posttoday

ดุษฎี พนมยงค์ ความสำเร็จ ชีวิต และความทรงจำ

25 พฤศจิกายน 2561

หลังคว้ารางวัลประกาศนียบัตรทอง และรางวัลชนะเลิศคะแนนสูงสุดจาก 3 สาขา

โดย วันพรรษา อภิรัฐนานนท์/ภาพ ดุษฎี พนมยงค์ 

หลังคว้ารางวัลประกาศนียบัตรทอง และรางวัลชนะเลิศคะแนนสูงสุดจาก 3 สาขาที่เข้าแข่งขัน บนเวที 2nd Corfu International Festival & Choir Competition ของคณะนักร้อง​ประสาน​เสียง​สวน​พลูจากประเทศไทย “ดุษฎี พนมยงค์” ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการคณะ ยืนเด่นชูประกาศนียบัตรเหนือศีรษะด้วยรอยยิ้มที่ประกาศถึงความสุขและความสำเร็จต่อชาวโลก นั่นคือจุดแรกที่ทำให้อยากรู้จักสุภาพสตรีผู้มาดมั่น

ดุษฎี (พนมยงค์) บุญทัศนกุล หรือ “ครูดุษ” ของลูกศิษย์ นอกจากจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังชัยชนะบนเวทีระดับโลกในหลายเวทีแล้วครูดุษยังเป็นศิลปินแห่งชาติ ปี 2557 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) และอย่างที่ผู้อ่านหลายท่านทราบดี ท่านเป็นบุตรีของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี กับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เรื่องราวในชีวิตของท่าน คงเป็นเหมือนเสียงขับร้องดนตรีสูงต่ำ ด้วยท่วงทำนองแห่งชีวิต

“ตอนเด็กๆ ครูดุษซนมากที่สุด เมื่ออายุประมาณ 10 ขวบ ก็เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจากความซน”

อุบัติเหตุครั้งนี้ร้ายแรงเกือบถึงชีวิต เรื่องมีอยู่ว่า ไปใส่กลอนล็อกประตูห้องน้ำชั้นสองด้านนอกที่น้องสาว วาณี (พนมยงค์) อยู่ในนั้น และจะปีนเข้าไปทางหน้าต่าง เพื่อบอกน้องว่า ไม่ต้องตกใจ เดี๋ยวจะไปปลดล็อกด้านนอกให้ จึงกระโดดข้ามจากหน้าต่างชั้นสองไปยังหลังคากันสาดที่มีความสูงจากพื้นประมาณ 2 เมตรครึ่ง

“การปีนเล่นแบบนี้เคยทำมาหลายครั้งแล้ว แต่คราวนี้ปีนพลาด”

ดุษฎี พนมยงค์ ความสำเร็จ ชีวิต และความทรงจำ

ครูดุษตกลงมาศีรษะฟาดพื้นอย่างแรงสลบไปทันที คุณแม่ (ท่านผู้หญิงพูนศุข) ได้ยินเสียงโครมรีบวิ่งมาดู เห็นลูกสาวนอนนิ่งไม่ได้สติอยู่กับพื้นซีเมนต์ เลยวานให้คุณอมฤต วิสุทธิธรรม ที่เผอิญมาเยี่ยมคุณแม่ ช่วยอุ้มส่งคลินิกสหการแพทย์ของหมอบุญส่ง เลขะกุล ซึ่งอยู่ย่านเจริญกรุงใกล้บ้านที่สุด

“คุณหมอเย็บแผลสดๆ ไม่ใช้ยาชาเพราะยังสลบอยู่ มีแผลแตกที่ใต้ริมฝีปากล่างและใต้คาง ส่วนฟันกรามก็แตกบิ่น เมื่อกลับมาบ้านคืนนั้น ตื่นขึ้นมาเห็นคุณแม่นั่งเฝ้าอยู่ข้างที่นอน รู้สึกผิดว่าความซนของเราทำให้ผู้ใหญ่เดือดร้อน”

