posttoday

เลือกออมดีๆ จะมีเงินเย็นไว้ลงทุน

04 ตุลาคม 2561

คงไม่มีใครที่คิดอยากจะเป็นลูกจ้างเขาไปจนแก่เฒ่า หากมีจังหวะโอกาสที่ดีหลายๆ คนก็อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น

เรื่อง กันย์ ภาพ pixabay

คงไม่มีใครที่คิดอยากจะเป็นลูกจ้างเขาไปจนแก่เฒ่า หากมีจังหวะโอกาสที่ดีหลายๆ คนก็อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นกิจการร้านค้าทำธุรกิจ เล่นหุ้น เพื่อเก็บเป็นค่าใช้จ่ายในอนาคต ซึ่งเงินที่จะใช้ในการลงทุนนั้นก็ควรจะเป็นเงินเย็น หมายถึง เงินที่ไม่มีต้นทุน ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยจากการกู้ยืม และเป็นเงินที่ไม่มีภาระ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในยามปกติ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการจะได้เงินเย็นมาลงทุน คือ เราต้องเรียนรู้วิธีเก็บออมเงินที่สร้างผลกำไรได้เร็ว และมีความเสี่ยงต่ำนั่นเอง นักการเงินจากกรุงศรีฯ กูรูจึงขอแนะนำ 6 เทคนิค ที่จะช่วยเพิ่มจำนวนเงินออมของทุกคนให้งอกเงยขึ้นมาก

1. จัดสรรเงินออมเป็นสัดส่วน

ก่อนจะเริ่มต้นออมเงิน เราควรจัดสรรเงินออมออกเป็น 3 ส่วน ซึ่งจะมีภาระหน้าที่แตกต่างกัน ได้แก่ ส่วนแรก เงินออมเพื่อใช้จ่าย เป็นเงินเก็บที่ช่วยสร้างสภาพคล่องในการใช้จ่ายของเรา เวลาอยากซื้อ อยากได้อะไร ก็สามารถหยิบเงินออมส่วนนี้ออกมาจ่ายได้ทันที ส่วนที่สอง คือ เงินออมเผื่อฉุกเฉิน เมื่อเรามีรายจ่ายเกินกว่าปกติ สามารถดึงเงินส่วนนี้ออกมาใช้ได้ ดังนั้นควรสำรองเตรียมไว้ให้เพียงพอสำหรับใช้จ่ายอย่างน้อย 3 เดือน ส่วนที่สาม เงินออมเพื่อลงทุน ควรเป็นเงินออมที่สร้างผลตอบแทนที่ดี และไม่มีความจำเป็นต้องดึงเงินส่วนนี้ออกมาใช้ เหมาะแก่การเป็นเงินเย็นที่นำไปลงทุนต่อยอดกำไรได้ในระยะยาว หรือนำไปออมในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากกว่าการออมแบบสะสมทรัพย์ทั่วไป

2. ออมด้วยทองคำ

การออมเงินด้วยการซื้อทองคำเก็บไว้ ถือเป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อย เพราะตามปกติทองคำมักจะมีมูลค่าสูงขึ้นในระยะยาว โดยควรมองหาช่วงเวลาในการซื้อที่เหมาะสม คือ ต้องซื้อทองในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป และสามารถเก็บเอาไว้เป็นเวลานานๆ ได้ ไม่ควรใช้วิธีซื้อเพื่อเก็งกำไรในระยะสั้น เพราะมีความเสี่ยงสูงว่าจะเสียมากกว่าได้กำไร

3. ออมผ่านกองทุนรวม

ใครตั้งใจจะฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์แบบไม่ถอน อาจขยับขยายการเพิ่มผลตอบแทนที่ดีกว่า ด้วยการนำเงินออมไปไว้ในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีสภาพคล่องสูง เช่น กองทุนพันธบัตรระยะสั้น กองทุนรวมตลาดเงิน ฯลฯ โดยเลือกกองทุนรวมที่มี
นโยบายรักษาเงินต้น แม้จะให้ผลตอบแทน 1.5-2% ต่อปี แต่ก็ยังสูงกว่าการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ปกติที่ให้กำไรเพียง 0.5% ต่อปี หรือเลือกกองทุนรวมที่มีเงินปันผล ซึ่งจะได้รับทั้งเงินออมและมีเงินปันผลไว้ใช้จ่าย ส่วนอีกหนึ่งผลประโยชน์จากกองทุนรวม คือ กำไรที่ได้จากการขายกองทุนไม่ต้องเสียภาษี ยกเว้นเงินปันผลที่ต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 10% ซึ่งสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีในปีที่รับเงินได้ ถือเป็นรูปแบบการออมที่เหมาะกับมนุษย์เงินเดือนมากๆ

4. ออมด้วยหุ้นกู้บริษัทเอกชน

หุ้นกู้ เป็นรูปแบบหนึ่งของตราสารหนี้ (Bond) ที่ออกโดยเอกชน ถือเป็นการลงทุนด้วยการให้บริษัทเอกชนกู้ยืมเงินในระยะยาว และผู้ให้กู้จะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยกู้ยืมตามจำนวนหุ้นกู้ที่ระบุไว้ในสัญญา สามารถซื้อขายผ่านธนาคารพาณิชย์ที่จัดตั้งให้เป็นตัวแทนบริษัทได้ ทั้งนี้ความเสี่ยงมักขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ต้องการกู้ยืม ระยะเวลาครบกำหนด และอัตราดอกเบี้ยตลาด

5. ออมผ่านพันธบัตรรัฐบาล

พันธบัตรรัฐบาล เป็นตราสารหนี้ระยะยาวมากกว่า 1 ปี ซึ่งออกโดยรัฐบาล เพื่อให้รัฐนำเงินที่ได้จากการขายพันธบัตรไปพัฒนาประเทศ และลงทุนในรัฐวิสาหกิจต่างๆ อายุการลงทุนประมาณ 5-10 ปี ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยกู้ยืมตามที่พันธบัตรรัฐบาลระบุไว้ คล้ายกับหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน เพียงแต่มีความเสี่ยงน้อยกว่า

6. ออมผ่านประกันชีวิต โดยเน้นออมทรัพย์เป็นหลัก

สุดท้าย ก็คือ การออมทรัพย์ผ่านประกันชีวิตที่มีรูปแบบกรมธรรม์เน้นผลตอบแทนมากกว่าการคุ้มครอง ซึ่งจะมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ถือเป็นการฝากเงินในระยะยาว และเราสามารถนำค่าเบี้ยประกันไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุด 1 แสนบาท/ปี หรือหากเป็นกรมธรรม์ที่ชำระผ่านบัตรเครดิต ก็อาจได้รับสิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิตอีกต่อหนึ่ง เหมาะกับคนที่ต้องการวางแผนการออมเงินระยะยาว และได้รับผลตอบแทนก้อนโต สามารถซื้อขายผ่านตัวแทนประกันชีวิตหรือผ่านธนาคารพาณิชย์ได้

เพียงแค่เรามุ่งมั่นกับการออมเงินอย่างมีวินัยและชาญฉลาด เป้าหมายในการสะสมเงินเย็นเพื่อนำไปใช้ลงทุนในอนาคตก็ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว หรือแม้ไม่คิดจะทำธุรกิจอะไร มีเงินเย็นเก็บไว้ใช้ยามเกษียณให้เพียงพอก็อุ่นใจไม่น้อยเลย