posttoday

หุ่นยนต์ไทย อยู่จุดไหนในชีวิตเรา

08 ตุลาคม 2561

หุ่นยนต์ไทย ถูกพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันของมนุษย์แล้ว

เรื่อง โยธิน อยู่จงดี 

หากเราย้อนเวลากลับไปเมื่อ 15 ปีก่อน การแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอล หุ่นยนต์กู้ภัย และหุ่นยนต์ด้านอื่นๆ ได้รับความสนใจจากนักศึกษาและประชาชนคนไทยเป็นอย่างมากในช่วงเวลานั้น

แต่แล้ววันหนึ่งภาพหุ่นยนต์เหล่านี้ก็เลือนหายไป ไม่ว่าจะเป็นเพราะกระแสสังคมที่หันเหให้ความสนใจด้านอื่น หรือเหตุผลบางอย่างที่ทำให้ข่าวสารการพัฒนาหุ่นยนต์ของคนไทยนั้นชะงักไป แต่แท้จริงแล้วองค์ความรู้ในการพัฒนาหุ่นยนต์เหล่านี้ได้เข้ามาสู่วิถีชีวิตของพวกเราแล้วต่างหาก

หุ่นยนต์ไทย อยู่จุดไหนในชีวิตเรา

จากหุ่นยนต์เตะบอล สู่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นในบ้าน

ภายในงานแถลงข่าวการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวิชาการหุ่นยนต์นานาชาติ รายการ RoboCup 2021 Bangkok, Thailand ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน มิ.ย. 2564 ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตนายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย เล่าถึงการพัฒนาหุ่นยนต์ของประเทศไทยในเวลานี้ว่า

“ต้องบอกว่าตอนนี้เรากำลังพยายามพัฒนาประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ และสร้างองค์ความรู้ด้านหุ่นยนต์ของเราเองขึ้น และเตรียมพร้อมกับการแข่งขันทางธุรกิจสตาร์ทอัพ ตามนโยบายของรัฐบาลที่เห็นความสำคัญในการพัฒนาหุ่นยนต์ของประเทศไทยเพื่อแข่งขันในระดับโลก

หากมองย้อนกลับไปในช่วงประมาณ 15 ปีที่แล้ว ก็ถือว่าเป็นช่วงยุคเริ่มต้นที่วงการหุ่นยนต์ซึ่งจะบูมมากตอนนั้น เริ่มมีการจัดการแข่งขันซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีจนถึงทุกวันนี้ การแข่งขันโรโบคัพ หรือหุ่นยนต์เตะฟุตบอล ตอนนั้นอาจจะมีคนพัฒนาเพียงไม่กี่กลุ่ม แล้วก็ยังขาดนักวิชาการที่มีองค์ความรู้ทางด้านหุ่นยนต์ มีงานวิจัยทางด้านหุ่นยนต์ในประเทศไทยอยู่ค่อนข้างน้อย ต้องเดินทางไปศึกษาที่ต่างประเทศ”

หุ่นยนต์ไทย อยู่จุดไหนในชีวิตเรา

แต่หากมองปัจจุบันในทุกวันนี้ ก็เรียกได้ว่าค่อนข้างจะแพร่หลาย ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ชี้ว่า มีนักวิชาการกระจายตัวอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ มากขึ้น มีการส่งนักวิชาการไปศึกษาวิทยาการด้านหุ่นยนต์ในต่างประเทศ และนำกลับเข้ามาพัฒนาในประเทศไทย

รวมทั้งมีหลายๆ สถาบันที่มีความสามารถในการพัฒนาหุ่นยนต์ด้านต่างๆ อย่างเช่นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ก็จะมีความสามารถทางด้านการทำหุ่นยนต์กู้ภัย หรือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็มีความสามารถทางด้านการเขียนโปรแกรมของหุ่นยนต์ ถ้าเป็นทางมหาวิทยาลัยมหิดล ก็มีการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ใช้ทางด้านการแพทย์ แต่ละสถาบันก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป

