posttoday

พลิกวิกฤตหันมาดูแลคนที่รัก ลัดดาพร มานิตยกุล

11 พฤศจิกายน 2561

การมองโอกาสในวิกฤตของชีวิตที่คุณแม่ลัดดาวัลย์ มานิตยกุล ป่วยเป็นมะเร็งตับระยะที่ 1

โดย วราภรณ์ ภาพ : ประกฤษณ์ จันทะวงษ์ 

การมองโอกาสในวิกฤตของชีวิตที่คุณแม่ลัดดาวัลย์ มานิตยกุล ป่วยเป็นมะเร็งตับระยะที่ 1 ทำให้ ชิ-ลัดดาพร มานิตยกุล มัณฑนากร เจ้าของบริษัท ฟิก สแควร์ วัย 37 ปี สามารถเปลี่ยนความเสียใจและความวิตกกังวล หันกลับมาดูแลคุณแม่เพื่อสู้กับโรคร้ายอย่างเต็มที่ ด้วยการให้ความรักและหันมาดูแลโภชนาบำบัดของคุณแม่ด้วยการหันมารับประทานพืชผักออร์แกนิกและระมัดระวังในการใช้ชีวิตมากขึ้น

ปัจจุบันนอกจากเป็นเจ้าของบริษัทรับเหมาก่อสร้างบ้านและออกแบบตกแต่งภายนอก-ภายในแล้ว ลัดดาพรยังเป็นเจ้าของร้าน “เบเกอรี่ เทอราพี” จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ย่านเสนานิคม 1 ที่ธุรกิจที่เธอรักเกิดจากความชื่นชอบทำเบเกอรี่ ผสานกับการรับมือกับการรักษาโรคร้ายของคุณแม่ ทำให้ทั้งบ้านหันมาดูแลสุขภาพเพื่อเป็นกำลังใจให้คุณแม่ว่า ไม่ได้ป่วยอยู่คนเดียว

รักษาคุณแม่ด้วยวิถีออร์แกนิก

พลิกวิกฤตหันมาดูแลคนที่รัก ลัดดาพร มานิตยกุล

ลัดดาพร เล่าแรงบันดาลใจ 3 ปีของการเปิดร้าน เบเกอรี่ เทอราพี ว่าเมื่อคุณแม่ป่วยเป็นมะเร็งตับระยะ 1 ต้องตัดตับออกไป 50% และไม่ได้ทำคีโมต่อเนื่องจากมะเร็งไม่ลุกลาม คุณหมอจึงให้เฝ้าดูอาการ พอครอบครัวรู้ว่าคุณแม่ไม่สบาย เธอรักษาคุณแม่ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีการกินทั้งหมดหันเข้าสู่วิถีธรรมชาติ เลี่ยงสารเคมีทั้งหมด แม้แต่น้ำยาย้อมผมก็หันมาใช้แบบออร์แกนิก

“ยอมรับว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตยาก เพราะอาหารบางอย่างเลิกกินไปเลย เช่น เนื้อแดง เนื้อวัว เนื้อหมู ไส้กรอกและหลีกเลี่ยงอาหารที่ผ่านกระบวนการทำเยอะๆ ไม่กินเลย จริงๆ คุณหมอไม่ได้ห้ามเลย แต่ชิได้ความรู้จากการเรียนคอร์สโภชนาการบำบัดของมหิดล เพื่อดูแลคุณแม่และดูแลทุกคนในครอบครัว” เมื่อครอบครัวหันมากินออร์แกนิกแล้วดีเธอจึงอยากแบ่งปันวิธีการและองค์ความรู้ในการพึ่งวิถีธรรมชาติ เปิดร้านจำหน่ายเครื่องดื่มสมุนไพรที่ดีต่อสุขภาพ บวกกับการหันมาปลูกพืชผักสวนครัวหลังบ้าน เช่น ใบเตย กะเพรา ฯลฯ พริกซึ่งปัญหามีพื้นที่น้อยไม่ใช่อุปสรรค เธอหันมาปลูกพืชผักในกระถางแทน

