่าพอเพียงของแต่ละคนไม่เท่ากัน คุณสามารถที่จะมีของลักซ์ชัวรี่ได้เป็นบางครั้ง แต่ต้องไม่ได้กระทบต่อการดำรงชีวิตตัวเอง เพราะแต่ละคนมีความต้องการและไลฟ์สไตล์แตกต่างกัน มันเป็นเงินของคุณคุณไม่ผิด ถ้ามีต้นทุนที่ซื้อของแพงได้แล้วใช้คุ้มก็น่าจะโอเค”

‘โต๋’ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร ตารางชีวิตที่มีคุณค่าและใช้อย่างคุ้มค่า

โต๋ ย้อนเล่าถึงการซื้อรถคันแรกเป็นรถเบนซ์ รุ่นเก่า W123 ซึ่งคุณพ่อพาไปดูแต่ให้ออกเงินเอง 3-4 แสนบาท เพราะเริ่มมีรายได้ของตัวเองมากขึ้น หลายครั้งที่ขับไปเอแบครถก็เสียสตาร์ทไม่ติด ประกอบกับเมื่อเข้าวงการมาคุณแม่จะช่วยดูแลเรื่องการบริหารเงิน โดยให้ซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) แต่พอเรียนจบสักพักใหญ่และอายุ 20 กว่าปลายๆ คุณแม่ก็เริ่มให้มาบริหารจัดการเอง

“หลักการใช้เงินในของผม คือต้องรู้ต้นทางของก่อนว่ามีเท่าไร และควบคุมค่าใช้จ่ายในการใช้เงินก่อนตั้งแต่แรกว่า เดือนหนึ่งเรามีค่าใช้จ่ายเท่าไร อะไรที่จำเป็นหรือแบ่งไว้เที่ยวเล่นจะหักไว้ก่อน แล้วใส่เงินเข้าเอทีเอ็มเป็นบัญชีเพื่อใช้จ่ายเท่านั้น และที่เหลือก็ไปฝากไว้กับอีกบัญชีเลย เพื่อไว้สำหรับการออมและการลงทุนทั้ง LTF และประกันชีวิต หรือซื้อทองไว้บ้าง พร้อมกับเริ่มศึกษาวิธีการลงทุนที่จะทำให้เงินได้ทำงาน (Passive Income) ต่างๆ เช่น จะนำเงินฝากแบงก์ก็ต้องรู้ว่าควรฝากในบัญชีประเภทไหนเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยที่ดี”

แต่ทุกอย่างก็มีการเปลี่ยนแปลงไป เพราะเชื่อว่าอย่าลงทุนเอาเงินไปไว้ในตะกร้าใบเดียว ต้องรู้จักบริหารความเสี่ยง ทำให้เขาศึกษาและเริ่มเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นได้มา 1 ปีกว่า ซึ่งมีคนบอกว่าถ้าลงทุนไม่เป็นก็ฝากคนอื่นเล่นได้ แต่สำหรับโต๋มองว่าของอย่างนี้อย่างน้อยต้องศึกษาและเรียนรู้เองด้วย

“แรกๆ ก็มีแบบซื้อๆ ขายๆ แต่สุดท้ายทำให้รู้ว่าไม่เหมาะกับการซื้อขายรายวัน เพราะไม่มีเวลามานั่งเฝ้าหรือดูหน้าจอโปรแกรมเทรดหุ้น เพราะมีอยู่ครั้งที่ต้องไปทำงานที่จีน 3 วัน พอร์ตติดลบ”

โต๋ เล่าว่า เคยมีหุ้นหนึ่งตัว 7 วัน ลดลงไป 30% และคุณพ่อบอกแล้วว่า ถ้าเป็นหุ้นพื้นฐานดีก็อย่าไปสนใจมัน แต่เรารู้สึกใจร้อนเอง และเห็นเพื่อนมีสไตล์คือหุ้นติดลบแล้ว 5-10% เลือกที่จะสต็อปลอสหรือขายเพื่อลดการขาดทุนมากกว่านี้ไป

