posttoday

กัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง อย่าประมาทธรรมชาติยิ่งใหญ่กว่าเสมอ

30 กันยายน 2561

กัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง กรรมการผู้จัดการ บริษัท วาเคลิสต้าร์

โดย อณุสรา ทองอุไร ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน
 
กัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง กรรมการผู้จัดการ บริษัท วาเคลิสต้าร์ หลังจากที่ทำงานในองค์กรขนาดใหญ่มานานกว่า 22 ปี สะสมประสบการณ์ทางด้านการเงินและการท่องเที่ยวมาจนข้นคลั่ก ในวัย 50 กะรัต เธอก็ขอลาออกมาเปิดธุรกิจเล็กๆ ในฝันเป็นของตัวเอง ก็คือการทำบริษัทท่องเที่ยวที่เน้นศิลปวัฒนธรรม เพื่อเข้าถึงชุมชน และประเพณีอันเก่าแก่ที่เคยเป็นตำนานที่คนท้องถิ่นเขาใช้ชีวิตกันกินอยู่อย่างไร ทั้งในและต่างประเทศ สำหรับเธอนั้นการเดินทางคือความสุข เธอจึงเลือกทำธุรกิจนี้ เพราะเวลาต่อจากนี้ไปอยากทำงานที่มีความสุข เป็นงานที่มีใจรักและออกแบบเวลาเป็นตัวของตัวเองได้
 
ซึ่งเพิ่งเปิดบริษัทได้เพียง 2 เดือนเศษ และเธอก็กำหนดรูปแบบวางแผนสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง โดยเธอจะใช้วิทยากรที่เป็นนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ ในการถ่ายทอดเรื่องราว เพราะโดยส่วนตัวของเธอก็ชอบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อยู่แล้วในแนว Local Experience เพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวของอดีตและปัจจุบันเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ท่องเที่ยวเป็นเรื่องสนุกมากยิ่งขึ้น ซึ่งเธอก็เปิดทริปทัวร์ไปหลายทริปแล้ว
 
เนื่องจากการไปสำรวจเส้นทางที่ประเทศญี่ปุ่นในครั้งล่าสุดนี้ทำให้เธอต้องไปผจญภัยกับไต้ฝุ่น โดยเธอจะเดินทางไปเมือง MIE จากแผนการเดินทางของเธอนั้นจองล่วงหน้าไว้นานแล้ว โดยไปช่วงวันที่ 30 ส.ค. กับทีมงานทั้งหมด 6 คน ก่อนไปก็เช็กข้อมูลแล้วว่าน่าจะกลับทัน คือกลับตอนค่ำและพายุจะเข้าตอนเที่ยงคืน วันที่ 4 ก.ย.
 
เธอบอกว่าเธอเดินทางไปญี่ปุ่นหลายครั้งแล้ว ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ครั้งนี้เธอจะเริ่มต้นจากโอซากา ตอนจองตั๋วเครื่องบินก็เช็กข้อมูลบอกว่า ญี่ปุ่นจะมีพายุไต้ฝุ่นเข้าปีละ 27-30 ลูก และลูกนี้จะเป็นลูกที่ 21 ของปีนี้ชื่อ เชบี-JEBI แต่ทางทีมงานไม่อยากเลื่อน เพราะเตรียมงานไว้กับหลายฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ท่องเที่ยวของญี่ปุ่นและทีมงานถ่ายทำรายการท่องเที่ยวที่เป็นพาร์ตเนอร์กันอยู่
 

กัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง อย่าประมาทธรรมชาติยิ่งใหญ่กว่าเสมอ

 
“ก่อนเดินทางทางทีมงานก็เช็กจากแอพ www.WINDY.com ซึ่งเป็นแอพข่าวเรื่องพายุไต้ฝุ่นของประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ซึ่งข้อมูลจากแอพบอกว่าพายุเข้าหลังที่เรากลับแล้ว 1 วัน ซึ่งเว็บนี้ก็มีความแม่นยำพอสมควร เราจึงคิดว่าเราน่าจะทัน เพราะไฟลต์เรากลับเที่ยงคืนวันที่ 4 ก.ย. แต่พายุจะเข้าบ่ายๆ วันที่ 4 เราก็คิดในแง่ดีว่าเดี๋ยวลมก็น่าจะพาไปบ้าง คงไม่รุนแรงเท่าไร ก็บ้านเราไม่เคยมีพายุใหญ่ๆ แบบนี้ เราเลยอาจจะประมาทเกินไปหน่อย (หัวเราะ) ซึ่งตั้งแต่วันแรกที่ไปถึงเราก็ทำงานได้ตามแผนที่วางไว้ครบตลอดเส้นทาง” เธอเล่าอย่างอารมณ์ดี
 
