posttoday

พลังบวร พลังแห่งการให้ที่บริสุทธิ์

15 ตุลาคม 2561

โครงการใหม่ที่รวมพลังในการเป็นผู้ให้ระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง

เรื่อง วรธาร ทัดแก้ว 

หากใครเห็นเยาวชนหญิงกลุ่มหนึ่งประมาณ 30 คน สวมเสื้อสีส้มอมเหลือง สกรีนข้อความด้านหน้าว่า “พลังบวร เดินไปเยี่ยม เดินไปหา เดินไปให้” กำลังเดินเยี่ยมในชุมชนรอบโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัยหลังเวลาเลิกเรียน ขอให้รู้ว่านี่คือกลุ่มเยาวชนที่เป็นพลังบริสุทธิ์ใน “โครงการพลังบวร เดินไปเยี่ยม เดินไปหา เดินไปให้” ที่อยู่ในความริเริ่มและรับผิดชอบของวัดยานนาวา โดยจับมือกับโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

นับเป็นโครงการใหม่แกะกล่องเพิ่งขับเคลื่อนมาได้ประมาณ 1 เดือนกว่าๆ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากชุมชนดีมากเนื่องจากเด็กเหล่านี้เป็นพลังบริสุทธิ์ไม่มีผลประโยชน์อื่นแอบแฝง ส่วนเยาวชนที่ได้ลงพื้นที่เพียงแค่ 2 ครั้ง เพื่อเยี่ยมเยียนและสำรวจข้อมูลบุคคลเป้าหมายที่เป็นผู้สูง
วัย ผู้ป่วยติดเตียง อยู่คนเดียว ไม่มีญาติพี่น้องดูแล รวมถึงผู้ที่เปราะบางในสังคม ก็สนุกกับการเป็นผู้ให้ (ให้กำลังใจและสิ่งของ) ด้วยรอยยิ้มที่สดใส

พลังบวร พลังแห่งการให้ที่บริสุทธิ์

พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ (วีรพล วีรญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา ฝ่ายการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนโครงการนี้ กล่าวว่า จุดประสงค์ของพลังบวร เดินไปเยี่ยม เดินไปหา เดินไปให้ เพื่อต้องการเปิดพื้นที่สีขาวให้กับสามเณรผู้เป็นศาสนทายาทและเยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติได้รู้จักคำว่าให้อันเป็นการทำบุญที่ง่ายที่สุด ซึ่งสามารถเริ่มได้ด้วยการให้กำลังใจหรือสิ่งของ แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องการให้สามเณรและเยาวชนได้รู้จักการประพฤติตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้ และสามารถเป็นที่พึ่งคนอื่นได้ตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาที่เรียกว่าอัตถจริยาด้วย นี่คือเป้าหมายโครงการ

“พลังบวร คือการรวมพลังในการเป็นผู้ให้ระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง ซึ่งวัดยานนาวาถือเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนโครงการ โดยมีสามเณรวัดยานนาวาร่วมเป็นตัวแทนขับเคลื่อน บ้าน หมายถึง ชุมชนรอบโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ส่วนโรงเรียนคือโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย โดยนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่มาจากชมรม ST Spirit ซึ่งเป็นชมรมจิตอาสาที่ตั้งขึ้นในโรงเรียน ประมาณ 30 คน ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ โดยมีสโลแกนว่า เดินไปเยี่ยม เดินไปหา เดินไปให้”

พลังบวร พลังแห่งการให้ที่บริสุทธิ์

พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ เล่าว่า ในการขับเคลื่อนโครงการก่อนจะให้นักเรียนและสามเณรลงไปสำรวจชุมชนรอบโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัยซึ่งเป็นชุมชนเป้าหมายของโครงการ ได้มีการประชุมทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการให้กับสามเณรและนักเรียนได้รู้ พร้อมนำสามเณรและนักเรียนไปพบครูเชาว์-เชาวลิต สาดสมัย ฮีโร่ของเด็กเร่ร่อนบริเวณชุมชนใต้สะพานพระราม 8 เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

