posttoday

มงคล พาลีศักดิ์ ฟื้นจากคนเดินไม่ได้ คืนสู่สนามอัลตราเทรล

07 ตุลาคม 2561

แทบไม่เชื่อว่า เขาเป็นคนพิการ และไม่อยากเชื่อเลยว่า

โดย กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ : ไม่เครดิต 

แทบไม่เชื่อว่า เขาเป็นคนพิการ และไม่อยากเชื่อเลยว่า เขาเคยผ่านเหตุการณ์ที่ทำให้สูญเสียความสามารถในการเดิน มงคลพาลีศักดิ์ พนักงานบริษัทเอกชนที่มีงานอดิเรกเป็นการวิ่ง เขาหลงใหลการ “วิ่งเทรลระยะไกล” เพราะความสนุก และชีวิตก็พบกับจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่สุดเพราะการวิ่ง

ย้อนกลับไปในเดือน ธ.ค. 2559 เขาประสบอุบัติเหตุที่จุดเข้าเส้นชัยงานวิ่งตะนาวศรีเทรล อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี “จังหวะที่กระโดดก้าวขาข้ามเส้นชัยคาดว่าน่าจะลงผิดจังหวะ” เขากล่าว ทำให้กระดูกหน้าแข้งชิ้นที่เป็นฐานเข่าแตกร้าว ประกอบกับมีภาวะแทรกซ้อนเรียกว่า ภาวะความดันในกล้ามเนื้อผิดปกติ หรือ คอมพาร์ตเมนต์ ซินโดรม (Compartment Syndrome) บริเวณกล้ามเนื้อหน้าแข้ง ทำให้ต้องตัดกล้ามเนื้อที่ตายทิ้งและอาจจะไม่สามารถกลับมาวิ่งได้อีกตลอดชีวิต

มงคลต้องเข้ารับการผ่าตัดถึง 5 ครั้ง ซึ่งหลังจากนั้นเขาเผยว่า ชีวิตเหมือนได้เกิดใหม่ เพราะต้องเรียนรู้อยู่กับร่างกายใหม่ หัดเดิน หัดย่อ หัดเขย่ง หัดกระโดด หัดวิ่ง จนตอนนี้ไม่เพียงแค่กลับมาเดินได้ แต่สามารถกลับมาลงสนามแข่งอัลตราเทรล!

เขาสามารถอธิบายเหตุการณ์ตลอด 1 ปี 9 เดือนหลังเกิดเหตุได้เป็นฉากๆ ซึ่งแต่ละฉากได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตลูกผู้ชาย ผู้ที่เคยมีร่างกายแข็งแรงอย่างคนธรรมดา สู่คนที่แข็งแกร่งกว่าจนทะลุขีดจำกัดของคำว่า “เป็นไปไม่ได้”

จากเจ็บจนไม่รู้สึก

มงคล พาลีศักดิ์ ฟื้นจากคนเดินไม่ได้ คืนสู่สนามอัลตราเทรล

มงคล เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการวิ่งคือ อยากออกกำลังกาย เขาจึงหากิจกรรมง่ายๆ ที่สามารถทำคนเดียวได้ ไม่ต้องมีอุปกรณ์มากมาย และสุดท้ายจึงสรุปอยู่ที่การวิ่งในสวนสาธารณะใกล้ที่ทำงาน

“หลังจากวิ่งไปสักพักก็เริ่มชอบมากขึ้น เพราะการวิ่งทำให้เรามีสมาธิ มีโอกาสได้อยู่กับตัวเอง ได้ตกตะกอนความคิดต่างๆ แล้วทำไมถึงชอบวิ่งเทรลระยะไกล ถ้าตอบสั้นๆ ก็เพราะมันสนุก แต่ถ้าตอบยาวๆ เพราะมันเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับนิสัยของตัวเอง เพราะผมเป็นคนชอบวางแผน ในชีวิตปกติเวลาจะทำอะไรจะชอบตั้งเป้าหมายเสมอ และพยายามไปให้ถึงจุดหมายให้ได้ ดังนั้นพอได้มาวิ่งเทรลผมจะรู้สึกสนุกที่ในแต่ละการแข่งขันได้ก้าวข้ามลิมิต และได้เอาชนะตัวเองไปเรื่อยๆ”

