posttoday

ภญ.ศิริวรรณ ชื่นชมสกุล อยากเก่งเรื่องยาต้องหาความรู้ใหม่เสมอ

06 พฤศจิกายน 2561

เภสัชกรเป็นมากกว่าคนจ่ายยา

เรื่อง : โยธิน อยู่จงดี

“เภสัชกรสามารถทำงานได้มากกว่าที่หลายคนคิด” ภญ.ศิริวรรณ ชื่นชมสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) เอ่ยถึงอาชีพที่ใกล้ชิดกับสุขภาพของเรามากที่สุดอาชีพหนึ่ง แต่เรากลับรู้เรื่องราวของเส้นทางอาชีพสายนี้อยู่น้อยมากในงานเปิดโครงการ “พิชิตสุขภาวะใน 60 วันกับไฟเซอร์ปี 2”

เภสัชกรเป็นมากกว่าคนจ่ายยา

“เภสัชกรนั้นทำงานได้ค่อนข้างที่จะหลากหลายมาก ถ้าทำงานในโรงพยาบาลก็จะทำงานเกี่ยวกับเรื่องการจ่ายยาให้กับคนไข้ให้คำแนะนำ ปรึกษาเรื่องยา ถ้าอยู่ในร้านขายยาก็จะเป็นเภสัชกรที่ควบคุมดูแลการจ่ายยา ถ้าทำงานโรงงานก็ได้ดูแลเรื่องการควบคุมคุณภาพของยา

ส่วนตัวเราเองเป็นเภสัชกรด้านการตลาด ทำงานบริษัทยา ต้องทำงานกับหลายๆ ฝ่ายในการนำยารักษาโรคที่ยังไม่มียารักษาเป็นยาใหม่ๆ เข้ามา ฉะนั้นเราก็มีหน้าที่หลักของเราเลยคือ ต้องเรียนรู้ลักษณะของยาข้อดี ข้อเสีย ผลข้างเคียงของยา หรือที่เราเรียกว่าตำรับยานั้นๆ ศึกษาเก็บข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วน

แล้วนำเสนอตัวยาให้กับคุณหมอเพื่อนำไปรักษาคนไข้ เพราะบางครั้งคุณหมอเองเขามีหน้าที่ในการตรวจคนไข้มากมายจนไม่มีเวลาหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของยารักษาโรคแบบใหม่ ซึ่งเราต้องอธิบายให้คุณหมอเข้าใจว่ายาออกฤทธิ์ยังไง มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ตรงนี้เป็นงานของเราที่ต้องติดต่อสื่อสารกับหมอกับเภสัชกรของโรงพยาบาล เป็นความรู้สึกว่าเราได้ใช้ความรู้ที่มี เพื่อนำยาที่ดีของเราให้คุณหมอเลือกใช้ให้เหมาะสมกับคนไข้

ยาแต่ละตัวกว่าจะออกมาสู่ท้องตลาดได้นั้นใช้เวลาศึกษาค้นคว้าวิจัยเป็น 10 ปีกว่าจะออกมาสู่มือผู้บริโภค ก็ต้องผ่านองค์การอาหารและยาของเรา ซึ่งต้องใช้เวลาในการตรวจสอบอีกประมาณ 2 ปี ยาตัวนั้นถึงจะสามารถได้รับเลขทะเบียน เมื่อได้รับเลขทะเบียนแล้ว

ก็ยังไม่ได้ใช้ในโรงพยาบาลในทันที เพราะแต่ละโรงพยาบาลจะมีการนำยาตัวนั้นเข้าที่ประชุมว่ายาตัวนี้เหมาะสมกับการนำมาใช้ในโรงพยาบาลหรือไม่ ยาบางตัวก็จะมีข้อจำกัดพิเศษ เช่น จะต้องใช้ในแผนกใดแผนกหนึ่ง เป็นยาเฉพาะทางที่ต้องใช้กับคนไข้เฉพาะโรคไม่สามารถนำไปใช้กับคนไข้โรคอื่นได้ คนไข้แต่ละคนก็จะมีความหลากหลาย มีความละเอียดซับซ้อนของโรค ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ยาเฉพาะทางมากขึ้นในทุกปี”

ภญ.ศิริวรรณ ชื่นชมสกุล อยากเก่งเรื่องยาต้องหาความรู้ใหม่เสมอ

อยากเก่งต้องอัพเดทความรู้เสมอ

“ในวงการยา เราจะหยุดนิ่งไม่ได้เพราะจะมีตัวยาใหม่ และองค์ความรู้เรื่องยาออกมาใหม่เสมอในทุกปี ยาที่เราเคยใช้กันเป็นประจำ พอถึงวันหนึ่งก็มีประกาศยกเลิกการใช้ยาตัวนี้ เพราะมีข้อมูลเรื่องผลกระทบของยาในระดับที่เป็นอันตราย เป็นการบ่งบอกว่า ในวงการยานั้นมีความเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลามีการศึกษาค้นคว้าและวิจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม

