posttoday

บริหารเงินออนไลน์ให้ปลอดภัย

30 ตุลาคม 2561

ทุกวันนี้ธุรกรรมด้านการเงินแทบทุกอย่างสามารถทำได้ด้วยการผ่านระบบมือถือ

เรื่อง กั๊ตจัง ภาพ pixabay

ทุกวันนี้ธุรกรรมด้านการเงินแทบทุกอย่างสามารถทำได้ด้วยการผ่านระบบมือถือ แม้กระทั่งการจ่ายเงินในตลาดหากพ่อค้าแม่ค้ามีคิวอาร์โค้ดก็จ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์ได้ทันที ความสะดวกสบายแบบนี้ก็ต้องมีวิธีการบริหารจัดการด้านการเงินออนไลน์ที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน

1.ตั้งค่ารักษาความปลอดภัยให้เครื่อง

สมาร์ทโฟนทุกเครื่องสามารถตั้งค่ารักษาความปลอดภัยในการเข้าใช้งาน คุณจึงไม่ควรละเลยการตั้งค่าพิน สแกนลายนิ้วมือ หรือใบหน้าให้เรียบร้อยก่อนดาวนโหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆ แม้ก่อนการทำธุรกรรมด้านการเงินจะต้องมีการใส่พิน แต่ก็ไม่ควรให้บุคคลอื่นเข้าถึงแอพในเครื่องได้โดยง่าย เพราะบางครั้งในเครื่องเราอาจจะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นๆ เช่น อีเมล เบอร์โทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด ที่พอใช้เป็นข้อมูลคาดเดารหัสของคุณได้

ในสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่อาจมีการติดตั้งระบบตรวจจับเวลาในการใช้แอพของแต่ละวัน คุณสามารถเปิดเช็กการใช้งานของแต่ละวันก่อนเข้านอน นอกจากจะได้เช็กว่าคุณเสียเวลาไปกับการใช้งานแอพไหนมากที่สุดแล้ว ยังเช็กอีกด้วยว่ามีการแอบเปิดแอพการเงินของคุณโดยที่ไม่ได้เข้าใช้หรือไม่

2.อย่าใช้พินชุดเดียวกัน

เกือบทุกคนจะมีแอพธนาคารมากกว่าหนึ่ง อาจจะเป็นบัญชีเงินเก็บ แยกจากบัญชีเงินเดือน รวมทั้งแอพสำหรับซื้อขายหุ้น คุณจึงควรตั้งเลขพินของแต่ละธนาคารให้มีความแตกต่างกัน หากผู้ไม่ประสงค์ดีรู้รหัสพินแค่ชุดเดียว จะสามารถเข้าถึงทุกแอพด้านการเงินของคุณได้โดยง่าย

สมมติว่าคุณมีอยู่ 8 บัญชี จะให้ตั้งแยกคนละรหัสก็ดูจะยากเกินไป วิธีที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือตั้งให้เป็นเลขชุดเดียวทุกบัญชีและเป็นเลขแบบเดียวกับที่ใช้กับบัตรเอทีเอ็ม เพื่อความสะดวกในการจดจำ แต่วิธีนี้ไม่ปลอดภัยเอาเสียเลย เพื่อความปลอดภัยที่สูงขึ้นลองใช้วิธีแบ่งกลุ่มของบัญชีที่ใช้ เช่น กลุ่มบัญชีออนไลน์สำหรับรับเงินลูกค้า หรือเงินหมุนเวียนเป็นอีกรหัสหนึ่ง และกลุ่มบัญชีสำหรับเงินออมและเงินลงทุนที่มีตัวเลขหมุนเวียนบัญชีสูงให้ใช้อีกรหัส เพื่อความปลอดภัยในการทำธุรกรรม