เช่นเดียวกับสนามตะนาวศรีเทรล เขาสามารถวิ่งได้ครบระยะทาง 60 กม. และเข้าเส้นชัยเหมือนสนามก่อนๆ ที่เคยวิ่งมา แต่เพราะจังหวะหรือโชคชะตาอะไรบางอย่างที่ทำให้การเข้าเส้นชัยครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม

“จังหวะที่เข้าเส้นชัยผมกระโดดข้ามเส้นปกติ ไม่ได้สูง ไม่ได้ลงแรง ไม่ได้ล้ม แต่เข้าใจว่าเป็นเพราะตอนลงน้ำหนักไม่ได้งอเข่า ทำให้น้ำหนักทั้งหมดลงไปที่กระดูกต้นขาเลยทำให้กระดูกแตกร้าว” เขากล่าวถึงสาเหตุที่น่าจะเป็นที่สุด

“ตอนนั้นรู้ว่าเจ็บแต่คิดว่าไม่มีอะไรรุนแรงมากเพราะยังเดินได้ แต่หลังจากนั้นเริ่มปวดข้อเท้ามากจนทนไม่ได้เลยต้องไปโรงพยาบาลที่ราชบุรี ปรากฏว่าเอกซเรย์ไม่เจอว่ามีกระดูกตรงไหนหัก แต่อาการคือยังปวดมากจนฉีดมอร์ฟีนแล้วก็ยังเอาไม่อยู่ วันต่อมาเลยกลับมาหาหมอที่กรุงเทพฯ กับอาการที่ไม่รู้สึกอะไรแล้ว ตอนนั้นพยายามกระดกข้อเท้าก็ทำไม่ได้แล้ว จึงได้เอกซเรย์อีกครั้ง ปรากฏว่าเจอกระดูกฐานเข่าแตกร้าวเป็นแนวยาวลงมาเหมือนฟ้าผ่า ส่วนตรงข้อเท้าไม่เป็นอะไร”

เขากล่าวว่า ตอนนั้นมีแพทย์สันนิษฐานแล้วว่า การบวมของกล้ามเนื้ออาจเป็นภาวะของคอมพาร์ตเมนต์ ซินโดรม แต่ผลสรุปยังระบุว่าเป็นเพียงอาการของกระดูกร้าว ซึ่งเป็นกระดูกชิ้นที่ไม่ได้ควบคุมเรื่องการขยับเข่า แต่เป็นตัวรับน้ำหนัก ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำให้ผ่าตัดเพื่อใส่นอตเข้าไปยึดให้รอยร้าวของกระดูกผสานกัน

จากนั้นเนื่องด้วยเงื่อนไขด้านสวัสดิการสังคมทำให้เขาต้องย้ายโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งวันนั้นตรงกับวันที่ 3 หลังเกิดเหตุ ร่างกายของเขาเริ่มเบลอจากการได้รับมอร์ฟีนแก้ปวดตลอดเวลา โดยในช่วงที่ไม่ค่อยได้สตินั้นแพทย์วินิจฉัยพบแล้วว่า เขามีภาวะคอมพาร์ตเมนต์ ซินโดรม ต้องเข้าห้องผ่าตัดฉุกเฉิน เพราะไม่เช่นนั้นเขาอาจสูญเสียขาทั้งข้างหากปล่อยทิ้งไว้นาน

“ถ้ากล้ามเนื้อตายมันจะลามตายไปเรื่อยๆ เพราะการที่คุณมีความดันในกล้ามเนื้อสูง แล้วผิวหนังมันไปกดไว้ ทำให้ไม่มีเลือดไปเลี้ยง และมันก็จะลามไป ทำให้ต้องรีบผ่าตัดเพื่อปลดปล่อยความดันในกล้ามเนื้อออกมา และเพื่อให้เลือดสามารถไหลเวียนในกล้ามเนื้อ ซึ่งอาการนี้มักเกิดขึ้นกับคนที่ประสบกับอุบัติเหตุรุนแรง และไม่สามารถสรุปได้ว่านักวิ่งทุกคนจะมีความเสี่ยงเจอภาวะนี้ เพราะมันมีหลายสาเหตุปัจจัย มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง และเป็นอาการที่พบได้ไม่ง่ายเลย” เขากล่าวเพิ่มเติม

