posttoday

เรื่องราวล้ำค่า ความทรงจำแสนงดงาม ในแสตมป์

29 พฤศจิกายน 2561

ปัจจุบันการขนส่งในประเทศไทยมีหลายช่องทาง ส่งผลให้การส่งจดหมาย หรือไปรษณียบัตร (โปสการ์ด) เป็นช่องทางที่ถูกลดความนิยมลง

เรื่อง...มัลลิกา นามสง่า

ปัจจุบันการขนส่งในประเทศไทยมีหลายช่องทาง ส่งผลให้การส่งจดหมาย หรือไปรษณียบัตร (โปสการ์ด) เป็นช่องทางที่ถูกลดความนิยมลง แต่ใช่ว่าจะเลือนหายไปเสียทีเดียว เพราะเสน่ห์ของการเขียนจดหมาย การเขียนโปสการ์ดยังมีอยู่ ตัวอักษรบนกระดาษ ตราไปรษณียากรจากเมืองต่างๆ ที่ประทับลงบนไปรษณียากร (แสตมป์) ยังมีเรื่องราว มีความทรงจำ ที่หลายคนประทับใจ

แม้เทคโนโลยีจะพัฒนาล้ำไปขนาดไหน หากแต่ในบางขณะบางสิ่งบางอย่างก็ยังดำเนินควบคู่ไปอย่างคลาสสิก มีความน่าหลงใหล และมีคุณค่าในตัวของมันเอง

“งานแสดงตราไปรษณียากรโลก พ.ศ. 2561” (Thailand 2018 World Stamp Exhibition) ปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ สะท้อนให้เห็นว่า คนทั่วโลกยังคงให้ความสำคัญกับช่องทางการสื่อสารนี้แม้หลายคนอาจมองว่าเชื่องช้า ทว่ายังมีคนให้ความสำคัญกับรายละเอียดของแสตมป์ซึ่งไม่ต่างจากผลงานศิลปะที่ประเมินค่ามิได้

เส้น สี ความหมาย ในแสตมป์

เรื่องราวล้ำค่า ความทรงจำแสนงดงาม ในแสตมป์

งานแสดงตราไปรษณียากรโลก พ.ศ. 2561 จัดภายใต้แนวคิด “ท่องเที่ยววิถีไทย ในยุคดิจิทัล 4.0” โดย บริษัท ไปรษณีย์ไทย (ปณท) ร่วมกับ สมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรแห่งประเทศไทยฯ

มีประเทศสมาชิกของสหพันธ์ตราไปรษณียากรระหว่างประเทศ (F.I.P) จำนวน 95 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม และนักสะสมจากทั่วโลก ส่งแสตมป์มาจัดแสดง และส่งเข้าร่วมประกวด

ภายในงานผู้ชมจะได้เรียนรู้วิธีการเก็บรวบรวมสิ่งสะสมจากประเทศต่างๆ ว่ามีการเก็บสะสมกันในลักษณะใด เป็นแนวทางเพื่อต่อยอดการสะสมของนักสะสมชาวไทยต่อไป

ชมและประชันการประมูลสิ่งสะสมล้ำค่าหายากจากทั่วโลกกว่า 3,000 รายการ รวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ที่เรียงรายมาให้ประมูลกันบนเวที

สิ่งสะสมชิ้นโบแดง ที่ปัจจุบันเหลือเพียงชิ้นเดียวในโลก มีมูลค่าที่ประเมินค่าไม่ได้ ทั้ง “ต้นแบบแสตมป์พระบรมรูปทรงม้า” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

“จดหมายในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 1” ที่ยืนยันว่าประเทศสยามได้เข้าร่วมสงคราม “ตราประทับรถไฟ” มีที่การใช้งานกันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และจดหมายที่ส่งจากประเทศสยามก่อนที่จะเริ่มมีกิจการไปรษณีย์ เป็นต้น

“สมร เทิดธรรมพิบูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย ได้อรรถาธิบายถึงแสตมป์ดวงแรกของโลก “เพนนีแบล็ก” (Penny Black)

เรื่องราวล้ำค่า ความทรงจำแสนงดงาม ในแสตมป์

“สำหรับแสตมป์ชนิดราคา 1 เพนนี สีดำ ที่นักสะสมเรียกกันทั่วไปว่าชุด เพนนีแบล็ก เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ผินพระพักตร์ข้างของสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย กษัตริย์อังกฤษในสมัยนั้น ซึ่งถือว่าเป็นแสตมป์ดวงแรกของโลก ออกใช้งานเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2383 โดยไม่มีฟันแสตมป์ และไม่มีกาวที่ด้านหลัง

