posttoday

โรค (แปลกๆ) ในละคร มีมั้ยในชีวิตจริง?

04 ตุลาคม 2561

โลกคือละคร ละครสะท้อนชีวิตจริงในสังคม ยังเป็นวลีที่สะกิดใจผู้ชมทำให้ต้องย้อนมองดูตัวเองและคนรอบตัวอยู่เนืองๆ

เรื่อง มัลลิกา นามสง่า

โลกคือละคร ละครสะท้อนชีวิตจริงในสังคม ยังเป็นวลีที่สะกิดใจผู้ชมทำให้ต้องย้อนมองดูตัวเองและคนรอบตัวอยู่เนืองๆ

ยิ่งยุคโซเชียลครอบคลุมทุกพื้นที่ ละครไม่ได้สื่อสารเพียงทางเดียว ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์ตอบกลับทันควันเช่นกัน

อีกปรากฏการณ์หนึ่งในละครที่น่าสนใจ“พฤติกรรมการแสดงออกของตัวละคร” ประเด็นอยู่ที่การวิเคราะห์ และการเอาหลักวิชาการไปจับว่า ตัวละครมีพฤติกรรมที่แสดงออกด้วยท่าทางอารมณ์อย่างนั้น คือ “ป่วย” เป็น “โรค”

โรคในกลุ่มนี้ คือ โรคบุคลิกภาพผิดปกติ (Personality Disorder) หมายรวมถึงการไม่สามารถควบคุมพฤติกรรม และความรู้สึกของตัวเองได้

โรค (แปลกๆ) ในละคร มีมั้ยในชีวิตจริง?

โรคบุคลิกภาพผิดปกติ

นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสื่อสาร บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ ยังเป็นคุณหมอนักประพันธ์ กล่าวถึงโรคบุคลิกภาพผิดปกติที่สะท้อนจากคาแรกเตอร์ตัวละคร

“ถ้าเอาตำราจิตวิทยามาวาง มีมากถึง 30 โรค เป็นอาการป่วยทางจิต แบ่งเป็น 2 ระดับ แค่บุคลิกภาพเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็น ฮีสทีเรีย ไบโพลาร์ เขายังอยู่ในโลกของความเป็นจริงใช้ชีวิตกับคนปกติได้ แต่บุคลิกภาพบางอย่างอยู่นอกเหนือการควบคุม

อีกเลเวลหนึ่งเป็นโรค เช่น โรคจิตเภท คนไข้เดินตามถนนพูดคนเดียว ได้ยินเสียงอะไรคนเดียว เหมือนตัวละครในหลังคาแดงป่วยระดับหนึ่งทางด้านจิตวิทยา

ในละครเราจะพบคนบุคลิกภาพผิดปกติเยอะกว่า ความต่างคือพวกเพอร์ซันนัลลิตี้ ดิสออร์เดอร์ รักษาได้โดยการบำบัดจิตวิทยา ไม่ต้องกินยาหรือแอดมิด ถ้าโรคจิตเภทต้องใช้ยาช่วย ต้องรับตัวเข้ารักษา”

โรคกลุ่มเพอร์ซันนัลลิตี้ ดิสออร์เดอร์ ที่เห็นส่วนมากในตัวร้าย ที่เป็นไบโพลาร์ ฮีสทีเรีย เอามาใช้เพื่อให้ตัวละครมีความขัดแย้ง ให้น่าติดตาม

หลังๆ ตัวเอกก็มีเยอะ อย่างซีรี่ส์เกาหลี It’s Okay, That’s Love เรื่องนี้พระเอกป่วยเป็น Multiple Personality Disorder ซึ่งโรคนี้คุณหมอพงศกรได้เขียนไว้นานแล้วเช่นกันในนวนิยายเรื่อง “มายาเงา” (ลิขสิทธิ์อยู่ที่ช่อง 7) คือโรคบุคลิกภาพแปลกแยก มีบุคลิกภาพหลายแบบในตัวคนเดียว

โรค (แปลกๆ) ในละคร มีมั้ยในชีวิตจริง?

