posttoday

คนจอแก้วรุ่นใหญ่ อยู่ยังไงในยุคทีวีซบเซา

02 ตุลาคม 2561

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2018 คือ ทีวีกำลังได้รับความนิยมลดลง

เรื่อง  วราภรณ์ ภาพ  ทวีชัย ธวัชปกรณ์

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2018 คือ ทีวีกำลังได้รับความนิยมลดลง เพราะคนทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่หันไปดูรายการออนไลน์กันหมด ทำให้คนทีวียุคปัจจุบันต้องปรับตัว

เช่นเดียวกับ สุชาดี มณีวงศ์ วัย 72 ปี ผู้บรรยายเสียงและเจ้าของรายการกระจกหกด้านที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และงานวิทยุมามากกว่า 40 ปี ต้องหันมาผลิตรายการออนไลน์ทางเพจ “ไชโย...โอป้า” ที่ออกมาเพียงไม่กี่ตอนก็ฮิต โดนใจวัยรุ่นคนดูนับแสนคน หลังจากออกอากาศไปเพียง 10 ตอน และยังมีโปรเจกต์พร้อมส่ง กระจกหกด้าน เสริมออนไลน์อีกทางหนึ่ง

อีก 1 คนจอตู้ที่ยังไม่ยอมเสื่อมความนิยมไปพร้อมกับทีวีคือ ปรมาจารย์ด้านการพากย์ น้าติง-อาจารย์สุวัฒน์ กลิ่นเกษร วัย 63 ปี เจ้าของฉายานักพากย์มวยปล้ำขวัญใจหลานๆ ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการนาน 30 ปี ที่แม้จะห่างหายไปสักพักหนึ่ง แต่เขากลับมาแล้วกับการจัด “เจ้าสังเวียนมวยปล้ำ น้าติงรีเทิร์น” ศึกมวยปล้ำชั้นนำจากแดนอาทิตย์อุทัยค่าย NJPW หรือนิว เจแปน ที่มาพร้อมกับลูกชาย “ปอ ร็อกเกอร์” หรือวสุ กลิ่นเกษร ออกอากาศทุกคืนวันอาทิตย์ 22.00 น. ช่อง 28 เพื่อปั่นนักพากย์มวยปล้ำประดับวงการอีกดวงหนึ่ง

เปิดตำนานทีวีโด่งดังในยุค 90

ในยุค 10 ปี ก่อนปี พ.ศ. 2540 เศรษฐกิจดีมากๆ อยู่ในยุครายการทีวีที่เฟื่องฟูสุดๆ แม้จะเป็นรายการเชิงสารคดีกระจกหกด้านก็ตามก็ยังมีสปอนเซอร์ตบเท้าเข้ามาสนับสนุนมากมาย แต่เริ่มมาซบเมื่อปี 2540 ยุคต้มยำกุ้ง

“ก่อนหน้านั้นโฆษณาเต็มล้นเพราะลูกค้ารู้จักรายการเรา โฆษณาไหลมาเทมาซื้อกัน 7-10 นาที เรามีความสุข รายการออกอากาศทุกวัน หลังปี 40 เริ่มซบเงินที่เก็บได้ในช่วงเฟื่องฟูต้องเอามาใช้จนเกินหมด ดิฉันคิดว่าเงินก้อนนี้หมดก็เลิกกัน พอเจอวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2550 ก็เริ่มซบมาเรื่อยๆ พอปี 2560 เรียกว่าช็อก ลูกค้าหลุด เหมือนผลไม้หล่นหายไปเลย หาโฆษณายากมาก เคเบิลทีวีบางเจ้าเหมา 2,000 แต่เราเป็นแสน แต่เราก็ยังทำเรื่อยๆ รักษาคุณภาพบทบรรยายต้องถูกต้อง เที่ยงตรง เราไม่เสิร์ชห้องสมุด เราเสิร์ชดูวิทยานิพนธ์ สารานุกรม จดหมายเหตุ ฉะนั้นข้อมูลจึงถูกต้อง เรียกว่าปีนี้เราเจอปัญหาอย่างหนัก ปีกลายที่ผ่านมาลูกค้าบอกว่าปีหน้าไม่มีตังค์ให้เธอแล้วนะ ดิฉันประสาทเสียเลย ก็คิดว่าเราต้องทำอะไรสักอย่าง คิดทำออนไลน์ 3 ปีที่แล้ว ตอนนี้รอไม่ได้ต้องทำแล้ว เพราะดิฉันกับลูกๆ จะไม่ยอมตายไปพร้อมทีวี เราจะอยู่กับทีวีจนวินาทีสุดท้าย ตอนนี้เรายังผลิตรายการกระจกหกด้านอยู่” สุชาดี เล่าถึงการประคับประคองรายการทีวี พร้อมๆ พร้อมกับหาช่องทางใหม่ๆ ต่อยอดต่อไป