เธอเล่าว่า วันที่ 3 ก.ย. ทางทีมงานทั้งหมดต้องค้างคืนที่ MIE อีก 1 คืน แต่ทางการท่องเที่ยวของเมืองมิเอะขอร้องให้ทีมงานออกจากพื้นที่ก่อนกำหนดตั้งแต่สายๆ วันที่ 3 เพราะทางเขาเกรงว่าหากพายุมาก่อนเวลา เช่น เช้าวันที่ 4 ก.ย. เขาจะมาส่งให้ ทีมของเธอออกจากพื้นที่ไม่ทัน เพราะเนื่องจากเมื่อพายุมาทุกคนจะต้องอยู่ในที่มั่น อยู่ในตึกอาคารหรือบ้าน ไม่ควรออกมาเดินทางอยู่บนถนนหนทางมันอันตราย ไฟอาจจะดับทั้งเมือง เวลาพายุมาหนักๆ ก็ไม่ควรขับรถ เพราะความเร็วของพายุจะแรงถึง 160-250 กิโลเมตร/ชั่วโมง
 
ดังนั้น ทีมงานของเธอจึงต้องออกจากเมืองมิเอะตั้งแต่วันที่ 3 เพื่อจะเดินทางไปโอซากาให้ทันวันที่ 4 ก.ย. สรุปว่า เช้าวันที่ 3 ก.ย. ทีมของเธอก็ออกจากเมืองมิเอะ 09.00 น. เพราะมีรายงานข่าวท้องถิ่นออกมาว่า เวลา 10.00 น. รถไฟฟ้าที่จะไปโอซากาทุกสายจะหยุดวิ่ง เพราะเจ้าหน้าที่ของเมืองทุกฝ่ายจะเตรียมรับมือกับพายุ ต้องการระบายคนออกจากพื้นที่ไม่ให้เหลือตกค้าง พวกเธอจึงต้องไปขึ้นรถไฟขบวนสุดท้ายเวลา 10.00 น. ทำให้ขบวนรถไฟแออัดมากเพราะทุกคนมุ่งหน้าไปสนามบิน
 
แต่เนื่องจากเที่ยวบินของพวกเธอออกเที่ยงคืนจึงมีเวลาเหลือเยอะ เธอจึงจะเอากระเป๋าของทีมทั้งหมด 9 ใบไปฝากไว้ที่สำนักงานท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้ๆ สนามบิน เพราะเราเหลือเวลาว่างอยู่ 8-9 ชั่วโมง ก็ไม่รู้จะไปนั่งรอแกร่วอยู่ที่สนามบินทำไม ก็หาที่ไปเดินเล่นรอเวลา ก็ไปเดินเล่นที่ตึกอิออนมอลล์ ที่ห่างไปประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร ซึ่งร้านค้าในห้างเริ่มทยอยปิดกันแล้ว
 

กัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง อย่าประมาทธรรมชาติยิ่งใหญ่กว่าเสมอ

 
“นับเป็นความโชคดีมากที่พวกเราไม่เอากระเป๋าไปฝากไว้ที่สนามบินเลย เพราะหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงประมาณบ่ายโมงกว่าๆ ปรากฏว่าที่สนามบินคันไซ ซึ่งตั้งอยู่ในทะเล มีสะพานยื่นออกไประหว่างสนามบิน แล้วสะพานโดนเรือน้ำมันขนาดใหญ่ที่พายุซัดเข้ามาขนสะพานเชื่อมพัง แล้วน้ำจากพายุและทะเลก็ซัดเข้ามาในสนามบินเจิ่งนอง เห็นทั้งลมทั้งคลื่นน่ากลัวมากๆ ทำให้ไม่ปลอดภัย ช่วงบ่ายๆ ก็มีการประกาศปิดสนามบินและยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดกว่า 800 เที่ยวบิน (จนถึงวันนี้สนามบินก็ยังปิดซ่อมแซมอยู่ไม่ได้เปิดใช้) พอเที่ยวบินยกเลิกคนเกือบพันคนก็ต้องแย่งกันหาโรงแรม ชุลมุนมากๆ” เธอเล่าด้วยความอ่อนใจ
 
เมื่อสนามบินปิด ยกเลิกเที่ยวบิน เธอและทีมงาน 6 คน พร้อมกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ 9 ใบ ที่ไปฝากไว้ใกล้ๆ สนามบินที่จะปิดตอน 6 โมงเย็น พอถูกยกเลิกเที่ยวบิน คนจำนวนหลายร้อยคนก็ต้องการออกจากพื้นที่หรือหาโรงแรมพักไปก่อน ทางพวกเธอจึงแบ่งงานกัน บางคนก็หารถแท็กซี่ไปเอากระเป๋า อีกคนก็หาโรงแรม อีกคนก็หารถตู้จะออกไปยังโอซากา ซึ่งก็หารถไม่ได้
 