เนื่องจากอังกฤษเป็นประเทศแรกที่ออกแสตมป์ สหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union หรือ UPU) จึงกำหนดให้อังกฤษเป็นชาติเดียว ที่ยกเว้นไม่ต้องพิมพ์ชื่อประเทศบนดวงแสตมป์ดังเช่นประเทศอื่นๆ

แสตมป์ชุดแรกของไทย ชื่อ “ชุดโสฬศ”เป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับวันที่สยามเปิดให้บริการไปรษณีย์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2426

มีด้วยกัน 6 ราคา คือ หนึ่งโสฬส หนึ่งอัฐ หนึ่งเสี้ยว หนึ่งซีก หนึ่งเฟื้อง หนึ่งสลึง แสตมป์ชุดนี้ออกแบบและพิมพ์ที่บริษัท วอเตอร์โลว์ แอนด์ ซันส์ (Waterlow And Sons) กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร”

ไปรษณียบัตรส่วนพระองค์ สมเด็จพระเทพฯ

อีกหนึ่งนิทรรศการสำคัญภายในงาน คือ ไปรษณียบัตรส่วนพระองค์ “สมเด็จพระเทพฯ” ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานมาให้จัดแสดง

ประกอบไปด้วยไปรษณียบัตรส่วนพระองค์ จำนวน 191 ใบ และไปรษณียบัตรที่พระราชทานเป็นพิเศษสำหรับจัดแสดงภายในงานเป็นครั้งแรก จำนวน 20 ใบ

แบ่งเป็น 2 ชุด คือ ชุดวันอนุรักษ์มรดกไทย และชุดสะสมจดหมายเหตุการณ์เดินทาง (Record Of Journey) ที่ทรงลงลายพระหัตถ์ส่งถึงพระองค์เอง เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ เช่น ไปรษณียบัตรทรงเขียนส่งจากกรุงโดโดมา ประเทศแทนซาเนีย

เรื่องราวล้ำค่า ความทรงจำแสนงดงาม ในแสตมป์

ไปรษณียบัตรทรงเขียนส่งจาก มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) สาธารณรัฐประชาชนจีน ไปรษณียบัตรทรงเขียนส่งจากกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ไปรษณียบัตรทรงเขียนส่งจาก กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นอาทิ

“เมธินทร์ ลียากาศ” หนึ่งในคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน และกรรมการที่ปรึกษาการอนุรักษ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ และผู้ถวายงานจัดเก็บตราไปรษณียากรและสิ่งสะสมส่วนพระองค์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานสิ่งแสดงชุดนี้ให้ได้ชมกันบ่อยๆ แต่ละครั้งก็เปลี่ยนไป พระองค์ท่านสะสมไว้มากมาย ทรงโปรดเรื่องการเขียนไปรษณียบัตร

บางครั้งพระองค์ลงพระนาม บางทีเสด็จฯ ไปไหนก็เขียนเหตุการณ์ไว้ ไปรษณียบัตรก็เปรียบเหมือนกับจดหมายเหตุ พระองค์ท่านไปฮ่องกง ช่วงที่อังกฤษจะส่งคืนฮ่องกงให้กับจีน

พระองค์ก็เขียนในไปรษณียบัตร วันที่ 30 มิ.ย. 2540 วันสุดท้ายของอังกฤษในฮ่องกง วันรุ่งขึ้นส่งมอบ 1 ก.ค. 2540 พระองค์ท่านก็เขียนไปรษณียบัตร วันแรกของจีนในฮ่องกง

พระองค์ท่านทรงเขียนประวัติศาสตร์ มีหลายวาระที่ไปล้วนแต่ทรงเล่าด้วยการเดินทาง

ส่วนแสตมป์วันอนุรักษ์มรดกไทย เป็นชุดสะสมส่วนพระองค์ พระองค์ท่านเป็นเอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย ทางไปรษณีย์ไทยก็จัดทำแสตมป์ชุดวันอนุรักษ์มรดกไทย ออกทุกวันที่ 2 เม.ย.ของทุกปี”

ด้วยหน้าที่การงานอยู่กับแสตมป์มาค่อนชีวิต (อดีตผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายตลาดตราไปรษณียากร) เมธินทร์ จึงเป็นนักสะสมแสตมป์ ที่ชอบที่สุดคือ แสตมป์สถาปัตยกรรม ในต้นสมัยรัชกาลที่ 9 เป็นรูปเรือนไทย เจดีย์ วิหาร