“ชิเน้นว่าผักและผลไม้ที่ทำให้คุณแม่รับประทานต้องออร์แกนิกจริงๆ เช่น หันมาปลูกพริกขี้หนูเอง เพราะพริกมักมีสารเคมีสะสมเยอะที่สุด สังเกตตัวเองเวลาเด็ดพริกสดๆ จากต้นมาประกอบอาหารความอร่อยมันผิดกับพริกที่ไปซื้อที่ตลาด เพราะมีความสดใหม่ เช่น ใบเตยที่ปลูกก็นำมาต้มใส่น้ำตาลออร์แกนิกให้คนทั้งบ้านกิน ซึ่งดื่มแล้วก็รู้สึกสดชื่น ตื่นตัว เมื่อก่อนเวลาไปนอกบ้านน้ำที่ดื่มส่วนใหญ่เป็นน้ำอัดลม ตอนนี้หลีกเลี่ยงหันมาดื่มน้ำใบเตย ซึ่งดีกับร่างกาย หรืออย่างเพื่อนปลูกดอกอัญชันแบบออร์แกนิกที่รั้วหน้าบ้าน ชิก็ขอรับซื้อแล้วนำมาทำน้ำอัญชันขายในร้าน กลายเป็นทุกคนหันมากินออร์แกนิกกันหมด เหมือนกินเป็นเพื่อนคุณแม่ เพื่อเป็นกำลังใจให้คุณแม่ว่าไม่ได้กินอยู่คนเดียว พวกเรากินเป็นเพื่อนด้วย” การกินอย่างระมัดระวังมากขึ้น ชิสังเกตตนเองว่าผ่านมา 3 ปีแล้ว ผิวพรรณและปัญหาผิวหนังที่มักเป็นสิวผด ดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เธอจึงแบ่งปันสูตรดูแลสุขภาพที่ทำให้ทั้งตัวเองและคุณแม่กินอยู่ 4 สูตร อาทิ ซูเปอร์เพอร์เพิล ใช้ผักผลไม้สีม่วงเป็นหลักซูเปอร์เรด เป็นต้น นอกจากนี้เธอยังนิยมทำเค้กที่ได้สูตรจากการไปเรียนโภชนาการบำบัดที่มหิดลคือ การทำเบเกอรี่โดยไม่ใช้เนย หรือสูตรมูส ช็อกโกแลตโดยไม่ใช้วิปปิ้งครีมแต่ใช้อโวคาโดแทน ขนมเค้กก็ไม่ใช่ผงฟู โดยหันมาใช้ไข่ไก่ออร์แกนิกแทน

“ร้านเบเกอรี่ชิเปิดหลังจากคุณแม่หายแล้ว 1 ปี เพราะชิอยากส่งต่อข้อมูลดีๆ เช่น น้ำผักหรือขนมที่เรากิน อาหารไม่จำเป็นต้องผสมหรือใส่อะไรเยอะแยะ ก็อร่อยได้ เพราะการกินสารเคมีที่อยู่ในอาหารแล้วร่างกายต้องขับออก จะมีผลต่อโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดัน ไต เพราะร่างกายขับเองไม่ได้ ไปสะสมก็เป็นพิษต่อร่างกาย ชิเลยทำสูตรขึ้นเพราะเราทำให้ที่บ้านกินอยู่แล้ว ทำแล้วดีก็อยากแบ่งปัน การทำร้านเบเกอรี่ เทอราพีจึงเกิดขึ้น ซึ่งฟีดแบ็กดีระดับหนึ่งเพราะร้านของชิมีความเป็นยูนีกสูงมาก คนเฉพาะกลุ่ม เช่น เด็กๆ กับผู้สูงอายุจะชอบมากๆ เช่น น้องๆ ตัวเล็กๆ เป็นแฟนพันธุ์แท้ของดาร์ก ช็อกโกแลตที่ร้าน หรือคุณลุงคุณป้าที่มีปัญหาสุขภาพก็ชอบมากินน้ำผักผลไม้ปั่นสดๆ ที่ร้าน ซึ่งชิค่อนข้างพอใจ เพราะเราโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ลูกค้าเดิมเราไม่หนีไปไหน แล้วยังค่อยๆ มีลูกค้าใหม่ๆ มาใช้บริการแบบปากต่อปาก มีลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาให้เราแนะนำเรื่องสุขภาพ เช่น กินอะไรแล้วดี ลูกค้าก่อนที่จะเลือกสมูทตี้เขาจะบอกเราว่าเขาเป็นโรคอะไรบ้าง ชิหรือผู้จัดการร้านก็จะเลือกผลไม้ที่เหมาะกับลูกค้า”

ทำขนมช่วยคลายเครียดและใช้ชีวิตช้าลง

พลิกวิกฤตหันมาดูแลคนที่รัก ลัดดาพร มานิตยกุล

ฟิก สแควร์ เป็นบริษัทอินทีเรียร์แบบครบวงจรที่ลัดดาพรก่อตั้งเอง เวลาทำงานเธอทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่แต่หลังเลิกงานเธอมักเข้ามาช่วยบริหารร้านเบเกอรี่ เทอราพี เพราะอยู่ซอยหน้าหมู่บ้านนี่เอง การทำงานสองอย่างชิบอกว่าเธอรู้สึกไม่เครียด แถมช่วยให้เธอรู้สึกผ่อนคลายเสียอีก

