posttoday

ทุนมนุษย์ กับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวเอง

01 ตุลาคม 2561

ทำไมบางคนเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน บางคนยังย่ำอยู่กับที่

เรื่อง วรธาร ภาพ รอยเตอร์ส

ในการทำงานเคยสงสัยไหมว่าคนที่มีอายุงานเท่าๆ กัน หรือใกล้เคียงกัน ทำไมบางคนประสบความสำเร็จเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ได้เลื่อนยศตำแหน่ง และได้รับโอกาสดีๆ จากหัวหน้า ผู้บังคับบัญชา หรือผู้บริหาร ตรงข้ามกับบางคนที่ย่ำอยู่กับที่ ล้มเหลว ล้มลุกคลุกคลาน หรือชีวิตติดลบตลอด

ดร.ทองพันชั่ง พงษ์วารินทร์ วิทยากร นักเขียนและที่ปรึกษาอิสระ กล่าวว่า ถ้ารู้จักทุนมนุษย์แล้วเพิ่มทุนด้วยการเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเอง ทุกคนจะหายจากความสงสัยทันที

ดร.ทองพันชั่ง กล่าวถึงทุนมนุษย์ว่า มีประวัติมายาวนานตั้งแต่สมัย อดัม สมิธ (Adam Smith) บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า ทักษะของมนุษย์เปรียบเสมือนเครื่องจักร ซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายอยู่ส่วนหนึ่ง และทักษะดังกล่าวก่อให้เกิดผลได้ในรูปของกำไร จากนั้นก็มีปราชญ์หลายต่อหลายคนได้ให้นิยามอื่นๆ มาเรื่อยๆ ตามการพัฒนาของโลกและการบริหารทรัพยากรมนุษย์จนในปัจจุบัน

“ผมขอยกนิยามทุนมนุษย์ที่เขียนโดย รศ.ดร.จีระ ประทีป รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในหนังสือเอกสารการสอน ชุดวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บทที่ 2 หน้า 2-7 ไว้น่าสนใจว่า ทุนมนุษย์ (Human Capital) หมายถึง ความรู้ ทักษะ ความสามารถ ประสบการณ์ และสุขภาพพลานามัยที่ได้สร้างพัฒนาและสั่งสมไว้ในตัวมนุษย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำไปเพื่อเพิ่มผลผลิตขององค์การและการพัฒนาประเทศ”

ดร.ทองพันชั่ง ได้อธิบายขยายความว่า คนเราทุกคนมีค่า (Value) และก็ต้องเพิ่มมูลค่า (Value Added) ให้กับตัวเองด้วยการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น อ่านหนังสือหรือบทความต่างๆ เข้ารับการอบรม สัมมนา สนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และฝึกฝนทักษะด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ต่อตังเองและองค์การ รวมไปถึงประเทศชาติ

“เพื่อให้เห็นภาพ ผมอยากให้เปรียบเทียบกันดูระหว่าง บุญสร้าง บุญเสริม และบุญส่ง ทั้ง 3 คนเข้างานวันเดียวกัน สิ่งที่ทั้ง 3 คนเหมือนกัน คือ เรียนจบปริญญาตรีสาขาเดียวกัน เกรดเฉลี่ยสูงพอๆ กัน ทำงานในตำแหน่งเดียวกัน แต่การใช้ชีวิตต่างกัน ดังนี้

บุญส่ง - ทำงานไปวันๆ ไม่ตั้งใจทำงาน หัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงาน เสนอแนวทางในการปรับปรุงอะไร แกไม่เอาด้วย แถมคอยค้านตลอด เพราะไม่อยากทำงานเพิ่ม ในหัวของเขาคิดแต่ว่าเมื่อไหร่จะถึงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ยิ่งวันหยุดยาวยิ่งใจจดใจจ่อ และเตรียมวางแผนที่จะลาล่วงหน้าเพื่อที่จะไปเที่ยว ไปตกปลา และดื่มเหล้า

บุญเสริม - ทำงานตามมาตรฐาน ไม่ผิดพลาด ตรงตามความต้องการของหัวหน้า ไม่เสนอแนวคิดอะไรใหม่ๆ แต่ถ้าใครเสนออะไรมาก็ไม่ขัด ทำตามได้ดี

บุญสร้าง - ทำงานสูงกว่ามาตรฐาน ขยันอ่านหนังสือ มักจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รอบตัว โดยจะเข้าร่วมอบรม สัมมนาตลอด ควักกระเป๋าตัวเองก็ไม่ว่า ขอให้ได้เรียนรู้ วันหยุดก็ไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และยังเป็นผู้ที่มักจะเสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหา หรือปรับปรุงงานตลอด”

ดร.ทองพันชั่ง กล่าวว่า คงไม่ต้องเฉลยก็เชื่อว่าผู้อ่านรู้ว่าใครจะเติบโตและก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ยศตำแหน่งได้มากกว่ากันจริงไหม ถ้าอย่างนั้นอยากให้ทุกคนลองทบทวนตัวเองว่า ตอนนี้เราเหมือนกับใครในสามคนนี้ “บุญส่ง” “บุญเสริม” หรือ “บุญสร้าง”

“ถ้ารู้ตัวแล้วยังไม่สาย รีบเพิ่มทุนมนุษย์ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเราเองเสียแต่วันนี้ และขอฝากคมคิดสะกิดใจว่า คนจะมีมูลค่า ถ้ารู้จักเพิ่มมูลค่าให้กับตนเอง และคนจะไร้คุณค่า ถ้าเราทำลายคุณค่าที่มีอยู่ในตัวของเราเอง”