posttoday

ธนา ลิมปยารยะ แบร์บริค มูลค่ามากกว่าแค่ความสุข

17 ตุลาคม 2561

เจ้าหมีพุงย้อย แบร์บริค (Be@rbrick) กลายเป็นสัญลักษณ์ของศิลปะและแฟชั่นและราคาแพงขึ้นทุกวัน

เรื่อง กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี 

เจ้าหมีพุงย้อย แบร์บริค (Be@rbrick) กลายเป็นสัญลักษณ์ของศิลปะและแฟชั่น ซึ่งความน่ารัก หายาก และราคาแพงขึ้นทุกวันมันจึงได้รับความนิยมจากนักสะสมทั่วโลก อย่างในไทยมีคนดังหลายคนสะสมแบร์บริคอย่างจริงจัง แต่คงไม่มีใครนึกถึงซีอีโอหนุ่ม เชน-ธนา ลิมปยารยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมาโด้ กรุ๊ป วัย 31 ปี เพราะภาพนักธุรกิจทำให้คาดไม่ถึงว่าจะมีมุมน่ารักเป็นนักสะสมเจ้าหมีแบร์บริค ราคารวมกว่าครึ่งล้าน

ซีอีโอถอดสูทลงไปขลุกกับเพื่อนอีก 20 ตัว เล่าถึงความชอบเกี่ยวกับของสะสมว่า เขาเป็นคนชอบสะสมมาตั้งแต่เด็กๆ โดยเริ่มจากตั๋วหนัง ซึ่งเขาคิดว่ามันเป็นการเก็บเกี่ยวความฝัน เพราะในวัยเด็กเขาฝันอยากเป็นนักแสดง

ธนา ลิมปยารยะ แบร์บริค มูลค่ามากกว่าแค่ความสุข

“ผมเก็บตั๋วหนังไว้เยอะมากๆ เก็บทุกเรื่องที่ดู เพราะตอนนั้นผมอยากเป็นนักแสดงทำให้ชอบดูหนัง พอดูเยอะเข้าก็อยากเป็นผู้กำกับ ซึ่งในตอนนั้นการทำงานในวงการบันเทิงเป็นเรื่องยากมากแต่ก็เป็นความฝันในวัยเด็กช่วงหนึ่งที่ผมยังจำได้ดีส่วนเจ้าตั๋วหนังที่ผมเก็บไว้ปรากฏว่าพอเก็บไปนานๆ หมึกบนกระดาษมันจางจนอ่านไม่รู้ว่าคือเรื่องอะไร กลายเป็นว่าความทรงจำของเรามันหายไป และกระดาษแผ่นนั้นก็หมดความหมายไปเลย ซึ่งมันสะเทือนใจผมมากพอสมควรถึงขนาดทำให้ผมไม่สะสมอะไรอีกเลยมาประมาณ 10 ปี”

เชนมองย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้นพบว่า ตลอด 10 ปีที่ชีวิตไม่มีงานอดิเรกเป็นการสะสมอะไรสักอย่างตรงกับช่วงที่เขากำลังเติบโตในการทำงาน ทั้งในฐานะนักร้องไปจนถึงช่วงการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งเมื่อเริ่มเป็นนักธุรกิจก็เริ่มมองหาของสะสมชิ้นใหม่ที่สามารถสร้างความสุข มีค่าและเก็บได้นาน

“ช่วงนั้นพอผมเริ่มทำธุรกิจจนตัวเองไม่ลำบากแล้วจึงเริ่มมองหางานอดิเรก โดยในช่วงแรกผมชอบเลี้ยงปลาคาร์ป ประเภทปลาคาร์ปประกวด ตัวละ 3 แสนบาทขึ้นไป โดยเลี้ยงไว้ในฟาร์มที่ญี่ปุ่นแล้วจ้างคนดูแล ซึ่งวงการเลี้ยงปลาคาร์ปก็เหมือนกีฬากอล์ฟที่คนเล่นเพราะความชอบและมีผลพลอยได้คือการเข้าสังคมกับนักธุรกิจ พอผมลุยจนสุดคือ ส่งเข้าประกวดจนได้แชมป์ คนเลี้ยงปลาคาร์ปประกวดส่วนใหญ่พอได้แชมป์ก็จะขายต่อเพื่อเอากำไร แต่ผมตัดใจขายไม่ได้เพราะผูกพันกับมัน เลยนำกลับมาเลี้ยงต่อที่เมืองไทย ลงทุนสร้างระบบบ่ออย่างดีที่บ้าน และที่บ้านเรือนหอก็ลงทุนไป 2 ล้านบาทไว้เลี้ยงปลาคาร์ป 40 ตัว มูลค่ารวมกันทั้งบ่อน่าจะมี 4 ล้าน”

