posttoday

ออมเพื่อให้ ตามรอยพ่อ ปี 2

14 พฤศจิกายน 2561

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ความเจ็บไข้ได้ป่วยของคนวัยนี้ย่อมมีมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เรื่อง อณุสรา ทองอุไร ภาพ วิศิษฐ์  แถมเงิน

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ความเจ็บไข้ได้ป่วยของคนวัยนี้ย่อมมีมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การสาธารณสุขที่รองรับอย่างเพียงพอจึงเป็นเรื่องสำคัญ แม้โรงพยาบาลใหญ่ๆ ของรัฐเองก็ยากที่จะรองรับได้อย่างเพียงพอแม้จะขยายพื้นที่แล้วก็ตาม ล่าสุด
โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ จัดกิจกรรม “ออมเพื่อให้ ตามรอยพ่อ ปีที่ 2” ชวนคนไทยสานต่อการให้ สร้างวินัยการออมให้เกิดพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง ตามรอยพระราชจริยวัตรในการเป็นกษัตริย์นักออม และศาสตร์แห่งพระราชาในการดำเนินชีวิตให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยการเป็นนักออมเพื่อให้ นำเงินออมสมทบทุนเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา อาคารศูนย์การแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พระราชปณิธานสุดท้ายของพระองค์เพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาส

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงกิจกรรมออมเพื่อให้ ตามรอยพ่อ ในปีที่ 2 นี้ ว่า เป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงสืบสานพระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการพัฒนาและดูแลความเป็นอยู่ของพสกนิกร เพื่อร่วมน้อมรำลึกถึงพระราชจริยวัตรในการเป็นกษัตริย์นักออมและกษัตริย์ผู้ให้ของรัชกาลที่ 9 รวมไปถึงเพื่อต่อยอดการปลูกฝังวินัยการออมและการเป็นผู้ให้แก่สังคม ด้วยการนำเงินออมนั้นร่วมสมทบทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์แก่อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา

ออมเพื่อให้ ตามรอยพ่อ ปี 2

เนื่องในโอกาส 130 ปี ศิริราช ที่จะสืบต่อพระราชปณิธานของพระมหากษัตริย์ไทย 4 รุ่น เพื่อสุขภาพของประชาชนชาวไทย ที่มีความห่วงใยต่อพสกนิกรของพระองค์ ตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงถ่ายทอดสู่พระราชโอรส คือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สานต่อมายังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

จากพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 จากการสูญเสียพระราชโอรสและพระราชธิดา คือ สมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักว่าประเทศไทยควรจะมีโรงพยาบาลเพื่อรักษาสุขภาพพสกนิกรของพระองค์ และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นความลำบากของผู้ป่วย จึงทรงตัดสินพระทัยไปเรียนด้านการแพทย์และตรัสว่า

“ฉันเรียนการปกครอง แต่ฉันไม่ชอบการปกครอง แต่ฉันชอบการแพทย์ เพราะแพทย์สามารถรักษาได้ทั้งคนรวยและคนจน” เมื่อพระองค์สำเร็จการศึกษาด้านการแพทย์ พระองค์ทรงทุ่มเทและใส่พระทัยคนไข้ของพระองค์ ทรงมีคำตรัสว่า “มีอะไรปลุกฉันได้เลยนะ ไม่ต้องเกรงใจ” เมื่อครั้งพระองค์ไปเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลที่เชียงใหม่

มาถึงสมัยรัชกาลที่ 9 ก็ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพของพสกนิกรและการสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษาเป็นพระราชปณิธานสุดท้ายของพระองค์ท่าน ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงสานต่อพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 9 ทรงสนับสนุนให้มีโครงการ “ออมเพื่อให้ ตามรอยพ่อ ปีที่ 2”

ออมเพื่อให้ ตามรอยพ่อ ปี 2

อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส และลดปัญหาความแออัดของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศิริราชเผชิญมาโดยตลอด ซึ่งนี่เป็นพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการสร้างความเท่าเทียมและคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ป่วยด้อยโอกาส

“ทางโรงพยาบาลศิริราชอยากให้คนไทยทุกคนได้ร่วมสานต่อพระราชปณิธานสุดท้ายของพระองค์ ทำประโยชน์เพื่อสังคมด้วยการสร้างอาคารหลังนี้ให้เกิดขึ้น จึงได้จัดโครงการระดมทุนมากมายและหลากหลายรูปแบบ เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนทุกอาชีพ ทุกพื้นที่ และทุกสถานะ ตั้งใจให้อาคารหลังนี้เป็นตัวแทนของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทย เป็นจุดศูนย์รวมให้ทุกคนได้เข้ามาทำดี ทำประโยชน์ ช่วยเหลือกันและกันตามรอยพระองค์ท่าน”

