posttoday

#เจ็บแต่ไม่ยอม เรียกร้องยุติความรุนแรงต่อสตรี

21 พฤศจิกายน 2561

ผลการสำรวจกลุ่มผู้หญิงในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับความรุนแรงต่อสตรีพบว่า ร้อยละ 38.4 เคยเห็นเพื่อนหรือคนใกล้ชิดประสบปัญหาร้อยละ 10.4 เคยเห็นคนใกล้ชิดโดนทำร้าย

เรื่อง กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

ผลการสำรวจกลุ่มผู้หญิงในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับความรุนแรงต่อสตรีพบว่า ร้อยละ 38.4 เคยเห็นเพื่อนหรือคนใกล้ชิดประสบปัญหาร้อยละ 10.4 เคยเห็นคนใกล้ชิดโดนทำร้าย และร้อยละ 7.8 เคยประสบปัญหาด้วยตัวเอง เป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นภาพสังคมไทยว่ากำลังมีปัญหา

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ประกาศรณรงค์ยุติความรุนแรงด้วยการชวนถ่ายรูปหน้าตัวเองกับหยดน้ำตาสีดำลงโซเชียลมีเดีย พร้อมติดแฮชแท็ก #เจ็บแต่ไม่ยอม เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลวันที่ 25 พ.ย. 2561 เพื่อหวังให้ผู้หญิงลุกขึ้นสู้และก้าวผ่านไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคม

#เจ็บแต่ไม่ยอม เรียกร้องยุติความรุนแรงต่อสตรี

จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่ายมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ความรุนแรงทางเพศถูกตอกย้ำผ่านสื่อละครอย่างฉากละครตบ-จูบที่กลายเป็นเรื่องปกติ ฉากพระเอกข่มขืนนางเอก บทสรุปของนางร้ายในละครที่มักถูกลงโทษด้วยความรุนแรงและกลายเป็นสิ่งที่สมควรแล้ว และการนำเสนอภาพให้ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ

รวมถึงวัฒนธรรมในสถาบันครอบครัวที่คนส่วนใหญ่มักคุ้นหูกับประโยคที่ว่า สามีภรรยาเปรียบเหมือนลิ้นกับฟันกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา หรือเรื่องในครอบครัวไม่ควรนำไปบอกคนอื่น เพราะจะเป็นการประจานครอบครัวตัวเอง หรือครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางหรือหย่าร้างกันจะทำให้ลูกเป็นเด็กมีปัญหา ดังนั้น เมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้นในบ้านจึงมักถูกปกปิดไว้ภายในกรอบที่สังคมสร้างขึ้น

#เจ็บแต่ไม่ยอม เรียกร้องยุติความรุนแรงต่อสตรี

“ประโยคดังกล่าวนี้หากมองเพียงชั้นเดียวจะดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ในความเป็นจริงมันคือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น ถูกผลิตซ้ำ สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะการปลูกฝังที่ตีกรอบความเป็นผู้หญิงและความเป็นผู้ชายแบบตายตัว ผ่านกระบวนการบ่มเพาะหล่อหลอมจากสถาบันทางสังคมและถูกผลิตซ้ำ ทำให้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องปกติ

ถึงเวลาแล้วที่เราควรกลับมาทบทวนและช่วยกันรื้อถอนวิธีคิด วิธีการหล่อหลอม ที่มีผลต่อการสืบทอดความคิดความเชื่อแบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหาความรุนแรงในครอบครัว อยากชวนกันมาตั้งคำถามกับการหล่อหลอมดังกล่าว และหวังว่าจะส่งสัญญาณไปยังกระทรวงศึกษาธิการให้ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนสู่การออกแบบหลักสูตรที่เน้นความเท่าเทียมทางเพศ ความเสมอภาคทางเพศ และการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายของคนทุกเพศอย่างจริงจังเสียที” จรีย์ กล่าว

ด้าน จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวภายในงานรณรงค์วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า เมื่อเกิดปัญหาความรุนแรงหรือการคุกคามทางเพศ สังคมมักตีตราว่าผู้หญิงไม่ดี การจัดแคมเปญเจ็บแต่ไม่ยอมจึงหวังให้ทุกคนฟังเสียงของผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงว่าเขาต้องการอะไร

#เจ็บแต่ไม่ยอม เรียกร้องยุติความรุนแรงต่อสตรี

“เมื่อผู้หญิงกล้าพูด สังคมก็จะฟังมากขึ้น ทำให้สังคมรู้ว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร เพราะสิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดคือ ความรุนแรงถึงชีวิต ซึ่งเราเห็นผ่านข่าวทุกวัน แต่คนในสังคมร้อยละ 94 มองว่าไม่อยากเข้าไปช่วย สิ่งที่สังคมต้องตระหนักคือ ต้องช่วยเหลือกัน สังคมต้องสนับสนุนให้เขากล้าพูดถึงเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และผู้หญิงทุกคนเมื่อเจ็บแล้วต้องไม่ยอม”