ธนา ลิมปยารยะ แบร์บริค มูลค่ามากกว่าแค่ความสุข

หลังจากยุคปลาคาร์ปจบลง เชนได้หาของสะสมอื่นจนได้รู้จักกับเจ้าแบร์บริค ซึ่งในตอนนั้นเขาทราบแค่ว่า มีคนเริ่มสะสมและเป็นของหายาก

จากนั้นจุดเริ่มต้นในการสะสมหมีพลาสติกเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เชนเล่าว่า เขาไปเจอแบร์บริคที่ทำจากคาร์บอนราคาแสนกว่าบาท นาทีนั้นเขาตัดสินใจซื้อเพื่อเปิดประเดิมในการสะสมตัวแรก “แต่ทางร้านกลับบอกไม่มีของ” เขาเล่า “จุดนี้แหละที่มันค้างคาใจเพราะเหมือนมีเงินแต่ซื้อไม่ได้ และกลายเป็นว่าทำให้ผมอยากได้มันมากเข้าไปใหญ่ พอกลับมาเมืองไทยก็เสิร์ชหาทุกเว็บไซต์แต่ก็ไม่มีใครขายตัวนั้นเลย”

หลังจากนั้นเขาจึงเริ่มสะสมแบร์บริคตัวที่จองทัน อย่าง 23 ตัวที่เห็นก็มาจากการแย่งจองกับเหล่าบรรดานักสะสมคนอื่นผ่านทางเว็บไซต์

แบร์บริคถูกออกแบบและผลิตโดย บริษัท Medicom Toy บริษัทของเล่นยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น เปิดตัวครั้งแรกเมื่อ 17 ปีที่แล้วที่กรุงโตเกียวในฐานะของที่ระลึก จากนั้นได้ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นของสะสมราคาแพง มีรูปร่างเป็นหมีแต่มีลักษณะเหมือนคน ประกอบด้วย
ชิ้นส่วน 9 ชิ้น คือ หัว ลำตัว แขน (2 ชิ้น) มือ (2 ชิ้น) สะโพก และขา (2 ชิ้น) ส่วนใหญ่ทำจากพลาสติกแข็ง แต่มีบ้างที่ทำจากผ้าสักหลาด ไม้ และคาร์บอน

บริษัทผู้ผลิตจะปล่อยให้จอง 2 รอบ คือ ช่วงฤดูร้อน และฤดูหนาว แบ่งออกเป็นซีรี่ส์และไทป์ส โดยแต่ละซีรี่ส์มี 4 ไทป์สหลักได้แก่ เบสิก คือ หมีสีเรียบทั้งตัวจำนวน 9 ตัว แต่ละตัวมีตัวอักษรของคำว่า Be@rbrick อยู่บนอก สแตนดาร์ด คือ หมีที่มีธีมต่างกัน อาร์ติสต์ คือ หมีที่ออกแบบร่วมกับศิลปินหรือแบรนด์สินค้าอื่น และซีเคร็ต คือ รูปแบบที่ไม่เปิดเผย ซึ่งสิ่งที่ทำให้มีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของนักสะสม เพราะมันจะไม่มีการผลิตซ้ำเพื่อจำหน่ายใหม่ ดังนั้นยิ่งเก่าจะยิ่งมีคุณค่าและมีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับราคาขายมีตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึง 6 ล้านบาท ซึ่งตัวที่เชนเป็นเจ้าของตกอยู่ตัวละประมาณ 4 หมื่นบาท (บางตัว 6 หมื่นบาท) ทั้งแบร์บริคแมวกวักสีทอง 3 ตัว ซึ่งเป็นตัวที่เขาวางไว้ในห้องทำงานร่วมกับหิ้งบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิ่งเสริมฮวงจุ้ย รวมไปถึงแบร์บริคชุดสตาร์วอร์ส สไปเดอร์แมน สพันจ์บ๊อบ มิกกี้เมาส์และมินนี่เมาส์

ส่วนแบร์บริคตัวคาร์บอนที่เขาอยากได้สุดท้ายไม่ได้ตามต่อเพราะราคาดีดพุ่งไปถึง 2 แสนบาท ซึ่งเขากล่าวว่า ตอนนี้ยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการสะสมจึงขอลงทุนกับราคาหลักหมื่นก่อน เป็นการค่อยๆ สะสมประสบการณ์ และราคาหลักหมื่นสามารถขายต่อได้ง่ายกว่าตัวหลักแสนด้วย

“การตัดสินใจซื้อแต่ละตัวนอกจากจะซื้อตัวที่ชอบและอยากได้แล้ว ผมยังมองเรื่องกำไร คล้ายๆ กับคนสะสมนาฬิกา ซึ่งแบร์บริคที่เป็นตัวลิมิเต็ดราคาจะสูงขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว แต่ในอีกมุมหนึ่งคือ แม้จะรู้ว่าถ้าปล่อยขายจะได้กำไรแต่ผมก็ไม่อยากขาย ช่วงที่สะสมมา 3 ปีผมยังไม่เคยขายเลยมีแต่ยกให้คนอื่น เพราะผมรู้สึกว่าแต่ละตัวกว่าเราจะจองได้ กว่าจะได้มันมาไม่ใช่เรื่องง่าย และมันกลายเป็นความสุขของเราไปแล้วที่ได้เป็นเจ้าของพวกมัน”