“ถามว่างานการพัฒนาหุ่นยนต์ในประเทศไทยที่พัฒนากันมา 10 กว่าปีนั้น เมื่อไหร่จะได้ใช้ ที่จริงเราต้องบอกว่า การพัฒนาหุ่นยนต์นั้นมันอาจจะยังไปไม่ถึงปลายทางตามโจทย์ที่เราเห็นมากนัก อย่างเช่นหุ่นยนต์เตะฟุตบอล ตอนนี้ก็ยังไม่ได้เตะฟุตบอลได้อย่างคล่องแคล่วตามที่คาดหวัง แต่เทคโนโลยีที่ใช้ในหุ่นยนต์เตะฟุตบอลบางอย่างได้ถูกพัฒนาไปใช้งานได้จริงในด้านอื่น

ที่เห็นได้ชัด ก็คือ หุ่นยนต์ที่ใช้ในการจัดการด้านโลจิสติกส์ ที่ใช้ในบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น บริษัท แอมะซอน หรือบริษัท อาลีบาบา ที่ใช้หุ่นยนต์ขนาดเล็กในการจัดการขนถ่ายสินค้าภายในโรงงาน นั่นก็คือเทคโนโลยีบางส่วนที่ถูกถ่ายทอดและพัฒนาต่อยอดมาจากหุ่นยนต์เตะฟุตบอล

ในสมัยก่อนที่เราเห็นหุ่นยนต์เตะฟุตบอลวิ่งไปตามตำแหน่งต่างๆ ในสนามและทำหน้าที่ตามที่ได้โปรแกรมเอาไว้ และเทคโนโลยีในรูปแบบเดียวกันก็ถูกนำมาใช้ในหุ่นยนต์ดูดฝุ่นหรือหุ่นยนต์ทำความสะอาดที่มีวางขายใช้งานอยู่ตามบ้านในปัจจุบัน ก็เป็นอีกหนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนามาจากหุ่นยนต์เตะฟุตบอล เพียงแต่ว่ารูปแบบการใช้งานอาจจะไม่ใช่ในรูปแบบของการเตะฟุตบอลหรือการเคลื่อนที่วิ่งไปในสนามอีกต่อไป แค่เอาเทคโนโลยีในรูปแบบเดียวกันนั้นมาพัฒนาใช้งานด้านอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน”

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ บอกว่า หากมองย้อนกลับไปในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยี ก็จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีที่เคยใช้ในการทหาร หรือเทคโนโลยีด้านอวกาศบางอย่าง ถูกนำมาแก้ไขให้ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันของเราได้

“การพัฒนาหุ่นยนต์ของคนไทยก็เช่นเดียวกัน องค์ความรู้ไม่ได้หายไปไหน แต่ถูกนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันของพวกเราแล้ว และตอนนี้ก็มีบริษัทของคนไทยหลายเจ้าที่กำลังพัฒนาสินค้าที่ต่อยอดจากองค์ความรู้ด้านหุ่นยนต์เตะฟุตบอลที่เคยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศออกมาเป็นสินค้าเพื่อวางจำหน่ายในอนาคต”

หุ่นยนต์ไทย อยู่จุดไหนในชีวิตเรา

หุ่นยนต์กู้ภัย รอผ่านมาตรฐานรับรอง

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ยกอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จในการพัฒนาหุ่นยนต์ไทย ก็คือหุ่นยนต์กู้ภัย ผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือล่าสุดไปคว้าแชมป์ จากการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก “World Robocup Rescue 2018” เมื่อกลางปีที่ผ่าน โดยเอาชนะประเทศมหาอำนาจด้านหุ่นยนต์ อย่าง ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา คว้าแชมป์สมัยที่ 9 ไปครองว่า

