posttoday

ในความไม่คุ้นเคย เปิดใจให้ ‘คลองเตย’ หนึ่งวัน

03 พฤศจิกายน 2561

เรื่อง/ภาพ : กาญจน์ อายุ

เรื่อง/ภาพ : กาญจน์ อายุ

หากถนนสุขุมวิทคือแดนศิวิไลซ์ ถนนพระราม 4 คงเป็นชายแดนขวางความยากจนของ “ชุมชนคลองเตย”
ย่านที่คนมักใช้คำว่า สลัม นำหน้า และลงท้ายด้วยคำว่า แออัด ทว่าคลองเตยไม่ได้เป็นดินแดนที่มีแค่ปัญหา แต่ยังเต็มไปด้วยคำถามและภาพจำต่างๆ นานา

ดังนั้น ชุมชนจึงตัดสินใจเปิดประตูต้อนรับให้คนไม่รู้เข้าไปหาคำตอบ และอยากให้ช่วยบอกต่อว่าแท้จริงแล้วคลองเตยเป็นอย่างไร

“ไฝ” สัญชัย ยำสัน ชาวชุมชนคลองเตย 70 ไร่ ที่วันนี้มาทำหน้าที่เป็นไกด์ท้องถิ่น เล่าถึงการท่องเที่ยวในชุมชนคลองเตยด้วยการจั่วหัวว่า “คลองเตยเคยไปยัง” จากนั้นได้ถามกลับคนแปลกหน้าว่า เมื่อพูดถึงคลองเตยและจะนึกถึงอะไร

“อาชญากรรม แหล่งเสื่อมโทรม สลัม ยาเสพติด” เขาพูดแทน

“แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ทั้งหมดทุกคน ดังนั้นการที่พวกเราทำการท่องเที่ยวในชุมชนขึ้นมาก็เพื่อมุ่งหวังให้คนในสังคมเข้าใจคลองเตย และออกไปสื่อสารกับคนภายนอกว่าจริงๆ คลองเตยยังมีสิ่งที่งดงาม ยังมีความดี และมีอะไรต่างๆ น่าค้นหา”

ในความไม่คุ้นเคย เปิดใจให้ ‘คลองเตย’ หนึ่งวัน

สัญชัย กล่าวถึงปัญหาในชุมชน 3 ประการ คือ โง่ จน และเจ็บ เขาอธิบายต่อว่า คนโง่เพราะขาดโอกาสทางการศึกษา จนเพราะรายได้ต่ำ และเจ็บเพราะสวัสดิการภาครัฐเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ดังนั้นทางชุมชนจึงเสนอวิธีการแก้ไขปัญหา 3 ประการ คือ แก้โง่ ด้วยการสร้างโอกาสทางการศึกษาหรือให้คนในชุมชนเรียนฟรี แก้จนด้วยการจัดสรรที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต และแก้เจ็บด้วยการให้เข้าถึงการรักษาพยาบาล

“พวกเรามักถูกตีตราหรือถูกตัดสินใจด้วยคำว่า มักง่าย เห็นแก่ได้ ละเมิดกฎหมาย หยาบคาย ก้าวร้าว ขี้เหล้าติดยา ซอมซ่อ โง่ ชอบโวยวาย และชอบใช้ความรุนแรง แต่คำตัดสินเหล่านี้มันมีที่มา มันไม่ได้เกิดมาลอยๆ คำว่ามักง่ายเป็นเพราะคนในชุมชนกินง่าย อยู่ง่าย มีอะไรก็กิน เพราะเราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

คนชอบบอกว่าเราเห็นแก่ได้ แน่นอนว่าคนจนมักเห็นแก่ได้เพราะเมื่อเราเห็นว่ามีที่ตรงไหนอยู่ได้เราก็ไปจับจอง แหล่งงานอยู่ที่ไหนเราก็ไปทำ เราแทบไม่คำนึงถึงความผิดถูกเพราะชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป จึงเป็นที่มาของคำว่า พวกเราชอบละเมิดกฎหมายนั่นก็เพราะเราต้องหาเช้ากินค่ำ ต้องเอาตัวเองให้รอด