เมื่อถามถึงประโยชน์ของเจ้าหมีพลาสติก เชนบอกว่า แบร์บริคเป็นความสุขทางใจของนักสะสม ผู้ที่ได้ครอบครองสิ่งที่ผลิตขึ้นมาอย่างจำกัด ซึ่งนั่นหมายความว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นเจ้าของมันได้ และมันยังเป็นของแต่งบ้านที่ไม่ต่างอะไรจากงานศิลปะ เพราะแบร์บริคแต่ละตัวก็ผ่านการออกแบบและสร้างสรรค์จนกลายเป็นงานศิลป์ที่มีความร่วมสมัย ทำให้บ้านดูทันสมัยและสดใสขึ้น

ธนา ลิมปยารยะ แบร์บริค มูลค่ามากกว่าแค่ความสุข

“ผมคิดว่าของสะสมเป็นเหมือนไดอารี่ชีวิตเรา อย่างตั๋วหนังที่ไม่มีค่าอะไรแต่มันเป็นกระดาษที่เก็บความทรงจำว่าเราเคยดูหนังกับใคร มีความประทับใจอะไร ซึ่งหนังแต่ละเรื่องที่เลือกดูมันสามารถบอกได้ว่าตอนนั้นชีวิตเราเป็นยังไง หรือแม้กระทั่งตอนนี้ที่ผมหันมาสะสมแบร์บริค มันทำให้ผมเบรกจากการทำงาน เพราะถ้าเราบ้าทำงานอย่างเดียวก็จะเครียดจนไม่มีความสุข”

ซีอีโอหนุ่มกล่าวถึงธุรกิจอาหารเสริมในช่วงที่ผ่านมาว่า ค่อนข้างมีความท้าทายและความกดดันสูง เนื่องจากกระแสความไม่น่าเชื่อถือของอาหารเสริมในเมืองไทย แต่ด้วยความถูกต้องในการทำธุรกิจทำให้เขารอดพ้นวิกฤตมาได้ และในปีหน้าเขามีแผนทำการใหญ่คือ นำบริษัทเข้าตลาดหุ้นและยกระดับให้เป็นแบรนด์แถวหน้าของเมืองไทยที่คนไทยไว้ใจให้ได้

ธนา ลิมปยารยะ แบร์บริค มูลค่ามากกว่าแค่ความสุข

“ตอนนี้ผมมาเร็วกว่าที่คิดไว้หลายก้าว” เชนกล่าวต่อ “ผมเป็นลูกคนจีนอยู่ระบบกงสี เคยวางแผนชีวิตไว้ว่าหลังจากจบมหาวิทยาลัย จะไปเรียนต่อเมืองนอก 2 ปี จากนั้นจะกลับไปช่วยธุรกิจที่บ้านซึ่งกว่าจะเก็บเงิน แต่งงาน และมีบ้านของตัวเองน่าจะอายุ 35 แต่พอมันมีคำว่า ธุรกิจออนไลน์ เข้ามาแล้วผมวิ่งตามมันทันทำให้ทุกอย่างเร็วขึ้น ผมเริ่มเข้าวงการบันเทิงและทำธุรกิจไปพร้อมๆ กันตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยตอนอายุ 19 จนตอนนี้ผมอายุ 31 ผมมีบ้าน มีธุรกิจเป็นของตัวเอง และภรรยาจะคลอดลูกสิ้นปีนี้ ส่วนในช่วงชีวิตต่อไป
ผมจะยังไม่ยอมแพ้ให้กับออนไลน์มาร์เก็ตติ้งจะพยายามเข้าใจโลกออนไลน์ และจะพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ให้ทันธุรกิจออนไลน์”

นอกจากนี้ ว่าที่คุณพ่อยังกล่าวถึงการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานว่า ถ้าสร้างสมดุลชีวิตได้ก็จะเรียนรู้ชีวิตได้ เพราะมนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อทำอะไรอย่างเดียวซ้ำๆ ตลอดชีวิต

“วันนี้การทำงานอาจทำให้จังหวะชีวิตเร็ว รวบรัด และรุนแรง เพราะเรากำลังต่อสู้กับโลกออนไลน์ ซึ่งถ้าวันนี้ต้องทุ่มกับการทำงานก็ต้องทำให้เต็มที่เพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันคือการแข่งขันกันในระยะเวลาอันสั้น แต่ถ้าทำสำเร็จแล้วอย่าลืมให้รางวัลตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นของสะสมที่ทำให้คุณมีความสุขและเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และที่สำคัญที่สุดคือ อย่าลืมครอบครัว เสาหลักของชีวิตที่มีค่าที่สุดและหาซื้อทดแทนไม่ได้”เขากล่าวทิ้งท้าย