“มีน้องผู้ชาย 2 คนในทีมอาสาวิ่งจากอิออนมอลล์ วิ่งที่รับกระเป๋าใกล้ๆ สนามบิน ซึ่งเขาต้องวิ่งท่ามกลางสายฝนเกือบ 10 กิโลเมตร ทางเราก็หารถเพื่อจะไปรับน้องถ้าไปเจอกันกลางทาง อีกทีมก็หาโรงแรม ซึ่งเราหารถไม่ได้ และยังหาโรงแรมไม่ได้ด้วย คิดว่าถ้าไม่ได้จริงๆ ก็จะไปอาศัยวัดนอน หรือไปหาห้องคาราโอเกะนอนไปก่อน” เธอเล่าต่อไปเรื่อยๆ
 
ตอนที่หารถเพื่อจะไปรับกระเป๋าด้วยการหาแท็กซี่ ปรากฏว่าหารถไม่ได้เลย ขณะที่ลมและฝนเริ่มมาแล้ว ต้นไม้พัดรุนแรงโอนเอียงจนเกือบล้ม ป้ายโฆษณาหลุด หลังคาบ้านหลุดปลิว กระจกหลุด นั่นคือตัวพายุยังไม่เข้าเต็มที่นะ ประตูที่ร้อยห่วงโซ่ล็อกไว้เขย่าจนหลุดปลิวไปเลย รถบัสคันใหญ่ๆ ก็สั่นๆ เหมือนมีคนไปเต้นในรถสัก 100 คน แบบนั้นเลย
 

กัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง อย่าประมาทธรรมชาติยิ่งใหญ่กว่าเสมอ

 
ทางเธอก็ตามข่าวตลอดเวลา โทรศัพท์ทุกเครื่องของคนญี่ปุ่นจะมีข้อความข่าวส่งให้รู้ความคืบหน้าเป็นระยะๆ พร้อมบอกคำแนะนำการปฏิบัติตัวว่าควรทำอย่างไร ข้อมูลล่าสุดบอกว่านี่เป็นพายุที่รุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปีของโอซากา ซึ่งตอนที่ทีมงานเธอเช็กข่าวก่อนเดินทางไปญี่ปุ่นนั้นไม่ได้บอกว่ารุนแรงถึงขนาดนั้น
 
แต่ในที่สุดเธอก็หาโรงแรมเล็กๆ ได้ แต่พอเข้าไปถึงโรงแรมปรากฏว่าย่านนั้นไฟดับทั้งถนนเลย ไม่มีอาหาร ไม่มีไฟ ไม่มีน้ำอุ่นใดๆ ทั้งสิ้น โรงแรม 4 ชั้น ไม่มีลิฟต์ ลากกระเป๋าเดินทางใบใหญ่กันขึ้นไป เธอต้องเปิดประตู หน้าต่าง ห้องนอนเพื่อให้ลมเข้ามาจะได้ไม่อบอ้าว แต่พอเปิดหน้าต่างก็มีลมมีฝนโปรยปรายเข้ามา แถมยังมียุงอีกด้วย ยุงกัดจนขาลาย นอนไม่ได้ หลับๆ ตื่นๆ ทุลักทุเลมาก ร้านอาหารต่างๆ ซูเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ ก็ปิดหมดเลย หิวก็หิว อาหารที่เราเตรียมไป พวกมาม่า ขนม ก็หมดแล้วเหลือของกินเล่นอยู่ไม่กี่ซอง ก็แบ่งๆ กันกิน ซึ่งก็แทบจะไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไรเลย คืนนั้นทำให้เธอได้ทบทวนความคิดว่านี่ขนาดเตรียมพร้อมมาแล้วก็ยังรับมือไม่อยู่ ธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่จริงๆ คนเราไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ เพราะฉะนั้นอย่าทำลายสิ่งแวดล้อมให้มากจนเกินไป ดูแลรักษากันให้มากๆ อย่าประมาทกับภัยธรรมชาติ เขายิ่งใหญ่เกินจะรับมือได้
 
