posttoday

ความช้าที่จำเป็นของ ดลชัย บุณยะรัตเวช

28 ตุลาคม 2561

หนึ่งในนักสร้างแบรนด์แถวหน้า ก็ต้องเขานี่แหละ “ดลชัย บุณยะรัตเวช” ประธานบริษัท เดนท์สุ วัน บางกอก

โดย วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ ไม่มีเครดิต  

หนึ่งในนักสร้างแบรนด์แถวหน้า ก็ต้องเขานี่แหละ “ดลชัย บุณยะรัตเวช” ประธานบริษัท เดนท์สุ วัน บางกอก ผู้เป็นที่รู้จักดีในฐานะนักสร้างสรรค์งานโฆษณา ครีเอทีฟ และนักสร้างแบรนด์ตัวยง ชีวิตของเขาโลดแล่นด้วยความเร็วเสมอ หากวันนี้มารู้จักกับอีกด้านของชีวิตนักสร้างแบรนด์คนเก่ง

ดลชัยเล่าว่า ชีวิตต้องมีสมดุล มุ่งไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียวไม่ได้ หรือถอยหลังเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้เช่นกัน แต่ต้องทั้งมุ่งไปกับถอยกลับมา เหมือนลูกบอลลูกหนึ่งที่ต้องมีทั้งแรงผลักและแรงดึง จึงจะหมุนไปสู่ทิศทางที่ต้องการ หลายคนตั้งคำถามว่าย้อนกลับมาทำไม ก็เพื่อคิด เพื่อย้อนกลับมาทบทวนในสิ่งที่ทำ

“ชีวิตต้องสโลว์ดาวน์บ้าง เรื่องการช้าลงนี้เป็นสิ่งที่ต้องคิดต้องทำตลอดเวลา เพราะคนต้องหยุดเพื่อคิดวิเคราะห์ หยุดเพื่อไตร่ตรอง ถึงการไปต่อหรือแม้กระทั่งที่จะหยุดอยู่เฉยๆ ก็ตาม”

โลกดิจิทัลทุกวันนี้ คนเราสนใจสิ่งรอบตัว ชอบและสนใจสิ่งที่อยู่ข้างนอก คนข้างนอก สิ่งของข้างนอก แค่หนึ่งนาทีผ่านไปถ้าตั้งใจนับ ก็จะรู้ว่าคิดไปได้ร้อยเรื่อง คิดไปเองและฟุ้งเตลิดไปเองชนิดว่าร้อยแปด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ในจิตใจของตัวเรา เรากลับมืดบอด

“กลับมาดูจิตใจตัวเอง ให้การรับรู้ตัวเองมันแจ่มชัด อันนี้คือบทแรกของการถอยกลับมาที่ตัวตน กลับมาสู่ตัวเอง สร้างสมดุลให้ตัวเอง”

ความช้าที่จำเป็นของ ดลชัย บุณยะรัตเวช

ดลชัยเล่าว่า ชีวิตของเขามี 2 ทางที่ต้องทรงไว้ซึ่งความสมดุล ทางแรกคือการทำงาน ทำให้หนัก ทำให้เต็มที่ เป็นการทำงานที่ทุ่มเทใส่ใจ ใช้พลังเต็มร้อย ไม่ว่าลูกค้ารายเล็กรายใหญ่ก็ทำอย่างเต็มที่ เคล็ดลับคือการทำงานอย่างมีสมาธิ ซึ่งทำให้ทุกอย่างพลวัตไปอย่างรวดเร็วและสมบูรณ์แบบ

อีกทางหนึ่งคือการพักผ่อน ซึ่งดลชัยถือเป็นรางวัลชีวิต เรื่องนี้หลายคนไม่เหมือนกัน บางคนพักผ่อนด้วยการออกกำลังกาย บางคนฟังดนตรี บางคนชอบปลูกต้นไม้ บางคนอยู่กับสัตว์เลี้ยง บางคนออกเดินทางท่องเที่ยว ส่วนตัวแล้วชอบหมดทุกอย่างและทำหมดทุกอย่างที่กล่าวมา(ฮา)

“ผมชอบว่ายน้ำ เป็นการออกกำลังกายที่ชื่นชอบ ว่ายไปเรื่อยๆ ไม่เน้นความเร็ว แต่เน้นที่การหายใจ ประหนึ่งฝึกอานาปานสติ ที่ต้องตระหนักรู้ในทุกลมหายใจเข้าออก ฝึกว่ายน้ำ ฝึกหายใจ ฝึกรู้ตัว ฝึกทุกเย็น”