ความจริงบทใหม่

มงคล พาลีศักดิ์ ฟื้นจากคนเดินไม่ได้ คืนสู่สนามอัลตราเทรล

มงคลตื่นขึ้นมาในห้องพักฟื้นพร้อมข้อมูลที่ว่า เข่าของเขามีนอตสองตัวเชื่อมรอยร้าว และกล้ามเนื้อขาซ้ายได้ตายไปแล้ว

“หมออธิบายว่า เคสผมเป็นเคสที่ซีเรียสและอันตรายมาก เพราะหมอได้เปิดกล้ามเนื้อเพื่อระบายความดัน ซึ่งการเปิดกล้ามเนื้อทำให้มีโอกาสติดเชื้อสูง และผมเป็นเคสที่ไม่เหมือนปกติ เพราะคนทั่วไปที่เป็นคอมพาร์ตเมนต์ ซินโดรมจะเป็นทั้งขา คือทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แต่ของผมเป็นแค่ด้านหน้าอย่างเดียว มันจึงวินิจฉัยได้ยากว่าเป็นจริงไหม เพราะการเปิดกล้ามเนื้อคือเรื่องใหญ่ ถ้าหากเปิดออกมาแล้วไม่เป็นก็ต้องรักษาแผลกันอีกยาว”

ขาซ้ายของเขาถูกปิดผ้าก๊อซไว้อย่างแน่นหนา แต่ด้านในคือแผลที่มีเลือดไหลตลอดเวลา ต้องล้างแผลทุกวันเช้าและเย็น ซึ่งจะเห็นทุกอย่าง ทั้งกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ไปจนถึงกระดูก

หลังจากนั้นการผ่าตัดครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้นเพื่อตัดกล้ามเนื้อที่ตายออก โดยใช้วิธีชอร์ตไฟฟ้าดูว่ากล้ามเนื้อส่วนไหนยังมีความรู้สึกและส่วนไหนไม่มี นับเป็นการผ่าตัดที่นำกล้ามเนื้อออกไปมากที่สุดคือ ประมาณร้อยละ 80 ของกล้ามเนื้อหน้าแข้งส่วนหน้า และหมอได้แจ้งว่า เขาอาจเดินไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป

“ตอนนั้นยังติดตลกอยู่ มีถามหมอกลับไปว่า ผมจะกลับมาวิ่งได้เมื่อไรครับ หมอก็บอกมาว่า แค่เดินอาจจะยังไม่ได้เลย เรื่องวิ่งคงต้องตัดใจ เพราะอาการของผมคือ เท้าซ้ายตก ไม่สามารถควบคุมข้อเท้าได้ ดังนั้นพอรู้ความจริงว่าผมสูญเสียการเดินปกติไปแล้ว ความรู้สึกตอนนั้นคือแย่มากๆ เพราะเรายึดติดกับร่างกายที่เคยเป็น ยึดติดกับสิ่งที่เราเคยทำได้อยู่ เลยกลายเป็นความคิดว่า ต่อไปเราจะใช้ชีวิตยังไง เดินยังไง ทำงานยังไง จะวิ่งได้ไหม จะไปเจอเพื่อนๆ ได้หรือเปล่า เพราะสังคมของเราคือสังคมนักวิ่ง มันเกิดคำถามมากมายขึ้นมาในหัว ซึ่งช่วงนั้นเวลาอยู่กับญาติหรือมีเพื่อนมาเยี่ยมก็จะพยายามสะกดอารมณ์ของตัวเองไว้ แต่ถ้าอยู่คนเดียว แม้เป็นการนั่งเฉยๆ น้ำตามันก็ไหล เหมือนชีวิตมันเคว้ง เพราะมันหาเป้าหมายไม่เจอว่าต้องทำอะไรต่อไป”