แม้ยาที่ผลิตออกมาแล้วผ่านการวิจัยทดสอบด้านความปลอดภัยแล้วก็ยังต้องมีการเก็บข้อมูลเก็บตัวอย่างการใช้ยาต่อไป เพราะในขั้นตอนวิจัยอาจไม่เจอผลข้างเคียงหรือเจอผลข้างเคียง ก็จะมีการระบุในตำรับยานั้น ถ้ามีผลข้างเคียงนอกเหนือจากที่ระบุ บริษัทยาจะต้องตรวจสอบและแจ้งให้องค์การอาหารและยาของแต่ละประเทศได้ทราบ ดังนั้นวงการยาจึงเป็นวงการที่ไม่หยุดนิ่งต้องมีการอัพเดทเปลี่ยนแปลงข้อมูลยาใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

แต่ถามว่าผลกระทบของคนไทยกับเรื่องยานั้นยังถือว่ามีอยู่น้อยมาก เพราะยาส่วนใหญ่เป็นยาจากโลกตะวันตกที่มีการทดลองกับคนในซีกโลกตะวันตกมาก่อน กว่ายาจะเข้ามาถึงบ้านเราก็จะพบรายงานการใช้ยามาก่อน กว่าจะมาให้คนไทยได้ใช้ก็มีขั้นตอนในการคัดกรองมากมาย และไม่ใช่ยาทุกตัวที่ใช้ไปนานๆ แล้วจะเกิดผลกระทบข้างเคียง ที่เราเห็นก็น้อยมากแต่เราก็มีความจำเป็นที่ต้องศึกษาและติดตามอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น บริษัทยาเองก็จะมีการติดตามผลการใช้ เพื่อมีการแจ้งเตือนกับทางโรงพยาบาลให้มีความระมัดระวังในการจ่ายยารักษาคนไข้”

งานหนักแค่ไหนต้องดูแลสุขภาพให้เท่ากัน

“ในเรื่องการดูแลสุขภาพก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะประสิทธิภาพในการคิดและตัดสินใจทำงานของเราอยู่ที่สุขภาพร่างกายของเราด้วย ส่วนตัววิธีการดูแลสุขภาพอย่างแรกคือ เรื่องของการนอน เราตั้งเป้าไว้ว่าเราจะต้องนอนให้มากขึ้น เพราะแต่ก่อนนั้นเรานอนน้อยมาก

ทั้งที่จริงแล้วเรื่องการนอนนั้นสำคัญที่สุดเราต้องจัดสรรเวลาการนอนให้มากขึ้น ถ้าเราพักผ่อนดีเราจะมีสมองที่สดใสคิดอะไรออกได้มากขึ้น และสามารถทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่นเราเคยทำงาน 2 ชั่วโมงเสร็จ ถ้าเกิดวันไหนนอนพออาจจะเหลือแค่ชั่วโมงครึ่ง หรือชั่วโมงหนึ่งก็เสร็จแล้ว

การไปประชุมต่างๆ เราก็จะมีสมาธิเก็บข้อมูลได้มากขึ้น สามารถคิดไอเดียนำเสนอได้ดีกว่า

อีกอย่างหนึ่งเรื่องของการรับประทานยาและอาหารก็สำคัญ แต่เดี๋ยวนี้เราจะรับประทานอะไรก็ต้องหาข้อมูลให้ดี แม้กระทั่งการรับประทานยาหรือวิตามินที่ดูเหมือนดีต่อสุขภาพ แต่ที่จริงแล้วเราต้องเลือกเฉพาะสิ่งที่เราคิดว่าจำเป็นจริงๆ เพราะว่าอย่างการรับประทานยา แน่นอนว่ายาสามารถรักษาอาการใดอาการหนึ่งแต่อาจจะมีผลข้างเคียงได้

วิตามินเองก็เช่นกันที่จริงแล้ว ถ้าเกิดเรารับประทานอาหารครบ 5 หมู่อย่างเพียงพอ เราก็จะได้วิตามินค่อนข้างครบในทุกวัน ถ้าเกิดเราขาดจริงๆ แล้วก็ต้องดูว่าวิตามินตัวไหนที่เป็นตัวสำคัญ เพราะว่าวิตามินบางอย่างรับประทานแล้วอาจจะเกินความจำเป็นของร่างกายแล้วจะมีผลเสียตามมา ผลเสียอย่างแรกก็คือเสียเงิน เพราะว่าวิตามินนั้นราคาไม่ใช่ถูกๆ