สำหรับดนตรีในชีวิต เขาใช้เวลายามว่างเล่นเปียโนและแต่งเพลงมากมาย หลายเพลงเป็นเพลงเทิดพระเกียรติที่มีความตั้งใจในการแต่งเพื่อเทิดพระเกียรติถวายแด่เจ้านายแทบทุกพระองค์ เขายังเป็นประธานชมรมดนตรีของสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนจิตรลดา ได้แต่งเพลงสถาบันเกี่ยวกับรั้วโรงเรียนไว้มาก รวมทั้งเพลงประกอบโฆษณาที่แต่งเองในหลายโอกาส

ความช้าที่จำเป็นของ ดลชัย บุณยะรัตเวช

“มีโอกาสได้แต่งเพลงประจำโรงเรียนจิตรลดา เพลงครู เพลงเกี่ยวกับความกตัญญูรู้คุณ ล่าสุดคือเพลงพิเศษที่แต่งขึ้นสำหรับงานโรงเรียนในวันที่ 8 พ.ย.นี้ ชื่อกลับมาหาครู เรื่องการแต่งเพลงได้ผลเรื่องผ่อนคลาย ไม่เฉพาะแต่งเพลง แต่เล่นเองร้องเอง แสดงเองในหลายเวทีก็ทำมาแล้ว”

ด้านการปลูกต้นไม้ได้อยู่กับธรรมชาติดลชัยเล่าว่า ชอบปลูกต้นไม้ การได้ปลูกต้นไม้ในแบบที่ไม่รีบเร่ง ถือเป็นสโลว์ดาวน์โมเมนต์ที่ได้สะท้อนออกมา ส่วนตัวชอบไม้ใบ “ฟิโลเดนดรอน” (Philodendron) ไม้ประดับและไม้ประดับตัดใบ ที่ให้ฟอร์มและให้ความเขียว บ้านสองหลังทั้งที่บ้านดุสิตและบ้านอโศก จึงมีเจ้าฟิโลเดนดรอนนี้เต็มไป

สำหรับการเดินทางท่องเที่ยว ถือเป็นการเปิดมุมมองชีวิต ดลชัยชอบท่องเที่ยวแบบไม่มีจุดหมายปลายทาง โดยจะไม่ไปกับคณะทัวร์เด็ดขาด เพราะเป็นการท่องเที่ยวแบบเร่งรีบ ปิดประตูตายเรื่องการรีแลกซ์ผ่อนคลาย การท่องเที่ยวใหญ่ประจำปีกำหนดปีละอย่างน้อย 2 ครั้ง ส่วนการท่องเที่ยวในประเทศก็ไปแทบทุกเดือน

“ผมชอบทะเล หรือบางครั้งก็ไปนอนฟังเสียงน้ำตก ทำสวนผักออร์แกนิกของตัวเอง ที่ณดลวิลลา สถานพักผ่อนแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมไทย ที่ได้รับรางวัลไทยแลนด์บูทีคอวอร์ดปี 2554 มาแล้ว”

อีกหนึ่งรางวัลชีวิตคือการเลี้ยงสุนัข ดลชัยเล่าว่า สโลว์ไลฟ์จากการเลี้ยงน้องหมานี้ แค่ได้จับขนของพวกมัน ก็เป็นความรู้สึกสโลว์เล็กๆ แล้ว ปัจจุบันหนุ่มใหญ่เลี้ยงสุนัขทั้งหมด 7 ตัว ทุกตัวเป็นสายพันธุ์สก็อตติชเทอร์เรียร์ ซึ่งในเมืองไทยไม่มีคนนิยมเลี้ยงมากนัก หากเจ้าตัวถูกชะตาเป็นพิเศษกับเจ้าขนปุยเหล่านี้

ความช้าที่จำเป็นของ ดลชัย บุณยะรัตเวช

“คนไทยบางกลุ่มไม่ค่อยนิยมสุนัขสีดำ เจ้าพวกนี้เป็นสีดำหมด สก็อตติชเทอร์เรียร์เป็นสุนัขสายพันธุ์จากสกอตแลนด์ นิสัยของพวกมันชอบการผจญภัย ตื่นตัวตลอดเวลา มีความเป็นตัวของตัวเอง แม้จะวิ่งมาต้อนรับเราดีเวลากลับจากงาน แต่ก็เพียงครู่หนึ่ง หมดช่วงเวลานี้พวกมันขอกลับไปมีเวลาเป็นส่วนตัวอย่างเก่า”