คนจอแก้วรุ่นใหญ่ อยู่ยังไงในยุคทีวีซบเซา

ในวัย 63 น้าติง อาจารย์สุวัฒน์ ของแฟนมวยปล้ำเพิ่งเกษียณจากการเป็นอาจารย์ ณ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม แต่ยังคงทำรายการและเป็นเจ้าของรายการ ได้แก่ “น้าติง โชว์ไทม์” ทำมา 10 ปีแล้ว และยังทำรายการทีสปอร์ตของการกีฬาแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีรายการ “คุยอย่างกูรู” ช่องบีอีซีเทโร ที่รีรันออกทางเว็บไซต์ของบีอีซี แล้วยังมีรายการ “หงส์ผีสีเดียวกัน” ช่อง MGR ออนไลน์ และรีรันทางช่องนิวส์วัน ล่าสุด น้าติงเพิ่งกลับมาพากย์มวยปล้ำและเป็นเจ้าของร่วมรายการ “เจ้าสังเวียนมวยปล้ำ” ออกอากาศช่อง 28 เอสดี ทีวีดิจิทัล ไม่หมดแค่นั้นน้าติงยังเป็นมือปืนรับจ้างพากย์กีฬาทางไทยรัฐทีวี รายการ “วันแชมเปี้ยนชิพ” การต่อสู้มวยในกรง เป็นคนแรกของประเทศไทย และยังรับพากย์บาสเกตบอล ให้โมโนทีวีดิจิทัล และพากย์กีฬาทางช่องไทยพีบีเอสอีกด้วย

น้าติงถือเป็นผู้ปลุกกีฬามวยปล้ำให้ได้รับความนิยมอย่างสูงสุด โดยน้าติงเข้าวงการพากย์กีฬาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เรื่อยมา และมาพีกสุดๆ ด้วยการพากย์กีฬามวยปล้ำที่มีความโหดในสายตาคนดู ทำอย่างไรจะทำให้การชมมวยปล้ำเป็นเรื่องสนุก น้าติงจึงใช้ลีลามืออาชีพและการมองโลกในแง่ดี ด้วยการใส่ลีลาและการพากย์ด้วยคำพูดที่น่ารัก และทำให้ดูสนุกสนานชวนฟัง น้าติงเริ่มพากย์มวยปล้ำอย่างจริงจังให้วิดีโอสแควร์ตั้งแต่ปี 2533 ทำให้กระแสมวยปล้ำที่เริ่มซาก่อนหน้านั้นกลับมาดังอีกครั้ง คนเริ่มสนใจดูกีฬามวยปล้ำบูมมากในวิดีโอ ผู้คนต่างถามหานักพากย์คนนี้ว่าชื่ออะไร แต่เขาใช้ชื่อว่า น้าติง เลียนแบบสตริงนักมวยปล้ำชื่อดัง

“ตอนใช้เสียงพากย์คนก็ไม่เห็น แต่คนอยากพูดคุย ซึ่งน้าก็ไม่รู้ว่าตัวเองดังมากๆ สูงสุดมีจดหมายเขียนเข้ามาหามากถึงวันละ 1 หมื่นฉบับ/สัปดาห์ ช่วงน้าติงจัดรายการให้ยูบีซีมีแฟนๆ มายืนรอหน้าลิฟต์ที่ตึกทิปโก้ เพื่อขอดูหน้าน้าติง โดยเฉพาะวันอาทิตย์ พฤหัสบดี ศุกร์ มาขอถ่ายรูปมาขอลายเซ็น แต่เจ้าของรายการตอบจดหมายยังไม่ให้น้าออกหน้าเต็มๆ แต่ทำเป็นรูปการ์ตูนหน้าเบี้ยวไปมา กระแสยิ่งแรง จนกระทั่งผู้บริหารให้น้าเอาหน้าออกสื่อได้ ตอนนั้นน้าอายุ 40 เกือบ 50 แล้ว คนชอบน้าติงมากๆ มีการทำตุ๊กตาและเสื้อน้าติงออกจำหน่าย เรียกว่าน้าดังมากๆ แม้มวยปล้ำจะดังที่ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง แต่เมืองไทยก็ไม่น้อยหน้า เพราะน้าติงทำให้มวยปล้ำทั้งฝั่งอเมริกาและญี่ปุ่นโด่งดังขึ้นมา จนผู้คร่ำหวอดในวงการมวยปล้ำของโลกยังตั้งคำถามว่า ฮู อีส น้าติง”