“ย้อนไปเมื่อ 60 ปีก่อน งานอดิเรกของคนสมัยนั้นไม่เหมือนปัจจุบัน หลายคนตอนเป็นนักเรียนต้องเคยผ่านประสบการณ์สะสมแสตมป์ เอามาแลกมาเปลี่ยนกัน จนกระทั่งโตขึ้นทำงานมีเงินเดือน หาซื้อที่หายาก ราคาสูงขึ้น

ปัจจุบันคนอาจไม่นิยมสะสมแสตมป์ แต่ในกลุ่มคนที่สะสมก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง และหลังการจัดงานมักมีนักสะสมหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอยู่เสมอ แต่ในกลุ่มวัยรุ่นก็มีจำนวนน้อย

เรื่องราวล้ำค่า ความทรงจำแสนงดงาม ในแสตมป์

จริงๆ ผมก็ชอบทุกชุดที่ออกมา เพราะแสตมป์มีเบื้องหลัง มีที่มาหลายๆ เรื่อง ที่ออกมาแต่ละชุด ไม่ใช่ออกแบบมาใช้ได้เลย ต้องผ่านหลายหน่วยงานที่ตรวจสอบ

แสตมป์ไทย มี 3 ประเภทใหญ่ๆ แสตมป์ทั่วไป คือภาพซ้ำๆ แต่ต่างกันที่ราคา เช่น พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง แสตมป์ทั่วไปที่แสดงความเป็นชาติไทย เช่น ธงชาติ ภาพศาลาไทย ภาพช้าง

ต่อมาแสตมป์ที่ระลึกในวาระสำคัญของประเทศ เช่น วันสำคัญของในหลวง รัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ พระอัจฉริยภาพ แสตมป์วาระอื่นๆ เช่น วันอนุรักษ์มรดกไทย คนมักสะสมชุดที่ระลึก

สุดท้ายแสตมป์พิเศษ ไม่มีวาระออก ส่วนใหญ่เป็นภาพที่หาดูของจริงไม่ได้ เช่น สัตว์ป่าที่หายาก กูปรี สมัน ดอกไม้ป่าหายาก ชุดกีฬา วิถีชีวิต”

ชุดสะสมแสตมป์ในหลวง ร.9

“นพ.อุกฤษฏ์ อุเทนสุต” เป็นอีกหนึ่งคนที่เป็นเจ้าของผลงานไฮไลต์ภายในงาน เช่น “ปรู๊ฟแสตมป์ในหลวง ร.9” ชิ้นเดียวในไทย

แสตมป์ต้นแบบทดลองสี สำหรับการจัดสร้างแสตมป์ชุดแรกแห่งรัชกาลที่ 9 “พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 (ชุดที่ 1)” ซึ่งปัจจุบันนับเป็นดวงแสตมป์ที่หาชมได้ยากและมีมูลค่าสูง เพราะปรู๊ฟทดลองสีดังกล่าว มีการค้นพบเพียงดวงเดียวเท่านั้น ในปัจจุบัน

ตลอดระยะเวลา 70 ปี ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้มีการออกแสตมป์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์จำนวน 10 ชุด โดยเป็นแสตมป์ใช้งานทั่วไป ที่ออกมาเพื่อใช้งานในกิจการไปรษณีย์ทำให้แสตมป์ดังกล่าวโดยเฉพาะชุดแรกๆ ของรัชกาล นั้นหายาก เพราะส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ชำระค่าฝากส่ง และมีผู้ที่สะสมจำนวนน้อย

โดยชุดสะสมนี้เป็นการศึกษาในเชิงลึกของแสตมป์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การพิมพ์ในแต่ละชนิดราคาและการพิมพ์เพิ่มเติม ข้อผิดพลาดในการพิมพ์ และการใช้งานบนไปรษณียภัณฑ์ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้นิยมสะสมเป็นจำนวนมาก

“ผมสะสมแสตมป์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2528 อายุ 9 ขวบ เพราะคุณพ่อพาไปเดินงานแสตมป์ สะสมมาสักพัก อารมณ์แบบอยากเก็บแค่แสตมป์ไทย

พอมุ่งมาแสตมป์ไทยก็คิดว่าแล้วอะไรที่เป็นไทยแท้ๆ ก็ไปเจาะแสตมป์ในหลวง (รัชกาลที่ 9) เก็บทุกชุดที่ออก ชุดแสตมป์ในหลวงมี 2 แบบ คือ แสตมป์รูปพระพักตร์ และแสตมป์ที่ระลึก ออกในวาระต่างๆ