วันรุ่งขึ้นเธอพยายามออกจากเมืองนี้ เพื่อไปหาสนามบินอื่น เพราะสนามบินคันไซคงปิดยาวอีกหลายวัน  จึงต้องเข้าไปโตเกียว แต่รถไฟในเมืองนี้ก็ยังไม่เปิด เธอต้องพยายามไปเมืองถัดไปเพื่อไปขึ้นรถไฟชิงคันเซ็น เพราะแท็กซี่กับรถบัสไม่มีเลย เธอกับทีมงานต้องเดินลากกระเป๋าไป 3 กิโลเมตร ท่ามกลางแดดเปรี้ยงๆ เพื่อไปหารถไฟ
 
“ความน่ารักของคนญี่ปุ่นก็คือ ระหว่างทางผ่านบ้านเรือน เด็กๆ คนแก่ จะมาขอบคุณที่มาเที่ยวญี่ปุ่นขอบคุณที่มาเข้าโค้งคำนับพวกเรา แล้วบอกว่ามาอีกนะ อย่าเพิ่งเบื่อนะ มาเที่ยวอีก ขอบคุณๆ”
 

กัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง อย่าประมาทธรรมชาติยิ่งใหญ่กว่าเสมอ

 
ในที่สุดเธอต้องไปต่อรถไฟถึง 3 ต่อ เป็นรถไฟหวานเย็น วนอยู่ในสถานีนาน 7 ชั่วโมงในโอซากา เพื่อจะได้เข้าเมืองไปหาชิงคันเซ็น ไปโตเกียว 3 ชั่วโมง พอไปถึงก็ค้างที่โตเกียว 1 คืน แล้วก็ไปนอนที่ชิบะ 1 คืน โชคดีที่โรงแรมที่ชิบะนั้นมีจุดชมวิวที่สวยงามมากๆ เป็นจุดที่เมื่อถึงเวลาปีใหม่คนญี่ปุ่นจะมาชมพระอาทิตย์ขึ้นที่เป็นแสงแรกของปีใหม่ที่จุดนี้ เรียกว่า ฮักซิโนเดะ คือแสงแรกของแดนอาทิตย์อุทัย เพราะเรายังไม่ได้ตั๋วกลับ กว่าจะได้ตั๋วบินกลับไทยก็วันที่ 8 ก.ย. เราจึงต้องไปต่อที่เมือง KUJUKURI อีก 1 คืน เพื่อสำรวจเส้นทางเพิ่ม เพราะยังหาตั๋วกลับไม่ได้ก็ทำงานต่อเลย
 
จากเดิมที่จะไป 7 วัน เจอพายุต้องอยู่ต่ออีก กลายเป็น 10 วัน เธอบอกว่าคิดว่าวางแผนไปดีแล้วเตรียมพร้อมไปดีแล้วก็ยังไม่พอ เสื้อผ้าเอาไปเผื่อ 2 ชุดก็ไม่พอใส่ ต้องเอาชุดนอนมาใส่แทน เงินที่แลกไปว่าเผื่อๆ ไปเยอะก็ไม่พอ แม้ดอลลาร์ก็หมดเกลี้ยง มีบัตรเครดิตร้านใหญ่ๆ ก็ปิดหมด จะซักเสื้อผ้ามาใส่ซ้ำก็ไม่มีแดด มีแต่ลมพายุ
 
“นี่เป็นบทเรียนว่าอย่าประมาท เตรียมพร้อมไปแค่ไหนก็ยังไม่พอ โชคดีว่าไม่ได้ทำงานประจำแล้วไม่งั้นแย่แน่ ดีเลย์ไป 3-4 วันแบบนี้ เหมือนกับการไปผจญภัยเลยทริปนี้ มีเรื่องต้องลุ้นต้องแก้ปัญหากันทุกวัน โชคดีว่าแค่ลำบาก ทุลักทุเล แต่ไม่มีอันตรายใดๆ เกิดขึ้นกับทีมงาน ตอนนั้นที่บ้านก็เป็นห่วง คืนที่พายุเข้าติดต่อกับที่บ้านไม่ได้เพราะไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตเลย
 
“สิ่งที่ได้เรียนรู้คราวนี้ก็คือความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติสอนให้เรารู้ว่ามนุษย์เป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ในจักรวาล ธรรมชาติยิ่งใหญ่เสมอ ทำให้อัตตาเราเล็กลง จงเจียมตัวเจียมใจ ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับอะไรมากไป บอกตัวเองว่าได้แค่นี้ก็ดีมากแล้ว รอดมาได้ปลอดภัย เคยเจอพายุใหญ่ๆ แบบนี้ที่ญี่ปุ่นมาสองครั้ง ครั้งแรกติดอยู่ที่โรงแรมริมทะเล ออกไม่ได้ 3 วัน 3 คืน โรงแรมสั่นไหวไปหมด ธรรมชาติเขายิ่งใหญ่มากจริงๆ” เธอกล่าวทิ้งท้าย