ด้าน ศ.คลินิก นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ กล่าวว่า กิจกรรมการออมเพื่อให้ ตามรอยพ่อ เป็นหนึ่งในกิจกรรมระดมทุนเพื่ออาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา นั้นเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา เพื่อนำไปสมทบทุนสร้างตึกโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากวิถีปฏิบัติในด้านการออมของในหลวงรัชกาลที่ 9 จนเกิดเป็นโครงการรณรงค์ให้คนในสังคมเดินตามรอยพ่อ ส่งเสริมและปลูกฝังนิสัยการออมและการแบ่งปันแก่สังคมไทย ซึ่งปีที่แล้วได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนถึงกว่า 1.39 แสนคน จนมียอดออมสมทบทุนถึง 111 ล้านบาท

เป้าหมายของกิจกรรมออมเพื่อให้ ตามรอยพ่อ ในปีที่ 2 นี้ เป็นกิจกรรมระดมทุนที่ต่างจากโครงการอื่น เพราะเป้าหมายหลักคือต้องการปลูกฝังการออมให้แก่ประชาชน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะปลูกฝังกันได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ในปีนี้เราจึงได้จัดกิจกรรมขึ้นอีกครั้ง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการออมอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย ดังที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ซึ่งในปีนี้มีการปรับรูปแบบการเข้าร่วม
ให้ตอบรับกับเป้าหมายของโครงการ
มากขึ้น

มีธนาคารกรุงเทพเข้ามาช่วยเหลือในด้านการจัดการตลอดกระบวนการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนทุกคนสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนี้ได้ เพื่อแก้ปัญหาและเปิดโอกาสให้เข้าถึงง่ายขึ้น ทุกคนมีโอกาสมากขึ้น อย่างละ 1 แสนชิ้น รวม 3 แสนชิ้น การออมต้องตั้งเป้าหมาย ปีนี้อยากให้ออมกันวันละ 10 บาท คาดการณ์ไว้ว่า 45 วัน ก็จะได้ 450 บาท เป็นอย่างน้อย จะได้มีเป้าหมายในการออม เพื่อให้ ไม่ใช่เพื่อตัวเอง ปันส่วนที่เราเกินให้คนที่ขาด การสืบสานพระราชปณิธานจะไม่ใช่แค่คำพูด แต่เป็นการกระทำ

“เมื่อปีที่แล้วต้องมาแลกที่โรงพยาบาล สถานที่คับแคบและการจัดการไม่ทั่วถึง ปีนี้ไม่ให้มารับที่โรงพยาบาลเหมือนปีที่ผ่านมา เพราะไม่ต้องการให้กระทบกับคนไข้ที่มารับการรักษา และประชาชนต่างจังหวัดมาแลกกันไม่ได้ ทุกคนก็รักในหลวงและอยากแลกเก็บไว้เป็นที่ระลึก เพราะยังมีความต้องการอยู่เยอะ เพราะคนไทยอยากมีพระองค์ท่านอยู่ใกล้ๆ ปีนี้จึงให้แลกผ่านธนาคารกรุงเทพทั่วประเทศกว่า 1,163 สาขา เพื่อให้นักออมทั่ว 77 จังหวัดมีสิทธิและมีระบบออนไลน์แบงก์กิ้งเพื่ออำนวยความสะดวกในส่วนของการโอนเงิน ออมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย”

พจณี คงคาลัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวเสริมว่า ธนาคารอยากมีส่วนร่วมในการปลุกจิตสำนึกคนไทยให้มีวินัยทางการเงิน ใช้เงินอย่างรู้คุณค่า ถือเป็นพันธกิจหนึ่งของธนาคาร อยากกระจายวัฒนธรรมการออมไปให้ทั่วประเทศ การกระจายวินัยการออม การอาสาเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมนี้นอกจากจะมุ่งหวังให้เกิดพฤติกรรมการออมที่ดี เพื่อเป็นรากฐานแห่งความพอเพียงและมั่นคงทางการเงินของสังคมไทยแล้ว