ผมเก็บแสตมป์รูปพระพักตร์ที่ใช้งานทั่วไป ชุดหนึ่ง 5-7 ปี ถึงเปลี่ยนชุด ปัจจุบันแสตมป์รัชกาลที่ 9 มี 10 ชุด ผมมีครบ แต่ผมเก็บลึกกว่านั้น เช่น ชุดที่ 1 มี 10 ราคา ผมเก็บทั้งหมด ปีที่พิมพ์ต่างกันก็เก็บ สีต่างกัน ดังนั้นแสตมป์ชุดหนึ่งอาจเก็บ 2,000 ดวง เพื่อศึกษาความแตกต่าง”

นพ.อุกฤษฏ์ เล่าถึงการซื้อขายแสตมป์ในแวดวงนักสะสม “มี 2 ตลาด มีตลาดนักสะสมทั่วไป และเก็บสะสมเพื่อการประกวด แต่ทุกอย่างมีซื้อขายหมด แต่ผม 90 เปอร์เซ็นต์เป็นฝั่งซื้อ

ผมซื้อมาเป็นคอลเลกชั่นเพื่อเก็บสะสมประกวด มีระดับเอเชีย สากล อย่างปีนี้ไทยเป็นเจ้าภาพประกวดระดับโลก ซึ่งปีนี้ผมก็ส่งประกวด 226 ชิ้น

อย่างตอนนี้ที่ยังมองหาจะซื้อ ราคาประมาณ 2 แสนกว่าบาทต่อดวง เคยเห็นแพงสุดเกือบล้านบาท เป็นแสตมป์ต้นแบบ ออกมาแค่ดวงเดียวว่าดวงนี้สีนี้เหมาะสมไหม อย่างแสตมป์ที่จำหน่ายสีเขียว แต่ต้นแบบสีฟ้า”

เขาเป็นคนไทยคนเดียวที่ประกวดแสตมป์ชุดในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้รางวัลเหรียญทองใหญ่ จาก Australia 2017 (FIAP) และ Bandung 2017 (FIP)

“เสน่ห์ของแสตมป์สิ่งแรกที่ผมประทับใจคือ ภาพพระมหากษัตริย์ ในตอนเด็กผมอาจมองไม่สวย สีสันไม่เยอะ แต่พอโตขึ้นได้ศึกษา ภาพบนดวงแสตมป์ พิมพ์แบบ Engraved Steel คือแกะสลัก ภาพนูนเหมือนธนบัตร แสตมป์ทั่วไปสีเรียบๆ รุ่นอื่นแม่พิมพ์หิน แต่รัชกาลที่ 9 ใช้แม่พิมพ์เหล็ก

ผมชอบที่พิมพ์นูน ดวงเล็กแต่ลายสวยเป็นความชอบส่วนตัว และบ่งบอกความเป็นไทย เพราะคือภาพพระมหากษัตริย์ แสตมป์ถูกพิมพ์ออกมาเรื่อยๆ มีรายละเอียดความต่างกัน ส่องกล้องดูจะทราบว่าพิมพ์ไม่เหมือนกัน สีเดียวกันแต่มีรายละเอียดปลีกย่อย เราได้สนุกกับการศึกษาค้นหา

เสน่ห์อีกอย่าง พบได้ทั่วไป ถ้าแสตมป์หายากจนทุกคนไม่อยากจะหาไม่อยากจะเก็บ หรือมีชิ้นเดียวในโลก คนก็จะไม่สนใจ แต่แสตมป์ที่ผมเก็บ ของพวกนี้เรียกคนมาสนใจ เรียกคนหมู่มาก เพราะไม่หายากจนเกินไป”

แสตมป์ดวงเล็กๆ แต่มีเรื่องราวมากมายในนั้น คุณผู้อ่านสามารถไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านแสตมป์ ภายในงานยังมีตราไปรษณียากรที่ระลึกของงาน มีทั้งหมด 5 แบบด้วยกัน โดยนำเสนอเรื่องราวของการท่องเที่ยวเมืองรอง ตามโครงการเที่ยว 55 เมืองรอง ของ ททท.

ร่วมสนุกรับพาสปอร์ตเพื่อสะสมตราประทับ มีมุมถ่ายภาพเก๋ๆ พร้อมบริการทำ iStamp โดยใช้รูปถ่ายของคุณมาพิมพ์บนดวงแสตมป์เพื่อเป็นที่ระลึกและสามารถใช้งานได้จริง

งานแสดงตราไปรษณียากรโลก พ.ศ. 2561 เปิดให้ชมตั้งแต่วันนี้-3 ธ.ค. 2561 เวลา 10.00-20.00 น. ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน