posttoday

การออมควรมีเป้าหมาย

25 ตุลาคม 2561

เรื่องสำคัญในชีวิตที่คนทำงานรับเงินเดือนประจำ ลองถามตัวเอง เคยออกแบบชีวิตในวัยเกษียณไว้บ้างหรือไม่?

เรื่อง ราตรีแต่ง

การเกษียณอายุหมายถึง “การหยุดทำงานประจำ และไม่มีรายได้หลักอีกต่อไป” แต่ทุกๆ วัน เราก็ยังไม่ได้หยุดใช้จ่ายต้องกินต้องใช้จ่าย อายุยิ่งยืนยาวเท่าไร ก็ต้องใช้เงินมากขึ้นเท่านั้น

เรื่องสำคัญในชีวิตที่คนทำงานรับเงินเดือนประจำ ลองถามตัวเอง เคยออกแบบชีวิตในวัยเกษียณไว้บ้างหรือไม่? จะเกษียณตอนอายุเท่าไร? หลังเกษียณอยากใช้ชีวิตแบบไหน? อยากทำอะไรต่อไป? เรื่องจำเป็นที่สุดในช่วงบั้นปลาย จะต้องเตรียมเงินไว้ใช้จ่ายเท่าไร? หลายคนวางแผนการเกษียณอายุที่ครอบคลุมรอบด้าน เพื่อเตรียมเข้าสู่ชีวิตในวัยนี้ได้อย่างมีความมั่นคงทางการเงิน ได้ใช้ชีวิตในวัยเกษียณดั่งใจฝัน

ขณะที่อีกหลายๆ คนกลับไม่เคยนึกถึงเรื่องนี้เลยสักครั้ง โดยเฉพาะคนที่เพิ่งก้าวเข้าสู่วัยทำงาน ก็อาจคิดว่าเป็นเรื่องของอนาคต ระยะเวลากว่า 40 ปี ยังอีกยาวไกล ไว้ใกล้ๆ ถึงอายุในวัยเกษียณ เตรียมตัวตอนนั้นก็ยังทัน ซึ่งนี่คือสิ่งที่หลายคนยังเข้าใจผิดๆ ว่าการเตรียมความพร้อมสำหรับการเกษียณ เป็นเรื่องของคนอายุมาก คนวัยใกล้เกษียณ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยิ่งเราเริ่มต้นออมช้าเท่าไร ภาระในการเก็บออมต่อเดือนก็จะยิ่งทวีคูณมากขึ้นเท่านั้น

กฎเหล็กของการออม การลงทุน คือควรทำตั้งแต่วันนี้ โดยมีการตั้งคำถามว่าเรามีเป้าหมายการออมเพื่ออะไร?

การออมเพื่อสร้างความมั่งคง

เพื่อให้แน่ใจว่าการมีเงินเก็บไว้ใช้มากพอ ในวัยเกษียณ ควรเริ่มออมอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ตอนอายุน้อย เป้าหมายนี้เพื่อการสร้างความมั่นคง โดนออมแบบสม่ำเสมอ ในจำนวนคงที่เงินทุกๆ เดือน ถ้าทำได้มีวินัยแล้วเราจะมีดอกผลจากเงินออมเท่าไร มาดูข้อมูลการวางแผนเกษียณ จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แนะนำอายุที่ควรเริ่มต้นออม คือ วัยเริ่มทำงาน-39 ปี เงินออมรายเดือน 10-15% ของเงินเดือน อายุ 40-49 ปี เงินออมรายเดือน 20-25% อายุ 50-54 ปี เงินออมรายเดือน 45-50% อายุ 55-59 ปี เงินออมรายเดือน 80- 85%

สำหรับเป้าหมายการออมให้เงินเติบโต และงอกเงย มีหลากหลายประเภทบัญชีเงินฝากให้เลือกออมได้ตามใจ ออมสั้น หรือออมยาว ออมเพื่อใช้หมุนเวียน ออมเพื่ออนาคต