ดลชัยนินทาเจ้าขนปุยสีดำในบ้านว่า นิสัยเหมือนเจ้าของไม่ใช่น้อย หนึ่งคืออะเลิร์ตความตื่นตัว แต่ก็เป็นตัวของตัวเอง ไม่วุ่นวายและดื้อ(ฮา) ตัวโปรดชื่อเจ้าชานโต้ และแบทแมน โดยชานโต้นี้ได้มาจากรัสเซีย มีความหล่อเหลาเอาการ ส่วนแบทแมนเป็นลูกของชานโต้ หล่อมากเหมือนพ่อ

ถึงเวลาปิดสวิตช์ก็ปิดเลย(ฮา) เจ้าตัวบอกว่า ทั้งการออกกำลังกาย การปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ เล่นดนตรีและท่องเที่ยว ทั้งหมดนี้ทำไปพร้อมกัน สอดร้อยเป็นเรื่องเดียวกันกับการทำงาน ทำได้ด้วยการปิดสวิตช์อย่างที่ว่า ถึงเวลาเลิกงานจะถอดปลั๊กทันที จากนั้นเข้าสู่โหมดพักผ่อน สร้างสมดุลให้สมดุล กลยุทธ์ที่ต้องทำ

“ผมเป็นคนเร็ว คิดเร็ว ทำงานเร็ว ทำทุกอย่างเร็ว การสโลว์ดาวน์ชีวิตให้ช้าลงเป็นเรื่องจำเป็น 24 ชั่วโมงในหนึ่งวันผ่านไปอย่างรวดเร็ว สุดสัปดาห์จึงหมายถึงการพักผ่อนอย่างแรง แต่งเพลง ไปเที่ยว เลี้ยงหมา ปลูกต้นไม้”

ความช้าที่จำเป็นของ ดลชัย บุณยะรัตเวช

มือเก๋าแห่งเดนท์สุ วัน บางกอก เล่าต่อไปว่า ชีวิตนี้ยังมีบางสิ่งที่ติดอยู่ในใจ คือ การนำมรดกวัฒนธรรมไทยวิถีไทยแสดงออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ ต้นตระกูลคุณปู่ทวดเป็นหมอยาทำยาสมุนไพรไทย จึงอยากนำเสนอภูมิปัญญาของไทยในเรื่องนี้ผ่านแบรนด์ของไทย ชีวิตนี้ทำแบรนด์ของตัวเองมาแล้วถึง 4 แบรนด์ แต่ยังขาดอีก 1 แบรนด์

“อยากทำเครื่องหอมของไทยภายใต้แบรนด์ไทยในรูปลักษณ์ที่ร่วมสมัย เครื่องยาหอมนี้ ต้นตระกูลของเราเคยทำมาก่อน เป็นเครื่องสมุนไพรไทยภูมิปัญญาที่อยากสืบทอด ก็คาดว่าจะได้เห็นเร็วๆ นี้”

สำหรับแบรนด์ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย 1.ณดล สตรีมไซด์ ไทย วิลล่า เรือนไทยริมธารน้ำตกที่มวกเหล็ก จ.สระบุรี 2.ณ ดล เนเชอรัล ผลิตภัณฑ์สปาและเครื่องหอมของไทย 3.ซานทิส ออร์แกนิค บิวตี้ ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก และ 4.บางกอกเทรสเชอร์ ผลิตภัณฑ์ของฝากเก๋ร่วมสมัยไทยแลนด์

ส่งท้ายด้วยแนวคิดความสมดุล ดลชัยฝากว่า บริบทสังคมโซเชียลทำให้คนไม่ได้อยู่กับตัวเอง ขอให้ย้อนกลับมาดูที่ใจในทุกวัน เพราะจิตใจสมาธิมีความสำคัญ โดยขอให้หมั่นทบทวนถึงเป้าหมายชีวิตจนถ่องแท้ อีกบอกย้ำซ้ำเตือนตัวเองบ่อยๆ ก็จะรู้ด้วยตัวของตัวว่า ชีวิตจะหยุดจะช้าและจะไปต่ออย่างไร

นี่คือชีวิตและการทำงานของนักสร้างแบรนด์มือหนึ่ง ที่มองเห็นความสำคัญของการไปต่อและการหยุดชะลอในบางจังหวะ ชีวิตวิ่งไปข้างหน้า แต่ก็ต้องหยุดบ้าง เพื่อควบคุมทิศทาง ชีวิตเดินหน้าไม่ได้หรอก ถ้าหยุดไม่ได้หรือหยุดไม่เป็น คำแนะนำจากนักสร้างแบรนด์รุ่นใหญ่ หยุด...แล้ว(ค่อย)ไปต่อ