การรับประทานวิตามินบางตัว ถ้ารับประทานอยู่ตัวเดียวอาจจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้านำไปรับประทานคู่กับยาหรืออาหารอื่นๆ มันอาจจะส่งผลกระทบข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับตัวเราได้ ดังนั้น ไม่แนะนำว่าให้ซื้อวิตามินมารับประทาน ถ้าไม่มีความจำเป็น การรับประทานยาหรือวิตามินก็ตามควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์และเภสัชกรจะเป็นการดีที่สุด ก่อนจะทำอะไรควรจะศึกษาข้อมูลศึกษาให้รอบคอบแน่ใจว่ามีความจำเป็นและดีกับเราจริงๆ”

ภญ.ศิริวรรณ ชื่นชมสกุล อยากเก่งเรื่องยาต้องหาความรู้ใหม่เสมอ

ให้เกียรติผู้อื่นเพื่อความก้าวหน้าในงาน

“หลักคิดในการทำงานของตัวเองอย่างแรกเราจะต้องมีความเป็นเจ้าของงานที่เราทำ ไม่ว่าเราจะทำงานเป็นพนักงานบริษัทหรือเป็นเจ้าของกิจการ งานอะไรก็ตามที่อยู่ในมือเราต้องทำด้วยความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของงานชิ้นนั้น เป็นของตัวเราเองที่จะต้องดูแลและทำให้ดีที่สุด

หากมีปัญหาในงานแล้วคิดว่าเราสามารถแก้ไขได้เอง เพื่อให้งานออกมาดีก็ต้องแก้ไขไม่ต้องรอให้หัวหน้าลงมาช่วยแก้ปัญหา ถ้าเป็นงานที่ต้องติดต่อกับเพื่อนร่วมงานในแผนกอื่นได้รับทราบแล้วทำให้งานของเราเดินหน้าไปได้ด้วยดีก็ต้องทำในทันที มีความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน เพื่อให้งานสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน

ต่อมาคือ การเคารพให้เกียรติต่อหัวหน้า ความเคารพต่อเพื่อนร่วมงาน และความเคารพลูกน้องของเราเอง เพราะเราต้องรู้จักการเคารพคนอื่น หากเขามีข้อเสนอแนะเราจะต้องฟัง สมมติเราเป็นหัวหน้ามีลูกน้องเสนอความเห็นมาแล้ว เราจะคิดว่าลูกน้องเขาจะรู้ดีกว่าเราได้อย่างไรเราจะคิดแบบนั้นไม่ได้ เราจะต้องฟังเพื่อให้ทุกคนรู้สึกมีคุณค่าร่วมกันในการทำงาน บางครั้งไอเดียที่ได้จากลูกพี่ลูกน้องอาจจะเป็นไอเดียที่มีประโยชน์

นอกจากเรื่องการให้เกียรติผู้อื่นแล้ว เราต้องพยายามเข้าใจในตัวผู้อื่นและปรับตัว เราต้องดูประสิทธิภาพในการทำงานเป็นหลักมากกว่า สไตล์การทำงานของคน แล้วเลือกใช้คนให้ถูกกับงานที่ทำ พยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่เขาทำก็อาจจะเข้าใจในมุมมองอีกมุมหนึ่งว่าสิ่งที่เขาทำนั้น เขาทำไปเพราะอะไร ถ้าเกิดมีความเข้าใจผิดเราคิดว่าไม่ดี ก็จะได้อธิบายสิ่งที่ถูกต้องในการทำงานให้เขาฟัง เพราะงานจะเดินได้อย่างราบรื่นเราต้องอธิบายงานให้กับลูกน้องของเราให้ชัดเจน ให้เขาเห็นภาพชัดเจนเป็นภาพเดียวกับเรา เพื่อให้เขาทำงานได้ตรงตามเป้าหมาย

ในขณะเดียวกันเราเองต้องพยายามปรับปรุงตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนอยู่ตลอด เราจะต้องหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตัวเอง การทำงานน้องๆ ที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ในที่ทำงานเดี๋ยวนี้เป็นเจนวาย เจนแซด หรือเจนมิลเลนเนียลกันหมดแล้ว เราจะต้องเข้าใจรูปแบบแนวคิดในการทำงานของเขารวมทั้งงานที่เราทำนับวันข้อมูลใหม่ๆ ก็เพิ่มมากขึ้นทุกที เราจะต้องพยายามทำตัวเราเองให้ทันสมัยตลอดเวลา

เรื่องสุดท้ายในหลักการทำงานที่สำคัญมากก็คือ เรื่องของจรรยาบรรณเราต้องมีความคำนึงถึงความถูกต้องในความรับผิดชอบในสิ่งที่เราทำและรับผิดชอบต่อสังคมด้วย”