ไม่กี่วันต่อมา ท่านผู้หญิงพูนศุขได้พาลูกสาวมาพักรักษาตัวที่สายนัดดาคลีนิคของ นพ.ม.ล.เต่อ สนิทวงศ์ ตั้งอยู่ใกล้กับโรงเรียนสายปัญญา อยู่ที่นี่เกือบ 1 เดือน ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดียิ่งจากนพ.ม.ล.เต่อ และลูกๆ ของท่านทุกคน จนทุกวันนี้ก็ยังระลึกถึงพระคุณของท่านอยู่

นอกจากได้ที่ระลึกคือแผลเป็นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังอุบัติเหตุครั้งนั้น คือครูดุษในวัย 10 ขวบไม่สูงขึ้นอีกเลย หยุดความสูงไว้ที่ 152 เซนติเมตร เปรียบเทียบกับพี่น้องผู้หญิงด้วยกันที่สูงถึง 165-166 เซนติเมตร ผลลัพธ์จากการพลัดตกจากกันสาดยังนำมาซึ่งความจำที่ดีกว่าเก่า และเรียนหนังสือ
ได้ดีขึ้น ครูดุษบอกว่านี่เป็นเรื่องที่ยังสงสัยตัวเองอยู่

“สมัยนั้นไม่มีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เลือดคั่งในสมองหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่ถ้าสมองกระทบกระเทือนแล้วทำให้เรียนดีขึ้น ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ”

ดุษฎี พนมยงค์ ความสำเร็จ ชีวิต และความทรงจำ

เหตุการณ์ในชีวิตที่ครูดุษจดจำได้อย่างแม่นยำอีกเรื่องคือ การรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 ที่ทำให้ครอบครัวปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ได้รับผลกระทบตามมาอย่างแสนสาหัส ครูดุษเล่าว่า ห้องนอนของพวกเด็กๆ (หมายถึงลูก) อยู่ฝั่งเหนือของตึกทำเนียบท่าช้าง ส่วนห้องนอนคุณพ่อคุณแม่อยู่ฝั่งใต้ของตึกเดียวกัน กลางดึกคืนนั้น มีเสียงปืนจากรถถังยิงรัวๆ มาที่ตัวตึกบริเวณใกล้ห้องนอนคุณพ่อคุณแม่ เด็กๆ ตื่นขึ้นมาเห็นคุณแม่มาอยู่กับลูกๆคุณแม่ตะโกนเสียงดังสวนเสียงปืนว่า “อย่ายิงที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก”

ปรีดี พนมยงค์ ลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศในช่วงนั้น ต่อมาในปี 2495ท่านผู้หญิงพูนศุขถูกจับกุมในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร ดุษฎีและวาณีต้องไปอยู่ประจำที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ทุกเย็นวันศุกร์ญาติไปรับเพื่อพาไปนอนค้างกับคุณแม่ในห้องขังที่สันติบาลกรมตำรวจ วันจันทร์เช้าก็มารับกลับไปอยู่ที่โรงเรียน ทำเช่นนี้ตลอด 84 วันที่ท่านผู้หญิงพูนศุขถูกคุมขัง

“เมื่อศาลสั่งไม่ฟ้องได้รับอิสรภาพ คุณแม่คิดว่า ความยุติธรรมหาไม่ได้ในเมืองไทย อยู่ต่อไปก็จะถูกรังแกเช่นนี้อีก จึงตัดสินใจพาลูกสาวที่ยังเล็ก 2 คนไปต่างประเทศ จุดหมายแรกคือฝรั่งเศส ซึ่งพี่สาว (สุดา พนมยงค์) ศึกษาดนตรีอยู่ที่นั่น”

อยู่ที่กรุงปารีสได้ไม่นาน (ปี 2496) ท่านผู้หญิงพูนศุขตัดสินใจเดินทางไปสมทบกับสามีที่พำนักลี้ภัยอยู่ในประเทศจีน ในปีเดียวกันนั้น ท่านพาลูกสาวทั้งสอง เดินทางผ่านสวีเดน ฟินแลนด์ ไปมอสโก จากนั้นนั่งรถไฟสายทรานไซบีเรียนจากมอสโกไปปักกิ่ง ใช้เวลาเดินทาง 8 วัน