สิ่งที่เกิดขึ้นเสมือนสึนามิลูกใหญ่ที่ซัดความสิ้นหวังมาให้ ตัดสลับกับภาพแผลผ่าตัด ภาพการล้างแผลที่เห็นเลือดทุกวัน และภาพอนาคตที่เขาเองก็ยังไม่เห็นชัดว่าจะเป็นอย่างไร

จนกระทั่งการผ่าตัดครั้งที่ 3 เขาถูกตัดกล้ามเนื้อออกเพิ่มบางส่วน แต่ก็มีข่าวดีว่า กล้ามเนื้อของเขาไม่อักเสบเพิ่มขึ้นและไม่มีอาการเน่า ทำให้จากเดิมที่พันแผลด้วยผ้าก๊อซก็เปลี่ยนเป็นห่อแบบสุญญากาศแล้วต่อท่อระบายเลือดออกมาเพื่อรัดให้แผลเริ่มเคลื่อนเข้าหากัน

“จนถึงวันที่อาการเราเริ่มดีขึ้น หมอบอกว่า มันมีอุปกรณ์ช่วยเดินสำหรับคนที่มีอาการเท้าตก (Foot Drop) เรียกว่า เบรส (Brace) หรือเอเอฟโอ (AFO-Ankle Foot Orthosis) หลังจากนั้นผมก็ค้นหาข้อมูลของอุปกรณ์ตัวนี้ แต่ใส่คำว่า รัน (Run) ต่อเข้าไปด้วย แล้วก็เริ่มเห็นข้อมูลเอเอฟโอแบบที่ไม่มีขายในเมืองไทย แต่เห็นว่ามีคนใส่แล้วเขาสามารถเดินหรือวิ่งได้ ตอนนั้นยังไม่รู้หนทางในการรักษาและฟื้นฟูตัวเอง แต่ชีวิตเริ่มมีเป้าหมายแล้ว และสภาพจิตใจก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ”

อย่างไรก็ตาม ขณะพักฟื้นอยู่โรงพยาบาลยังมีฉากที่ทำให้เขาสะเทือนใจ มันเป็นสถานการณ์ง่ายๆ อย่างการลุกจากเตียงไปเข้าห้องน้ำที่ห่างออกไปไม่กี่ก้าว แต่เขากลับใช้เวลามากกว่า 10 นาที

“ตอนนอนอยู่ต้องยกขาสูงตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เลือดคั่งและลดอาการบวม แต่ตอนนั้นแค่เดินสั้นๆ ก็ทำให้ขาซ้ายบวมเป่งและเปลี่ยนเป็นสีดำเมี่ยมแล้ว เลยทำให้วิตกว่า ระยะทางแค่นี้เรายังต้องใช้เวลานานขนาดนี้เลยเหรอ และเดินแค่นี้ทำให้ขาบวมและดำขนาดนี้เลยเหรอ” เขากล่าวเพิ่มเติม

สรุปแล้ว มงคลเข้าออกห้องผ่าตัดและพักฟื้นอยู่โรงพยาบาล 22 วัน และระหว่างนั้นได้เปิดกล้ามเนื้อทิ้งไว้นาน 13 วัน ซึ่งแพทย์ระบุว่า เคสของเขาถือว่าเปิดกล้ามเนื้อสั้นมากเมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ที่ต้องเปิดไว้นาน 1-2 เดือน

“ผมทำกายภาพทุกวัน คือ ทำตลอดเวลาตั้งแต่วันแรกที่หมออนุญาต ผมถามหมอว่า สามารถทำอะไรได้บ้าง ทำได้ถี่แค่ไหน ผมก็ทำไปเรื่อยๆ โดยใช้ผ้ายกปลายเท้าขึ้นแล้วพยายามใช้กล้ามเนื้อเพื่อถีบออกไป เรียกว่า การปั๊มปิ้ง (Pumping) เป็นการขยับไม่ให้ข้อติดและช่วยการไหลเวียนของเลือด ผลคือทำให้ยืดระยะเวลาการบวมและขาดำ จาก 10 นาทีก็ใช้เวลานานขึ้นเป็น 1 ชั่วโมง 1 วัน ซึ่งทำให้รู้ว่าการที่เราไม่อยู่เฉยระหว่างการพักฟื้นมันช่วยให้เราฟื้นฟูได้เร็ว”