“พระเอกมี 2 บุคลิก เจอเหตุการณ์แบบนี้บุคลิกภาพเปลี่ยนไปอีกแบบ โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัว ที่ผมหยิบโรคนี้มาเขียน เพราะมองว่าน่าสนใจ มันก้ำกึ่งระหว่างคนเป็นโรคนี้ยังใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่เราจะไม่เข้าใจว่า ทำไมอารมณ์เขาแปรปรวนจัง อีกวันเรียบร้อยอ่อนโยนราวกับคนละคน มันเหมาะกับการเอามาใช้เป็นตัวละคร”

โรคบุคลิกภาพผิดปกติสามารถรักษาได้เพียงใส่ใจ เข้าใจ แถมใจเย็นเข้าไปด้วยสักนิด ก็จะเจอหนทางรักษา “ในมุมมองของผมการรักษาโรคต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ แต่ในระดับผู้ชมทั่วไป จากประสบการณ์การดูละคร สามารถรับรู้ได้ว่าอาการเหล่านี้
ไม่ใช่เรื่องปกติ เขาสามารถแนะนำให้คนไข้เหล่านี้ไปหาจิตแพทย์

ผมว่าโรคทางสุขภาพจิตคนที่เห็นมักเป็นคนใกล้ตัว พ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อน คนไข้ไม่รู้ตัวเอง ไปหาหมอหมอก็เห็นแค่ตอนนั่งคุย พฤติกรรมต่างๆ ที่จะรู้ว่าเป็นโรคหรือไม่ ได้จากคนรอบข้างที่ช่วยบอก

ในบ้านเราตอนนี้ที่เกิดขึ้นบ่อยเรื่องโรคซึมเศร้านำมาสู่การฆ่าตัวตาย คนใกล้ตัวจะเห็นอาการชัดที่สุด แต่เรามองข้ามไปเพราะคิดว่าไม่เป็นอะไร ผมไม่อยากให้ละเลยเรื่องเหล่านี้ไป

โรคซึมเศร้ามี 2 เลเวล ก็อยู่ในกลุ่มเพอร์ซันนัลลิตี้ ดิสออร์เดอร์ ไม่เป็นเยอะก็ Depressive Disorder ถ้าป่วยจนจิตเภท เรียกว่า Major Depressive Disorder ในละครก็เรื่อง ใบไม้ที่ปลิดปลิว บทประพันธ์ ของ ทมยันตี”

โรค (แปลกๆ) ในละคร มีมั้ยในชีวิตจริง?

เข้าใจพฤติกรรม เข้าใจตัวละคร เข้าใจตัวเอง

ภาพจำตัวร้ายในละครของคุณคืออะไร ออกจอเมื่อไรมีแต่กรี๊ดๆ ใช้ความรุนแรง ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ บ้าอำนาจ ทำผิดได้ โดยไม่รู้สึกผิด... แต่คุณผู้ชมรู้ไหมว่า ทำไมตัวร้ายจึงมีพฤติกรรมเยี่ยงนี้

นพ.พงศกร “ในทางการแพทย์ เวลาที่ตัวละครมีความเจ็บป่วยมี 2 แบบ โรคทางร่างกาย เช่น มะเร็ง นิ่ว ตัวละครที่ป่วยทางร่างกายมีหลายเรื่องและการแสดงออกของโรคชัดเจน แต่เรื่องของตัวละครที่ป่วยจิตใจ สุขภาพจิต อยู่ที่ว่าเราจะเน้นหรือให้ความรู้ เอาปากกาไปขีดไฮไลต์มากน้อยแค่ไหน

บางเรื่องตัวร้ายกรี๊ดๆ มีพฤติกรรมแปลกๆ ในยุคก่อนไม่มีใครหยิบยกมาพูด ผมมองว่าเห็นชัดในทศวรรษนี้ที่เราไฮไลต์เรื่องของบุคลิกตัวละคร มีเหตุผลมาอธิบายตัวละครชัดเจนขึ้น มันมาพร้อมกับการเปลี่ยนของสื่อ ไลฟ์สไตล์คนที่เปลี่ยนไป มีอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ คนค้นคว้า แล้วคนถกกันเยอะขึ้น

