posttoday

ปฏิพล เชื้อโตหลวง การช่วยชีวิต คือ ‘ความสุขที่ประเมินค่าไม่ได้’

29 กันยายน 2561

ใครว่าเด็กรุ่นใหม่สนใจแต่เทคโนโลยี ใช้ชีวิตอยู่แต่ในโลกโซเชียล

โดย พุสดี สิริวัชระเมตตา
 
ใครว่าเด็กรุ่นใหม่สนใจแต่เทคโนโลยี ใช้ชีวิตอยู่แต่ในโลกโซเชียล เพราะอย่างน้อยยังมีอีกหนึ่งพลังคนรุ่นใหม่อย่าง “นิว” ปฏิพล เชื้อโตหลวง ที่พร้อมเป็นแรงบันดาลใจให้อีกหลายๆ คนลุกขึ้นทำประโยชน์ให้สังคม
 
งานนี้บอกเลยว่า ถึงไม่มีค่าตอบแทนแต่รับรองว่าทำแล้วจะได้ความสุขใจ แบบที่ต่อให้มีเงินล้านก็หาซื้อไม่ได้เป็นรางวัลของชีวิต
 
นิว เปิดฉากเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กชายตัวน้อยสนใจจะทำงานเป็นอาสากู้ภัยว่า ได้รับแรงบันดาลจากน้าซึ่งเป็นอาสากู้ภัย ทำให้ได้มีโอกาสติดสอยห้อยตามไปด้วยหลายครั้ง จนเกิดเป็นความสนใจเลยไป อบรมเพื่อเป็นอาสากู้ภัย
 

ปฏิพล เชื้อโตหลวง การช่วยชีวิต คือ ‘ความสุขที่ประเมินค่าไม่ได้’

 
ปัจจุบันนิวเป็นอาสากู้ภัยของมูลนิธิร่วมกตัญญู แล้วก็เป็นเจ้าหน้าที่กู้ชีพของศูนย์กู้ชีพนเรนทรโรงพยาบาลราชวิถี
 
“งานอาสากู้ภัยจริงๆ แล้ว ใครๆ ก็สามารถทำได้ แต่ด้วยความเป็นที่งานนี้ขึ้นอยู่กับชีวิตคน เพราะฉะนั้นจะทำเล่นๆ ไม่ได้ ถ้าอยากเป็นอาสาสมัครที่ดีและถูกต้องอาจจะต้องไปเรียนรู้และฝึกอบรมเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่เป็นประจำ อย่างตอนนี้นิวเรียนที่ศูนย์กู้ชีพนเรนทรโรงพยาบาลราชวิถีไปจนถึงระดับเป็นเวชกรฉุกเฉินระดับต้น (Emergency MedicalTechnician Basic Emt-B)
 
การเรียนตรงนี้ช่วยให้เราทำหน้าที่เป็นเหมือนด่านแรกในการวิเคราะห์สถานการณ์ตรงหน้า เพื่อให้ข้อมูลกับทางโรงพยาบาลได้ว่า ผู้ประสบอุบัติเหตุอาการเป็นอย่างไร จากนั้นทีมจะประเมินอาการว่าเราจะสามารถช่วยเขาได้เลย หรือต้องส่งรถพยาบาลระดับแอดวานซ์มารับผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาล”
 

ปฏิพล เชื้อโตหลวง การช่วยชีวิต คือ ‘ความสุขที่ประเมินค่าไม่ได้’

 
อย่างไรก็ตาม นิว ย้ำว่า คำว่าอาสาสมัครไม่ได้วัดกันที่ว่าใครจบหลักสูตรอะไรมา แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ทุกคนต้องรู้ขอบเขตการทำงานของตัวเอง
 