ภายในงานดังกล่าวยังเปิดเวทีให้ผู้หญิงที่เคยเผชิญกับความรุนแรงมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ หนึ่งในนั้นคือเค (นามสมมติ) บอกเล่าเหตุการณ์การคุกคามทางเพศที่เกิดจากคนใกล้ชิดในครอบครัวว่า ลูกสาววัย 13 ขวบ ตกเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศจากสามีหรือพ่อแท้ๆ ของลูกโดยมีสติครบถ้วน

#เจ็บแต่ไม่ยอม เรียกร้องยุติความรุนแรงต่อสตรี

“เมื่อเกิดเหตุลูกสาวไม่กล้าเล่าให้ฟังจนผ่านไปเกือบสองเดือน ลูกตัดสินใจมาบอก ดิฉันรู้สึกช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่รู้จะทำอย่างไร สามีคนก่อเหตุก็ปฏิเสธและเข้าไปด่าทอลูกว่าบอกเรื่องนี้ทำไม จนสุดท้ายดิฉันตั้งสติได้จึงปรึกษาเจ้านายและไปแจ้งความ แต่ตำรวจไม่สนใจเพราะเขามองว่าเป็นเรื่องในครอบครัว แต่ตัวดิฉันยืนยันจะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด จึงไปขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แต่สุดท้ายเขาก็หนีไป ส่วนทุกวันนี้ดิฉันต้องพาลูกสาวไปพบจิตแพทย์เดือนละสองครั้ง และต้องดูแลลูกมากเป็นพิเศษเพื่อเยียวยาหัวใจที่บอบช้ำของลูก”

ด้าน วี (นามสมมติ) ผู้ที่เผชิญเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศจากสามีที่บังคับให้เธอขายบริการทางเพศตอนกลางคืน โดยใช้วิธีการปล่อยทิ้งไว้ที่ป้ายรถเมล์ หรือที่เปลี่ยวตอนกลางคืน หรือบังคับไปโรงแรมเพื่อรับแขก

เธอเล่าว่า ในช่วงแรกของการแต่งงานไม่พบว่าผู้ชายมีความผิดปกติ แต่หลังจากนั้นพฤติกรรมของสามีก็เปลี่ยนไปคือ ดื่มเหล้า พูดจาลามก บังคับให้เธอดูรูปหรือคลิปอนาจาร และบังคับให้ขายบริการทางเพศ โดยขู่ว่าถ้าไม่ทำจะไม่ได้พบหน้าลูก

“สุดท้ายดิฉันทนไม่ได้จึงหาทางออกด้วยการหาข้อมูลในโซเชียลมีเดีย แล้วเขียนจดหมายเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นส่งไปที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จึงมีเจ้าหน้าที่โทรมาหาและให้ความช่วยเหลือดูแลจนกระทั่งหลุดจากบ่วงตรงนั้นมาได้ และตอนนี้ผู้ชายก็ถูกดำเนินคดีแล้ว รับโทษอยู่ในคุก 7 ปี ดิฉันจึงอยากฝากไปถึงผู้ที่กำลังถูกทำร้ายทุกคนว่า ให้ตั้งสติ หนักแน่น อย่ายอมให้ถูกกระทำหรืออดทน อย่าคิดว่าเดี๋ยวก็จะดีขึ้นเอง หรือกลัวเสียงติฉินนินทา เพราะมันจะยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ แน่นอนว่าเราเจ็บแต่เราก็จะไม่ยอม”

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวถึงการลุกขึ้นปกป้องตัวเองของผู้หญิงว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นปัญหาที่แพร่หลายและส่งผลกระทบกับคนจำนวนมาก ซึ่งปัญหาข้อหนึ่งที่สังคมมองว่าไม่สร้างผลกระทบร้ายแรงเท่าการทำร้ายร่างกายหรือการข่มขืน แต่เป็นปัญหาขนาดใหญ่ คือ การคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ เนื่องจากแต่ละวันมีคนมากกว่า 9 ล้านคน ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งจากการสำรวจเมื่อเดือน ต.ค. 2560 พบว่า ผู้หญิงร้อยละ 45 มีประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ แต่กลับเป็นปัญหาที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ

“เรามองว่า การคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะคือเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องดูแลและมีมาตรการป้องกันและแก้ไขเมื่อเกิดเหตุ รวมถึงทางแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ ก็ได้มีการรณรงค์ให้ผู้ประสบเหตุใช้เสียงเพื่อหยุดการคุกคามทางเพศ รณรงค์ให้ผู้ร่วมทางช่วยกันสอดส่องและช่วยกันหยุดการคุกคาม แต่เรารู้ว่าแค่การรณรงค์มันไม่พอ ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการบางอย่างด้วย”

#เจ็บแต่ไม่ยอม เรียกร้องยุติความรุนแรงต่อสตรี

เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงจึงได้มีการเข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและมอบข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 3 ข้อ หนึ่ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งสาธารณะติดตั้งกล้องวงจรปิดทั้งบนยานพาหนะและบนสถานี เพื่อลดโอกาสการเกิดเหตุและเป็นหลักฐานชี้ตัวผู้กระทำผิด สอง ต้องพัฒนาช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนให้มีประสิทธิภาพ และสาม ต้องฝึกอบรมพนักงานให้เข้าใจว่า พฤติกรรมแบบไหนคือการคุกคามทางเพศ และถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นกับผู้โดยสารต้องดูแลจัดการแก้ปัญหาอย่างไร จึงเป็นที่มาที่ไปของการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงกับบริษัท ขนส่งสาธารณะ (บขส.)