ในความไม่คุ้นเคย เปิดใจให้ ‘คลองเตย’ หนึ่งวัน

นอกจากนี้ คนยังมักมองว่าคนจนเป็นคนขี้เหล้า นั่นเพราะเหล้าเป็นความสุขใกล้ตัว คนรวยอาจหาความสุขจากการไปเที่ยวเมืองนอก แต่สำหรับคนจนเหล้าขาวแก้วละ 10 บาทก็มีความสุขแล้ว และอย่าบอกว่าคนรวยไม่กินเหล้า

สุดท้ายคือ คนจนชอบใช้ความรุนแรง มันเป็นพฤติกรรมที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กเพราะบ้านแต่ละหลังติดกัน ไม่ว่าคนจะด่ากัน ตีกัน เด็กๆ ก็ได้ยินหมดจนกลายเป็นความเก็บกดและพฤติกรรมฝังลึก ซึ่งมันสามารถแก้ไขด้วยการศึกษาและการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น”

ชุมชนหมู่บ้านพัฒนา 70 ไร่ มีพื้นที่ 71 ไร่ มีประชากรประมาณ 8,500 คน อยู่ติดกับชุมชนล็อก 1-2-3 พื้นที่ 41 ไร่ มีประชากรประมาณ 7,100 คน และชุมชนล็อก 4-5-6 พื้นที่ 21 ไร่ มีประชากร 3,000 คน รวมแล้วชุมชนคลองเตยมีประชากรกว่า 1.9 หมื่นคน ในพื้นที่ขนาด 133 ไร่

“เพราะฉะนั้นเวลาเราจะตัดสินใจอะไร อยากให้มองไปที่สาเหตุ มองไปลึกๆ ว่าทำไมคนในชุมชนคลองเตยถึงเป็นแบบนี้ และเราอยากให้เข้าใจ ไม่ใช่เข้าข้าง ซึ่งการเดินเข้าไปในชุมชนก็เพื่อเข้าไปเรียนรู้สังคม เรียนรู้ผู้คน เรียนรู้วิถีชีวิตที่หลากหลาย ถ้าถามว่าคลองเตยมีแหล่งท่องเที่ยวอะไร เราไม่มี แต่คุณจะได้ประสบการณ์ชีวิตครั้งหนึ่งว่า ได้แลกเปลี่ยนบทสนทนากับคนยากคนจน ได้เห็นความเป็นอยู่ของคนจนเป็นอย่างไร แบบนี้เข้าท่ากว่า” สัญชัย ชาว 70 ไร่ กล่าว

ในความไม่คุ้นเคย เปิดใจให้ ‘คลองเตย’ หนึ่งวัน

การเดินสำรวจชุมชนคลองเตยจะเริ่มจากชุมชน 70 ไร่ ต่อด้วยล็อก 4-5-6 และล็อก 1-2-3 ระหว่างทางจะได้เรียนรู้ระบบการศึกษาของระดับชั้นอนุบาลที่เรียกว่า แนวมอนเทสซอริ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับออสเตรเลีย และลองร้อยมาลัยดอกมะลิ ซึ่งเป็นอาชีพของคนในชุมชน

“ตุ้ม” ณัฐนันท์ แซ่ลี้ ไกด์ท้องถิ่นอีกคนเล่าให้ฟังขณะเดินว่า บ้านเรือนในชุมชน 70 ไร่ เป็นบ้านเช่า แบ่งเป็น 40 ซอย มีประมาณ 880 หลังคาเรือน แต่ละหลังมีขนาด 15 ตร.ม. ราคาเช่าเดือนละ 120 และ 160 บาท (อยู่ติดถนนใหญ่ราคาจะแพง) เป็นสัญญาเช่าแบบปีต่อปี โดยมีการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของพื้นที่ ส่วนอีก 2 ชุมชนในล็อกยังใช้คำว่าเป็นพื้นที่บุกรุกของการท่าเรือฯ โดยผู้อยู่อาศัยไม่ได้เสียค่าเช่าและลักษณะบ้านเรือนมีความแออัดกว่า