ชีวิตใหม่ในร่างกายเดิม

มงคล พาลีศักดิ์ ฟื้นจากคนเดินไม่ได้ คืนสู่สนามอัลตราเทรล

ใบรับรองแพทย์ระบุ เขาควรหยุดงาน 2 เดือน แต่หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์เขาก็กลับไปทำงานตามปกติ และหมั่นทำกายภาพด้วยตัวเองตลอดเวลา

“ช่วงที่ฟื้นฟูผมจะมีวินัยในการทำกายภาพ เชื่อฟังหมอ และปรึกษาหมอทุกครั้งที่จะทำอะไรมากกว่าที่หมอสั่ง และแสดงให้หมอเห็นว่าเราสามารถทำได้ เพื่อให้หมอเห็นพัฒนาการของเรา ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะทำกายภาพหรือฟื้นฟูตัวเองเพื่ออะไร ตั้งเป้าหมายให้สูง และอย่าตีกรอบความสามารถ และเลิกเปรียบเทียบร่างกายตัวเองกับตอนก่อนเกิดอุบัติเหตุ แต่ให้ดีใจในทุกๆ วันที่ร่างกายเราดีขึ้น และเราสามารถทำอะไรได้มากขึ้น”

ในช่วงแรกเขาต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุง ซึ่งคนส่วนใหญ่จะยกขาที่ผ่าตัดให้ลอยขึ้นแล้วใช้ขาอีกข้างในการเดิน แต่เขาไม่ได้ทำแบบนั้น เขาพยายามเดินด้วยขาสองข้างและลงน้ำหนักเบาๆ ไปที่ขาซ้ายเพื่อบาลานซ์ร่างกายให้เหมือนคนปกติ จากนั้นผ่านไป 3 เดือน แพทย์อนุญาตให้เขาเดินเองได้โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้า แต่ยังต้องใช้เครื่องพยุงเท้าข้างซ้ายอยู่จนถึงวันนี้

“พออาการดีขึ้นก็พบว่า กล้ามเนื้อขาซ้ายมันลีบลงจากการไม่ค่อยได้ใช้งาน เพราะผมใช้ข้างขวาเป็นหลัก เช่น เดินก้าวแรก ขึ้นบันไดก้าวแรก ผมใช้ขาขวาเป็นตัวรับน้ำหนักเสมอ ดังนั้นสเต็ปต่อมาหลังจากกลับมาเดินได้คือ ต้องฟื้นฟูกล้ามเนื้อฝั่งซ้ายและสร้างสมดุลร่างกายใหม่ทั้งหมด ต้องไปปรึกษานักกายภาพและเริ่มเทรนข้างซ้ายให้แข็งแรง”

เดือน พ.ค. 2560 หรือ 5 เดือนหลังเกิดเหตุ มงคลเริ่มกลับมาจ๊อกกิ้งได้อีกครั้ง และยิ่งไปกว่านั้นในเดือนเดียวกันเขาสามารถปีนภูเขาหิมะที่ญี่ปุ่นได้ มงคลเผยว่า การปีนเขาหรือการอยู่ในสถานการณ์ที่เกือบอันตรายทำให้เขากล้าใช้ขาซ้ายมากขึ้น เมื่อเริ่มมั่นใจว่าสามารถใช้ขาซ้ายได้จึงเริ่มหัดวิ่ง และหลังจากนั้นอีก 3 เดือนก็ได้ไปปีนเขาพร้อมแบกเป้หนัก 15 กก. ที่ญี่ปุ่นอีกหน กลายเป็นว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น เพราะการเดินขึ้นเขาเหมือนเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อตลอดเวลา

