posttoday

แพทย์ พยาบาล ... ผลิตเท่าไรไม่เคยพอ?

24 กันยายน 2561

ยิ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นเท่าไร เรายิ่งมีความต้องการแพทย์และพยาบาลเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

เรื่อง : โยธิน อยู่จงดี ภาพ : pixabay.com

ยิ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นเท่าไร เรายิ่งมีความต้องการแพทย์และพยาบาลเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ข้อมูลเมื่อปี 2560 จากระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตบุคลากรทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยแบ่งเป็นการผลิตบุคลากรแพทย์ ประมาณ 3,121 คน/ปี จากคณะแพทยศาสตร์ 21 แห่งทั่วประเทศ และสามารถผลิตบุคลากรด้านพยาบาล ประมาณ 1.1 หมื่นคน/ปี

ยังไม่นับรวมนักเทคนิคการแพทย์และแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นๆ อีกราว 2,000 คน/ปี และทุกคนในทุกตำแหน่งล้วนมีงานรองรับชนิดที่เรียกได้ว่าล้นมือ

เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเอ็มโอยูด้านการแพทย์ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กับคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี นี่นับเป็นหนึ่งในสัญญาณที่บ่งบอกว่า ประเทศไทยกำลังมีความต้องการบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่กำลังการผลิตนั้นมีอยู่จำนวนจำกัด ทางแก้ที่จำเป็นที่สุด คือ การขยายมหาวิทยาลัยที่พร้อมจะผลิตบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ

แพทย์ พยาบาล ... ผลิตเท่าไรไม่เคยพอ?

เปิดคณะแพทยศาสตร์ควรมีพี่เลี้ยง

ผศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เล่าถึงความจำเป็นในการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ว่า “เนื่องจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เปิดสอนทั้งในสายวิชาสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพ เราจึงเปิดคณะพยาบาลศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ เพราะเห็นว่าในสายสุขภาพนี้เป็นเรื่องจำเป็นและเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะเกี่ยวในเรื่องของความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน

จึงมีแผนการเปิดคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่เกี่ยวกับสุขภาพของเราทุกคน ซึ่งเราก็ได้รับความกรุณาจากท่านอธิการบดี คณบดีทุกท่านจากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ที่เห็นความสำคัญในเรื่องการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอกับความต้องการของคนไทย โดยรับเป็นสถาบันพี่เลี้ยงให้กับมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้การดูแลของวชิรพยาบาล ที่มีความเข้มแข็งด้านองค์ความรู้ทางการแพทย์ระดับสูงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย การที่มหาวิทยาลัยแพทย์เหล่านี้รับเป็นพี่เลี้ยงให้กับมหาวิทยาลัยอื่นที่จะเปิดหลักสูตรด้านการแพทย์ขึ้นมา จะเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ในงานวิจัย หลักสูตรการเรียนการสอน หลักสูตรกระบวนการอบรมสัมมนา เทคโนโลยี เครื่องไม้เครื่องมือ ที่เป็นประโยชน์ต่อคณาจารย์และนักศึกษา

เมื่อมีความพร้อมในทุกด้านแล้ว ไม่นานก็น่าจะส่งตัวหลักสูตรและรายละเอียดต่างๆ ให้กับทางแพทยสภาวิชาชีพ รับรองหลักสูตรให้เรียบร้อยถึงจะเปิดอย่างเป็นทางการได้

เพราะว่าการเปิดคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ จะต้องมีหลักสูตรให้กับแพทยสภาส่ง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นคนตรวจสอบ ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกินปี 2563 จะเปิดคณะแพทยศาสตร์ได้ ซึ่งเรามีแผนว่าในรุ่นแรกจะรับนักศึกษาทั้งหมด 32 คน ในรุ่นแรกแล้วก็รุ่นต่อไปจะรับอยู่ที่ 60 คน โดยจะมีอาจารย์แพทย์จากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เข้ามาร่วมสอนด้วย

บอกได้เลยว่าการเปิดคณะแพทยศาสตร์ขึ้นมานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือในการเรียนการสอน และยังต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทยสภาอีกด้วย”

