posttoday

พระรุ่นใหม่สร้างงานศิลป์ เพื่อเด็กและเยาวชน

27 กันยายน 2561

พระปัญญาชัย พุทธรักขิโต แห่งสวนธรรมภูศิลป์ ผู้มีใจรักงานศิลปะ

เรื่อง วรธาร ทัดแก้ว ภาพ คอลเลกชั่น พระปัญญาชัย 

ถ้าพูดถึงศิลปินผู้สร้างงานศิลปะของ จ.เชียงราย ณ เวลานี้ใครๆ ก็ต้องนึกถึงอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ผู้สร้างวัดร่องขุ่น แต่ถ้าเป็นพระสงฆ์ก็ต้องยกให้พระปัญญาชัย พุทธรักขิโต วัย 43 ปี แห่งสวนธรรมภูศิลป์ อ.พาน จ.เชียงราย

ท่านเป็นพระหนุ่มที่มีใจรักในงานศิลปะตั้งแต่เด็ก พยายามศึกษาเรียนรู้งานช่างและงานศิลปะตั้งแต่เป็นสามเณรจนกระทั่งอุปสมบท ที่สำคัญสามารถถ่ายทอดงานช่างและงานศิลปะให้กับเด็กและเยาวชนตั้งแต่ยังเป็นสามเณร

วันนี้มารู้จักชีวิตและการทำงานศิลปะของพระอาจารย์ปัญญาชัย เชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่รู้จักท่านดีพอ

พระรุ่นใหม่สร้างงานศิลป์ เพื่อเด็กและเยาวชน

ชอบงานศิลปะตั้งแต่วัยเด็ก

พระอาจารย์ปัญญาชัยชอบงานศิลปะมาตั้งแต่จำความได้ สมัยเรียน ป.3-4 หลังจากเลิกเรียนกินอาหารเย็นก็จะให้คุณตาพาไปส่งที่บ้านช่างพื้นบ้านในหมู่บ้านเพื่อเรียนวาดภาพและงานปั้น จากนั้นก็มาฝึกฝนที่บ้านจนสามารถวาดรูปได้ดี ส่วนงานปั้นก็ทำได้ไม่เลว นำหน้าเด็กๆ รุ่นเดียวกัน

พระปัญญาชัย เล่าว่า สำหรับงานปั้นวัสดุที่ใช้ในสมัยเด็กส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวและขี้ผึ้ง เพราะสมัยนั้นตามชนบทหาดินน้ำมันยาก ขี้ผึ้งพอหาได้ก่อน ส่วนดินเหนียวก็ไปเอาในบ่อน้ำ ผลงานที่ปั้นส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูป สิงโต เป็นต้น

ผลงานปั้นที่สร้างความภูมิใจตอนเรียนประถมคือ งานปั้นพระพุทธรูป โดยใช้พระพุทธรูปที่โรงเรียนเป็นแบบปั้นขนาดหน้าตักประมาณ 1 ศอก

“ช่วงปั้นพระพุทธรูปนี้อาตมาอยู่ ป.3-4 พอปั้นเสร็จปล่อยให้ดินเซตตัวแล้วยกขึ้นรถเข็นมาที่บ้าน โยมแม่เห็นตอนแรกตกใจแต่ก็ชื่นชม ถ้าถามความรู้สึกเกี่ยวกับผลงานชั้นนี้ ด้วยวัยที่ยังเด็กรู้สึกชอบและมองว่ามีความงามในระดับหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่งที่ประทับใจ คือการนำขี้ผึ้งมาปั้นเป็นปลาช่อน เสร็จแล้วนำไปวางในร่องน้ำจงใจให้ยายเห็น อยากแกล้งยายเล่น พอยายมาเห็นก็นึกว่าเป็นปลาจริง”

ใฝ่รู้ มุ่งมั่น อุตสาหะในงานศิลปะ

ตลอดเวลาที่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 ได้ศึกษาเรียนรู้งานศิลปะกับช่างศิลป์พื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานจิตรกรรม ทั้งงานประติมากรรม ฝึกฝนพัฒนาตัวเองทุกวันจนมีความสามารถในเชิงศิลปะที่ค่อนข้างโดดเด่นกว่าเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน

ต่อมาเรียนจบชั้นป. 6 ก็ได้บวชสามเณรเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม และพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ (มัธยมศึกษา) จนจบ ม.6 ที่วัดป่าซาง อ.พาน จ.เชียงราย ได้เรียนวิชาศิลปะเพิ่มเติมจากอาจารย์สอนศิลปะในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ

นอกจากนี้ ได้ใช้วันหยุดไปศึกษาดูงานตามวัดและสถานที่ต่างๆ กลับมาก็ฝึกหัดพัฒนาฝีมือ และซื้อหนังสือศิลปะ เช่น หนังสือลายไทย มาศึกษาและฝึกหัดวาดตาม จนสามารถจดจำลวดลายต่างๆ และเขียนได้เป็นอย่างดี

แค่นี้ยังไม่พอ สามเณรปัญญาชัยมักจะนั่งรถเดินทางไปดูงานก่อสร้างและเรียนรู้งานช่างหลากสาขา ไม่ว่าจะเป็นช่างปูน ช่างปั้น ช่างไม้ ช่างจิตรกรรมฝาผนัง ช่างโลหะ จากช่างที่ได้รับการว่าจ้างจากทางวัดต่างๆ ให้มาสร้างโบสถ์ วิหาร ซุ้มประตู กำแพง หอระฆัง หรือเสนาสนะอื่นๆ ยิ่งถ้ารู้ว่าเป็นช่างฝีมือดีมักจะไม่พลาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้ด้วย

พระรุ่นใหม่สร้างงานศิลป์ เพื่อเด็กและเยาวชน

ด้วยความเป็นสามเณรที่มีใจใฝ่เรียนรู้ ทำให้ช่างคนแล้วคนเล่าเห็นแล้วให้ความเอ็นดูและยินดีถ่ายทอดวิชาความรู้งานศิลปะและงานช่างที่ตัวเองถนัดด้วยความเต็มใจ

พอได้วิชาความรู้จากครูช่างที่หลากหลายก็กลับมาฝึกฝนพัฒนาตนเอง ณ วัดที่จำพรรษา โดยงานปั้นก็ใช้ดินเหนียว ดินน้ำมันและปูนฝึกหัดจนสามารถสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพในระดับน่าพอใจ ขณะเดียวกันเวลาที่วัดมีการก่อสร้างและบูรณะที่เกี่ยวกับงานวาดและงานปั้นก็จะอาสาช่วยรวมทั้งยังไปทำให้วัดอื่นๆ อีกด้วย

“ผลงานที่สร้างสรรค์ออกมาส่วนใหญ่เป็นงานพุทธศิลป์ เช่น พระพุทธรูป และผลงานที่อิงพุทธศาสนาหรือแฝงด้วยคติธรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น ครั้งเกิดอธิกรณ์กับอดีตพระยันตระ อาตมาเกิดความรู้สึกสะเทือนใจเลยเขียนภาพสะท้อนความรู้สึกเกี่ยวกับวงการพระพุทธศาสนาในขณะนั้น เป็นรูปพระพุทธเจ้าทรงยืนหันหลังและมีเสมาธรรมจักรอยู่เบื้องหน้าพระองค์ ในใบเสมาธรรมจักรจะมีรอยร้าวเพื่อต้องการสื่อให้รู้ว่าภัยพระพุทธศาสนากำลังเกิดขึ้น ตามคติความเชื่อของเราชาวพุทธเชื่อว่าศาสนาพุทธจะอยู่ได้ 5,000 ปี บัดนี้ก็ล่วงเลยมาเกินกึ่งหนึ่งแล้ว เราก็เริ่มเห็นภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนา”