“แต่พอเราเห็นมันติดลบไป 10% แล้ว ทนไม่ไหวขายทิ้งไปเลย ปรากฎว่าสัปดาห์ถัดมาหุ้นที่เพิ่งขายมันกลับมาขึ้น เหมือนที่คุณพ่อเตือนแล้วว่าให้นิ่งเอาไว้ ในที่สุดแล้วก็ทำให้ได้เรียนรู้และได้เข้ามาศึกษาอย่างจริงจังว่า หุ้นมีความเสี่ยงเพราะมีความผันผวนสูง อย่าโลภนั่นดีสุด และการลงทุนของแต่ละคนสไตล์ย่อมไม่เหมือนกัน”

ปัจจุบันด้วยเป้าหมายที่ต้องการสร้างบ้านให้กับสมาชิกครอบครัวของเขาที่มีทั้งหมด 8 ครอบครัวย่อยในบ้าน 4 ชั้น ให้เสร็จก่อน ในฐานะพี่ชายคนโตของบ้าน ที่พยายามทำให้บ้านนี้เหมือนโรงแรม มีลิฟต์ให้คุณพ่อคุณแม่ มีโถงตรงกลางที่สมาชิกครอบครัวมาใช้ร่วมกัน บนดาดฟ้ามีการปลูกหญ้าเทียม มีห้องออกกำลังกาย

ดังนั้น พอร์ตศึกษาการลงทุนต่างๆ ขอพักเอาไว้ก่อน แต่เน้นไปที่พอร์ตการลงทุนใหญ่สร้างบ้านให้กับครอบครัวที่เขารักให้เสร็จปลายปีนี้ก่อน และน่าจะเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่ได้ทั้งความสุขและความอิ่มใจกลับมามากกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนด้วยซ้ำ

ทว่า มาดูวิธีการบริหารเงินในปัจจุบันของโต๋ตอนนี้คือ ที่มีตารางกำหนดแน่ชัดและต้องทำอย่างมีวินัย เริ่มจาก “เปิดบัญชีไว้รองรับกับการเก็บภาษีเพื่อจ่ายไว้เลย” คือทุกครั้งที่มีงานและมีรายได้รับเข้ามา ก็จะประมาณอัตราการจ่ายภาษีในแต่ละครั้งไว้ว่าเท่าไรแล้วนำไปเก็บรวมในบัญชีแบงก์เดียวกัน และจะไม่ยุ่งกับบัญชีนั้นเลย

“วิธีนี้จะทำให้เราไม่ต้องรู้สึกว่ามานั่งจ่ายเงินเป็นก้อนในครั้งเดียว เพราะการจ่ายครั้งเดียวยิ่งจะทำให้รู้สึกเสียดายเงิน”

สองเป็นหลักเกณฑ์เดิมคือ “คุมค่าใช้จ่ายรายเดือนที่เผื่อเที่ยวเล่น แล้วเก็บไว้ในเอทีเอ็มสำหรับกดใช้นอกนั้นเก็บไว้บัญชี”

“เมื่อพูดถึงความคุ้มค่าของการใช้จ่าย หากต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องเสื้อผ้า ถ้าเป็นสูทที่ต้องออกงานเป็นทางการและราคาแพงก็จะตัดไว้เผื่อสองชุด เพราะมองว่าคุ้มที่จะตัดเพราะใช้ได้หลายงานคุ้มที่จะใส่ แต่ถ้าเป็นแบบที่ต้องใช้ออกงานบ่อย ลุยๆ ก็จะซื้อราคาที่ไม่แพง เพราะอย่างแฟชั่นเสื้อผ้ามีการเปลี่ยนเทรนด์เร็วมากก็จะไม่ได้เน้นแพง”

สามคือ “ซื้อกองทุนเต็มสิทธิสำหรับการหักภาษี” โดยเลือก LTF ที่มีความเสี่ยงสูงและไปในสัดส่วนที่ลงหุ้นเป็นหลัก

“เพราะยังเชื่อว่าผู้จัดการกองทุนจะต้องมีการติดตามและบริหารเก่งกว่าเรา”

‘โต๋’ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร ตารางชีวิตที่มีคุณค่าและใช้อย่างคุ้มค่า

สี่คือ “หุ้นที่ยังมีติดไว้พอร์ตบ้างและเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่คิดว่าจะมีการเติบโตดีในอนาคต แม้ส่วนต่างของการทำกำไรจะไม่มากก็ตาม”