แต่ด้วยการแย่งนักพากย์ที่โด่งดังระหว่างค่ายต่างๆ ไปมา ทำให้น้าติงต้องห่างหายไปจากการพากย์มวยปล้ำพักหนึ่ง ประกอบกับมีนักพากย์มวยปล้ำรุ่นใหม่ๆ ก้าวขึ้นมา แต่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก ทำให้กระแสกีฬามวยปล้ำในบ้านเราซบเซาลงเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แม้มวยปล้ำเริ่มซบแต่ก็ยังมีผู้คนให้ความสนใจอยู่

 

คนจอแก้วรุ่นใหญ่ อยู่ยังไงในยุคทีวีซบเซา

รูปแบบรายการโดนใจวัยรุ่น

สุชาดี เปิดเผยถึงเหตุผลที่ทำให้รายการ “ไชโย…โอป้า” ได้รับกระแสตอบรับดีเกินคาดทางเพจ “ไชโย...โอป้า” ว่าเป็นเรื่องที่เกินความคาดหมาย เพราะออกอากาศมา 10 ตอน คนดูเป็นแสน ถือว่ากระแสตอบรับดีมากถือว่าเรามาถูกทางแล้ว ในฐานะคนทำงาน
ก็รู้สึกหายเหนื่อย กลุ่มคนดูส่วนใหญ่ก็เป็นวัยรุ่น คนที่ท่องโลกออนไลน์ ซึ่งแต่แรกค่อนข้างหนักใจ แต่วันนี้โลกเปลี่ยนไปกลุ่มตลาดออนไลน์เป็นสื่อใหม่ที่น่าสนใจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การปรับตัวให้รายการที่คนชื่นชอบและรู้จัก โดยมี สุชาดี เจ้าของเสียงบรรยายอันเป็นเอกลักษณ์ของกระจกหกด้านที่ออกอากาศเป็นประจำทางช่อง 7 สี มาเป็นตัวชูโรง ซึ่งทุกอย่างผ่านกระบวนการคิดของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นทั้งลูกชาย อลงค์กร จุฬารัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตของบริษัทและลูกสาวอร-อรอรีย์ จุฬารัตน์ ผู้จัดการเว็บไซต์ krajokhokdan.com มาอยู่เบื้องหลังการผลิตทั้งหมด

อลงค์กร เล่าว่า เมื่อคนทีวีหันมาทำเพจก็เกิดเพจออนไลน์เป็นจำนวนมาก โจทย์ของพวกเขาคือ จะทำอย่างไรให้คน “อยากดู” พี่ๆ น้องๆ มีความคิดเห็นที่ตรงกับคุณแม่คือ อย่างน้อยสุชาดีมีชื่อเสียงมาจากกระจกหกด้านที่ปัจจุบันก็ยังออกอากาศอยู่วันพฤหัสบดี ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7 จึงต้องดึงแม่เหล็กอย่างคุณแม่มาช่วยกรุยทางด้วย

อลงค์กร กล่าวต่อว่า ออกอากาศได้ 10 ตอน โดยอาศัยการลองผิดลองถูก ดึงบุคคลน่าสนใจมาพูดคุยกับป้าสุชาดี และสอดแทรกความรู้ลงไป เพราะคนเราจะไม่ชอบการถูกยัดเยียดให้ความรู้มากจนเกินไป สอดแทรกความรู้อย่างมีศิลปะและชั้นเชิงสไตล์คนมากประสบการณ์การทำรายการสารคดีมา 40 ปี ซึ่งถูกใจคนดูมากๆ อย่างคาดไม่ถึงอลงค์กร บอกอีกว่าการก้าวเข้าสู่ออนไลน์ นับว่าเป็นการขยับตัวได้ถูกทางเพราะคนดูรู้สึกดีต่อโอป้า ทั้งหมดปล่อยออกไปเพียง 3 เดือน คนคลิกไลค์เข้ามาชมในเพจมากถึง 6 หมื่นครั้ง
แบบออร์แกนิกล้วนๆ ไม่เสียเงินสักกะบาท กลายเป็นกระแสพูดกันปากต่อปาก นี่เธอ เคยดูรายการนี้หรือยังผู้บรรยายกระจกหกด้านไปต่อราคาที่ตลาด อ.ต.ก. ใครดูก็ขำ เพราะทีมงานตั้งใจปรับให้รายการจากถนัดทำ “สารคดี” มาผลิตรายการ “วาไรตี้”

