posttoday

ไขความลับ เซลล์ชรากับโรคมะเร็ง (1)

20 ตุลาคม 2561

ปัจจุบันมะเร็งเป็นโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด โดยเฉพาะสังคมที่จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

โดย..ดร.ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมธีวิจัย สกว.

เป็นที่ทราบกันดีว่า “โรคมะเร็ง” เป็นโรคที่พบบ่อยทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก และมีแนวโน้มจะเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่รุนแรงขึ้น

ปัจจุบันมะเร็งเป็นโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด โดยเฉพาะสังคมที่จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เราจะยิ่งพบเจอผู้ป่วยโรคมะเร็งมากขึ้นไปด้วย ประกอบกับประสิทธิภาพของการรักษาโรคนี้โดยรวมยังไม่ดีพอ เราจึงเห็นผู้เสียชีวิตจากโรคนี้และใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะเรายังมีความรู้เกี่ยวกับมะเร็งในเชิงลึกน้อยมาก ดังนั้นงานวิจัยที่ก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจต่อกลไกการเกิดโรคที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ย่อมมีส่วนสำคัญในการพัฒนาวิธีการรักษาและป้องกันการเกิดโรคมะเร็งให้มีประสิทธิผลมากขึ้น

การชราของเซลล์เล็กๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเนื้อเยื่อก่อให้เกิดโรคของการเสื่อมของเนื้อเยื่อต่างๆ ที่นำมาสู่การชราและการเสื่อมของร่างกาย อย่างไรก็ตามกลไกของร่างกายย่อมมีประโยชน์ของมันเสมอ การชราของเซลล์เป็นกลไกที่ร่างกายเรียกใช้เพื่อทำลายเซลล์ที่ไม่ดี เช่น เซลล์ที่ชำรุด หรือเซลล์มะเร็ง ไม่ให้แพร่พันธุ์ต่อไป เมื่อเซลล์สะสมความผิดปกติหรือความเครียดอาจจะเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งได้ ร่างกายจะมีวิธีที่ทำให้เซลล์ที่มีปัญหาเหล่านั้นหยุดแบ่งตัวและออกจากวงจรชีวิตเข้าสู่ภาวะเซลล์ชราทันที

บริเวณที่เนื้อเยื่อที่ถูกพิษบ่อยๆ และสะสมความเครียด เช่น ผิวหนังที่โดนรังสีอัลตราไวโอเลต จะดูแก่ กร้าน ก่อนวัย หรือเนื้อเยื่อตับที่ได้รับสารพิษบ่อยๆ จะเสียการทำงาน ในขณะที่เซลล์มะเร็งมีกลไกการต่อต้านเซลล์ชราและสามารถเอาตัวรอดจากกลไกป้องกันอันนี้ได้

การชราของเซลล์จึงมีหน้าที่ในการควบคุมสมดุลระหว่างการมีอวัยวะและเนื้อเยื่อที่สุขภาพดี อายุยืนยาว และโรคชราหรือโรคมะเร็ง เรียกได้ว่ามีการถ่วงดุลกันทุกวินาทีในร่างกายของเรา ขณะที่ไซคลิน ดี1 ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีในเซลล์ปกติ แต่มักพบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นในมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งลำไส้ มะเร็งเยื่อบุผิว มะเร็งท่อน้ำดี และอื่นๆ ไซคลิน ดี1 จึงเกี่ยวข้องกับมะเร็งของโปรตีนนี้ค่อนข้างชัดเจน และอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็งร้ายได้ อย่างไรก็ดี หน้าที่ของโปรตีนนี้ในมะเร็งยังไม่ปรากฏชัด

ฝ่ายวิชาการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงให้การสนับสนุนทีมวิจัยสหสาขาในการทำวิจัยเรื่อง “บทบาทของไซคลิน ดี1 และเครือข่ายโปรตีนก่อมะเร็งของไซคลิน ดี1 ในการก่อมะเร็งและการรักษาแบบมุ่งเป้า” หลังจากการสังเกตที่ละเอียดลออของทีมงานวิจัยที่พบในห้องปฏิบัติการจากการทำงานอย่างหนักเกือบปีเต็ม