“กล้ามเนื้อมัดเล็กที่หลับอยู่มันเริ่มตื่นขึ้น ผมต้องค่อยๆ พัฒนาฝึกปรือมันไปเรื่อยๆ เหมือนเด็กอ่อนที่กำลังหัดเดิน” เขากล่าว

นักวิ่งคืนสนาม

มงคล พาลีศักดิ์ ฟื้นจากคนเดินไม่ได้ คืนสู่สนามอัลตราเทรล

ในที่สุดมงคลสามารถหวนคืนสนามอัลตราเทรลอีกครั้ง โดยสนามที่สร้างความเซอร์ไพรส์ที่สุดต้องยกให้ รายการ STY (Shizuoka to Yamanashi) ประเทศญี่ปุ่น ระยะทาง 92 กม. ในระยะเวลา (คัตออฟ) 20 ชั่วโมง “ก่อนไปผมตั้งใจซ้อม เตรียมร่างกายให้พร้อมที่สุด และวางแผนการวิ่งให้ดีเพื่อไปรับมือกับมัน ซึ่งระหว่างที่วิ่งอยู่มันสนุกกับการเจอปัญหาอะไรต่างๆ ได้สู้กับตัวเอง ได้ตอบตัวเองว่าเราทำเพื่ออะไร ความเหนื่อยระหว่างวิ่งมันมีแน่นอน แต่ความรู้สึกท้อไม่เคยมี เพราะถ้าเราชอบที่จะทำแล้วจะรู้สึกท้อไปทำไม ที่มาวิ่งก็ไม่มีใครบีบคั้น แต่เราเลือกที่จะสมัครมาเอง”

สุดท้ายเขาสามารถเข้าเส้นชัยก่อนเวลาคัตออฟ 15 นาที พอถามว่าขณะอยู่ในสนามเป็นห่วงเรื่องขาบ้างหรือเปล่า เขาตอบว่าแทบไม่คิดถึง เพราะขาทั้งสองข้างรู้สึกปกติดี ไม่มีเจ็บ ไม่มีอาการฟ้องใดๆ ซึ่งการลืมขาซ้ายมากเกินไปเป็นสาเหตุทำให้ต้องกลับมาฟื้นฟูความสมบูรณ์ของกล้ามเนื้ออย่างจริงจัง (จากที่ผ่านมาเน้นการซ้อมวิ่ง)

“ก่อนหน้านี้ผมไม่คิดว่ามันเป็นขา แต่คิดว่ามันคือวัตถุอันหนึ่งที่อยู่กับตัวเองและช่วยให้วิ่งไปข้างหน้าได้ จนถึงจุดหนึ่งเราจำเป็นต้องกลับมาพัฒนามันให้มากขึ้น จากที่เมื่อก่อนเราลืมมันไป ลืมใช้ความรู้สึกของขาซ้ายในการวิ่ง และไม่ได้ใช้ศักยภาพของมันให้เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น” มงคล เผย

หลังจากมีนักฟื้นฟูเข้ามาช่วยจัดตารางซ้อมและฝึกเดิน “จงกรม” ทำให้ร่างกายของเขาถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งล่าสุดนักวิ่งคนนี้ได้สร้างเรื่องเซอร์ไพรส์ให้วงการ ด้วยการลงแข่งสนาม OCC รายการ UTMB (Ultra Trail Du Mont Blanc) เป็นเส้นทางวิ่งเทรลระยะทางประมาณ 56 กม. ความสูงสะสมประมาณ 3,450 เมตร โดยมีคนเคยกล่าวไว้ว่า รายการ UTMB เหมือนกับโอลิมปิกของงานวิ่งเทรล มีการแข่งขันวิ่งเทรลหลายระยะตลอดสัปดาห์ บวกกับความยากของสนามที่มีสภาพอากาศแปรปรวน โดยในหนึ่งวันอาจเจอทั้งร้อน ฝน หนาว หรือหิมะตก ดังนั้นนักวิ่งเทรลจึงมีความฝันที่จะมาร่วมงานนี้ อย่างเขาเองก็เป็นหนึ่งในนั้น และเหตุที่เลือกระยะ OCC เพราะมองว่าน่าจะเหมาะกับสภาพร่างกายและความฟิตของเขาที่สุด

