posttoday

ดนตรีบำบัดอาการซึมเศร้าแม่และพัฒนาสมองลูก

26 ตุลาคม 2553

ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่า “ดนตรี” ช่วยบำบัดอาการซึมเศร้าให้แม่ตั้งครรภ์และทดแทนการใช้ยาอย่างเห็นผลและยังเป็นตัวกระตุ้นพัฒนาการของลูก.....

ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่า “ดนตรี” ช่วยบำบัดอาการซึมเศร้าให้แม่ตั้งครรภ์และทดแทนการใช้ยาอย่างเห็นผลและยังเป็นตัวกระตุ้นพัฒนาการของลูก.....

โดย...อนุสรา ทองอุไร 

ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่า “ดนตรี” ช่วยบำบัดอาการซึมเศร้าให้แม่ตั้งครรภ์และทดแทนการใช้ยาอย่างเห็นผลและยังเป็นตัวกระตุ้นพัฒนาการของลูก โดยมีผลต่อความจำ สมาธิ และการสร้างความคิดแบบเชื่อมโยง

นพ.อุดม เพชรสังหาร รองประธานกรรมการบริหารฝ่ายพัฒนาความรู้ บริษัท รักลูกกรุ๊ป และจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาสมองเด็ก ได้กล่าวถึงเรื่องสุนทรียศาสตร์ว่า สุนทรียศาสตร์เป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน ไม่ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้ตัว แต่สุนทรียศาสตร์ได้แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิงที่เป็นแม่ซึ่งมักมีอาการซึมเศร้าหลังคลอด หรือแม้แต่กระทั่งตอนที่ตั้งครรภ์อยู่

ดนตรีบำบัดอาการซึมเศร้าแม่และพัฒนาสมองลูก

ผลการวิจัยจากประเทศไต้หวัน พบว่า ดนตรีซึ่งถือเป็นสุนทรียศาสตร์ประเภทหนึ่ง สามารถช่วยลดอาการซึมเศร้าของแม่ตั้งครรภ์ได้ มีการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ในต่างประเทศ พบว่า เซลล์สมองส่วนที่ชื่อ Nucleus Accumbens (NAc) เป็นเซลล์ตัวสำคัญที่มีผลต่อความรู้สึกทุกข์สุขของคนเรา นิวเคลียส แอ็กคัมเบนส์ คือหัวใจของอารมณ์ซึมเศร้า เป็นเสมือนเกตเวย์ (Gate Way) ที่ยิงสัญญาณไปสู่ที่ต่างๆ

แม่เครียดหลังคลอด

อาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากเกตเวย์บกพร่อง พบว่า คุณแม่หลังคลอด 1 ใน 4 จะมีเซลล์นิวเคลียส แอ็กคัมเบนส์บกพร่อง และสิ่งที่ตามมาคือไม่สามารถรักษาด้วยการใช้ยาได้ เนื่องจากจะส่งผลต่อการให้นมบุตร และเด็กอาจมีโอกาสพิการได้ นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ส่วนการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น การชอร์ตไฟฟ้า มีอันตรายมากเกินไป ดังนั้นการใช้ดนตรีมาช่วยรักษาอาการซึมเศร้า จึงเป็นการค้นพบครั้งสำคัญ

ผลการศึกษาพบว่าเซลล์สมองส่วนนิวเคลียส แอ็กคัมเบนส์ ถูกกระตุ้นให้ทำงานได้ด้วยดนตรี และส่งผลให้หายจากโรคซึมเศร้า นับว่าดนตรีมีคุณประโยชน์มากกว่าการฟังเพลงให้เพราะเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยทำให้ชีวิตของ “แม่” สบายและสมดุลขึ้น นอกจากคลายความกังวลจากโรคซึมเศร้าแล้ว ลูกน้อยยังปลอดภัยอีกด้วย แต่การใช้ดนตรีเพื่อบำบัดนั้น ต้องมีการเลือกเพลงที่
เหมาะสม การฟังต้องตั้งใจฟังอย่างจริงจัง

เพลงคลาสสิกช่วยได้

เพลงบรรเลงโดยเฉพาะเพลงคลาสสิก เหมาะกับแม่ท้องมากที่สุด เนื่องจากเพลงคลาสสิกมีโครงสร้างที่แข็งแรงมีความสมมาตร ซึ่งจะไปกระตุ้นการทำงานของ Reward Circuit ในสมอง ทำให้หลั่งสาร Dopamine ซึ่งเป็นสารเคมีในสมอง หลั่งออกมาจากต่อมไร้ท่อใต้สมอง สารเคมีเหล่านี้มีผลทำให้เกิดอารมณ์แห่งความสุข จิตใจเบิกบานแจ่มใส มีความสุข ทำให้เกิดความสมดุลทางเคมีในร่างกาย หรือที่เรียกกันว่า “สารแห่งความสุข” สารเหล่านี้จะหลั่งต่อเมื่อบุคคลนั้นได้ออกกำลังกายเล่นกีฬาหรือมีสภาพจิตใจที่สงบ