ฟากน้าติงเมื่อทีวีซบ น้าติงปรับตัวอย่างไร ท่ามกลางมีเด็กรุ่นใหม่ๆ มาแทนที่คนรุ่นเก่า ซึ่งมีค่าตัวที่แพงกว่า

“น้าคิดว่าตอนนี้กระแสมวยปล้ำของน้ายังไม่ซบ เพราะน้ายังไปร่วมกับบริษัท เด็ค ซึ่งเป็นบริษัททำการ์ตูนร่วมกันซื้อลิขสิทธิ์เป็นปีที่ 2 ผลิตรายการเจ้าสังเวียน น้าติงรีเทิร์น แต่มีปัญหาคือไม่มีสปอนเซอร์ ทำให้เราขาดทุน แต่เรายังทำต่อโดยใช้เงินทุนส่วนตัวปีละเกือบ 1 ล้านบาท แต่รายการอื่นๆ ของน้าติงรอดแล้ว อย่างน้อยๆ 3 รายการอยู่ได้เพราะเพิ่งมีคนมาสนับสนุนเป็นสปอนเซอร์ เพราะน้าติงไม่สนับสนุนเว็บการพนันเด็ดขาด ยอมขาดทุนไป 1 ปี เหตุที่ขาดทุนเพราะเราไม่รับเว็บพนันที่ให้เงินสูงมาก แต่น้าติงยังยึดมั่นต่อความมีคุณค่าทางใจของน้ากับเด็กๆ และคุณแม่ของแฟนคลับที่เขาชื่นชอบน้า

คุณป้าบางคนเป็นโรคซึมเศร้าแต่ชอบดูรายการมวยปล้ำที่น้าพากย์ ดูแล้วเขาหัวเราะ นี่แหละเป็นกำลังใจให้น้าติงบอกตัวเองว่า น้าจะพากย์มวยปล้ำไปจนตาย เพราะยังมีคนอยากดูน้าอยู่ แม้มีเว็บต่างๆ ที่อยู่กันได้เพราะเว็บพนันให้การสนับสนุนเกิน 80% น้าก็ไม่เอา จนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ที่ต้องการต้องปกป้องเด็กและเยาวชนเป็นพิเศษจากการพนันติดต่อขอเป็นสปอนเซอร์ 2 รายการ หงส์ผีสีเดียวกัน กับคุยอย่างกูรู น้าคิดว่าถ้าเราจะห้ามไม่ให้คนทำผิด เราอย่าไปห้ามในโรงเรียน ต้องไปห้ามให้ถูกทาง”

ผลิตรายการต้องมีจุดยืน อย่าทำตามใคร

ก่อนจะลงมือปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการจำเป็นต้องศึกษาพฤติกรรมคนเสพสื่อออนไลน์ให้ดี ซึ่งไม่เหมือนสื่อทีวีแน่นอน เพราะทำสื่อออนไลน์ก็มีเรื่องค่าใช้จ่ายเหมือนกัน เช่น เสื้อผ้าหน้าผม ซึ่งถือเป็นความเสี่ยง

อลงค์กร กล่าวว่า คุณภาพในสื่อหลักสำคัญในการผลิตรายการ เหมือนทำสื่อสิ่งพิมพ์ ต้องหาข้อมูลที่ถูกต้อง การตัดต่อรายการต้องได้คุณภาพ แต่ออนไลน์ไม่ใช่ สำหรับรูปแบบรายการก็ต้องคิดให้โดนใจ ครีเอทีฟต้องมานั่งคุยกันจะนำเสนอเรื่องอะไร จะให้คนมาคุยกับโอป้าโดยเลือกเป็นไอคอนหรือเหล่าคนดัง แล้วจะทำให้โอป้ากับแขกรับเชิญน้ำหนักสองคนจะอยู่ในทิศทางไหน

