posttoday

เครียด จน เกษียณไม่มีเงินเก็บ!!!

03 ตุลาคม 2561

ผลสำรวจเผยว่า มนุษย์ออฟฟิศไทยเผชิญภาวะเครียดสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก

เรื่อง อณุสรา ทองอุไร ภาพ Pixabay

สุดท้ายไม่เหลืออะไรเลย นั่นคือภาวะการทำงานของมนุษย์เงินเดือนสมัยนี้ ที่มีผลสำรวจออกมาว่า มนุษย์ออฟฟิศไทยเผชิญภาวะเครียดสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก แถมทำงานมาทั้งชีวิต สุดท้ายไม่มีเงินเก็บหลังเกษียณ ยิ่งฟังยิ่งเครียด อั้ยย่ะ!! มันจริงใช่ไหมเนี่ย มันเป็นอย่างงั้นได้ยังไง ที่ผ่านมาเราคุ้นเคยกับนิยามประเทศไทยในด้านที่สะท้อนถึงแต่ภาพของความสุข สนุกสนาน เช่นคำว่า สยามเมืองยิ้ม แต่ข้อมูลล่าสุดจากผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360 องศา ของซิกน่า บริษัทประกันสุขภาพ เปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า คนไทยถึง 91% ยอมรับว่าตนเองอยู่ในภาวะเครียด ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ในระดับ 86%

สาเหตุเป็นเพราะชีวิตการทำงานไม่มีความบาลานซ์เท่าที่ควร โดยเฉพาะหนุ่มสาวในวัย 30 เศษๆ สำหรับการสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่ของซิกน่าได้ทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว โดยได้สำรวจและติดตามทัศนคติของผู้คนเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ของตนเองใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านสังคม ด้านครอบครัว ด้านการเงิน และด้านการทำงาน จากผู้คนใน 23 ประเทศทั่วโลก โดยทำการสำรวจในทุกช่วงอายุ และพบว่าคนกลุ่มมิลเลนเนียล หรือกลุ่มคนที่มีอายุ 18-35 ปี เป็นกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องสมดุลของการทำงานและชีวิตส่วนตัว รวมถึงมีความกังวลเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงานมากที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุ 35-49 ปี และกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป

เครียด จน เกษียณไม่มีเงินเก็บ!!!

ขณะที่ในภาพรวม สิ่งที่คนไทยกังวลมากที่สุดคือ เรื่องการเงิน ด้วยสัดส่วน 43% ตามมาด้วยปัญหาเรื่องงาน โดยเฉพาะประเด็น จะมีสัดส่วนอยู่ราว 35% แม้ว่า 91% ของคนไทยจะยอมรับว่าตนเองเครียด แต่ 81% ของคนในกลุ่มนี้ก็สามารถจัดการกับปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้นได้ โดยใช้วิธีการพูดคุยกับเพื่อนและครอบครัว การออกกำลังกาย และการนอนหลับพักผ่อน

จากการสำรวจยังพบว่า มีคนไทยเพียง 13% เท่านั้นที่เข้าพบบุคลากรด้านสุขภาพจิต เช่น นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพื่อปรึกษาปัญหาความเครียดของตนเอง โดยที่คนในกลุ่มวัยทำงานจะเป็นกลุ่มที่เปิดรับการรักษาเกี่ยวกับสุขภาพจิตมากกว่ากลุ่มอายุอื่น ซึ่งนอกจากสาเหตุด้านค่าใช้จ่ายที่สูงแล้วยังเกี่ยวกับความรู้สึกอับอายที่จะบอกให้ผู้อื่นรับรู้ว่าตนเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาอีกด้วย แม้ว่านายจ้างในประเทศไทยที่มีจำนวนถึง 63% จะให้ความสำคัญกับการจัดการความเครียดของพนักงาน แต่มีหนุ่มสาวออฟฟิศเพียง 30% เท่านั้นที่รู้สึกว่าที่ทำงานของตนมีการให้ความช่วยเหลือในการจัดการความเครียดอย่างเพียงพอ ขณะที่อีก 37% กล่าวว่านายจ้างไม่มีการช่วยเหลือใดๆ เกี่ยวกับการจัดการความเครียดเลย

โดยแนวทางที่ออฟฟิศจะให้ความช่วยเหลือในการจัดการความเครียดให้กับพนักงานได้ อาทิ การจัดโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงาน โดยบริษัทที่มีโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงานจะมีจำนวนพนักงานที่รู้สึกว่าตนไม่สามารถจัดการความเครียดได้เองน้อยกว่าบริษัทที่ไม่มีโปรแกรมดังกล่าว

กังวลเรื่องสุขภาพมากขึ้น

ข้อมูลจากผลสำรวจบ่งบอกถึงสิ่งที่พนักงานต้องการให้นายจ้างจัดหาให้มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากโรคมะเร็ง ความคุ้มครองสุขภาพดวงตาและสายตา และการจัดให้มีโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงาน โดยจำนวนมนุษย์ออฟฟิศถึง 82% บอกว่าการมีโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงาน เช่นมีการจัดตั้งชมรมกีฬาให้พนักงานเข้าร่วม การจัดคอร์สโยคะ หรือการขยายความคุ้มครองของประกันสุขภาพกลุ่มให้กับสมาชิกในครอบครัว เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกองค์กรที่จะทำงานด้วย

