posttoday

หลังเกษียณ... ใช้เงินไงดี?

16 พฤศจิกายน 2561

หลังเกษียณแล้วจะต้องใช้เงินเท่าไรจึงจะพอดี นี่คือคำถามที่เชื่อว่าอยู่ในใจของใครหลายคน

เรื่อง บีเซลบับ  ภาพ เอพี

หลังเกษียณแล้วจะต้องใช้เงินเท่าไรจึงจะพอดี นี่คือคำถามที่เชื่อว่าอยู่ในใจของใครหลายคน แม้จะรู้คร่าวๆ ว่า หากต้องการให้คุณภาพชีวิตไม่แตกต่างจากก่อนเกษียณ ก็ควรเตรียมเงินไว้ 70% ของค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณ แต่นั่นเป็นเพียงการประเมินเบื้องต้นตามทฤษฎีเท่านั้น ชีวิตจริงจะแบบนี้เป๊ะๆ หรือไม่ใครจะรับประกัน

ชีวิตไม่ใช่ทฤษฎี บางคนมีค่าใช้จ่ายมากกว่าช่วงก่อนเกษียณด้วยซ้ำ โดยเฉพาะช่วงต้นวัยเกษียณที่หลายคนยังเฮฮาปาร์ตี้ งานเลี้ยงไม่ (ยอม) เลิกรา กินทั้งเงินและเวลาแบบฮวบๆ แล้วจะประมาณการยังไงดีสำหรับชีวิตและค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ

1.ประมาณการตามไลฟ์สไตล์

เทียบเคียงกับค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนในปัจจุบัน และปรับให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ที่ต้องการ ในอนาคตอยากใช้ชีวิตอย่างพอเพียง สะดวกสบาย หรือหรูหราฟู่ฟ่าแค่ไหน แต่ถ้ายังนึกไม่ออก ก็ลองดู “ค่าเฉลี่ย” ของคนในกลุ่มอาชีพเดียวกัน เป็นตัวเลขอ้างอิงให้พอเห็นแนวทางไปก่อน มีข้อสังเกตว่า แต่ละกลุ่มอาชีพที่แม้จะเลือกใช้ชีวิตรูปแบบเดียวกัน แต่ระดับค่าใช้จ่ายก็ต่างกันนะ

2.ปรับอัตราเงินเฟ้อด้วยล่ะ

ไม่ว่าใครจะประเมินค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณไว้เดือนละเท่าไร แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่ค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน ที่ยังไม่ได้เผื่อไว้สำหรับ “เงินเฟ้อ” เพราะเช่นนั้นก็อย่าลืมเงินเฟ้อ และบวกเงินเฟ้อเข้าไปในทุกรายการสินค้าและบริการสำหรับค่าครองชีพอนาคตด้วย

สมมติว่า อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% ต่อปี เงินมูลค่า 5 หมื่นบาทในวันนี้ ก็จะถูกกัดกินให้มีมูลค่าเหลือเพียง 27,684 บาท ในอีก 20 ปีข้างหน้า หรืออาจจะแย่กว่านั้น ถ้าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปถึง 4% ต่อปี มูลค่าของเงินก็จะยิ่งหดลดลงไป เหลือแค่ 22,819 บาท

ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการก็จะปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ทำให้เราต้องเตรียมเงินเผื่อไว้มากขึ้น เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย (เท่าเดิม) ในอนาคต ขอยกตัวอย่างให้ดูว่ากระเป๋าเงินในอนาคตของเราที่ต้อง “อ้วน” อีกเท่าไร เมื่ออัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเท่ากับ 3% ต่อปี

อีก 20 ปีข้างหน้า ค่าดูแลผู้สูงอายุ จากปัจจุบันเดือนละ 1.5 หมื่นบาท จะกลายเป็น 2.7 หมื่นบาท รถเข็นผู้สูงอายุ จากคันละ 3,000 บาท จะกลายเป็น 5,400 บาท ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ตัวละ 50 บาท จะกลายเป็น 90 บาท อาหารจานเดียว จากจานละ 40 บาท จะกลายเป็น 72 บาท (ที่ไม่อิ่มอีกต่างหาก) นมถั่วเหลืองจากกล่องละ 13 บาท กลายเป็น 23 บาท

3.สำรวจแหล่งรายได้ในวัยเกษียณ

อายุมาถึงวัยนี้ ต้องมีความชัดเจนในแหล่งรายได้ เงินเข้ากระเป๋าจากทางใดบ้าง เจ้าของกระเป๋าต้องรู้ เพื่อความสามารถในการบริหารจัดการนั่นเอง ทั้งนี้ เขียนจำนวนเงินที่ได้รับในแต่ละประเภทรายได้อย่างชัดเจน (รวมทั้งต้องศึกษา ข้อกำหนดและเงื่อนไขการเบิกถอนเงินออกมาใช้หรือการคงเงินไว้อย่างละเอียดไว้ด้วย)

จากนั้นจัดกลุ่มแหล่งรายได้ว่าเป็น “เงินก้อน” หรือ “รายได้ประจำ” (ตามเงื่อนไขที่เราต้องการ) เพื่อการวางแผนจัดสรรเงินที่ง่าย วิธีนี้จะทำให้เงินและรายได้หลังเกษียณของทุกคนไม่รั่วไหล รู้ที่มาและที่ไป ชนิดว่าไม่กระเด็น

4.ประเมินสถานะการเงินขั้นต้น

เมื่อรวบรวมข้อมูลรายได้ที่คาดว่าจะได้รับแล้ว ก็นำมาหักลบด้วยค่าใช้จ่าย แค่นี้ก็จะรู้แล้วว่า สถานะการเงินของเราดีเยี่ยมหรือน่าเป็นห่วง ถ้าผลลัพธ์เป็นบวก ก็พอเบาใจ แต่ถ้าเป็นลบก็ควรหาทางลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และบริหารเงินหลังเกษียณให้ดีที่สุด

“เพื่อความไม่ประมาท ควรประมาณการค่าใช้จ่ายให้สูง และประมาณการรายได้ให้ต่ำ เพราะอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ในชีวิตอีกหลายสิบปีนับจากนี้”

การมีเงินออมเตรียมไว้มากหน่อยดีที่สุด แต่ก็ยังไม่ดีพอ ชีวิตหลังเกษียณจะอุ่นใจได้ก็ต่อเมื่อ เราไม่ปล่อยให้เงินที่มีอยู่เกษียณตามไปด้วย ยังต้องให้เงินทำงานต่อไปด้วย การลงทุน อย่างน้อยเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเทียบเท่าเงินเฟ้อ รักษามูลค่าของเงิน (และอำนาจซื้อ) ของเราไว้ตราบนานเท่านาน