พระรุ่นใหม่สร้างงานศิลป์ เพื่อเด็กและเยาวชน

ทำงานศิลปะเต็มตัวและถ่ายทอดงานศิลป์แก่คนรุ่นใหม่

ช่วงใกล้จบ ม.6 (อายุ 17-18 ปี) ต่อเนื่องถึงจบ ม.6 พระปัญญาชัย (ขณะนั้นยังเป็นสามเณร) ได้ทุ่มเทกับงานศิลปะทั้งงานจิตรกรรมและประติมากรรมอย่างมาก นอกจากขวนขวายด้วยตัวเองแล้วบางครั้งเจ้าอาวาสวัดที่เคยอยู่ด้วยและเจ้าอาวาสวัดที่รู้จักได้เมตตาพาไปแนะนำให้รู้จักและเรียนรู้งานจากช่างฝีมือดีหลายต่อหลายคน

ครั้งหนึ่งได้พาไปศึกษางานปั้นจากช่างปั้นที่จบจากอินเดีย ทำให้ได้รู้เทคนิคและสไตล์การปั้นแล้วกลับมาฝึกหัดด้วยตัวเองจนสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ดีและประณีตมากขึ้น

จากนั้นก็เข้าสู่โหมดของการทำงานศิลปะอย่างเต็มตัว เป้าหมายคือต้องการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจ เริ่มต้นด้วยการช่วยงานวัดที่ตัวเองเคยอยู่อาศัยและจำพรรษามาก่อน เช่น วัดท่าฮ้อ วัดราษฎร์ดำรง จ.เชียงราย เป็นต้น โดยได้รับความไว้วางใจจากเจ้าอาวาสที่เชื่อมั่นในฝีมือให้รับผิดชอบงานปั้น เช่น ปั้นพระพุทธรูป พญานาค งานปั้นหน้าบัน ช่อฟ้า ใบระกา รวมทั้งงานจิตรกรรมและอื่นๆ

ผลงานที่ฝากไว้ในวัดที่เคยจำพรรษา ทำให้เจ้าอาวาสวัดอื่นๆ เห็นแล้วประทับใจ ติดต่อให้ไปทำที่วัดของตน นอกจากนี้ยังมีสถานศึกษาอีกหลายแห่งใน จ.เชียงราย และใกล้เคียงติดต่อให้ไปปั้นพระพุทธรูปไว้ในโรงเรียน และจากภาพการทำงานที่เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นและใจรักในงานศิลปะทำให้เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ นักศึกษาจำนวนไม่น้อยหันมาสนใจและเรียนรู้งานศิลปะตั้งแต่ท่านยังเป็นสามเณร

“คนที่มาเรียนในช่วงแรกๆ จะเป็นเยาวชนในหมู่บ้านที่มาเห็นอาตมาทำงานก็อาสามาช่วยผสมปูน ช่วยยกนั่นยกนี่ จากนั้นก็มีเยาวชนจากหมู่บ้านใกล้เคียง และนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ในเชียงราย

ทุกครั้งที่ถ่ายทอดความรู้แก่ลูกศิษย์ก็สอนพวกเขาให้รู้จักการให้ การมีจิตใจสาธารณะ และการสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม ชุมชน บ้านเกิด สถานศึกษาที่เคยเรียนถ้ามีฝีมือและมีโอกาสต้องตอบแทน

สิ่งหนึ่งที่อาตมาทำแล้วลูกศิษย์รับรู้ก็คือ เวลาที่อาตมาได้รับการติดต่อให้ไปปั้นพระพุทธรูป ไม่ว่าสถานที่นั้นจะเป็นวัด หน่วยงานราชการ ชุมชน หมู่บ้าน หรือที่ไหนๆ ก็ตาม จะไม่มีค่าแรงให้และต้องทำฟรี อาตมาจะสอนลูกศิษย์อยู่เสมอว่าการสร้างพระพุทธรูปนั้นเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ เวลาสร้างให้ทุกคนอนุโมทนาบุญร่วมกัน และภูมิใจว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างด้วยฝีมือของเราเพื่อให้คนได้กราบไหว้บูชา แต่ถ้าลูกศิษย์รับงานเองก็แล้วแต่เขา เพราะเขาต้องอยู่ต้องกิน ต้องเลี้ยงครอบครัว”

