posttoday

Knowing your body การรู้จักร่างกายตัวเอง (2)

29 กันยายน 2561

ต่อจากฉบับที่แล้วเราพูดกันถึงความเป็นส่วนบุคคลในแง่ของร่างกายในส่วนของกายหยาบ

โดย ภัชภิชา แก้วสุวรรณสุข (ครูเจี๊ยบ) ผู้ก่อตั้ง Japayatri Yoga Style
 
ต่อจากฉบับที่แล้วเราพูดกันถึงความเป็นส่วนบุคคลในแง่ของร่างกายในส่วนของกายหยาบ ซึ่งในวันนี้เราจะพูดถึงในส่วนของกายละเอียดก็คือในส่วนของจิตใจ วิธีการมอง “ร่างกาย” นั้นมองได้หลายแบบขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองในแง่มุมไหน
 
ตัวอย่างเช่น หากจะมองร่างกายในแง่ของชีววิทยาล่ะ ร่างกายนี้ก็เป็นเพียงแค่พาหนะของหน่วยพันธุกรรมหรือยีน ดีเอ็นเอ (Gene, DNA) ที่ใช้อยู่เพียงชั่วคราวในการสืบต่อเผ่าพันธุ์ไปเรื่อยๆ ตามหลักของวิวัฒนาการนั่นเอง (การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในประชากรของสิ่งมีชีวิตจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง
เพื่อให้รุ่นต่อๆ ไปสามารถดำรงชีวิตอยู่รอดต่อไปได้)
 
แล้วถ้ามองในแง่ของควอนตัมฟิสิกส์ล่ะ นั่นคือการมองร่างกายเป็นสสาร อนุภาค อะตอมหรือเซลล์ พลังงานในฟิสิกส์ไม่ว่าจะเป็นความร้อน แสงสว่าง พลังงานศักย์โน้มถ่วง พลังงานศักย์ไฟฟ้า ที่สะสมอยู่ในวัตถุ กฎของแรงดึงดูดที่มีในระบบสุริยะ ทุกสรรพสิ่งสั่นสะเทือนเกิดเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นพลังชีวิต ซึ่งสำหรับโยคะแล้วพลังสั่นสะเทือนทุกชนิด คือ ปราณ (ปราณ คือ พลังงานที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งแทรกซึมอยู่ในมวลสารผ่านระบบจักรวาลในทุกระดับ ในโลกก็แทรกซึมอยู่ในพืช อาหาร น้ำ อากาศ เป็นต้น)
 
ในเทอมของโยคะ ความเป็นส่วนบุคคลในจิตใจนั้นไม่มี เพราะในโยคะสูตรพูดถึงการละทิ้ง การยอมแพ้ การปลดปล่อย (Vairagya, วิราคะ, Detachment) 
 

Knowing your body การรู้จักร่างกายตัวเอง (2)

 
จนกระทั่งผู้ฝึกสามารถรับรู้ถึงความชั่วคราวในโลกใบนี้เพื่อสามารถเข้าสู่การหลุดพ้นได้ (Moksha โมกษะ) การพัฒนาจิตใจคือส่วนที่สำคัญที่สุดเพื่อนำเราไปสู่โยคะขึ้นสูง (Higher Yoga) ดังนั้นความเป็นส่วนบุคคลมีแค่ทางร่างกายแต่ไม่มีทางใจเพราะจิตที่อิสระจะไม่มีการยึดติด 
 

Knowing your body การรู้จักร่างกายตัวเอง (2)

 
การตีความในภาพที่ 1 มาจากคุณเจน จิต ผู้สร้างสรรค์ผลงานภาพวาดสุดคลาสสิก ในภาพแรกเด็กน้อยค่อยๆ  คลายเชือกที่เกี่ยวพันรัดพันธนาการตัวเองไว้ลงไปเรื่อยๆ จนเบาลง ส่วนภาพที่ 2 คือ ภาพใบไม้ที่ค่อยๆ เฟดจางลงๆ จนกระทั่งหายไปหลอมรวมไปกับธรรมชาติทั้งสองเป็นการสื่อถึงการไม่ยึดติด ปล่อยวาง การสูญสลาย
 
วิราคะจะเกิดขึ้นได้เมื่ออัตตาไม่ยิ่งใหญ่ หากเราใช้อัตตาแต่น้อย ใช้ให้เป็นก็ใช้มันเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการดำรงชีวิตก็พอ ใช้ให้เหมาะสมเพื่อให้เราเอาตัวรอดได้ในสังคม หาเงิน เลี้ยงชีพ ทำหน้าที่ตามภาระความรับผิดชอบเพียงแค่นั้น จงอย่าให้มันเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางหรือเป็นตัวแทนของทุกสิ่งของจิตวิญญาณ แล้วชักนำเราไปให้อยู่ใน “มายา” สู่ความโลภ ความอยากแบบไม่มีที่สิ้นสุด
 
เมื่อเราตระหนักรู้ในร่างกายของตน ในจิตใจของตน ความเป็นปัจเจกของตัวตน สิ่งที่ทำให้ฉันเป็นฉัน คือความอหังการ ที่นำไปสู่โลกของจินตนาการและการแบ่งแยกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มีเพียงแค่การละทิ้งความอหังการเท่านั้นจึงเป็นหนทางสู่ความเบาและอิสรภาพ
 
สุดท้ายนี้ขอฝากทิ้งท้ายด้วยคำพูดของกูรูจีท่าน บี เค เอส ไอเยนการ์ ว่า “การเดินทางที่แท้จริงของโยคะคือการย้อนกลับสู่ภายใน” (จากหนังสือฉบับแปล Light on Life)
 
แล้วพบกันฉบับหน้าค่ะ CR.ขอขอบคุณภาพเขียนสีน้ำแนวอาร์ตจากคุณเจน  Jane Jiit (Watercolor), IG : janewaterblog