“ตั้งแต่เราทำรายการมา ปรากฏคนชอบดูโอป้าเป็นหลัก และต้องมีเกล็ดความรู้หรือมีทริปเพื่อเป็นประโยชน์ คุณแม่ก็พูดให้ความรู้ขำๆ ซึ่งเราก็มีสคริปต์เขียนให้คุณแม่ แต่คุณแม่จำได้บ้างไม่ได้บ้าง (ยิ้ม) คุณแม่ใช้ประสบการณ์ของท่านด้นสดๆ เลย ทุกอย่างที่ออกไปล้วนเป็นธรรมชาติของคุณแม่ทั้งนั้น คนดูโอป้า คนดูคือสถิติอายุ 25-50 ส่วนใหญ่คนทำออนไลน์จะไม่ได้คนกลุ่มนี้ ออนไลน์ส่วนใหญ่จับกลุ่มเด็กไปเลย ดังนั้น ภาษาที่ใช้จึงเป็นวัยรุ่น แต่ของเราไม่ใช่ คนที่โตหน่อย มีความรู้ ความคิด มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกนี่คือกลุ่มแฟนคลับของเรา ในอนาคตอยากลองในกลุ่มเจน z กับกลุ่มมิลเลนเนียมดู อยากศึกษาว่าเขาชอบอะไร ถ้าเราเข้าไปนั่งในใจคนกลุ่มนี้ได้จะดีมาก”

ด้าน อาจารย์สุวัฒน์ พอกลับมาทำทีวีใหม่ รูปแบบรายการ หรือรูปแบบการพากย์ของน้าต้องปรับเพื่อคนยุคใหม่หรือไม่ เขากล่าวว่า รูปแบบสไตล์การจัดรายการของน้าติง ไม่มีรูปแบบตายตัว และไม่เป็นทางการ เพราะน้าฉีกกฎความเป็นทางการมานานแล้ว คนฟังจึงรู้สึกสบายใจมาตั้งแต่ต้น

“น้ารู้ลิมิตทีวีกับการพากย์ในเว็บไซต์ ซึ่งมีไม่สุภาพ ทะลึ่งบ้าง เพราะถ้าไปป้อนความสุภาพในเว็บไซต์คนก็ไม่รับเลย เช่น สวัสดีครับ ต่อไปนี้จะพาผู้ชมอย่างนี้คนไม่รับชม แต่ถ้ามาเลยหลานๆ เราต้องจัดรายการให้เข้าถึงทุกเพศทุกวัย เป็นเรื่องจำเป็น ก่อนทำเว็บไซต์ดูยอดวิวคนอื่นสูงมากๆ บางเจ้าด่ากันรุนแรงหยาบคาย มีคำว่าแม่ง แต่น้าติงใช้แค่คำว่าโถ่เอ้ย น้าจะคุยแบบสนิทแต่ไม่หยาบคาย ทะลึ่งบ้าง แต่ไม่ได้รุนแรง บ้างรายการถามผู้หญิงหยาบคาย กลับมียอดวิวดี กลายเป็นเน็ตไอดอล แต่น้าโตพอจะแยกได้ว่าอะไรเหมาะสมกับคนรุ่นใหม่ ลองวิเคราะห์อุปนิสัยเด็กรุ่นใหม่ บางส่วนเป็นเด็กมีปัญหา เรียกร้องความสนใจ ทั้งคนจัดและคนฟัง แต่น้าไม่หยาบ แต่ถ้าหยาบน้าก็รับไม่ได้ เราต้องมีจุดยืนบ้าง น้าติงจะสอนลูกชายว่า เว็บด่าคน น้าติงบอกลูกให้ดูเป็นตัวอย่างว่า ไม่หยาบก็อยู่ได้ ไม่อย่างนั้นในอนาคตถ้าทุกรายการในเว็บไซต์ด่ากัน ไม่ให้เกียรติกันประเทศชาติก็เสื่อม แต่เรายังมีแพตเทิร์น มันต้องมีรูปแบบที่ดีงามบ้าง และเป็นแบบอย่างในสไตล์ของเรา เราพออยู่ได้ก็พอ ไม่ได้คิดเรื่องกำไรมากมาย

ปอลูกชายน้าก็จะมีสไตล์ของเขาซึ่งไม่เหมือนน้า นักพากย์ที่ดับเพราะเลียนแบบน้าติง เพราะเขาไม่ใช่น้าติง ถ้าคุณเป็นตัวของตัวเองก็สามารถสร้างคาแรกเตอร์แล้วดังในแบบของคุณได้”