อีกสิ่งหนึ่งคือการที่ได้นำความถนัดของธุรกิจธนาคารมาร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่ดีแก่สังคม เป็นช่องทางให้ประชาชนได้เข้าถึงกิจกรรมดีๆ นี้อย่างทั่วถึงทั้งประเทศ โดยมีทั้งการสแกน QR Code ผ่านโมบายแบงก์กิ้งของทุกธนาคาร และการสแกน Barcode ผ่านช่องทางโมบายแบงก์กิ้ง (Mobile Banking) เอทีเอ็ม (ATM) หรืออินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง (Internet Banking) ของทุกธนาคาร หรือผ่านเคาน์เตอร์สาขาของธนาคารกรุงเทพ รูปแบบการออมในปีนี้จะเน้นให้ประชาชนได้ฝึกฝนการออมทุกวัน “ที่ต้องเปิดเป็นสองส่วน เพราะคนไทยทุกคนไม่ได้เข้าถึงเทคโนโลยีได้เท่ากัน เราอยากให้คนไทยมีโอกาสเท่ากัน คนทั่วไปก่อน แล้วจึงเปิดให้ออนไลน์”

โดยขั้นที่ 1 ลงทะเบียนเป็นนักออมเพื่อให้ โดยสามารถสมัครด้วยตนเองที่ธนาคารกรุงเทพทุกสาขาทั่วประเทศ ในวันที่ 16-25 พ.ย. 2561 หรือสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.savingforgiving.com ในวันที่ 23-25 พ.ย. 2561 โดยมีเงื่อนไขการสมัครคือ 1 บัตรประชาชน ต่อ 1 สิทธิ เพื่อแลกรับกระปุกได้ไม่เกิน 3 กระปุก โดยไม่ซ้ำแบบ

ออมเพื่อให้ ตามรอยพ่อ ปี 2

ขั้นที่ 2 ออมเงินทุกวันโดยมีระยะเวลาในการออม นับตั้งแต่วันนี้-15 ม.ค. 2562 กำหนดเป้าหมายเงินออม 450 บาท ต่อ 1 กระปุก คือวันละ 10 บาท

ขั้นที่ 3 โอนเงินออมจากความมีวินัยและความเพียร เพื่อร่วมสมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ของอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โดยสามารถโอนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือโอนด้วยตัวเอง ที่สาขาธนาคารกรุงเทพ ได้ในช่วงวันที่ 16-22 ม.ค. 2562

ขั้นที่ 4 รับกระปุกออมเงินสัญลักษณ์จำลองอุปกรณ์ทรงงาน 3 แบบ ได้แก่ วิทยุสื่อสาร กล้องถ่ายรูป และรถจี๊ป ซึ่งเป็นพระราชพาหนะทรงงาน โดยหากแจ้งความประสงค์จะรับด้วยตนเองที่สาขาธนาคารกรุงเทพ สามารถรับได้ในช่วงวันที่ 16-22 ม.ค. 2562 และหากแจ้งรับทางไปรษณีย์ จะเริ่มจัดส่งตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2562 เป็นต้นไป

สำหรับความคืบหน้า การสร้างตึกนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ตอนนี้ตัวกรอบอาคารเสร็จแล้ว เหลือตกแต่งภายใน คาดว่าจะเปิดอย่างเป็นทางการปลายปี 2562 กำหนดวันไว้ เป็นวันที่ 5 ธ.ค. 2562 ที่เลือกวันนี้เพราะไม่อยากให้คนไทยลืมวันนี้ ไม่อยากให้คนไทยลืมพระองค์ และจะเปิดให้บริการบางส่วน คือชั้น 1-2 ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2562 เพื่อลดปัญหาความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราชและทดสอบระบบด้วย ทั้ง 25 ชั้นจะมีการตกแต่งและนำพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 มาเป็นคำสอนเตือนใจ

ด้วยแรงสนับสนุนของคนไทยทั้งประเทศ จำนวนเงินในการก่อสร้างอาคารจึงสำเร็จตามเป้าหมาย คงเหลือแต่การจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์อีก 1,000 ล้านบาท ศิริราชมีคนป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี จนถึงจุดที่ไม่มีเตียงรองรับคนไข้ จึงไม่อยากเห็นโอกาสสุดท้ายของเขาต้องสิ้นหวัง ผู้ป่วยโรคมะเร็งของศิริราชต้องรอคิวฉายแสงถึง 6 เดือน เพราะศิริราชมีเครื่องฉายแสงรักษามะเร็งเพียง 3 เครื่อง อาคารนี้จะมีเครื่องฉายแสงอีก 5 เครื่อง ช่วยเพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วยมากขึ้น

ศิริราชอยากให้คนไทย 60 ล้านคน ร่วมกับพระองค์เพื่อสร้างอาคารนี้ให้ได้ เพื่อคืนภาพความสุขให้คนไทยที่ด้อยโอกาส อาคารหลังนี้เกิดขึ้นได้เพราะคนไทยช่วยกันสานต่อ เพราะคำว่าให้ไม่มีที่สิ้นสุด