แต่หากคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ได้อยู่ในภาวะที่สามารถฟังเพลงบรรเลง หรือเพลงคลาสสิกได้ การได้ฟังเพลงที่ชื่นชอบ ก็ส่งผลให้มีความผ่อนคลายสบายใจ และหลั่งสารแห่งความสุขออกมาได้เช่นเดียวกัน โดยบทเพลงที่เหมาะกับคุณแม่ จากคำแนะนำของ ชนะ เสวิกุล นักแต่งเพลงชื่อดัง และผู้ที่ทดลองใช้ดนตรีกับลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง ได้แนะนำเพลงที่เหมาะกับแม่ท้องว่า ควรเป็นเพลงที่มีลักษณะดังต่อไปนี้คือ

1.มีท่วงทำนองไพเราะ : เพลงที่มีโน้ตสูงต่ำ ท่วงทำนองไพเราะ ซึ่งจะช่วยให้แม่ท้องเกิดความผ่อนคลายสบายใจ ส่งผลให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข ซึ่งนอกจากจะเกิดประโยชน์กับตัวคุณแม่เองแล้วยังส่งผลดีถึงลูกในท้องด้วย ที่สำคัญท่วงทำนองสูงต่ำ ยังช่วยกระตุ้นการได้ยินของลูก เสียงนี้จะช่วยให้ลูกน้อยในครรภ์ได้สัมผัสกับทำนองเสียงที่หลากหลาย ส่งผลให้ลูกคุ้นชินเสียงต่างๆ ได้ดี

2.จังหวะไม่เร่งรีบ : เพลงที่มี Beat per Minute ระหว่าง 60-80 ซึ่งเป็นจังหวะที่เท่ากับการเต้นของหัวใจที่ลูกในท้องคุ้นชินจากแม่ จึงทำให้ลูกรู้สึกสบายเมื่อได้ยิน นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยพบว่า เป็นจังหวะที่เหมาะกับการฟัง เพราะจะช่วยทำให้ผู้ฟังผ่อนคลายและสบาย

3.เนื้อหากินใจ : เนื้อเพลงที่ใช้จะเลือกเพลงที่มีเนื้อหาด้านบวก บอกเล่าถึงความรักความสุข สร้างจินตนาการ ผ่านคำที่ร้อยเรียง มีความไพเราะ เต็มไปด้วยความหมายดีๆ ช่วยให้ผู้ฟังเกิดความรื่นรมย์

ในส่วนของการส่งเสริมพัฒนาการของลูกนั้น นพ.อุดม ได้ย้ำถึงประโยชน์ของดนตรีกับเด็กว่า การใช้ดนตรีมีผลอย่างชัดเจนต่อการเกิดความจำ สมาธิ และความคิดแบบเชื่อมโยง หากจะอธิบายแบบง่ายๆ คือ การเล่นดนตรี หรือการสัมผัสดนตรี เมื่อเสียงดนตรีเข้าไปในหู จะไปกระทบกับเซลล์ตัวที่หนึ่งที่ได้ยินแล้วกระทบเป็นลูกโซ่ ทำให้เซลล์อีกเป็นล้านๆ ตัวทำงานพร้อมกัน มันเหมือนกับว่าเราป้อนสัญญาณเข้าไปในคอมพิวเตอร์ตัวที่หนึ่ง แต่สัญญาณนี้มันไปกระทบกับคอมพิวเตอร์อีกล้านตัวให้ทำงานสอดคล้องกัน พร้อมเพรียงกัน แต่ทำงานคนละประเภทกัน เพราะฉะนั้นก็จะเกิดการประมวลผล เกิดสมาธิ เกิดความจำ เกิดความสามารถในการคิดเชื่อมโยง 

จากการทดสอบในเด็กที่เล่นดนตรีมาระยะหนึ่ง พบว่าเกิด แกมมาแบนด์ (Gamma Band) ซึ่งเป็นคลื่นความถี่สูงในสมองของเพิ่มขึ้น คลื่นสมองชนิดนี้เกี่ยวข้องกับความสามารถทางด้านภาษา ทั้งภาษาพูดและภาษาอ่าน เกี่ยวข้องกับสมาธิ ความจำ ความสามารถในการมองเห็น ความเชื่อมโยงของรูปทรง ความสามารถในการคิด การใช้เหตุผล และความสามารถทางคณิตศาสตร์ หากส่งเสริมให้เด็กเล่นดนตรีหรือฟังดนตรีอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้เกิดแกมมาแบนด์ในสมองมากขึ้น ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ฝึกคิดเชื่อมโยงได้เก่งขึ้น ส่งผลให้มนุษย์มีความอ่อนโยน กล่อมเกลาด้านอารมณ์อย่างต่อเนื่อง

การฝึกให้เด็กไวต่อสิ่งที่เรียกว่าความรู้สึกประทับใจ สะเทือนใจ ความงาม ความไพเราะ ความละเมียดละไม มีผลดีในแง่ที่สามารถทำให้เกิดสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจผู้อื่นและตัวเอง