นักเรียนไทยไหลไปเรียนแพทย์ประเทศจีน

“อีกเหตุผลหนึ่งที่เราตัดสินใจเปิดหลักสูตรการเรียนการสอน ไม่ใช่เพราะว่าเราเปิดคณะพยาบาลศาสตร์มา 10 ปี แล้วจึงมาเปิดคณะแพทยศาสตร์ แต่เป็นเพราะว่าปัญหาอย่างหนึ่งของประเทศไทยที่ประสบอยู่ในเวลานี้ ก็คือ การขาดบุคลากรทางการแพทย์ ในแต่ละปีเราผลิตออกมาไม่พอ

ประกอบกับทุกวันนี้นักศึกษาของเราต้องไปเรียนที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีนักเรียนไทยไปเรียนแพทย์ที่ประเทศจีนเป็นจำนวนมาก เพราะบ้านเราถูกจำกัดด้วยกำลังการผลิตแพทย์ไม่เพียงพอ เพราะมีไม่กี่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่เปิดคณะแพทยศาสตร์

ประกอบกับตัวเด็กนักเรียนหรือผู้ปกครองที่อยากให้ลูกเรียนแพทย์ เมื่อสอบในประเทศไทยไม่ได้ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาเลือกที่จะเดินทางไปเรียนต่อในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน ที่ทราบตรงนี้ก็เพราะว่าเราได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมผู้ปกครองของนักศึกษาชาวจีนที่มาเรียนกับเรา ก็พบว่ามีนักศึกษาไทยให้ความสนใจไปเรียนแพทย์ที่เมืองปักกิ่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งปักกิ่งเป็นเมืองหลวงก็จะมีมหาวิทยาลัยแพทย์ที่มีชื่อเสียง เปิดรับนักศึกษาต่างชาติ

ในขณะที่ประเทศไทยเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เกินกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศไทย เป็นผู้สูงอายุ และในอีก 3 ปีข้างหน้า เราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น ซึ่งจะมีผู้สูงอายุเกือบ 15 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด เพราะฉะนั้นในเรื่องของการผลิตบุคลากรแพทย์จึงมีความจำเป็นมาก

แต่ว่าคนที่จะเรียนในคณะแพทย์จะต้องเป็นผู้เรียนในระดับหัวกะทิจริงๆ มีความเก่งมีความสามารถทางวิชาการทุกๆ ด้าน ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการสอบแพทย์ จะมีความเข้มงวดในการสอบและการสอน เพราะเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ในชีวิตมนุษย์

จากปัญหาที่ผ่านมา ทางภาครัฐโดยกระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายมาว่าให้เพิ่มจำนวนการผลิตแพทย์เพิ่มอีกปีละ 3,000 คน ทางมหาวิทยาลัยจึงขานรับนโยบาย เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ไม่ใช่ว่าให้มีการเพิ่มจำนวนนักศึกษาแพทย์แล้วจะรับได้ง่ายขึ้น ความเข้มงวด ความละเอียดอ่อนในการคัดเลือก กระบวนการเรียนการสอน และเมื่อนักศึกษาแพทย์เรียนจบออกไปแล้ว ไปสอบใบประกอบวิชาชีพจะต้องผ่านคุณภาพระดับสูงเหมือนเดิม”

เรียนแพทย์ในไทยอุ่นใจกว่าต่างประเทศ

ในงานแนะแนวการศึกษาแพทย์ในต่างประเทศของแพทยสภา ได้ให้ข้อมูลความรู้การเรียนแพทย์ในต่างประเทศไว้ว่า สำหรับคนที่สนใจจะเรียนแพทย์ในต่างประเทศแนะนำให้มาปรึกษากับแพทยสภาก่อนเป็นอันดับแรก เพราะมีมหาวิทยาลัยไม่กี่แห่งในแต่ละทวีป ที่แพทยสภาให้การรับรองหลักสูตรว่าสามารถเรียนได้มีความเหมาะสม

แต่การรับรองที่ว่านี้ไม่ใช่ว่าเรียนแล้วจะกลับมาประกอบวิชาชีพแพทย์ในประเทศไทยได้เลย เรารับรองแค่หลักสูตรของเขาได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ แต่การจะกลับมาเป็นแพทย์จะต้องกลับมาสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ประเทศไทยเสียก่อน ถึงจะทำงานเป็นแพทย์ในประเทศไทยได้