“เรซโอซีซีเป็นเรซที่ประทับใจ เพราะได้สนุกกับสภาพอากาศและความสูงที่เราไม่คุ้นเคย สำหรับเรซนี้เราก็เตรียมตัวพร้อมมาในระดับหนึ่ง แต่กลับไม่สบาย ก่อนแข่ง 2 วัน ทำให้วันจริงแทบไม่มีแรงขึ้นเขา แต่ก็ค่อยๆ เดินขึ้น เหนื่อยก็พัก ช่วงลงเขาก็พยายามวิ่งลงเท่าที่วิ่งได้เพื่อชดเชยเวลาที่ช้าตอนขึ้นไป แล้วก็จบมาได้แบบร่างกายไม่มีปัญหาอะไร มีเพียงตึงๆ ล้าๆ บ้างเท่านั้น” นอกจากนี้ ยังได้ยินมาว่าปลายปีเขาลงสมัครวิ่งเทรลระยะ 100 กม.ไว้แล้ว

ตะกอนความคิด

ถามต่อห้วนๆ ว่า ทุกวันนี้เขาวิ่งไปเพื่ออะไร “วิ่งเพราะสนุก” มงคลตอบอย่างจริงใจ “ทุกวันนี้ที่วิ่งอยู่ก็เพราะยังรู้สึกว่ามันสนุก การวิ่งมันช่วยให้ผมแข็งแรงขึ้น มันช่วยตอกย้ำความรู้สึกว่า ขาที่ไม่เหมือนเดิมไม่ใช่อุปสรรคกับกิจกรรมที่ผมชอบ จากอุบัติเหตุครั้งนั้นชีวิตผมไม่ได้เสียอะไรไป แต่ถ้าวันไหนผมวิ่งแล้วเจ็บ และรู้สึกไม่สนุกกับมัน หรือมันส่งผลกับร่างกายระยะยาว ผมก็คงต้องเลิกวิ่ง และเป้าหมายของผมไม่ใช่กลับมาใช้ชีวิตเท่าคนปกติ แต่อยากไปทำกิจกรรมที่ผมชอบ ผมก็ต้องฝึกให้มากขึ้น”

เขากล่าวด้วยว่า เมื่อมองย้อนกลับไปในวันเกิดเหตุเขาไม่รู้สึกเสียใจอะไร เพราะตอนนี้เขามีความสุขและใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน นอกจากนี้ มงคลได้ตกตะกอนความคิดหลังผ่านเหตุการณ์ที่ไม่ลืมในชีวิตมาว่า เขามีหลักการใช้ชีวิต 3 อย่าง อย่างแรกคือ ทำในสิ่งที่ต้องดูแลรับผิดชอบให้ดี และอย่าลืมทำตามความฝันของตัวเอง “ทั้งสองสิ่งนี้ต้องบาลานซ์ให้ดี บางคนมัวแต่ทำสิ่งที่อยากทำหรือทำตามความฝัน จนลืมดูแลครอบครัวและคนรอบข้าง”

อย่างที่ 2 การมองโลกตามหลักความเป็นจริง ไม่ยึดติดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากเกินไป สิ่งไหนแย่ก็ให้รับมืออย่างมีสติ และสิ่งไหนที่ดีและมีความสุขก็ให้เข้าใจว่ามันจะไม่อยู่กับเราตลอด และอย่างสุดท้าย คือ ยินดีกับทุกสิ่งที่เข้ามาในชีวิต “เพราะสิ่งไหนที่เกิดขึ้นแล้ว มันดีเสมอ” เขากล่าวทิ้งท้าย

ต่อจากนี้ฉากต่อไปในชีวิตของ มงคล พาลีศักดิ์ น่าจะมีแต่เรื่องสนุก และหนังชีวิตเรื่องนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครก็ตามที่กำลังต่อสู้ เพราะเขาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอ และอย่าลืมหาเป้าหมายในการใช้ชีวิตให้เจอแล้วจงมีความสุขกับการใช้ชีวิต