“การออกแบบหุ่นยนต์กู้ภัยของเด็กไทยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นการออกแบบที่เรียกได้ว่าค่อนข้างจะสมบูรณ์แบบมากทางด้านฮาร์ดแวร์คว้ารางวัลต่างๆ มากมาย สามารถทำงานได้ตามโจทย์ต่างๆ ที่ผู้จัดงานแข่งขันต้องการ

เรียกได้ว่า การออกแบบทั้งด้านฮาร์ดแวร์การใช้งานของเรานั้น สามารถใช้งานได้จริงและใช้งานได้ดี เคยเอาไปใช้ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการกู้ภัยเก็บข้อมูลและพัฒนามาโดยตลอด ซึ่งผลงานเด็กไทยได้ออกแบบไว้นั้นสามารถทำได้ดีในทุกสถานการณ์”

เพียงแต่ยุคปัจจุบัน ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ขยายภาพอนาคตให้เห็นว่า ยังต้องพัฒนาเพิ่มเติมด้านปัญญาประดิษฐ์ให้หุ่นยนต์สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองอย่างถูกต้อง

“ความเห็นส่วนตัว ผมมองหุ่นยนต์ตัวนี้สามารถใช้งานภาคสนามได้จริงแล้ว แต่การที่จะทำออกมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์นั้น จากประสบการณ์ของผมที่ผ่านมา ตั้งแต่ในยุคพัฒนาเริ่มแรกจนถึงทุกวันนี้ เรามีอุปสรรคติดขัดทางด้านข้อกฎหมายในเรื่องของการออกมาตรฐานรับรอง ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยังไม่มีการถูกกำหนดขึ้นมาก่อนเกี่ยวกับเรื่องของการพัฒนาหุ่นยนต์ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือมาตรฐานทางด้านความปลอดภัยในเรื่องการใช้งาน

สินค้าต่างๆ ที่จะวางขายในท้องตลาดจะต้องผ่านมาตรฐานต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจและอุ่นใจได้ว่า สินค้าที่พวกเขาซื้อไปนั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพคุ้มค่าคุ้มราคาปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีการตั้งมาตรฐานการพัฒนาหุ่นยนต์เหล่านี้ ตัวผมเองก็ต้องผันตัวไปเป็นคณะกรรมการเสนอข้อมูลกับรัฐบาล ในการจัดตั้งหน่วยงานที่สามารถรับรองมาตรฐานของหุ่นยนต์”

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ บอกต่อว่า ต้องมองในมุมของผู้ใช้งานจริง สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชิ้นต้องมีการกำหนดอายุการใช้งานขั้นต่ำเช่น เครื่องรับโทรทัศน์ต้องใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า
5 ปี เมื่อเสียก็ต้องมีอะไหล่ที่ช่างสามารถหาซื้อมาซ่อมได้หุ่นยนต์กู้ภัยก็เช่นเดียวกัน ต้องมีการทดสอบการใช้งานภาคสนาม มีการวางระบบการบำรุงรักษา ก่อนที่จะขอวางจำหน่ายสินค้า

ไม่เหมือนกับตอนทดสอบกับเจ้าหน้าที่ หากมีปัญหาแล้ววิศวกรอยู่ด้วยก็สามารถแก้ไขได้ทันที แต่ถ้าออกจำหน่ายก็ต้องมีระบบดูแลสินค้าหลังการขายควบคู่ไปด้วย เป็นสิ่งที่นักวิจัยนั้นไม่ถนัดที่จะเข้ามาเรียนรู้เรื่องการขอใบรับรอง หรือเรียนรู้ด้านการตลาดเหล่านี้”

หุ่นยนต์ไทย อยู่จุดไหนในชีวิตเรา

หุ่นยนต์การแพทย์ เทคโนโลยีใหม่ประจำโรงพยาบาล

พีรพรรณ อังคสุโข ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ็น.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล อีเว้นท์พูดถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ของคนไทย ในฐานะผู้จัดงานอีเวนต์ด้านหุ่นยนต์ครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในปี 2564 ว่า