“ปกติเงินที่ลงทุนในหุ้น ทั้งปัจจุบันหรือพอร์ตที่เคยขาดทุนไป จะมีการยอมรับไว้แล้วว่า เงินต้นในส่วนนี้สามารถหายไปได้ทั้งก้อนได้ โดยที่ไม่มีผลต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตเรา ซึ่งก็พยายามเปรียบเทียบเงินก้อนนี้เหมือนเวลาไปซื้อเกม ที่แลกมากับความสนุกหรือการเรียนรู้เรื่องการลงทุนหุ้น

ผมคิดว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งของการลงทุนคือ การกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปยังผลิตภัณฑ์ทางอื่นๆ อย่าหวังให้เงินทำงานจากการลงทุนเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเจ๊งขึ้นมาจะเจ๊งทั้งพอร์ต และเดี๋ยวนี้การลงทุนแบบทฤษฎีเดิมก็มาใช้ในยุคปัจจุบันไม่ได้แล้ว ล่าสุดก็เพิ่งมาสนใจซื้อนาฬิกา แต่ต้องศึกษาและเลือกให้ถูกรุ่น เคยสั่งมา 3-4 เดือนได้กำไร 5 หมื่นบาทก็มี แต่ไม่ได้บอกว่าซื้อทุกรุ่นแล้วจะได้กำไร”

ขณะที่ในอนาคต สิ่งที่ โต๋ สนใจจะลงทุนเพิ่มคือ อสังหาริมทรัพย์ เพราะมองว่าอนาคตความเป็นเมืองจะยิ่งกระจายไปมากขึ้น

“มองทั้งซื้อคอนโดมิเนียมไว้ให้เช่า และซื้อแบบที่ดินที่อนาคตจะมีการสร้างรถไฟฟ้า เพราะจะมีหมู่บ้านใหญ่ต้องทยอยเปิดตาม”

สำหรับวิธีการบริหารชีวิตหรือการทำงานตอนนี้ โต๋ ยอมรับว่า “รู้จักยืดหยุ่นและบาลานซ์การใช้ชีวิตทุกอย่างให้พอดี” มากขึ้น ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนมากที่ตั้งใจทำเองทุกอย่าง ซีเรียสกับงานที่ออกมามาก ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ไปหมดทุกอย่าง สุดท้ายเหมือนเดิม

“ต้องอย่าโลภมาก ถ้าทำให้ดีที่สุดแล้วจังหวะจะใช่มันก็ใช่”

ตัวเขาเองเพิ่งปลดล็อกความรู้สึกนี้ได้เมื่ออัลบั้มล่าสุด Chapter 1 เมื่อปีที่ผ่านมา ศิลปินวัย 34 ปี สรุปการใช้ชีวิตของเขาให้ฟังว่า เมื่อก่อนใช้ชีวิตไม่ยืดหยุ่นเหมือนตอนนี้

“แบกอะไรไว้หลายอย่าง คิดมากต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นนักเปียโนก็ต้องมีเล่นเปียโนตลอดสิ มีบางโหมดที่คิวงานหนัก จนสุดท้ายคิดได้ว่า จะทำงานหนักขนาดนี้ไปทำไม ไม่ไหวแล้วต้องแบ่งการใช้ชีวิตให้ดี ตอนนี้คือไม่ว่าจะทำงานดึกยังไง ก็ต้องแบ่งวันหรือมีโหมดดูแลสุขภาพให้ดี ไปออกกำลังเล่นบาสเล่นฟุตบอลตามที่ชอบสม่ำเสมอ

เพราะมองว่า ความสุขในชีวิตไม่สามารถซื้อหาได้ที่ไหน เราต้องสร้างมันขึ้นมาเอง ถึงวันหนึ่งที่ผ่านการทำงานหนัก แม้จะรวย แต่สุดท้ายเราจะกลายเป็นคนไม่มีความสุขระหว่างทาง ถือว่าชีวิตนี้ไม่มีประโยชน์เลย”

เพราะฉะนั้น การใช้ชีวิตให้สมดุลและการดูแลครอบครัวให้ดี มีความสุข นั่นคือคำตอบความเป็นโต๋ในขณะนี้