ความร่วมมือดังกล่าวประกอบด้วย 2 เรื่องหลัก คือ ร่วมกันฝึกอบรมพนักงานขับรถและพนักงานต้อนรับบนรถ บขส. ที่มีจำนวนกว่า 600 คน รวมถึงผลิตสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ที่จะเปิดตัวครั้งแรกในวันพรุ่งนี้ (22 พ.ย.) เพื่อให้พนักงานที่เข้ามาใหม่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และการผลิตคลิปวิดีโอสั้นการป้องกันตัวเองสำหรับผู้โดยสาร เพื่อเผยแพร่บนจอโทรทัศน์บนรถ บขส.

นอกจากนี้ ในบทบาทของการยุติความรุนแรงต่อสตรี ทางแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ เน้นทำงานเชิงแก้ไขปัญหา โดยทำงานร่วมกับนักวิชาชีพที่ให้บริการแก่ผู้ประสบปัญหาอย่างนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา พยาบาล และชมรมพนักงานสอบสวนหญิง (ตำรวจหญิง) ให้พร้อมเข้าช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ เสริมศักยภาพให้มีความละเอียดอ่อนต่อปัญหา และเข้าใจสาเหตุที่มาของความรุนแรง

“สังคมของเราต้องเป็นสังคมที่ไม่ยอมรับความรุนแรง เพราะปัญหาหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงคงอยู่เป็นเพราะคนในสังคมมีแนวโน้มที่จะปล่อยผ่านเมื่อได้ยินได้ฟังเรื่องความรุนแรง หรือผู้ที่ประสบปัญหาเองมองว่าคนรอบข้างและหน่วยงานต่างๆ ไม่พร้อมที่จะช่วยเหลือ หลายคนจึงไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาเพราะไม่แน่ใจว่าจะได้รับความช่วยเหลือหรือไม่”ดร.วราภรณ์ กล่าวต่อ

“เราต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาแทนวัฒนธรรมการยอมรับความรุนแรง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ทุกคนในสังคมถูกปลูกฝังกันมานาน รวมถึงวาทกรรมในสังคมที่ทำให้เราเข้าใจว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือเป็นเรื่องของผัวเมียที่คนนอกไม่ควรยุ่ง หรือเสียงของสังคมที่คอยสอนว่า เป็นผู้หญิงเมื่อแต่งงานมีลูกแล้วต้องอดทนและต้องรักษาสถาบันครอบครัวไว้

แม้กระทั่งในตัวกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2550 ก็ยังมีน้ำเสียงที่เน้นการรักษาสถาบันครอบครัวมากกว่าการคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ถูกใช้ความรุนแรง ซึ่งทัศนคติเหล่านี้ถูกแทรกอยู่ในทุกๆ องคาพยพของสังคม ทั้งจากครอบครัว โรงเรียน สื่อ และกฎหมาย ทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมที่เกี่ยวโยงกันคือ วัฒนธรรมเงียบ เมื่อเกิดความรุนแรงแล้วเราต้องเงียบ เพราะถ้าเราไม่ยอมและลุกขึ้นมาต่อสู้จะกลายเป็นความผิดของเรา นั่นเพราะเราไม่อดทน”

ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ กล่าวด้วยว่า 2-3 ปีที่ผ่านมามีกิจกรรมจากหลายหน่วยงานสร้างความตระหนักในการยุติความรุนแรง รวมถึงกระแสโลกอย่างแคมเปญ MeToo ก็ได้ผลักดันให้ผู้ที่ถูกคุกคามหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศกล้าพูดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม

“ทุกวันนี้ปัญหาความรุนแรงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ถูกใช้ความรุนแรง แต่มันกัดกร่อนไปทั้งสังคม เพราะฉะนั้นมันจึงกลายเป็นปัญหาที่แฝงตัวอยู่ คนเห็นไม่ชัดว่าเป็นปัญหาใหญ่ แต่จริงแล้วมันส่งผลกระทบรุนแรงและยาวนานถึงคนรุ่นต่อไป ดังนั้น ความรุนแรงเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ไข ซึ่งการแก้ไขเพียงการบอกให้คนที่ถูกใช้ความรุนแรงลุกขึ้นมาสู้เองตามลำพังมันไม่เพียงพอ แต่คนรอบข้างหรือคนในสังคมต้องเห็นความสำคัญ หนุนเสริมให้ผู้ที่ถูกใช้ความรุนแรงกล้าพูดและไม่ยอมต่อความรุนแรง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพร้อมให้ความช่วยเหลือและให้ความยุติธรรมอย่างเต็มที่”

ในมุมมองของผู้ที่เห็นปัญหายังเห็น “ความหวัง” ว่าสังคมไทยจะยุติความรุนแรงต่อสตรีและคนทุกเพศทุกวัย และหวังว่าทุกวันที่ 25 พ.ย. จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงในสังคม