posttoday

อดิศร เสริมชัยวงศ์ ‘เกษียณ’ คือ การสำรวจความฝันของตัวเอง

01 ธันวาคม 2561

การพูดคุยในเรื่องเกษียณกับ อดิศร เสริมชัยวงศ์

โดย ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

การพูดคุยในเรื่องเกษียณกับ อดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ในขณะที่อายุ 52 ปี ไม่ถือว่าเร็วเกินไป เพราะได้วิธีเตรียมตัวเป็นแบบแผน สไตล์นายแบงก์ที่ชอบปิดความเสี่ยง และยังได้มุมมองแนวคิดชีวิตอย่างลึกซึ้งจนต้องกลับมามองตัวเอง

“เงินเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกษียณ เพราะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตที่อยากเป็นได้ แต่ขณะเดียวกัน เงินก็เป็นเพียงส่วนประกอบ ถ้างานที่ทำอยู่มีคุณค่า มีความหมาย และสร้างความภูมิใจให้ตัวเอง”

ปัจจัยเรื่องเงินไม่เป็นปัญหาสำหรับอดิศร เพราะส่วนตัวเป็นนักเก็บออมมาตั้งแต่เด็ก สมัยเริ่มทำงานมีกฎของตัวเองที่ต้องออมให้ได้ 30% ของรายได้ และเสริมด้วยการอยู่แวดวงการเงินมานาน จึงไม่แปลกที่จะมีพอร์ตการลงทุนกระจายในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ให้เงินทำงานควบคู่กับการออมตามปกติ จนขณะนี้พูดได้เลยว่า ให้เกษียณตอนนี้ก็ยังทำได้ แต่ทำงานต่อจะดีกว่า ส่วนที่เกินก็ไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานต่อไป

“ผมตั้งเป้าออมเงินให้ได้ 30% ของรายได้มาตั้งแต่อายุน้อย เวลาจะใช้เงินก็จะดูว่ามีเงินเหลือเท่าไรหลังจากออมไปแล้ว อยากได้รถยนต์ ก็ต้องมาดูว่าเงินที่มีหลังออมนั้น จะผ่อนรถอะไรได้ก็ใช้แบบนั้น ส่วนรถในฝันเอาไว้ก่อน ซึ่งมาได้รถในฝันจริงๆ ก็เมื่ออายุผ่านเลยมาถึง 40 ปี”

อดิศร เสริมชัยวงศ์ ‘เกษียณ’ คือ การสำรวจความฝันของตัวเอง

เงินไม่ใช่อย่างเดียวที่ตอบโจทย์ แต่ความหมายของงานก็ตอบโจทย์ชีวิตด้วย

อดิศรภูมิใจในการเป็นนายแบงก์ ที่ได้ช่วยตอบโจทย์ให้ชีวิตของผู้คน ให้ลูกค้าได้มีบ้าน สร้างครอบครัว ให้มีความคุ้มครองจากประกัน ให้มีเงินออมผลตอบแทนที่สอดคล้องกับลักษณะชีวิต

แต่หลายคนคงไม่รู้ว่า ความฝันในวัยเด็กของเขานั้น อยากเป็น “ช่างภาพ” ทว่าด้วยสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมนำพาชีวิตให้เดินไปตามทางสูตรสำเร็จที่ผู้อื่นสำรวจมาแล้ว จบ ป.ตรี วิศวกรรม ต่อ ป.โท MBA และเลือกงานที่เงินดีที่สุดในขณะนั้นก็คือ นายแบงก์ ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไป แม้จะไม่ใช่งานที่ฝันในวัยเด็กก็ตาม แต่ทุกวันนี้ก็มีความสุขดี

20 ปีที่ผ่านมา อดิศรยอมรับว่าตัวเองใส่ใจกับงานมากเกินไป ไม่ได้ใส่ใจครอบครัวมากเท่าที่ควร ละเลยสังคม และทิ้งความฝันของตัวเองไปหลายอย่าง อย่างกล้องถ่ายรูปไม่ได้จับมานานถึง 15 ปี