“ทุกวันนี้ผมปฏิบัติหน้าที่อยู่ในกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ครับ เน้นในละแวกพื้นที่ใกล้ๆ บ้าน ยกเว้นกรณีที่มีภัยพิบัติเราก็จะลงพื้นที่ไปช่วยเหลือในนามมูลนิธิอย่างช่วงน้ำท่วมปี 2554 ผมก็ไปเป็นอาสาช่วยที่ จ.พระนครศรีอยุธยา แต่โดยส่วนใหญ่เคสในการกู้ภัยจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ เคสผู้ป่วย เช่น ปวดหัวหรือปวดท้องหนักๆ ตลอดจนผู้สูงอายุมีอาการไม่ปกติ ถ้ามีคนโทรแจ้งมาที่ศูนย์สั่งการ เราก็จะรีบไปช่วยเหลือ ส่วนอีกเคสคือ งานอุบัติเหตุ เช่น รถชน คนตกบันได คนตกจากที่สูง เป็นต้น”           
 
นับตั้งแต่เริ่มทำงานกู้ภัยมา ถามว่าเคยลองนับหรือไม่ว่าได้เข้าไปช่วยเหลือมาแล้วกี่เคส นิวตอบด้วยแววตาที่เปี่ยมไปด้วยความจริงใจว่า
 

ปฏิพล เชื้อโตหลวง การช่วยชีวิต คือ ‘ความสุขที่ประเมินค่าไม่ได้’

 
“ไม่เคยนับเลยครับ แต่ผมจะนึกถึงเวลาที่ขับรถผ่านจุดที่เคยเกิดอุบัติเหตุว่าตรงนี้เราเคยช่วยคนไว้นะ หรือบางทีได้เจอคนที่เราเคยช่วยเหลือเขาไว้ สำหรับผม ทุกเคสที่ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยเหลือ ผมรู้สึกภูมิใจหมดครับ ไม่ว่าเคสนั้นสุดท้ายแล้วผู้ประสบภัยที่เราเข้าไปช่วยเหลือจะมีชีวิตรอดหรือไม่  
 
แน่นอนว่า ถ้าเขารอดนั่นคือ รางวัลสำหรับผม แต่ถ้าเคสไหนโชคร้าย ผมจะปลอบใจตัวเองว่า ถ้าเราทำดีที่สุดแล้ว ก็ต้องปล่อยให้ความเศร้านี้ผ่านไปเพื่อเดินหน้าช่วยเหลือคนอื่นต่อไป”
 
เกือบ 10 ปีในฐานะอาสากู้ภัย สิ่งที่นิวมองว่าเป็นพลังให้ยังมุ่งมั่นทำงานนี้นอกจากความรู้สึกดีๆ ที่ได้จากการช่วยเหลือคนอื่นให้หายจากความเจ็บป่วย งานนี้ยังสอนให้นิวได้เรียนรู้และเห็นอีกมุมมองหนึ่งของชีวิตที่คนอื่นอาจไม่เห็น โดยเฉพาะการใช้ชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท
 

ปฏิพล เชื้อโตหลวง การช่วยชีวิต คือ ‘ความสุขที่ประเมินค่าไม่ได้’

 
สำหรับใครที่อยากมาเป็นอาสากู้ภัย นิวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ต้องเตือนตัวเองเสมอคือ งานอาสากู้ภัยไม่ใช่เข้ามาทำงานสนุกหรือใส่ชุดเท่ๆ แต่เรามาเพื่อช่วยคน
 
“ผมเริ่มเข้ามาทำตรงนี้จริงจังตอนอายุ 18-19 ปี ผมคิดว่าคำว่าอาสาสมัครไม่ได้จำกัดว่าต้องอายุเท่าไร ขอแค่เรามีใจที่อยากทำ อยากจะช่วย แต่อย่างที่บอกเราต้องรู้ขอบเขตหน้าที่ และมีความรู้รอบด้านมากพอเพื่อที่จะได้ช่วยเหลืออย่างถูกวิธี เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด มิฉะนั้นสุดท้ายแทนที่จะได้ช่วย เราอาจกลายเป็นภาระให้กับหน่วยกู้ภัยแทน”