3.แจ้งเตือนทุกครั้งที่มีการเข้าใช้งาน

คุณสามารถตั้งค่าให้มีการเตือนใช้งานหากมีการเข้าจากที่อื่นซึ่งไม่ใช่คุณผ่านอีเมล แต่คุณเองจะต้องตั้งค่าการเตือนเข้าใช้ให้เป็นอีเมลที่มีความสำคัญ เพราะอีเมลธนาคารส่วนใหญ่จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มอีเมลขยะ ไม่ก็อีเมลข่าวสารโปรโมชั่นเพื่อดูการติดตามเคลื่อนไหว

นอกจากการแจ้งเตือนที่เราต้องจัดการแล้ว อีกสิ่งที่เราละเลยไม่ได้ก็คือการตั้งค่าค้นหาเครื่องด้วยพิกัดตำแหน่งมือถือ ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถควบคุมเครื่องได้จากภายนอก หาตำแหน่งที่ตั้ง รวมทั้งควบคุมการเข้าใช้งานเครื่อง ตั้งแต่ตั้งค่าล็อกไม่ให้เปิดเครื่อง ไปจนถึงลบข้อมูลทุกอย่างภายในเครื่องเพื่อปกป้องข้อมูลทางการเงิน และข้อมูลส่วนตัวของคุณเอาไว้

4.หมั่นอัพเดทสมุดบัญชี

ท้ายสุดไม่ว่าคุณจะตั้งรหัสและหาโปรแกรมป้องกันข้อมูลทางการเงินดีแค่ไหน สมุดบัญชีก็ยังมีความสำคัญ ที่สุดคุณควรหมั่นอัพเดทสมุดบัญชีทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวเงินในบัญชี หรืออย่างน้อยๆ สัปดาห์ละครั้งก็ยังดี เพราะอย่างไรก็ตามระบบการเงิน ไม่ว่าจะป้องกันขนาดไหนหากคนคิดจะขโมยเงินในบัญชี ก็มีช่องทางใดทางหนึ่งให้เข้าถึงบัญชีของคุณได้

อย่างที่เราเคยเห็นข่าวพนักงานธนาคารแอบเขียนใบโอนเงินในบัญชีของลูกค้าเข้าบัญชีตัวเอง กว่าเจ้าของจะรู้ตัวเวลาก็ผ่านไปเกือบเดือน ดังนั้นการอัพเดทสมุดบัญชี ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณยังต้องทำเสมอ

5.ปกป้องความลับทางการเงิน

ข้อสำคัญที่สุดที่จะทำให้เงินคุณอยู่อย่างปลอดภัยก็คือการรักษาความลับทางการเงินของคุณเอง ด้วยการไม่บอกคนนอกให้รู้ว่าคุณมีกี่บัญชี มีเงินเก็บเท่าไรและลงทุนไปกับอะไรบ้าง รู้เฉพาะไม่กี่คนในครอบครัวเผื่อเวลามีปัญหาจะได้มีคนช่วยให้คำปรึกษาว่าควรหาทางออกอย่างไรกับปัญหานี้

การรักษาความลับทางการเงินเริ่มตั้งแต่ตำแหน่งงานที่ทำ รายได้ต่อเดือน วันเกิด บ้านเลขที่ เบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวที่คุณอาจใช้เป็นส่วนหนึ่งของรหัสผ่าน ข้อมูลเหล่านี้ คนส่วนใหญ่มักใช้เป็นรหัสผ่านเสมอ

สุดท้ายคือระวังการโอ้อวดเรื่องรายได้สำหรับเศรษฐีหน้าใหม่ ยิ่งผู้อื่นรู้เรื่องการเงินของคุณมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความเสี่ยงจากผู้ไม่หวังดีมากขึ้นเท่านั้น หลายคนนิยมโชว์กองเงินที่เป็นรายได้จากการทำงานยิ่งทำให้ตัวคุณตกเป็นเป้าสายตา การป้องกันความลับทางการเงินที่ง่ายที่สุดก็คือการถ่อมตน และพูดถึงหนี้สินให้มากกว่ารายได้ จะทำให้คุณปลอดภัยจากการคุกคามด้านการเงินทั้งหมด