อดิศร เสริมชัยวงศ์ ‘เกษียณ’ คือ การสำรวจความฝันของตัวเอง

ตอนนี้มีเวลา มีเงินมากขึ้น ให้เวลาครอบครัวมากขึ้น กลับมาเล่นกล้อง ตระเวนถ่ายรูปตามสถานที่ต่างๆ เน้นบรรยากาศท้องถนน เยาวราชแนว Street และดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายหลายแบบ จนฟิตแอนด์เฟิร์ม เข้าร่วมกิจกรรมไตรกีฬา ปั่น ว่ายน้ำ วิ่ง เป็นการใช้เวลาว่างอย่างมีความหมายในทุกๆ วัน

สิ่งที่ยากที่สุดของการวางแผนเกษียณ คือการสำรวจความฝันของตัวเอง หากใครหาเจอแล้วก็จัดลำดับความสำคัญ (Priority) แบ่งเวลาให้ถูก ใส่ใจสิ่งที่ควรใส่ใจ เมื่อจัดเรียงได้ ก็จะได้คำตอบเองว่า “จำเป็นต้องมีปัจจัยเท่าไร” ที่เหมาะกับการใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง

“เมื่อวางแผนแล้ว เราจะ Balance Score Card เป็นได้ที่เราจะเร่งอีกอย่าง แล้วดร็อปอีกอย่าง เช่น เร่งเก็บเงิน ดร็อปความฝันชั่วคราว แต่อย่างน้อยก็รู้เท่าทันว่ากำลังดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมาย ทุกคนไม่ต้องเหมือนกัน บางคนชอบบ้านใหญ่ บางคนขอบ้านเล็กๆ ก็พอ”

อดิศรย้ำว่า อย่าลืมว่าอายุ 60 เป็นจุดพลิกผันของชีวิต! จะเกษียณ ไม่ใช่แค่คิดว่าจะเที่ยวปีละกี่ครั้งเมื่อหยุดทำงาน

“ต้องมาคิดใหม่ว่า ถ้านายจ้างหยุดจ้างแล้ว คุณค่าเราคืออะไร ทำอะไรให้สังคมได้ และมีรายได้กลับคืนมาได้ด้วย หรือจะ Enjoy กับชีวิตทุกวันได้ยังไง...”

อดิศร เสริมชัยวงศ์ ‘เกษียณ’ คือ การสำรวจความฝันของตัวเอง

สำหรับตัวเขาก็คิดว่า ความรู้ที่มีจะสามารถทำอะไรได้บ้างเมื่อถึงคราวเกษียณอาจจะเป็นผู้แนะนำการลงทุนได้ หากขวนขวายหาความรู้ต่อไปไม่สิ้นสุด อาจเป็นโค้ชชิ่งปลุกพลังคนให้เกิดการสร้างสรรค์ในสิ่งดีๆ

การปลุกพลังคน เป็นสกิลที่อดิศรเพิ่งค้นพบในตัวเองเมื่อไม่นานมานี้เอง เมื่อช่วงที่มีกลยุทธ์ใหม่ต้องปิดสาขา ได้เป็นผู้ปลุกพลังให้คนในองค์กรมาร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง ปลุกทัศนคติที่ดีของคนจูงใจให้สร้างสรรค์ผลงานที่ดี ผลออกมาวอลุ่มเติบโต 3-4 เท่าตัว

“หลังเกษียณอย่าโฟกัสที่เงินอย่างเดียว ต้องคิดถึงการใช้ชีวิตหลังเกษียณด้วย ซึ่งหากเกษียณแล้วต้องนั่งอยู่บ้านเฉยๆ ก็คงไม่มีความสุข ฉะนั้นต้องกำหนดตั้งแต่เนิ่นๆ ว่า Enjoy Life ของเราเป็นอย่างไร? ชีวิตจะมีคุณค่าอย่างไรแม้จะเกษียณไปแล้ว ส่วนวันนี้ดูแลคนรอบข้างดีหรือยัง หลายคนเวลาที่ทำได้ไม่ทำ ละเลยสิ่งสำคัญที่สุด พอมีเวลาสิ่งสำคัญที่สุดนั้นไม่อยู่ให้ดูแลแล้ว”

“เป้าหมายชีวิตคืออะไร?” เป็นคำถามที่ติดอยู่ในความคิดตลอดตั้งแต่พูดคุยกับอดิศร ซึ่งยอมรับจริงๆ ว่าเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะให้ตอบตอนนี้อาจเห็นเป้าหมายข้างหน้าระยะสั้น ที่เติบโตในหน้าที่การงาน เลื่อนตำแหน่ง เงินเดือนสูงขึ้น แล้วความฝันที่แท้จริงของเราคือสิ่งใด...