posttoday

ต่อวงศ์ ปุ้ยพันธวงศ์ สุขด้วยศาสตร์พระราชา ตามวิถีพอเพียง

18 พฤศจิกายน 2561

ความสุขของคนเราไม่เหมือนกัน บางคนสุขเพราะมีชีวิตที่หรูหรา

โดย ภาดนุ 

ความสุขของคนเราไม่เหมือนกัน บางคนสุขเพราะมีชีวิตที่หรูหรา มีหน้ามีตา แต่บางคนแค่มีชีวิตที่เรียบง่าย ได้ใช้วิถีชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ใกล้ชิดธรรมชาติได้สร้างความสุขด้วยการเดินตามรอยศาสตร์พระราชา เท่านี้ก็เป็นความสุขอย่างสูงสุดแล้ว เหมือนอย่าง อาจารย์ต่อวงศ์ ปุ้ยพันธวงศ์ อดีตอาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ผันตัวเองเพื่อก้าวเข้าสู่วิถีพอเพียงเพื่อสร้างสุขอย่างยั่งยืน

“เดิมทีแล้วผมเรียนจบปริญญาตรีด้านการออกแบบอุตสาหกรรม จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ต่อมาก็โชคดีได้รับทุนไปเรียนต่อปริญญาโทในสาขาเดียวกัน ที่ เซ็นทรัล เซนต์ มาตินส์ คอลเลจ ออฟ อาร์ต แอนด์ ดีไซน์, ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อเรียนจบผมก็มีโอกาสได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยทำงานมาร่วม 21 ปี

ก่อนที่จะลาออกจากการเป็นอาจารย์ ผมเคยทำงานในตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาอุตสาหกรรม และเคยช่วยคณบดีของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในขณะนั้น (อาจารย์โก้-ผศ.พิเชษฐ์ โสวิทยสกุล) ดูแลบริหารงานด้านวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องศาสตร์พระราชา เนื่องจากผมมีความสนใจอยู่แล้ว ทำให้ผมมีโอกาสได้เจอกับอาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) ผมจึงได้ซึมซับปรัญชาและแนวคิดเกี่ยวกับศาสตร์พระราชามากยิ่งขึ้น และได้ความรู้จากอาจารย์ยักษ์มากมาย”

ต่อวงศ์ ปุ้ยพันธวงศ์ สุขด้วยศาสตร์พระราชา ตามวิถีพอเพียง

อาจารย์ต่อวงศ์ เล่าว่า ต่อมาในช่วงปลายปี 2558 เขาก็ตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์ผู้ช่วยคณบดี ฉะนั้นพอเริ่มเข้าสู่ปี 2559 จึงถือเป็นวันที่เขาได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยเดินตามรอยศาสตร์พระราชาอย่างจริงจังนับตั้งแต่นั้น

“จากเดิมที่ผมเป็นนักวิชาการเกี่ยวกับการออกแบบอุตสาหกรรม โดยมีหน้าที่สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานอื่นๆ มายาวนาน แต่ช่วงหลังๆ มานี้ผมมีงานที่นอกเหนือจากหน้าที่ในมหาวิทยาลัยเข้ามาเยอะ ทั้งเป็นอาจารย์พิเศษ วิทยากร และที่ปรึกษาองค์กรอื่นๆ ผมจึงรู้สึกเกรงใจมหาวิทยาลัยอย่างมาก เพราะเราเป็นนักเรียนทุนมาโดยตลอด ผมจึงตัดสินใจลาออก เพราะเคยคิดและวางแผนในใจมานานแล้วว่าอยากเกษียณตัวเองตอนอายุ 50 ปี

ตอนที่ลาออกใหม่ๆ ช่วงแรกผมรับงานสอนถึง 5 มหาวิทยาลัยภายใน 3-4 วัน จากที่เคยทำงานประจำได้เงินเดือนเกือบแสนบาท พอลาออกมาได้เงินค่าสอนแค่ 9,000 กว่าบาท/เดือนเท่านั้น ญาติพี่น้องหลายคนก็ไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ผมจะมีวิธีคิดที่ไม่เหมือนใคร อีกอย่างผมอยู่ในจุดที่ไม่ได้มีภาระหนี้สินใดๆ เงินจึงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ผมจะต้องดิ้นรนขวนขวาย หน้าที่ของผมตอนนี้ ก็คือเปลี่ยนรูปแบบและวิธีทำงานของตัวเอง จากเดิมที่เคยสอนหนังสือหลายมหาวิทยาลัย ปัจจุบันก็ลดการสอนลง แต่จะไปเพิ่มสัดส่วนในการช่วยชาวบ้านให้มากขึ้น โดยขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาเป็นเรื่องหลัก”

ต่อวงศ์ ปุ้ยพันธวงศ์ สุขด้วยศาสตร์พระราชา ตามวิถีพอเพียง

อาจารย์ต่อวงศ์ บอกว่า แม้จะเริ่มผลักดันเรื่องศาสตร์พระราชาได้แค่ 2-3 เดือน แต่ก็มีสิ่งที่ให้ทำเยอะมาก เขาจึงช่วยผลักดันและสอนชาวบ้านอย่างเต็มที่เท่าที่สามารถทำได้

