posttoday

เพลง การเมือง และเรื่องบันเทิง

10 พฤศจิกายน 2561

ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา หากพูดถึงการใช้เพลงเป็นสื่อบอกเล่าเจตนารมณ์ทางด้านการเมือง

โดย ธนะโรจน์ สิทธาธีระวัฒน์ ภาพ : เอเอฟพี

ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา หากพูดถึงการใช้เพลงเป็นสื่อบอกเล่าเจตนารมณ์ทางด้านการเมือง คงไม่ต้องบอกว่าเพลงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในขณะนั้น(ปี 2557) เป็นคนแต่ง คือเพลงลำดับต้นๆ ที่เราจะนึกถึง

เพราะมันเป็นเพลงที่ได้ถูกนำเสนอผ่านทุกช่องทาง จนทำให้มันกลายเป็นเพลงป๊อปที่ฮิตติดหู เด็กและผู้ใหญ่ต่างร้องตามกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง (คืนความสุขให้ประเทศไทยไง... ยังจำกันได้อยู่ใช่มั้ยครับพี่น้อง)

แล้วเวลาก็ผ่านไปไวเหมือนโกหก เมื่อเร็วๆ นี้ เพลงที่น่าจะเป็นสื่อบันเทิงชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้ในเรื่องบันเทิงๆ กลับถูกนำมาใช้เป็นสื่อบอกเล่าเจตนารมณ์ทางด้านการเมืองอีกครั้ง ซึ่งมันน่าตื่นตะลึงตรงที่เพลงเพลงนั้นได้ถูกนำเสนอด้วยแนวเพลงแร็ป จากกลุ่มแร็ปเปอร์ชาวไทยที่ต่อต้านระบอบการปกครองแบบเผด็จการ และต้องการสื่อสารให้คนทั้งโลกได้รู้ว่า ไอ้เรื่องแบบนี้ “ประเทศกูมี” นะเว้ย

เมื่อดูจนจบ จะเกิดความรู้สึกบางอย่างในห้วงความคิดขึ้นมาอย่างแรง ซึ่งเพลงเพลงนี้ก็ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคม โดยเฉพาะฟากฝั่งผู้นำประเทศได้มากโข

หลังจากนั้นอีกไม่นาน เพลงก็ถูกนำกลับมาใช้เป็นสื่อบอกเล่าเจตนารมณ์ทางด้านการเมืองอีกครั้งหนึ่ง โดยครานี้ คนในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของไทย เป็นผู้นำเสนอเพลง Thailand 4.0 ที่ต้องการสื่อให้คนไทยได้รู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องทุบกะลา แล้วก้าวออกมารู้ คิด และลงมือทำ เพื่อนำชาติไทยไปสู่ประเทศแห่งนวัตกรรม ที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก ซึ่งหากมองไปที่เจตนาของการเล่นเกมทางการเมือง เพลงนี้อาจเป็นการโต้กลับเพลงประเทศกูมีแบบเชือดนิ่มๆ ก็เป็นได้

ในห้วงเวลาเดียวกัน แนวคิดการนำเพลงมาใช้เป็นสื่อบอกเล่าเจตนารมณ์ทางด้านการเมือง ก็ได้เกิดขึ้นที่กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน อีกด้วยเช่นเดียวกัน โดยได้มีนายกเทศมนตรีกรุงไทเป มาร่วมร้องและแสดงในมิวสิกวิดีโอ เพลงแร็ปที่ใช้ชื่อว่า Do The Right Thing, Do Things Right ที่ว่ากันว่า ตอนนี้มียอดวิวทางยูทูบสูงเกือบแตะ 2 ล้านวิว

เพลง การเมือง และเรื่องบันเทิง

หากมองให้ดี สิ่งที่นายกเทศมนตรีคนนี้ได้ทำลงไป ก็ถือเป็นการแสดงให้ประชาชนได้เห็นในสิ่งที่เขาคิดผ่านมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ ซึ่งแน่นอนว่ามันย่อมส่งผลดีต่อเส้นทางการเมืองในอนาคตของเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะผลของคะแนนความนิยมที่ประชาชนจะมีต่อเขาได้อย่างท่วมท้นสุดจิตสุดใจ

คุณผู้อ่านเห็นถึงพลังแห่งการสื่อสารผ่านบทเพลงแล้วหรือยังครับ มันเป็นช่องทางการสื่อสารที่คนทุกคนสามารถนำพาสาระสำคัญที่เราอยากสื่อ ชอนไชเข้าไปยังคนทุกเพศทุกวัยผ่านบทเพลงได้เป็นอย่างดี หากมันเป็นการชอนไชที่ถูกคน ถูกที่ และถูกเวลา

อย่าลืมว่า หน้าที่ของเพลงไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อบอกใครให้รู้ว่าเรากำลังแอบรัก อินเลิฟ คิดถึง เป็นห่วง เหงา เศร้า น้อยใจ เสียใจ อกหัก ผิดหวัง ถูกทิ้ง ลืมไม่ลง ยังตัดใจไม่ได้ เจ็บเจียนตาย หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องรักๆ ใคร่ๆ แต่มันยังสามารถบอกเล่าให้คนทั่วไปได้รู้ว่า เรากำลังคิดอะไรอยู่ เรากำลังต้องการทำอะไรให้แก่คนในสังคม ประเทศชาติ และโลกใบนี้ หรือแม้กระทั่งบอกให้โลกได้รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด!

ไม่ว่าบทเพลงจะถูกสื่อสารไปด้วยเรื่องดีหรือเรื่องร้าย เรื่องถูกหรือเรื่องผิด หน้าที่ของคนเสพเพลงทั้งหลาย นอกจากหน้าที่มีความสุขความบันเทิงไปกับเพลง ก็คงต้องสังเกตสังกาดูเจตนาของคนที่สร้างสรรค์เพลงด้วยว่า เขากำลังชี้นำเราไปในทิศทางใด

ถ้าเพลงรักๆ ใคร่ๆ ผู้สร้างสรรค์ก็คงมุ่งหวังให้เพลงมันโดนใจเรา ทำให้เราอินตาม และกลายเป็นฐานแฟนคลับของศิลปินที่ร้องเพลงนั้นๆ ในท้ายที่สุด

แต่หากเป็นเพลงที่ใช้บอกเล่าเจตนารมณ์ทางด้านการเมือง หน้าที่ของคนฟังเพลงอย่างเราๆ ก็คงหนีไม่พ้นหน้าที่ในความเป็นพลเมืองที่ดี มีความตระหนักรู้ และเป็นพละกำลังของประเทศที่จะช่วยกันทำให้ประเทศมันเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ทำอะไรที่ทำให้ประเทศชาติถอยหลังลงคลอง

ที่สำคัญที่สุด เมื่อเราฟังเพลงแล้วต้อง “รู้เท่าทัน” สิ่งนี้สิ่งเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เราๆ ท่านๆ ทั้งหลาย ไม่กลายเป็นเหยื่อของผู้สร้างสรรค์เพลง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่จะทำให้เพลงที่เราเสพไปนั้น ยังเป็นเรื่องบันเทิงของชีวิตต่อไปได้ โดยไม่ถูกบิดเบือน...เสียจนบิดงอ