ต้น-พรหมมินทร์ วิชา อายุ 36 ปี ศิษย์พระอาจารย์ปัญญาชัย เล่าว่า เรียนศิลปะกับพระอาจารย์ตั้งแต่ท่านอยู่วัดราษฎร์ดำรง อ.พาน เชียงราย ตอนนั้นเขากำลังเรียน ม.ต้น เห็นพระอาจารย์กำลังสร้างวิหาร ทำซุ้มประตูและหน้าต่างวิหาร เกิดอยากช่วยเลยขออาสาผสมปูนให้และเป็นลูกมือช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ ไปก่อน โดยใช้เวลาว่างวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และหลังเลิกเรียนไปกับเพื่อนๆ 2-3 คน

“ต่อมาพระอาจารย์เห็นว่ามีความมุ่งมั่นเลยสนับสนุนให้วาดรูป โดยให้เรียนรู้ลายไทยเริ่มจากลายง่ายๆ แล้วขยับไปสู่ลายที่ยากและซับซ้อนขึ้น จนในที่สุดสามารถเรียนรู้ลายไทยได้เป็นอย่างดี จากนั้นท่านก็สอนงานปั้นให้ เช่น ปั้นรูปพญานาค ปั้นรูปใบระกา ช่อฟ้า

ผมฝึกหัดเรียนรู้งานจิตรกรรมและประติมากรรมกับท่านเป็นเวลาเกือบ 20 ปี จนมีความสามารถในการสร้างสรรค์งานประติมากรรมเป็นที่ยอมรับ มีการส่งประกวดและได้รับรางวัลมาหลายงาน ปัจจุบันก็ได้ใช้วิชาความรู้ตรงนี้สร้างอาชีพและรายได้ให้กับตัวเองจนแทบไม่มีเวลาว่าง ต้องขอบคุณพระอาจารย์ที่ทำให้ผมมีวันนี้”

พระรุ่นใหม่สร้างงานศิลป์ เพื่อเด็กและเยาวชน

สร้างศูนย์เรียนรู้ภูศิลป์เพื่อเด็กและเยาวชน

หลังจากอุปสมบทและทำงานศิลปะต่อเนื่องจากตอนเป็นสามเณรมาประมาณ 24 ปี ซึ่งระหว่างนั้นได้มีลูกศิษย์จากจังหวัดต่างๆ เช่น จ.น่าน พะเยา ตาก สุโขทัย เชียงใหม่ และจากอำเภอต่างๆ ใน จ.เชียงราย มาเรียนรู้และฝึกหัดด้วย

ต่อมาเมื่อปีที่ผ่านมา ท่านได้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ภูศิลป์ซึ่งตั้งอยู่ที่สวนธรรมภูศิลป์ สถานที่พักปัจจุบัน เพื่อเปิดสอนศิลปะแขนงต่างๆ ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรมงานไม้แกะสลัก งานโลหะ งานปูน รวมทั้งการสอนดนตรีพื้นเมืองล้านนา ซึ่งจะมีลูกศิษย์คอยช่วยสอนอีกด้วย

“อาตมามองว่าความรู้ที่เรียนด้วยความอุตสาหะทุ่มเทและใจรัก ก็อยากถ่ายทอดวิชาความรู้เหล่านี้ีให้กับอนุชนรุ่นหลัง ต้องการอนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญหาย นอกจากนี้คนที่เรียนยังสามารถนำวิชาความรู้นี้ไปสร้างสรรค์ชีวิตและครอบครัวให้มีความเป็นอยู่ที่ดี นำไปสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับชาติ ศาสนา รวมถึงส่งเสริมเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตราบนานเท่านาน อาตมาหวังเพียงแค่นี้ เจริญพร” พระอาจารย์ปัญญาชัย กล่าวทิ้งท้าย

นี่คือหนึ่งในพระดีและเป็นพระรุ่นใหม่ที่ชาวพุทธควรต้องส่งเสริมและให้กำลังใจ ล่าสุด ท่านได้รับการติดต่อจากพระสุธีรัตนบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ ให้มาออกแบบใบเสมารอบพระอุโบสถ เชื่อว่าอีกไม่นานก็คงจะได้เห็นผลงาน