ในความไม่คุ้นเคย เปิดใจให้ ‘คลองเตย’ หนึ่งวัน

“ชุมชน 70 ไร่ เป็นชุมชนที่ถูกไล่รื้อหลังถูกโยกย้ายมาแล้ว 2 ครั้ง ที่นี่เป็นการโยกย้ายหนที่ 3 ซึ่งตุ้มทันทั้ง 3 เหตุการณ์ โดยที่นี่ถูกย้ายมาอยู่ตั้งแต่ปี 2524 และอีกไม่นานเกินรอคิดว่าน่าจะมีการโยกย้ายครั้งที่ 4 หลังจากจะหมดสัญญาเช่าเร็วๆ นี้ ส่วนตอนนี้คนในชุมชนก็ยังไม่รู้ชะตากรรมว่าอนาคตอันใกล้จะเป็นยังไง”

เธอกล่าวด้วยว่า ความเป็นอยู่ในชุมชน 70 ไร่ นับว่าดีที่สุดเมื่อเทียบกับครั้งก่อนๆ เพราะบ้านเรือนมีการจัดสรรเป็นระเบียบ มีการทำระบบท่อระบายน้ำ การจัดการขยะ มีไฟฟ้าประปาเข้าถึง และในชุมชนมีโรงเรียน มีห้องสมุด สำหรับให้ลูกหลานได้หาความรู้

ไกด์ท้องถิ่นนำเดินไปหยุดหน้าห้องสมุดมูลนิธิสิกขาเอเชีย เป็นห้องสมุดที่ไม่ได้มีแค่หนังสือ แต่ยังมีเด็กๆ กำลังนั่งอ่านและกำลังฟังนิทานจากคุณครูซึ่งไม่ได้จบจากคณะครุศาสตร์ เป็นภาพที่เห็นแล้วน่าชื่นใจ เด็กๆ ไม่ได้จดจ่อกับหน้าจอมือถือเหมือนที่คุ้นตา แต่กำลังขะมักเขม้นอ่านหนังสือ ข้างๆ กันก็กำลังระบายสีวาดรูป กลายเป็นสวนสนุกที่มีแต่สมุดและความรู้ท่วมตัว

ในความไม่คุ้นเคย เปิดใจให้ ‘คลองเตย’ หนึ่งวัน

จากนั้นได้ไปเรียนรู้การเรียนแบบ “มอนเทสซอริ พี่ช่วยน้อง” ของสถานรับเลี้ยงเด็กดวงประทีป ที่นี่มีระบบการเรียนการสอนผ่านสื่ออุปกรณ์ 4 หมวดการเรียนรู้ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การซักล้าง เก็บกวาดข้าวของ รวมถึงการส่งเสริมทักษะด้านวิชาการ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และการฝึกสมาธิการเคลื่อนไหวกับกิจกรรมเดินจงกรมในห้องเรียน

สถานรับเลี้ยงเด็กดวงประทีปมีห้องเรียน 7 ห้อง มีนักเรียนห้องละ 30 คน โดยจะเปิดรับเฉพาะเด็กในชุมชนคลองเตยเท่านั้น หากไม่มีทุนการศึกษาก็สามารถมาเรียนได้ หรือถ้าครอบครัวไหนพอมีสตางค์จะคิดค่าเล่าเรียนปีละ 2,000 บาท ซึ่งปัจจุบันได้รับค่าเล่าเรียนคิดเป็นร้อยละ 60 ของนักเรียนทั้งหมด นอกจากนี้ สถานรับเลี้ยงเด็กดวงประทีปยังยินดีรับสมัครครูอาสาเข้ามาสอนเด็กๆ โดยเฉพาะครูสอนภาษาอังกฤษที่มักขาดแคลน

หลังจากพ้นเขตชุมชน 70 ไร่ไปจะเริ่มเข้าสู่บริเวณที่เรียกว่า ล็อก สังเกตได้ง่ายคือ ทางเดินจะแคบลง หลังคาบ้านเตี้ยลง และแออัดมากขึ้น รวมไปถึงมีชุมชนริมทางรถไฟสายเก่าที่ตอนนี้รางกลายสภาพเป็นลานจอดรถหน้าบ้าน ตามเส้นทางมีความน่าสนใจคือ ได้เห็นอาชีพของคนในพื้นที่ทั้งอาชีพเก็บขยะขาย ทำริบบิ้นแขวนพวงมาลัย เปิดร้าน
ซาลอน ขายลูกชิ้นปิ้ง รับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า