การออมควรมีเป้าหมาย

การออมเพื่อความมั่นคง ควรกำหนดจำนวนเงินที่ต้องการออม (ต่อเดือน) ระยะเวลา (ต่อปี) อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอัตราสูงสุดประจำต่อปีในเวลานี้คือ 1.5% ถ้าลองคำนวณการออมแบบฝากประจำระยะเวลา 1 ปี เดือนละ 1 หมื่นบาท จำนวนเงินออมที่ได้ คือ 1.2 แสนบาท คิดเป็นจำนวนดอกเบี้ย 1,800 บาท

แต่ถ้าต้องการบรรลุเป้าหมายการออมให้ได้จำนวนมากขึ้น เร็วขึ้น ก็ต้องปรับจำนวนเงินออมให้มากขึ้น หรือลองเริ่มต้นศึกษาข้อมูลใหม่ๆ เพื่อการเลือกลงทุน ให้ได้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ เช่น กองทุนรวม พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นสามัญ ฯลฯ โดยคำนึงถึงผลตอบแทน และความเสี่ยงที่ยอมรับได้

การออมเพื่อสร้างความมั่งคั่ง

หากมีเงินเก็บ 1 ล้านบาท สำหรับใช้จ่ายในการดํารงชีวิตภายหลังเกษียณอายุ และในการใช้ชีวิตประจำวันก็มีความจำเป็นต้องทยอยนำเงินเก็บก้อนนี้ออกมาใช้ประมาณ 10% ต่อปี โดยไม่มีการออม หรือลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนเพิ่มเติมใดๆ อีกทั้งสิ้น นั่นหมายความว่าจะต้องทยอยนำเงินออกมาใช้ปีละประมาณ 1 แสนบาท (10% x 1,000,000) ซึ่งเงินเก็บ 1 ล้านบาทก้อนนี้ จะถูกนำออกมาใช้จนหมดภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี

แต่หากนําเงินไปออม หรือลงทุนเพื่อหาดอกผลเพิ่มเติมโดยเลือกรับผลตอบแทนประมาณ 5% ต่อปี นั่นหมายความว่าสามารถยืดระยะเวลาในการใช้เงินออกไปได้ อีก 4 ปี เพราะจะใช้เงินเก็บเพียง 5% ส่วนอีก 5% มาจากผลตอบแทนจากเงินออมที่ได้เก็บหอมรอมริบ มาตลอดชีวิตการทำงาน บวกกับผลประโยชน์จากการนำเงินไปลงทุน ​

เป้าหมายการออมเงินให้ครบ 1 ล้านบาท สำหรับไว้ใช้หลังเกษียณ สำหรับการเลือกอัตราผลตอบแทนจากเงินออม และเงินลงทุนเฉลี่ยเท่ากับ 5% ต่อปี ถ้าเริ่มออมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อายุ 31 ปี ออมเพียงปีละ 1.5 หมื่นบาท (หรือเดือนละ 1,250 บาท) จะมีเงินครบ 1 ล้านบาทเมื่ออายุ 60 ปี โดยเป็นเงินออม 4.5 แสนบาท และที่เหลืออีกประมาณ 6 แสนบาท เป็นการทำงานของดอกเบี้ย

แต่ถ้าเริ่มออมเมื่ออายุ 51 ปี ก็ต้องออมถึงปีละ 7.5 หมื่นบาท (หรือเดือนละ 6,300 บาท) เพื่อให้มีเงินครบ 1 ล้านบาทเมื่อเกษียณ โดยเป็นการทำงานของดอกเบี้ยเพียง 2.4 แสนบาทเท่านั้น

การออมโดยบัญชีเงินฝากประจำ ระยะเวลาฝาก 12 เดือน เป็นบัญชีเงินฝากระยะยาวสำหรับผู้ที่รักการออม ยิ่งระยะเวลาในการฝากนานขึ้นเท่าใด ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ได้รับ ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ถึงแม้ว่าการฝากเงินในบัญชีเงินฝากประจำจะต้องเสียภาษีดอกเบี้ยรับ (สำหรับกรณีบุคคลธรรมดา เสียภาษีดอกเบี้ยรับ 15%) แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับดอกเบี้ย ซึ่งจะได้รับจากการฝากเงินไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ หรือบัญชีเงินฝากประจำระยะสั้นๆ แล้ว ดอกเบี้ยที่ได้รับก็ยังมากกว่าอยู่ดี