แล้วการสร้างละครต้องสมจริงเยอะขึ้น การที่คนหนี่งจะกรี๊ดมีพฤติกรรมแบบนี้ ต้องสร้างเหตุผลมารองรับให้ผู้ชมให้ยอมรับและเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นมากขึ้น”

หากนำความรู้ทางการแพทย์ไปวิเคราะห์พฤติกรรมตัวละคร ได้ยกตัวอย่างนางร้ายจากหลายเรื่อง “คุณหญิงเล็ก ในบ้านทรายทอง มีความโกรธแรง เกลียดแรง ขว้างปาข้าวของ ถ้าเราดูสิ่งที่แวดล้อมเขามีการเลี้ยงดูหลายแบบ ถ้าเอาทฤษฎีจิตวิทยาไปวิเคราะห์ ชื่อโรคไบโพลาร์ มีอารมณ์ 2 ขั้ว มีความสุขก็สุขทุกข์ก็เศร้ามาก อีกอันคือ ฮีสทีเรีย รักแรงเกลียดแรง ตัดสินใจเบี่ยงเบนที่คนปกติไม่ตัดสินใจแบบนี้ คนขัดใจไม่ได้ เอาแต่ใจตัว

ฮีสทีเรีย ใจเริง ในเพลิงบุญ ก็ใช่ ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนขยายใจเริงในเวอร์ชั่นล่าสุด ทำให้ผู้ชมมองเขาอีกมุมเป็นคนป่วย ใจเริงไม่ได้สักแต่มากรี๊ด แต่มีบางอย่างที่ทำให้ใจเริงเป็นแบบนี้”

ตัวหมวดฤทธิ์ ในเรื่องอังกอร์ ก็เป็น Antisocial Personality Disorder ต่อต้านอำนาจที่ใหญ่กว่า ต้องการเป็นผู้สร้างอำนาจด้วยตัวเอง ไม่เคารพกฎ ไม่สำนึกชั่วดี

ไม่เพียงตัวร้าย นางเอกก็ป่วยได้ อย่าง น้ำหวาน ในดาวหลงฟ้า คุณหมอวิเคราะห์ เป็น Adjustment Disorder การแย่งสามีของคนอื่นแล้วแย่งไปเรื่อยๆ ซึ่งเกิดจากนางเอกมีปมในวัยเด็ก ไม่สามารถแยกแยะว่าอะไรผิดถูก

โรค (แปลกๆ) ในละคร มีมั้ยในชีวิตจริง?

บ๊วย-นันทวรรณ รุ่งวงศ์พาณิชย์ นักเขียนบทละครโทรทัศน์ ผลงานเรื่องล่าสุด “ดวงใจในไฟหนาว” ก็เปิดประเด็นการถกถึงคาแรกเตอร์ของพระเอก เยี่ยมยุทธ(แสดงโดย เจมส์ มาร์) กับการป่วยเป็นโรค “อาการบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง” (Borderline Personality Disorder)

จุดเริ่มต้นตอนเขียนเธอไม่ได้พุ่งเป้าที่พระเอกเป็นโรคใด หากมีความสนใจในเรื่องของ “นพลักษณ์” (Enneagram of Personality) ศาสตร์ที่ใช้เพื่อเข้าใจบุคลิกภาพมนุษย์

“โรคที่พูดถึงอยู่นี้เป็นเรื่องของบุคลิกภาพบกพร่อง ตอบรับกับสังคมผิดปกติ แต่เราอยากทำให้ตัวละครทุกตัว มีบุคลิกความเป็นคนที่เรียล มีดีมีเลว ไม่ได้โฟกัสที่โรค แต่คนที่มาโฟกัสที่โรค คือนักแสดง เจมส์ มาร์ เขาเอาบทไปถามจิตแพทย์ อธิบายให้เขาฟัง เขาเลยคลิกกับตัวละคร