“อาตมาต้องการให้สามเณรและเด็กนักเรียนได้เรียนรู้วิธีการทำงานจากครูเชาว์ที่ท่านทำงานเพื่อเด็กเร่ร่อนใต้สะพานพระราม 8 รวมทั้งเด็กด้อยโอกาสในชุมชน ตลอดจนคนแก่ที่อยู่คนเดียว หรือคนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มานาน เพื่อให้ครูเชาว์ได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์การทำงานให้เด็กๆ และถือเป็นความโชคดีที่ครูได้พาเยี่ยมชุมชนต่างๆ 4-5 ชุมชน ตั้งแต่วัดคฤหบดี เขตบางพลัด มาจนวัดดาวดึงษาราม พร้อมนำสิ่งของไปให้ด้วย ทำให้นักเรียนและสามเณรเข้าใจวิธีการทำงานเป็นอย่างดี หลังจากนั้นต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เหล่านักเรียนก็ได้เดินไปเยี่ยมชุมชนสตรีศรีสุริโยทัยและชุมชนบ้านแบบ ปรากฏว่าได้รับการอำนวยความสะดวกจากชาวบ้านและคนในชุมชนเป็นอย่างดี”

ด้าน อภิรักษ์ ปานประเสริฐ ครูที่ปรึกษาชมรม ST Spirit เล่าว่า โครงการพลังบวรถือเป็นโครงการแปลกใหม่สำหรับนักเรียนชมรม ST Spirit ก่อนนี้ตั้งแต่ตั้งชมรมมานักเรียนในชมรมมักจะคุ้นเคยกับการทำโครงการจิตอาสาทั่วๆ ไป โดยโครงการที่ทำมาต่อเนื่องตั้งแต่ตั้งชมรมคือการนำสิ่งของไปมอบให้กับเด็กกำพร้าที่วัดโบสถ์
วรดิตถ์ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ซึ่งเด็กๆ ก็จะหาทุนและซื้อของไปมอบเอง แต่โครงการพลังบวรเป็นการให้เด็กๆ ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลบุคคลเป้าหมายและหาวิธีช่วยเหลือต่อไป

พลังบวร พลังแห่งการให้ที่บริสุทธิ์

“ถือเป็นโครงการที่ดีมาก ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้หลายอย่าง นอกเหนือจากการหาวัตถุสิ่งของไปช่วย สิ่งที่ผมได้เห็นจากการคลุกคลีกับเด็กๆ กลุ่มนี้คือ พวกเขามีความกระตือรือร้นตื่นตัวอย่างมาก มีความสุขกับการลงไปสัมผัสชีวิตของคนในชุมชน ได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ที่หลากหลายรูปแบบเชื่อเลยว่าสิ่งที่เขาไปเห็น ข้อมูลที่เขาได้รับจากคนในชุมชนจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนชีวิตของเขาในอนาคตเป็นอย่างดี” ครูที่ปรึกษา กล่าว

ด้าน ธันยพร อักษาพิมพ์ นักเรียนชั้น ม.5 เล่าถึงความประทับใจในการไปสำรวจชุมชนให้ฟังว่า มียายคนหนึ่งชื่อยายวัด อยู่ชุมชนศรีสุริโยทัย อายุ 74 ปี อยู่คนเดียว ไม่มีลูกหลาน ไม่มีญาติ คนในชุมชนช่วยกันทำที่พักให้ จากช่องระหว่างกำเเพงกับตึกเเถว ไม่น่าจะเกิน 2 เมตร ยายหารายได้ด้วยการซ่อมกางเกง รับเปลี่ยนซิป ทำเท่าที่ทำได้ แต่ยายเป็นคนน่ารัก อัธยาศัยดี

“หนูไปกับเพื่อนๆ โดยมีครูโต้ง (อภิรักษ์ ปานประเสริฐ) ไปด้วยค่ะ ครูโต้งได้บอกกับยายว่า โอกาสหน้าจะพาพระเณรมาให้พรที่บ้านด้วย ยายเลยมองครูโต้งแล้วพูดว่าหลวงพ่อมา 555 ความอารมณ์ดีของยาย แต่ก็มีบางอย่างบ่งบอกถึงการกลบเกลื่อนความเหงาเเละการต้องดิ้นรนสู้ชีวิตค่ะ ขอขอบคุณโครงการนี้ที่ทำให้หนูได้สิ่งดีๆ มากมาย”

