posttoday

โลหิตอิสราเอล และปณิธานของ พงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์

16 ธันวาคม 2561

พงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์ เจ้าของสารคดีสงครามชุด The Wild Chronicles

โดย วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ / ภาพ อมรเทพ โชติเฉลิมพงษ์ 

พงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์ เจ้าของสารคดีสงครามชุด The Wild Chronicles สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์ หนึ่งในนั้นคือ “โลหิตอิสราเอล” ที่พูดถึงประวัติศาสตร์ของชนชาติยิว และความผูกพันที่พวกเขามีต่อดินแดนที่พระเจ้าสัญญาจะมอบให้ หรือ “แผ่นดินแห่งพันธสัญญา” ซึ่งอยู่ในประเทศอิสราเอลและปาเลสไตน์ปัจจุบัน อ่านหนังสือเล่มนี้เพื่อจะเข้าใจปัญหาชนกลุ่มน้อย รวมทั้งความขัดแย้งในหลายส่วนทั่วโลกได้ดีขึ้น

The Wild Chronicles ประกอบด้วยสารคดีสงครามรวม 5 เล่มถึงปัจจุบัน นอกจากโลหิตอิสราเอล ยังมีพยัคฆ์ทมิฬสิ้นชาติ,เชือดเช็ด เชเชน, อสุราอาหม และประวัติย่อก่อการร้าย ทุกเล่มเป็นไปภายใต้ปณิธานเดียวกันของผู้แต่งคือ การนำเรื่องยากมาทำเป็นเรื่องง่าย และเผยแพร่ความรู้นั้นต่อคนทั่วไปเพื่อที่พวกเขาจะสามารถเปิดใจได้ง่ายขึ้น...กว้างขึ้น

พงศ์ศรณ์ ในวัย 35 ปีเล่าว่า ปัญหาในโลกเราทุกวันนี้ คือการคิดว่าตัวเองหรือชนชาติตัวเองดีกว่าคนอื่น คิดว่าสิ่งที่ตัวเองมีตัวเองเป็น ดีกว่าสิ่งที่คนอื่นมีสิ่งที่คนอื่นเป็น การไม่เข้าใจผู้อื่นนี้ ทำให้เกิดความขัดแย้ง โดยปัญหาต่างๆ ในโลก ก็ล้วนแต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากคนที่ไม่เปิดกว้าง ไม่เข้าใจกัน และไม่ทำความเข้าใจกัน

โลหิตอิสราเอล และปณิธานของ พงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์

“หนังสือของผม เน้นเรื่องความขัดแย้งในความคิดของคน สงคราม และปัญหาการกดขี่ที่ไม่ยุติธรรม ความซับซ้อนและความหนักหนาสาหัส แม้จะเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก แต่ถ้าคนเราเข้าใจสิ่งนี้ได้ ก็จะเรียนรู้ และนำไปสู่ทางเลือกที่ดีกว่า นี่คือปณิธานของผม”

สไตล์การเขียน ใช้หลักความง่ายและความน่าสนใจในการดึงดูดใจผู้อ่าน พงศ์ศรณ์เปิดเรื่องด้วยรูปภาพที่กระชากใจ ประทับใจ หรือสะเทือนใจ จากนั้นให้ข้อมูลด้วยข้อความที่สั้นกระชับ อธิบายภาพอย่างไม่เยิ่นเย้อ ข้อมูลที่สื่อสารออกไปมีความชัดเจน เป็นจริง เป็นกลาง โดยมีข้อมูลจาก 2 ด้านเสมอ สุดท้ายคือท่อนจบที่ฝากให้คิด

“มีคนเคยกล่าวถึงงานเขียนของผมว่า การเปิดเรื่องเหมือนเสียงกลองที่ตีเรียกแขก เร้า ระทึก ชักชวนให้เข้าร่วม ท่อนกลางคือการให้ความจริง และปิดจบด้วยการให้อะไรบางอย่าง”

สงครามและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก คนคิดว่าไกลตัว แต่ในความเป็นจริง ความขัดแย้งอยู่ไม่ไกลเลย ความขัดแย้งนั้นได้เกิดขึ้นแล้วอยู่ในตัวของเรา หรืออยู่ใกล้ตัวของเราอย่างที่สุด ผู้ก่อการไม่ใช่คนเลวเสมอไป เขาเพียงเป็นผู้เจ็บปวดจากความเกลียดชัง เจ็บปวดจากความไม่เข้าใจ

โลหิตอิสราเอล และปณิธานของ พงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์

“เขาแค่คนเจ็บปวด เราในฐานะเพื่อนร่วมโลก ทำได้หรือไม่ที่จะไม่ตั้งธงว่าเกลียดเขา ไม่ตั้งธงว่าเขาเป็นใคร เปลี่ยนมุมมองต่อผู้เจ็บปวดแล้วเราจะเข้าใจ แล้วเราจะมีทางแก้ปัญหาในอีกแบบ”

นักเขียนสารคดีสงครามรุ่นใหม่ พงศ์ศรณ์ เล่าถึงตัวเองว่า เขียนหนังสือครั้งแรกเมื่ออายุ 18 ปี “ลำนำหกพิภพ” ซึ่งได้รับรางวัล Young Thai Artist Award นิยายแฟนตาซีที่ใช้วรรณคดีไทยเป็นฉากหลัง ครอบครัวเป็นนักอ่าน คุณแม่ซึ่งก็เป็นหนอนหนังสือตัวยง คือบุคคลแรกที่แนะนำให้รู้จักกับสามก๊ก หนังสือที่ทำให้ลูกๆ ของคุณแม่ได้รู้ว่าโลกนี้ไม่มีคนดีหรือคนเลว มีแต่คนที่เคลื่อนไหวไปตามเหตุปัจจัยหรือบริบทรอบล้อม ตอนนั้นพงศ์ศรณ์อายุ 7 ขวบ

พงศ์ศรณ์จบปริญญาโทการพิมพ์ จากยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน (UCL) และจบปริญญาโทเอ็มบีเอ จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ ปัจจุบันทำธุรกิจส่วนตัวด้านการตลาดอินเทอร์เน็ต เป็นเจ้าของบริษัท แอพบิท สตูดิโอ เวลาที่ไม่ทำงานและไม่เขียนหนังสือ คือเวลาแห่งการท่องเที่ยว

ล่าสุดกำลังเขียนงานสารคดีสงคราม Solo เรื่องราวของกษัตริย์ชากา และจักรวรรดิชนเผ่าในป่าแห่งแอฟริกาใต้ ที่สร้างสังคมอาณาจักรขึ้นมาได้ภายในคนรุ่นเดียว (ปี 1787-1828) งานเขียนอีกมากมาย ติดตามได้ในเพจเฟซบุ๊ก Wild Chronicles-เชษฐา รวมทั้งติดตามพ็อกเกตบุ๊กเล่มใหม่ของเขา
ทุกเล่มได้จากโพสต์บุ๊กส์