ดังนั้น ในเบื้องต้นทางแพทยสภาขอแนะนำให้เรียนในประเทศไทยจะดีกว่า เพราะทุกวันการแพทย์ในประเทศไทยของเราก้าวหน้าไปมาก มีการเรียนการสอนแพทย์เฉพาะทางในทุกสาขา มีองค์ความรู้ในการวินิจฉัยเรื่องโรค มีหลักสูตรการเรียนการสอนและการฝึกหัตถการที่สอดคล้องกันตลอดหลักสูตร อีกทั้งในเรื่องภาษาก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้นักศึกษาแพทย์จะได้ทำการฝึกฝนการซักประวัติคนไข้ แต่หากต้องการไปเรียนต่อต่างประเทศและจะทำงานเป็นแพทย์ในประเทศนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่หลักๆ แล้วหากต้องการเป็นแพทย์ในประเทศไทยก็อยากให้สอบเรียนที่บ้านเราจะดีกว่า หากสอบเท่าไรก็สอบไม่ติดก็อาจจะต้องพิจารณาว่าเรามีความเหมาะสมที่จะเป็นแพทย์ได้หรือไม่ เพราะคนที่จะเป็นแพทย์ได้จะต้องมีความรู้ความสามารถที่ดี เรียนจบไปแล้วต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของผู้ป่วย

แพทย์ พยาบาล ... ผลิตเท่าไรไม่เคยพอ?

พยาบาลจองตัวตั้งแต่ตอนเรียน

หากเห็นตัวเลขพยาบาลที่ผลิตได้ต่อปีเป็นหลักหมื่นคน ดูแล้วก็น่าจะเพียงพอกับความต้องการของโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้วพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ทำงานหนัก ต้องเข้ากะเวรหมุนเวียนกันอยู่ตลอด ทำให้พยาบาลส่วนหนึ่งลาออกจากงานไปประกอบอาชีพอื่น อีกส่วนย้ายไปทำงานให้กับคลินิก หรือโรงพยาบาลเอกชน หรือรับเป็นพยาบาลดูแลผู้ป่วยตามบ้านซึ่งให้ค่าตอบแทนที่ดีกว่า ดังนั้นแม้จะมีกำลังการผลิตที่ดูเพียงพอ แต่สุดท้ายพยาบาลก็ยังเป็นแรงงานที่ขาดตลาดอยู่เสมอ

ผศ.ดร.บังอร เสริมต่อว่า “นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ก็มีลักษณะที่คล้ายกับนักศึกษาแพทย์ คือ มีการผลิตในจำนวนที่จำกัดภายใต้การดูแลของสภาการพยาบาล สำหรับนักศึกษาพยาบาลของเรามีการผลิตได้ปีละ 120 คน แต่เห็นจำนวนขนาดนี้ต้องบอกเลยว่า นักศึกษาพยาบาลทุกคนจะมีโรงพยาบาลทั้งของภาครัฐและเอกชน มาจองตัวให้ทุนการศึกษา เพื่อที่ว่าเรียนจบไปแล้วจะได้ไปทำงานกับโรงพยาบาลของเขา ตั้งแต่เรียนเทอม 2 ปี 2 เรียกได้ว่าเข้ามาเรียนพยาบาลแล้วได้งานตั้งแต่ตอนเรียน และในแต่ละปีก็มีจำนวนผู้สนใจสมัครเรียนมากกว่าจำนวนที่นั่งเรียนทุกปี

ดังนั้น ในส่วนของวิทยาลัยพยาบาลทางมหาวิทยาลัยก็มีโครงการที่จะผลิตเพิ่มด้วยเช่นกัน โดยต้องร้องขอทางสภาการพยาบาลในการผลิตบุคลากรพยาบาลเพิ่ม เพราะว่าผลิตเท่าไรก็ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดที่ต้องการพยาบาลไปทำงานในสถานพยาบาลและคลินิกต่างๆ เพิ่มมากขึ้นทุกปี

แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรแพทย์ หรือพยาบาล การเพิ่มกำลังการผลิตบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญในเวลานี้ก็จริง แต่สิ่งที่ยังต้องยึดมั่นไว้ ก็คือ ผลิตออกไปแล้วต้องเป็นแพทย์ที่มีคุณภาพ เป็นพยาบาลที่มีคุณภาพ การเรียนต้องเข้มข้นจริงจัง เพราะเมื่อพวกเขาเรียนจบออกไปแล้วจะต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ เกี่ยวข้องกับสุขภาพของเราทุกคน ต้องเป็นแพทย์ที่เก่ง รอบคอบ จริงจัง มีจิตวิญญาณของความเป็นแพทย์ มีจรรยาบรรณ ขยันหาองค์ความรู้ และมีคุณธรรม”