ด้าน พราว-ลลิตา เอกวรรณ ชั้น ม.3 และฟ้า-มนทิรา นิรัติศัยวรกุล ชั้น ม.4 เปิดเผยความรู้สึกในทำนองเดียวกันว่า เป็นโครงการที่ดีมาก ทำแล้วรู้สึกดี ชีวิตมีคุณค่า และมีความสุขปีติทุกครั้งจากการลงไปพื้นที่ ไม่ว่าจะไปสำรวจ หรือตอนนำสิ่งของที่จำเป็นไปมอบให้

“สำหรับสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคที่เรานำไปช่วยเหลือนั้นเป็นของที่ทางวัดยานนาวาให้มา คือพอเราไปสำรวจข้อมูลมาแล้วว่ามีใครบ้างที่ควรช่วยเหลือหรือควรช่วยอย่างเร่งด่วน เราก็กลับมาเอาของที่วัดยานนาวา เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่มนม ผงซักฟอก ซึ่งทางพระอาจารย์ได้จัดหาไว้เอาไปให้ แต่ว่าต่อไปพวกหนูอยากจะหาทุนด้วยตัวเองช่วยอีกทางหนึ่ง เช่น จัดกิจกรรมเปิดหมวก หาของขายเพื่อหาทุนซื้อของไปให้ เพราะเรามีข้อมูลบุคคลอยู่แล้ว อีกอย่างพวกหนูเคยทำมาแล้วตอนที่ไปช่วยเด็กกำพร้าที่อ่างทอง” ลลิตา และมนทิรา กล่าว

พลังบวร พลังแห่งการให้ที่บริสุทธิ์

พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ กล่าวว่า หัวใจของโครงการนอกจากการเดินไปเยี่ยมและการเดินไปให้แล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือการเดินไปหา ซึ่งคำว่า “หา” ในที่นี้คือการหาเครือข่ายให้กระจายแพร่หลาย เพราะการทำคนเดียวนั้นไม่อาจสำเร็จได้

“ตอนนี้นักเรียนในโครงการมีประมาณ 30 คน ไม่รวมสามเณร ใน 30 คนนี้เราก็จะใช้วิธีดาวกระจายความดีด้วยการไปหาสมาชิกเพิ่ม คนหนึ่งอาจจะหาอีก 2 คนเชื่อว่าต่อไปสมาชิกโครงการต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ตอนนี้มี 30 คน ต่อไปพอสิ้นปีอาจจะเพิ่มมาเป็น 80 คน สงกรานต์ 100 คน โครงการอาจจะทำเดือนละ 2 ครั้ง ใครว่างก็มา ไม่จำเป็นว่าต้องมาทุกครั้งก็ได้ โครงการนี้พอเราทำไปได้ระยะหนึ่งก็จะประเมิน ทบทวน สรุปบทเรียน ต่อไปก็จะให้เด็กๆ เหล่านี้ไปขายฝันให้กับโรงเรียนอื่นๆ ในเขตยานนาวา บางคอแหลม ส่วนโรงเรียนนั้นๆ จะเอาด้วยหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง

อาตมาคิดว่าถ้าวัดยานนาวาคู่กับสตรีศรีสุริโยทัย วัดสุทธิวรารามคู่กับโรงเรียนวัดสุทธิฯ วัดด่านหรือวัดปริวาสคู่กับโรงเรียนเจ้าพระยา ย่านพระราม 3 วัดทองบนคู่กับโรงเรียนยานนาเวศ ถนนสาธุประดิษฐ์ คือ 1 วัด 1 โรงเรียน โดยวัดต้องเป็นศูนย์กลาง เชื่อว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ถ้าเกิดวัดยานนาวาไปทุกที่ วัดแถวนั้นคงไม่ต้องทำอะไร เพราะฉะนั้นวัดต้องช่วยกัน ขณะเดียวกันโรงเรียนก็ต้องเอาด้วย เพราะตบมือข้างเดียวไม่ดังแน่นอน”

โครงการพลังบวร เดินไปเยี่ยม เดินไปหาเดินไปให้ เป็นโครงการที่ต้องอาศัยใจล้วนๆ ไม่มีคะแนนสำหรับนักเรียน แต่ทุกคนทำด้วยใจ ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าโครงการนี้จะเชิดชูส่งเสริมให้เด็กๆ เจริญงอกงามในสังคมอย่างแน่นอน ถ้าไม่เชื่อลองเป็นผู้ให้แล้วคุณจะรู้ว่าพลังของการให้ยิ่งใหญ่แค่ไหน