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาในการทำงานออฟฟิศ คือภาวะ Presenteeism หรือการมาทำงานแม้จะเจ็บป่วยหรือมีสภาวะร่างกายหรือสภาพจิตใจที่ยังไม่พร้อม ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของงาน จำนวนงานที่มากเกินไป วัฒนธรรมองค์กร ที่อาจกดดันให้พนักงานต้องแสดงความทุ่มเท หรือแม้แต่การไม่ยอมรับความจริงของตัวพนักงานเอง ที่ทำให้ฝืนร่างกายตนเองเข้ามาทำงาน

เครียด จน เกษียณไม่มีเงินเก็บ!!!

ทำให้มีคนไทยถึง 9 ใน 10 หรือราว 89% กล่าวว่า ตนจะเข้ามาทำงานแม้จะเจ็บป่วย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 67% โดยการมาทำงานแม้จะเจ็บป่วยหรือมีสภาวะร่างกายหรือสภาพจิตใจที่ไม่พร้อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงาน โดยทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงจาก 100% เหลือเพียง 74% เท่านั้น

ทางด้าน นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ประจำกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงปัญหาความเครียดในการทำงานว่ามันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างพลิกผันได้เสมอ อะไรที่เคยแน่นอนก็เริ่มไม่แน่นอน อาชีพที่เคยมั่นคงเคยเป็นดาวรุ่งเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มาถึงยุคนี้ก็เป็นดาวร่วง มีธุรกิจใหม่มาแทนที่ เอาหุ่นยนต์มาแทนที่ ทำให้การแข่งขันเรื่องงานมีสูงยิ่งขึ้นแถมโอกาสเสี่ยงที่จะตกงานก็มีมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องตั้งสติตั้งรับเตรียมพร้อมกันไว้ให้ดี

ด้วยการพยายามเดินสายกลาง เตรียมตัวเตรียมความพร้อม ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และการเงิน ด้วยการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เก็บออมการเงินให้พร้อมเอาไว้เสมอ เรียกว่าเตรียมความพร้อมให้ครบทั้งสุขภาพกายให้แข็งแรง สุขภาพใจอย่าให้เครียดเกิน และสุขภาพการเงินให้เพียงพอ

“พยายามตรวจสอบอารมณ์ความเครียดของตัวเองว่ามีความเครียดของตัวเองว่ามากน้อยเพียงใด หรือมีความครียดแบบไม่รู้ตัวหรือไม่ เครียดสะสมไหม เช่น นอนไม่หลับ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ไม่มีสมาธิ อ่อนล้าเศร้า เครียดโมโหง่าย เป็นความเครียดที่มองไม่เห็น อย่าเก็บกดหาคนที่รักและไว้ใจเพื่อปรึกษาหรือระบาย อย่าใช้ชีวิตซ้ำเดิมๆ มากเกินไป ถ้าไม่มี ดังนั้นหากรู้สึกว่าเริ่มเครียดเกินไปลองเข้าเว็บกรมสุขภาพจิตเพื่อทดสอบแบบประเมินว่าเครียดระดับใด หรือจะโทร.1323 เพื่อปรึกษาจิตแพทย์ก็ได้”

นอกจากนี้ หากิจกรรมที่ชอบมีความสุข เช่น ไปเที่ยว หางานอดิเรก ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ สะสมของรักของชอบ มีสังคมเพื่อนฝูงเพื่อไปทำกิจกรรมด้วยกัน หาเพื่อนใหม่ๆ บ้าง ให้เวลากับญาติผู้ใหญ่เพื่อดูว่าท่านใช้ชีวิตอย่างไรเพื่อดูไว้เป็นตัวอย่าง

เครียด จน เกษียณไม่มีเงินเก็บ!!!

ทำงานมาทั้งชีวิต แต่ไม่มีเงินหลังเกษียณ

ต่อเนื่องจากผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่ของซิกน่าเมื่อปีที่แล้ว ที่พบว่า 75% ของคนไทยยังไม่มีเงินเพียงพอสำหรับใช้ในยามเกษียณ เนื่องจากขาดการเตรียมพร้อมด้านการเงินที่ดีพอ เพราะคิดว่าตนเองยังไม่แก่ ทำให้หลายคนตกสู่ กับดักอายุ (Age Trap) โดยในปีนี้คนไทยก็ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเดิมๆ ในเรื่องของความมั่นคงทางการเงินของตนเองเช่นเดียวกับการสำรวจครั้งที่แล้ว พบว่า คนไทยถึง 40% คาดว่าเมื่อเกษียณแล้วจะต้องควักกระเป๋าจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยเงินเก็บของตนเอง ขณะที่อีก 29% คิดจะพึ่งพาสวัสดิการจากภาครัฐในการดูแลและจ่ายค่ารักษาพยาบาล และมีคนไทยเพียง 23% เท่านั้นที่บอกว่ามีความคุ้มครองที่เพียงพอจากแผนประกันสุขภาพส่วนบุคคลที่ทำไว้