ในความไม่คุ้นเคย เปิดใจให้ ‘คลองเตย’ หนึ่งวัน

สัมผัสบรรยากาศของคลองเตยผ่านเสียงเพลงลูกกรุง จากรอยยิ้มของคุณลุงที่กำลังนอนเอกเขนกข้างหมอนรถไฟ จากเสียงหัวเราะใสของเด็กน้อยที่กำลังวิ่งแข่งกันโดยไม่มีเส้นชัย และจากสายตาใจดีของคุณยายที่ไกวเปลกล่อมหลานอยู่หน้าประตู

เป็นอย่างที่ไกด์สัญชัยกล่าวไว้ว่า ชุมชนคลองเตยไม่มีแลนด์มาร์กหรือจุดเช็กอินอะไร แต่มีความเป็นอยู่ที่มีเอกลักษณ์ซึ่งคนแปลกถิ่นไม่คุ้นเคย ขณะเดียวกันคนคลองเตยเองก็ไม่คุ้นกับคนแปลกหน้า ดังนั้นแม้จะทราบเส้นทางแต่เพื่อความสบายใจของทั้งสองฝ่ายก็ควรมีไกด์ท้องถิ่นพาเที่ยว

การเดินทางไปสิ้นสุดที่มูลนิธิดวงประทีป แต่ก่อนบอกลาไกด์ชาวชุมชน 70 ไร่ ถามอำลาว่า รู้สึกอย่างไรกับชุมชนคลองเตย “น่ากลัวไหม” ยังไม่ทันตอบก็ได้ยินคำถามใหม่ ซึ่งตอบได้ง่ายกว่าว่า

“ไม่มีอะไรน่ากลัว เพราะไม่รู้สึกถูกคุกคาม ไม่รู้สึกอันตราย ไม่รู้สึกในทางร้ายเพราะเจอแต่คนดีๆ”

ในความไม่คุ้นเคย เปิดใจให้ ‘คลองเตย’ หนึ่งวัน

 

คำตอบทำให้คนฟังยิ้มกว้าง แต่ไม่มีเจตนาจะเยินยอ เพียงแต่อยากสะท้อนกลับว่า ทุกที่มีทั้งความมืดและความสว่าง หลายคนมองชุมชนคลองเตยเป็นสีดำ แต่แท้จริงก็มีสีขาวและความเอื้ออาทร ซึ่งถามว่าทำไมคนถึงไม่รู้สึก นั่นก็เพราะไม่ได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง

ปี 2558 กิจการเพื่อสังคม โลเคิลอไลค์ ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิดวงประทีป และชุมชนคลองเตย พัฒนาชุมชนให้กลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยว “คลองเตยเคยไปยัง” ขายโปรแกรมแบบวันเดย์ทริปให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสำรวจและเรียนรู้

ในความไม่คุ้นเคย เปิดใจให้ ‘คลองเตย’ หนึ่งวัน

ล่าสุดในปีนี้ได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภายใต้โครงการ Amazing Thailand Unseal Local สร้างแคมเปญ “Once as a Tourist มาเที่ยวกันสักวันหนึ่ง” โดยให้ชุมชนคลองเตยเป็น
เส้นทาง Once as a Hero ชักชวนผู้ที่สนใจมาเป็นฮีโร่ ทำความรู้จักและมาเข้าใจชุมชนเพื่อสื่อสารความคิดอีกด้านของคำว่า ชุมชนแออัด สู่คนภายนอก เสนอขายโปรแกรม 1 วัน ราคา 1,500 บาท ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะมาทำความรู้จักชุมชนใกล้ตัวคนกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ได้อยู่คนละโลก แต่อยู่ร่วมกันบนโลกที่ความเหลื่อมล้ำมีอยู่จริง