“ศาสตร์พระราชา คือความรู้ที่เรานำมาพัฒนาชีวิตและช่วยเหลือชาวบ้านให้มีชีวิตที่ดีและยั่งยืนได้โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยส่วนตัวแล้วผมจะใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ ผสมผสานกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยนำหลักการของศาสตร์พระราชามาช่วยให้ชาวบ้านมีกินมีอยู่ และมีอาชีพที่มั่นคงก่อนเป็นอันดับแรกเลย อย่างตัวผมเองจะเน้นขับเคลื่อนในเรื่องกสิกรรมซึ่งเป็นพื้นฐานของชาวบ้าน โดยจะใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองมาเป็นตัวช่วยในการพัฒนาชุมชน เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร การพัฒนาต่อยอดงานดีไซน์มาใช้ในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คน เป็นต้น

ปัจจุบันผมอยู่ที่บ้านซึ่งปลูกไว้ที่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นที่ดินของคุณยายส้มลิ้ม ยายของภรรยาผมอีกที ที่ดินผืนนี้ถูกทิ้งร้างมานาน เพราะตอนที่ผมแต่งงานกับภรรยา เธอก็มีบ้านอยู่ที่ดอนเมืองอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยมีเวลาดูแลที่ดินแห่งนี้สักเท่าไร ต่อมาเราก็คิดจะปลูกบ้านที่ต่างจังหวัดสักหลัง แต่ก็ไม่ต้องการให้มีพื้นที่ใหญ่โตมากนัก เพราะเราเองก็ไม่มีลูก เราจึงเลือกมาปลูกบ้านที่ จ.เพชรบุรี และคิดที่จะอยู่ที่นี่มากกว่ากรุงเทพฯ ผมกับภรรยาจึงตัดสินใจนำเงิน 2-3 ล้านบาท ที่มีอยู่มาสร้างบ้านหลังนี้ในแบบที่เราอยากได้ โดยสร้างเสร็จมา 2 ปีแล้ว เป็นบ้านสไตล์โมเดิร์นที่เป็นปูนเปลือย แต่จะไม่ติดแอร์คอนดิชั่น จะมีแค่พัดลมเท่านั้น เป็นบ้านใต้ถุนสูงที่ลมสามารถพัดผ่านได้ดี อยู่แล้วมีความสุข นานๆ ครั้งผมอาจจะไปสอนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยบ้าง หรืออาจจะเข้ามาประชุมที่กรุงเทพฯ บ้าง หากอาจารย์ยักษ์ ซึ่งปัจจุบันเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ เรียกให้มาประชุมและมอบหมายงาน”

ต่อวงศ์ ปุ้ยพันธวงศ์ สุขด้วยศาสตร์พระราชา ตามวิถีพอเพียง

อาจารย์ต่อวงศ์ เสริมว่า สำหรับการทำการเกษตรบนที่ดินแห่งนี้ เขาได้นำศาสตร์พระราชาเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่มีสูตร 30 : 30 : 30 : 10 มาใช้ นั่นคือ 30% ทำนา 30% ใช้กักเก็บน้ำ และอีก 30% ใช้ปลูกต้นไม้ ปลูกพืช สร้างบ้าน และเลี้ยงสัตว์ ส่วนอีก 10% เผื่อไว้ทำอย่างอื่น ซึ่งโดยรวมแล้วจะเรียกสูตรการพัฒนาพื้นดินนี้ว่า “โคก หนอง นา” ตามที่อาจารย์ยักษ์ เรียกไว้

“ศาสตร์พระราชา คือ การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทั้งไม้ใช้งาน ไม้ดอกไม้ผลไว้กิน และไม้เศรษฐกิจ (เช่น สัก ยางนา ประดู่) ซึ่งประโยชน์ที่ได้ ก็คือให้อากาศที่บริสุทธิ์ เก็บรักษาน้ำใต้ดินไว้ และอื่นๆ ซึ่งที่ดินในบ้านหลังนี้ผมจะขุดให้เป็นหนองน้ำที่สามารถใช้น้ำจากบ่อได้ทุกอย่างเลย ปัจจุบันแทบไม่ได้ใช้น้ำประปาเลยครับ เพราะผมทำระบบแก้มลิงเอง ปลูกพืชผัก สมุนไพร เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ เรียกได้ว่านำศาสตร์พระราชามาใช้เต็มที่เลย บนที่ดินประมาณ 4 ไร่นี้ผมทำทุกอย่างเองทั้งหมด ตั้งแต่ ตัดหญ้า ถางป่า ขุดสระน้ำ ปลูกข้าว คือกสิกรรมทั้งหมดผมทำไว้ใช้ไว้กิน ที่ผ่านมาผมได้ไปอบรมและเรียนรู้มาจากอาจารย์ยักษ์บ้าง คนอื่นๆ บ้าง ผมว่าการทำเกษตรแบบมีความรู้ มันจะเหนื่อยน้อยกว่าทำแบบไม่มีความรู้ครับ