“คุณพ่อมารอรับเราที่สถานีรถไฟชายแดนจีน แล้วเดินทางต่ออีก 2 วันจึงถึงกรุงปักกิ่งรัฐบาลจีนต้อนรับคุณพ่อและครอบครัวในฐานะเพื่อนผู้ร่วมต่อสู้การรุกรานจากญี่ปุ่นเป็นอย่างดี มีบ้านพักและรถยนต์พร้อมคนขับในระดับเทียบเท่ารัฐมนตรี พร้อมผู้ช่วยงานบ้านหลายคน”

ดุษฎี พนมยงค์ ความสำเร็จ ชีวิต และความทรงจำ

ครูดุษ เล่าว่า ขณะนั้นอายุ 14 ปี ได้เข้าเรียนชั้นมัธยมที่ปักกิ่ง แต่เนื่องจากไม่เคยรู้ภาษาจีนมาก่อน มีครูพิเศษมาสอนให้โดยเฉพาะ ครูเป็นชาวปักกิ่ง ครูดุษและน้องสาววาณี จึงได้ความรู้การออกเสียงภาษาจีนแบบมาตรฐานปักกิ่งแท้ ที่เมืองจีนนี้ยังได้มีโอกาสฝึกกีฬายิมนาสติกอย่างจริงจัง จนได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนไปแข่งขันชิงเหรียญรางวัล ซึ่งก็ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

หลังจบชั้นมัธยมศึกษา ได้สอบเข้าเรียนที่สถาบันดนตรีกลาง กรุงปักกิ่ง (Central Conservatory of Music) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสถาบันดนตรีระดับโลก เรียนขับร้องคลาสสิกเป็นวิชาเอก เรียนเปียโนเป็นวิชาโท ครูดุษถ่อมตัวว่าเรียนไม่เก่ง หากที่ร่ำเรียนมาได้ราบรื่นคงเป็นเพราะพื้นฐานการเรียนดนตรีในวัยเด็กที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟฯ และมีพื้นฐานทางดนตรีทั้งจากครอบครัวทางฝั่งบิดาและฝั่งมารดา

ระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนยาวนานถึง 19 ปีนั้น เมื่อถูกถามถึงเรื่องความรักครูดุษไม่ค่อยอยากเล่า บอกว่าลืมหมดแล้ว แค่บอกว่าเคยมีแฟนเป็นเพื่อนนักศึกษาสถาบันเดียวกัน แต่ความรักไม่อาจสมหวังเพราะรัฐบาลจีนขณะนั้นมีกฎหมายเคร่งครัดเรื่องการแต่งงานกับคนต่างชาติ

เมื่อถามว่า ครูดุษมีชื่อจีนไหม คำตอบคือ มี เป็นชื่อที่ล่ามจีนตั้งให้ว่า ช้าหนี (莎妮 sha ni) โดยพยายามเลียนเสียงจากชื่อไทย (Dusadee) และล่ามจีนยังเติมแซ่ให้ด้วยว่า แซ่หลี่ ทั้งนี้ มิใช่แซ่เดิมจากบรรพบุรุษ (แซ่ตั๊ง) ที่มาจากเมืองจีนสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา

ครูดุษเล่าถึงการย้ายตามบิดาไปใช้ชีวิตในฝรั่งเศส (ปรีดีฯ ไปฝรั่งเศส ปี 2513) ว่า ลูกๆ ทำมาหาเลี้ยงชีพกันอย่างไม่เลือกอาชีพ บางคนเป็นบ๋อยเสิร์ฟในภัตตาคาร บางคนรับจ้างทำความสะอาดบ้าน บางคนรับทำอาหารส่งตามที่ต่างๆ ส่วนครูดุษเป็นครูเปียโนที่สถาบัน Conservatoire Municipale de Caen ทำอยู่ 2 ปี เมื่อคิดจะกลับเมืองไทยได้ไปศึกษาเพิ่มเติมที่ Royal Collage of Music กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ดุษฎี พนมยงค์ ความสำเร็จ ชีวิต และความทรงจำ

“สมัยนั้นไทยกับจีนเป็นอริกัน ไม่รักกันหวานชื่นอย่างทุกวันนี้ ใบปริญญาที่ได้มาจากประเทศจีนอาจไม่ได้รับการยอมรับ จึงจำเป็นต้องไปหากระดาษอีกใบหนึ่งจากประเทศตะวันตก”

ครูดุษเกือบจะไม่กลับเมืองไทย เล่าว่า บางขณะบางอารมณ์ก็อยากอยู่เมืองนอก เพราะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมและสังคมน่าอยู่ มีเสรีภาพประชาธิปไตย แต่ที่สุดก็ตัดสินใจกลับบ้านครูดุษกลับเมืองไทย แต่งงาน มีครอบครัวมีบุตร 1 คน ปัจจุบันมีหลานชายวัย 5 ขวบ อีก 1 คน ทั้งลูกและหลานชอบร้องเพลงเหมือนคุณแม่และคุณย่า ทุกวันนี้มีความสุขกับการทำงานคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก แม้กระนั้นก็มีความท้อใจอยู่บ้าง

“คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลูพัฒนาความสามารถอย่างต่อเนื่องด้วยลำแข้งของตนเอง มีบทพิสูจน์ในระดับสากลมากมายแต่ความยากลำบากในการหาทุนสนับสนุนคงมีอยู่เหมือนเดิม หรือยิ่งกว่าเดิม ส่วนหนึ่งเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ อีกส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เห็นความสำคัญของการทำงานด้านนี้”

การเดินทางไปแข่งขันประสานเสียงที่คอร์ฟู ประเทศกรีซครั้งล่าสุด สมาชิกวงสวนพลูทุกคนต้องควักกระเป๋าออกเงินกันเองคนละไม่น้อย หาผู้สนับสนุนยากเพราะเศรษฐกิจไม่ดีก็จริงอยู่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าสังคมและผู้มีอำนาจเข้าใจสักนิดว่า ดนตรีคือหนทางที่จะทำให้คนในโลกได้เข้าใจกันและรักกัน ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและสร้างเกียรติภูมิแก่แผ่นดินแม่ในเวทีโลกแล้ว

“เราก็จะทุ่นแรงไปได้เยอะในการหาเงินสนับสนุน”

วันนี้ในวัยใกล้ 80 ปี ยังสนุกกับการสอนขับร้องคลาสสิก จัดรายการวิทยุ “คุยกับครูดุษ” ทางสถานีวิทยุ อสมท 96.5 ทุกเช้าวันเสาร์ 06.00-07.00 น. ยังออกกำลังกายและว่ายน้ำอยู่บ้าง ฟังเพลงคลาสสิกเสมอๆ ฟังเพลงไทยเดิม เพลงไทยสมัยเก่าบ้าง คีตกวีที่ชื่นชอบที่สุดคือโมสาร์ท ปัจจุบันมีอาการเจ็บปวดจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เดินไม่ค่อยสะดวกอยู่บ้าง

ความสูญเสียครั้งใหญ่มาถึงอีกครั้ง เมื่อน้องสาว วาณี (พนมยงค์) สายประดิษฐ์เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา การสัมภาษณ์ในครั้งนี้อยู่ในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกับงานปลงศพน้องสาวของท่าน หากกระนั้นดวงตาก็ยังฉายแววความแกร่งกล้า สมกับที่เป็นคนในครอบครัวปรีดี-พูนศุข พนมยงค์

พระไพศาล วิสาโล ซึ่งได้แสดงปาฐกถาธรรมในวันงานฯ ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า ทุกคนเกิดมามีจุดหมายของตัวเองแตกต่างกันไป บางคนบรรลุจุดหมายได้ แต่บางคนก็ไม่แต่ที่สุดแล้ว สิ่งที่แน่นอนคือ ทุกคนต้องเดินไปสู่ปลายทางเดียวกัน นั่นคือความตายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

“ฟังปาฐกถาธรรมของพระไพศาลแล้ว ก็พยายามปล่อยวางไปได้ในหลายเรื่อง ทุกวันนี้มีความสุขอยู่กับปัจจุบันขณะ ได้ถ่ายทอดความรู้ทางดนตรีแก่คนรุ่นหลัง และมีความบันเทิงเล็กๆ น้อยๆ กับเสียงดนตรีคุณภาพก็เพียงพอแล้ว เตรียมตัวตายก่อนตาย”