“ทำงานบางครั้งก็เกิดความเครียด แต่พอกลับมาทำงานที่ร้าน ช่วยทำให้ชิรู้สึกผ่อนคลายจากเรื่องเครียดไปได้ เพราะชิรู้สึกมีความสุข หรือช่วงเสาร์อาทิตย์ก็ใช้เวลาว่างปลูกพืชผักสวนครัวกับลูกชายวัย 11 ขวบ ก็ถือว่า เป็นความสุข ตอนนี้กำลังทำระเบียงชั้น 2 ไว้ปลูกต้นไม้เพิ่ม คิดว่าทำได้เพราะชิก็อยู่ในกลุ่มปลูกผักออร์แกนิกซึ่งแนะนำว่า เราไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ใหญ่โตจึงจะปลูกผักได้ค่ะ“

การป่วยของคุณแม่ซึ่งปัจจุบันสุขภาพแข็งแรงดี สอนให้ชิใช้เวลาให้ช้าลง และหันมาดูแลใส่ใจคุณพ่อกับคุณแม่มากขึ้น ซึ่งคุณพ่อของเธอเพิ่งเสียชีวิตด้วยโรคไตเมื่อไม่นานมานี่เอง

“ตั้งแต่คุณแม่ป่วย ชิพยายามทำงานให้ไม่ยืดเยื้อ เพราะแต่เดิมชิทำงานเร็ว ในทางกลับกันในการใช้ชีวิตส่วนตัว ชิจะให้เวลากับครอบครัวมากๆ คือเราจะต้องมีเวลาดูแลคนในครอบครัว เรื่องแรกที่เราคิดคืออาหารที่เราทำ ต้องมีเวลาทำและให้คนในครอบครัวได้กิน เช่น คุณแม่ หรือทำขนมส่งให้หลานๆ ชิรู้สึกมีความสุขกับเรื่องทำอาหาร ว่างๆ ก็ปลูกพริกขี้หนูสวน มะกรูด ใบเตย โหระพา ต้นหอม ผักชี ผักสลัดกำลังเริ่มอยู่ การเตรียมดิน เนื่องจากเราไม่มีที่เหมือนคนอื่น ชิมีกลุ่มฮาร์ดคอร์ ออร์แกนิก และเจ้าชายผัก ชิเพิ่งเริ่มปลูกผักใบกระถาง เขาขายดินให้เราซึ่งเชื่อถือได้ ส่วนเรื่องการดูแลเรื่องแมลง ชิมีน้ำที่กลั่นมาจากการเผาถ่านไม้และชิต้องเอามาเจือจางกับน้ำและฉีดพ่นด้วยกระบอกฉีด กลิ่นคล้ายๆ รมควันหน่อย ฉีดไปที่ใบเวลามีพวกหนอน หรือเพลี้ยไปได้ ชิแพลนว่าจะทำเทอร์เรซเฮาส์ที่ระเบียงชั้น 2 ชิเริ่มปลูกผักเองตั้งแต่ปีที่แล้ว เราปลูกผักกินเองเราก็มั่นใจ หรืออะไรที่ปลูกเองไม่ได้ชิก็นำวัตถุดิบจากคุณลุงคุณป้าเกษตรกรทางภาคเหนือที่ปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์กินแล้วเราก็มั่นใจ และเป็นการซื้อขายโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เราเพิ่มรายได้และคุณป้าคุณลุงก็แฮปปี้ ผักที่เราปลูกเองกินเองก็มีความสุข ที่สำคัญคือสุขยิ่งกว่าเมื่อเห็นผลผลิตงอกงาม ให้ดอกให้ผล”

ใช้คำสอนในหลวงรัชกาลที่ 9

พลิกวิกฤตหันมาดูแลคนที่รัก ลัดดาพร มานิตยกุล

ทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ลัดดาพรนำมาใช้กับการดำเนินชีวิตและการทำงาน เพราะเธอคือหนึ่งในสมาชิกพอแล้วดี โครงการที่ 2 สิ่งที่เธอได้เรียนรู้คือ ได้จุดหมายในชีวิต เพราะการเข้าร่วมในโครงการทั้งวิทยากรจะช่วยเค้นศักยภาพของแต่ละบุคคลออกมา ทำให้เธอรู้ว่าจะมุ่งไปในทิศทางใด จนเธอค้นพบตัวเองว่าชอบทำอาหารและอยากช่วยเป็นที่ปรึกษาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ

“2 ปีที่ผ่านมาเป็นจุดเริ่มอะไรหลายๆ อย่าง จนชิพัฒนาตัวเองจนทุกวันนี้ มันชัดเจนขึ้น ที่ชิได้คือเพื่อนๆ ที่เข้าร่วมโครงการแต่ละคนเป็นกัลยาณมิตร ทุกวันนี้ยังติดต่อคุยกันอยู่ เราทำงานด้วยกัน เช่น มีเพื่อนทำโรงพิมพ์เราสั่งกับเขา และมีเพื่อนทำโกโก้ วัลเลย์ที่น่าน เขาให้ชิคิดสูตรคุกกี้ซิกเนเจอร์ของไร่ โดยใช้โกโก้ของเขาตั้งชื่อว่า “คุกกี้ รอกกี้ โรด” ชิเลยใช้วัตถุดิบตัวโก้โกออร์แกนิกของที่ไร่เป็นหลัก ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอนเรื่องความพอเพียงซึ่งพวกเราตีโจทย์ไม่เหมือนกัน ความพอแล้วดีของชิคือ แม้ทำธุรกิจทุกคนต้องมีเรื่องกำไรมาเกี่ยวข้อง แต่กำไรแบบไหนที่เราอยู่ได้และคนอื่นๆ ก็อยู่ได้ ร้านชิไม่ขายกาแฟแต่ถ้าใครอยากดื่มกาแฟสามารถไปสั่งร้านข้างๆ แล้วมานั่งกินที่ร้านชิได้ คือเราต้องช่วยเหลือเกื้อกูล พึ่งพาอาศัยกัน”

เมื่อแม่ป่วย มุมมองชีวิตเปลี่ยน

พลิกวิกฤตหันมาดูแลคนที่รัก ลัดดาพร มานิตยกุล

การได้ดูแลคุณพ่อคุณแม่หลังจากท่านป่วยทำให้ชิมีความสุข เพราะชิบอกว่าเธอไม่เลือกเงินก่อน แต่เธอยอมเอาเวลาที่ต้องหารายได้ให้ได้เยอะๆ เพื่อสร้างครอบครัว ไปเรียนโภชนาการบำบัดที่มหิดล เพื่อหาวิธีดูแลทั้งคุณพ่อคุณแม่ที่อายุเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเอาเวลามาดูแลครอบครัว มันคือกำไร
ชีวิต ทำให้เธอมีชีวิตตอยู่ได้ เพราะสำหรับเธอไม่มีเงินที่ไหนไปซื้อความสุขของคนในครอบครัวได้

“หลังคุณพ่อคุณแม่ป่วยชิได้คิดว่าทำอย่างไรให้ท่านไม่ทุกข์ เมื่อก่อนชิมีเถียงคุณพ่อคุณแม่บ้าง แต่ตอนนี้ถ้ามีเรื่องไม่เข้าใจกันชิเลือกวิธีเดินหนี จะไม่เถียงท่านเหมือนเมื่อก่อน และเดี๋ยวนี้ชิจะไม่โกรธพ่อแม่นานข้ามวัน แม้ชิคิดว่าตัวเองไม่ผิดแต่ชิคิดว่านี่คือพ่อแม่เรา ถ้าพรุ่งนี้ชิตายหรือถ้าพรุ่งนี้พ่อแม่ไม่อยู่แล้วเราต้องตายจากกัน เราเหมือนเก็บความรู้สึกผิด ไม่เข้าใจกัน และไม่มีเวลาได้ร่ำลาได้ขอโทษกัน มันเลยเปลี่ยนชิทั้งเรื่องการใช้ชีวิต เมื่อก่อนชิเป็นคนเป๊ะหลายเรื่อง แต่เดี๋ยวนี้ปล่อยวางมากขึ้น พยายามเข้าใจลูกน้องและผู้อื่นมากขึ้น และไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งมันดีจริงๆ นะคะ ช่วงที่คุณแม่ป่วยถือเป็นโอกาสที่ทำให้ชิทำอะไรหลายๆ อย่าง ถ้าไม่เกิดวิกฤตเราจะไม่มองมัน และเราคิดว่าจะใช้มุมมองแบบนี้ไปตลอด สุดท้ายแล้วเงินไม่ใช่ประเด็น แม้เงินซื้อทุกอย่างได้ แต่ใจเราไม่สุข ใจไม่นิ่ง ก็ไม่มีประโยชน์”