เราตั้งใจให้เยี่ยมยุทธ์อยู่ในกลุ่มของอัจฉริยะมีปัญหาในการอยู่รวมกับผู้อื่นเฉยๆ พอเจมส์ศึกษาก็ออกแบบเพิ่มความเร็วของอารมณ์ บุคลิกชายขอบโดดซ้ายไปขวาเร็วมาก ในมุมของนักเขียนเกิดจากความเป็นอัจฉริยะของเขา แต่มันก็ใกล้เคียงกับโรค”

ดวงใจในไฟหนาว ทุกตัวละครมีด้านมืดกับด้านสว่าง แต่ตัวละครที่เป็นตัวร้าย ถ้าให้จิตแพทย์วิเคราะห์ จัดเป็นกลุ่มเพอร์ซันนัลลิตี้ ดิสออร์เดอร์ ได้ทุกตัว

“ในตอนนี้ผู้เขียนรู้อยู่บ้างว่ามีโรคแบบนี้ แต่ไม่ได้จงใจที่จะพูดถึงมันมากนัก เราแตะเพียงผิวเผิน ถ้าไม่บอกเป็นโรคก็เป็นลักษณะนิสัยใจคอของตัวละครปกติ เพราะสนใจเรื่องของนพลักษณ์ ที่บอกคาแรกเตอร์ต่างๆ ของคน 9 แบบ ช่วยทำให้งานของเราสนุกมากขึ้น คาแรกเตอร์ของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในละคร

ในทฤษฎีของนักเขียนบทโทรทัศน์ นพลักษณ์จะไม่โฟกัสที่การเป็นโรคจะโฟกัสที่การแตกต่าง ช่วยให้การใช้ภาษาของตัวละครต่างกัน เช่น ภาษามนุษย์ ใจ พูดอะไรเป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกหมด ถ้ามนุษย์สมองพูดอะไรเป็นตรรกะหมด ดูเย็นชา ไม่มีฟีลลิ่ง

อย่างตัวแม่ของปิ่นมุก เป็นคนสมบูรณ์แบบ ก็ผิดหวังกับลูกไม่เป็นอย่างที่คิด ตัวปิ่นมุก เป็นดราม่าติก เขาทัชชิ่งทุกอย่างด้วยอารมณ์หมด ดาวเหนือ เป็นกีฟเวอร์ คือผู้ให้ มีความสุขกับการให้คนอื่น ทุกข์กับการแบกภาระคนอื่น เยี่ยมยุทธ์ ผู้ใฝ่ความสำเร็จ เขาหมกหมุ่นกับเป้าหมาย

อย่างผู้ร้ายบ้าอำนาจมากๆ คนไทยก็รู้จักมาตั้งนานแล้ว แต่เวลาเราจัดเข้า นพลักษณ์ เรียกว่า เดอะบอส เขาจะควบคุมทุกอย่าง คิดว่าตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของทุกสิ่ง”

ละครสามารถชี้ทางออกที่ถูกที่ควรได้ จุดจบของตัวร้ายไม่ต้องตาย พิการเสมอไป “ตั้งแต่เปิดเรื่องเราก็ให้พระเอกพบจิตแพทย์ ตัวละครเราหาจิตแพทย์ทุกคน ทำให้ชีวิตเดี๋ยวนี้มีทางออกจริงๆ เราให้ความรู้แก่ผู้ชม

เป็นความตั้งใจของเราตั้งแต่แรกที่นำเสนอ ถ้าคนดูไม่เจอบทความเกี่ยวกับโรค Borderline ก็ดูสนุกเป็นความคิดชั้นเดียว แต่พอเราให้ความรู้ คนจะเริ่มเอ๊ะ และเชื่อมโยงในสมองเขาเอง”