กวิน สุวรรณตระกูล นักการเงินนักลงทุนในตลาดหุ้น ผู้เขียนหนังสือฮาวทูด้านการลงทุนหลายเล่มและผู้ร่วมก่อตั้ง aomMoney.com ให้คำแนะนำในเรื่องการออมว่า คนวัยหนุ่มสาวส่วนใหญ่เวลาที่มีรายได้จะชะล่าใจ จะเพลิน ลืมตัวในการใช้เงินเพราะคิดว่ายังหนุ่มสาวอยู่อีกนานกว่าจะเกษียณเลยไม่สนใจจะออมเงินอย่างจริงจัง แต่ลืมนึกไปว่าเวลาผ่านไปเร็วมาก

สังคมไทยขาดการกระตุ้นให้คนวัยทำงานออมแต่เนิ่นๆ ขณะที่บางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หรือหลายประเทศในยุโรป จะส่งเสริมให้มีการออมตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัยทันที หรืออายุไม่เกิน 25 ปีทุกคนมีการออมอย่างมีเป้าหมายชัดเจน ขณะที่คนไทยไม่ค่อยตระหนักในเรื่องนี้เท่าที่ควร กว่าจะคิดออมก็วัย 40 กันแล้วซึ่งอาจจะช้าเกินไป เพราะส่วนใหญ่คนเราจะมีจุดจบของเงินเดือนอยู่ที่ 55-60 ปี และมีอายุยืนถึง 80 ปี นั่นคือ มีเวลาทำงานประมาณ 30 ปี แต่ต้องใช้เงินไปอีก 50 ปี (คืออายุ 30-80 ปี) ถ้าไม่เริ่มเก็บเงินไว้ตั้งแต่อายุ 30 ปี ก็จะเก็บเงินไม่ทันใช้ยันหลังเกษียณ

ดังนั้น จึงต้องมีวิธีการเก็บอย่างมีหลักการคือเผื่อเงินเฟ้อไว้ปีละ 3-4% ทุกปีด้วย เพราะเงินเฟ้อมันแซงเงินฝากทั่วไปอยู่แล้ว สรุปก็คือ ต้องลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเงินเฟ้อ คือ เติบโตปีละ 8-10% เช่น กองทุน หุ้น พันธบัตร ตราสารต่างๆ และเพิ่มจำนวนทุกปี เช่น ตอนอายุ 30 เคยลงทุนเพื่อการออมเดือนละ 5,000 บาท พออายุ 32 ปี ต้องออมเพิ่มเดือนละ 6,000 บาท อายุ 35 ต้องเดือนละ 7,500 บาทอายุ 40 ต้องออมเดือนละ 1 หมื่นบาท แบบนี้เป็นต้น

“ที่สำคัญก็คือต้องเริ่มออมตั้งแต่อายุน้อยๆ อะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวกับธุรกรรมการเงิน ยิ่งเริ่มตอนอายุน้อยๆ ยิ่งได้เปรียบ ไม่ว่าจะซื้อประกัน หรือออม คำพูดที่ว่าออมก่อนรวยก่อน นั้นเป็นเรื่องจริง คือจะเริ่มจากเงินเท่าไหร่ก็ได้ที่คุณพร้อมจะเดือนละ 2,000-3,000 แล้วค่อยๆ ขยับเพิ่มตามอายุที่มากขึ้น เมื่อทำบ่อยๆ คุณจะชินและมีวินัย ติดเป็นนิสัย คุณจะมีความสุขกับตัวเลขในบัญชีที่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญต้องกระจายความเสี่ยงไปยังการลงทุนหลายๆ แบบ มีเป้าหมายแบบรายเดือนและรายปี เช่น ปีไหนมีโบนัสงามก็เก็บเพิ่มอีก 30-40% จากโบนัสก้อนนั้นๆ และปรับเปลี่ยนพอร์ตทุกๆ 3-5 ปี เพื่อให้พอร์ตโตขึ้นเรื่อยๆ และความเสี่ยงในการลงทุนลดลงเรื่อยๆตามอายุที่มากขึ้น ที่สำคัญต้องพยายามมีรายได้มากกว่า 1 ทาง ควรมีรายได้เสริมจากงานอื่นๆ ด้วยเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว”

นอกจากลงทุนเรื่องการเงินแล้วก็ต้องลงทุนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเองด้วย เช่น มีความรู้อื่นๆ เพิ่มเติมในงานที่ทำอยู่ ถ้ามีฝีมือโดดเด่นใครก็อยากจ้างไปทำงาน มีคนอยากซื้อตัวไป โอกาสที่จะตกงานก็น้อย อย่าหยุดอยู่กับที่ และอย่าลืมลงทุนด้านสุขภาพคือการดูแลร่างกายให้แข็งแรงออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก กินอาหารที่ดีกับสุขภาพ