ในส่วนของงานออกแบบซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ผมก็ยังคงไม่ทิ้งนะ ปัจจุบันนี้ก็มีการจัดเวิร์กช็อปเล็กๆ ขึ้นบ้าง สิ่งที่ผมถนัดที่สุด ก็คือการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ พูดง่ายๆ ว่าผมจะทำต้นแบบโดยมีอุปกรณ์ต่างๆ ให้คนที่สนใจมาทำงานเฟอร์นิเจอร์ไม้กัน การเวิร์กช็อปนี้ผมจะจัดในโรงงานเล็กๆ บริเวณบ้านนี่แหละ ที่ผ่านมาก็เคยทำเรือแคนูจากไม้ไผ่และเถาวัลย์ โดยใช้พลาสติกบุด้านนอกเพื่อกันน้ำเข้าซึ่งสามารถพายได้จริง สำหรับการเวิร์กช็อปตอนนี้ก็ยังมีชาวบ้านหรือคนที่สนใจกลุ่มเล็กๆ มาร่วมด้วย

ต่อวงศ์ ปุ้ยพันธวงศ์ สุขด้วยศาสตร์พระราชา ตามวิถีพอเพียง

และที่ผ่านมาก็มีชาวบ้านมาปรึกษาเกี่ยวกับการทำเกษตรเยอะพอสมควร เพราะปัจจุบันที่บ้านผมกลายเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน ‘บ้านไอดิน’ ไปด้วย ที่จริงตอนแรกก็ไม่ได้คิดจะทำบ้านตัวเองให้เป็นศูนย์เรียนรู้หรอกครับ แต่ที่มาก็คืออาจารย์ยักษ์ท่านได้ทำงานกับสำนักกษาปณ์มานานหลายปี แล้วสำนักกษาปณ์ก็มีโครงการจะสร้างศูนย์เรียนรู้ไปทั่วประเทศ ดังนั้นในปี 2559 จึงให้งบในการสร้างศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนขึ้นที่บริเวณบ้านผม นี่คือเหตุการณ์บังเอิญที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ จะพูดว่าธรรมะจัดสรรก็คงจะไม่ผิดนัก แต่เราก็ไม่ได้เปิดเป็นสาธารณะเพื่อรับองค์กรหรือนักเรียนที่มาเป็นรถบัสนะ ส่วนใหญ่จะรวมกลุ่มกันมาเฉพาะกิจ กลุ่มเพื่อนฝูง หรือกลุ่มญาติพี่น้อง ที่อยากจะเข้ามาเรียนรู้ซะมากกว่า”

อาจารย์ต่อวงศ์ ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ได้จากการก้าวเข้ามาสู่วิถีชีวิตสโลว์ไลฟ์ได้ใกล้ชิดธรรมชาติและใช้ชีวิตแบบพอเพียงนั้นถือเป็นความสุขและความฝันที่เขาคิดหวังไว้มาเนิ่นนานแล้ว

“เมื่อมาถึงจุดนี้ก็สามารถพูดได้ว่า ความฝันและการวางแผนอนาคตของผมที่อยากจะเกษียณก่อนเวลาและอยากมีชีวิตเรียบง่ายแบบนี้ได้เป็นจริงแล้ว หลายคนบอกว่าผมเป็นนักออกแบบ ที่จริงชีวิตต้องทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ และต้องอัพเดทสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาสิ แต่ที่จริงแล้วผมว่า แม้เราจะอยู่ที่ไหน เราก็สามารถอัพเดทสถานการณ์หรือเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนไปได้เสมอ

อย่างที่บอก ว่าการมีชีวิตที่เรียบง่าย ปลูกพืชผักปลอดสารกินเอง มีสุขภาพที่แข็งแรง อยู่ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียงแบบนี้ เป็นสิ่งที่ผมใฝ่ฝัน ฉะนั้นผมจึงมีแรงบันดาลใจที่ช่วยผลักดันให้ทำทุกอย่างได้เร็วขึ้น อีกอย่างอาจเพราะผมเติบโตมาจากครอบครัวข้าราชการที่บ้านอยู่ต่างจังหวัดด้วย ผมจึงวาดภาพในบั้นปลายอนาคตของผมไว้อย่างชัดเจน คืออยู่กับธรรมชาติ ปลูกเอง ทำเอง กินเอง มีความมั่นคงทางด้านอาหาร น้ำ และไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งผมมีความสุขมาก อยู่ที่นี่วันหนึ่งไม่เสียเงินเลยสักบาท ฉะนั้นเงินจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผม เพราะผมไม่มีหนี้สิน ขอแค่มีชีวิตที่เรียบง่าย มีความสุข และได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักไปด้วย ได้ทำประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อประเทศชาติ เท่านี้ก็ถือว่าชีวิตคุ้มค่าแล้วละครับ”

ติดตามได้ที่แฟนเพจ เฟซบุ๊ก : บ้านไร่ยายลิ้ม และเฟซบุ๊ก : Torvong Puipanthavong