เงาของผู้คนที่เห็นในสังคม

เจี๊ยบ-วรรธนา วีรยวรรธน เขียนบทละครโทรทัศน์เรื่อง “เมีย 2018” โฟกัสไปที่ตัวละคร กันยา “จริงๆ แล้วในนัยของเจี๊ยบ กันยาไม่ได้เป็นคนป่วยแบบไม่รู้เรื่องรู้ราว แต่หยิบมาจากพฤติกรรมคนในโซเชียลมีเดีย ที่เราเห็นข่าวว่าคนนี้ทุบรถ ด่าตำรวจที่ี่บอกให้ใส่หมวกกันน็อก
หนีงานแต่ง พฤติกรรมที่แสดงออกในสิทธิของตัวเองแบบงงๆ มีเหตุผลในการซัพพอร์ตการกระทำของตัวเองงงๆ เราไม่ได้ฟันธงกับพฤติกรรมแต่มันคือลอจิกของคนในตอนนั้น

พฤติกรรมรุนแรงของคนโซเชียลมีเดียหลายๆ คนมารวมในตัวกันยา ในตัว ผู้เขียนไม่ได้ฟันธงว่าเขาป่วยแบบเป็นโรคไหน แต่พฤติกรรมที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เจี๊ยบว่าตอนนี้คนเป็นกันเยอะ เรียกร้องต่อสิ่งที่ตัวเองต้องการ และเข้าข้างตัวเองกันเยอะ

จริงๆ กันยาฉลาดรู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ แต่พอถึงจุดหนึ่งก็ควบคุมไม่ได้ เขาหยุดเหตุการณ์นี้ถ้าวันหนึ่งเขามีโอกาสรู้สึกแบบนี้เขาก็ทำ

ในการทำงาน รวบรวมข้อมูลอยู่พักหนึ่งเซตข่าวบางอย่าง เป็นข่าวที่อ่านแล้วเฮ้ย อย่างข่าวเมืองจีน เราจะเห็นเยอะมีพฤติกรรมรุนแรง ก็จะรวมๆ กันมาประกอบร่างเป็นกันยา

เจี๊ยบแค่รู้สึกว่า ตัวร้ายในละครไทยมีร้ายแบบตบตี กรี๊ดแล้ว อยากให้กันยามีคาแรกเตอร์นี้ เวลานึกไม่ออกว่าเขาจะทำอะไร จะเข้าไปหาในข่าว แล้วจะคิดออกว่าให้ตัวละครทำอะไร”

คนดูละครอินจัด สืบเสาะหาปมกันยา วิเคราะห์ตัวละคร อย่างในแฟนเพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา ได้เขียนถึงกันยาจัดในกลุ่มโรคบุคลิกภาพผิดปกติ ชนิด Cluster B

“จากการที่ละครปลายเปิดพอสมควรในแง่ของพฤติกรรม เจี๊ยบไม่ได้ฟันธงว่าเขาป่วยจะบล็อกบท เราต้องการคาแรกเตอร์ไรซ์ บางอาการกันยาไม่ได้มีข้อจำกัด ให้ตัวละครเป็นทุกสิ่งทุกอย่างได้

ถ้าเขาไม่ได้ป่วยแต่เขาโกงความรู้สึกคนอื่น ทำทุกอย่างให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ เจี๊ยบว่าผู้หญิงมีแบบนี้เยอะ เป็นมารยาร้อยเล่มเกวียนค่อนข้างโหด คนป่วยร้อยเปอร์เซ็นต์ทำแบบนี้ไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีความป่วยเลยก็ทำแบบนี้ไม่ได้”

ละครสนุกก็ได้ความบันเทิง มีคนมาวิเคราะห์ให้ความรู้ทางการแทย์ที่ถูกต้องก็เป็นประโยชน์กับคนดูอีก แต่ถ้าคนดูจะดูโดยไม่เอาหลักวิชาการใดๆ ไปจับ ก็อย่าลืมว่า โลกคือละคร ละครที่เราดูมาจากโลกแห่งความจริง หลายๆ เรื่องมีเค้าโครงมีเงาของผู้คนที่เราเห็นอยู่ในสังคม