“เมื่อประมาณ 10 กว่าปี หลายคนคงได้มีโอกาสชมการถ่ายทอดสดหุ่นยนต์เตะฟุตบอล เวลานั้นก็จะดูเป็นเหมือนของเด็กเล่นแล้วก็เงียบหายไป แต่ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นช่วงเอส เคิร์ฟ(S Curve) เพราะว่าเป็นช่วงการพัฒนาเติบโตแบบก้าวกระโดด

มีสาเหตุมาจากในภาคอุตสาหกรรมแรงงานเริ่มหายากมากขึ้น อัตราการเกิดของมนุษย์น้อยลง จึงต้องเร่งแข่งขันพัฒนาด้านหุ่นยนต์ทดแทนแรงงาน ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะภาคอุตสาหกรรมหนัก แต่มีความสำคัญแทบจะในทุกธุรกิจ”

เปรียบเสมือนกับสมัยก่อนที่ พีรพรรณ แจกแจงออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า การใช้โทรศัพท์บ้านกว่าจะค่อยๆ พัฒนามาเป็นโทรศัพท์มือถือก็ต้องใช้เวลานาน แต่จากโทรศัพท์มือถือมาเป็นสมาร์ทโฟนกลับใช้เวลาสั้นๆ ไม่กี่ปี ตรงนี้ก็คือ เอส เคิร์ฟ อย่างหนึ่ง

“เราเริ่มเห็นการใช้หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร หุ่นยนต์ที่เข้ามาทำงานด้านการบริการแบบง่ายๆ ถ้าติดตามข่าวก็จะเห็นได้ว่า ต่อไปตามโรงพยาบาลอาจจะไม่มีเภสัชกรประจำห้องจ่ายยา เพราะว่าจะใช้หุ่นยนต์เข้ามาทำหน้าที่จ่ายยาแทน เช่น ระบบหุ่นยนต์จ่ายยาฝีมือคนไทยที่กำลังทดลองใช้ในโรงพยาบาลมหิดล

แค่คุณหมอสั่งจ่ายยาคนไข้และส่งข้อมูลเข้าระบบ หุ่นยนต์เหล่านี้ก็จะนำยาจากชั้นวางยาและรวบรวมมาให้กับคนไข้อย่างรวดเร็ว เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ต่อยอดจากการแข่งขันพัฒนาหุ่นยนต์ มาสู่ระบบหุ่นยนต์ใช้งานตามองค์กรต่างๆ แทนการทำงานของมนุษย์”

ด้าน ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าวทิ้งท้ายถึงหุ่นยนต์ด้านการแพทย์ต่อว่า

“ในเรื่องของหุ่นยนต์ด้านการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดลเห็นความสำคัญในเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ที่ผ่านมาผู้สร้างเครื่องมือแพทย์ หรือหุ่นยนต์ด้านการแพทย์ ไม่ได้เป็นแพทย์ที่มีความรู้ทางกายวิภาคที่ดีพอ หุ่นยนต์ก็จะใช้งานได้ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แต่เมื่อมหาวิทยาลัยแพทย์พัฒนาขึ้นมาเอง เราก็จะได้หุ่นยนต์แพทย์ที่ใช้ในการผ่าตัด โดยพัฒนาร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศอย่างใกล้ชิด ทำให้ได้หุ่นยนต์ที่ใช้งานได้จริงและเป็นที่ยอมรับในอนาคต

ผมบอกได้ว่า ทุกผลงานไม่ได้ถูกทิ้งขว้าง ยังมีการพัฒนาต่อยอด แล้วไปสร้างผลงานเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ แม้กระทั่งประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำทางด้านการพัฒนาหุ่นยนต์ ก็ยังยอมรับในเรื่องความสามารถการพัฒนาหุ่นยนต์ของคนไทย จนถึงขั้นติดต่อขอแลกเปลี่ยนดูงาน แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ผลงานการพัฒนาบางอย่างได้ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของเราแล้ว”