posttoday

เครื่องนุ่งห่ม จากเส้นด้ายยีนส์เหลือทิ้ง ศิริณา เมืองมูล

17 กันยายน 2561

เปลี่ยนขยะเหล่านั้นให้กลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้งไม่เว้นกระทั่งวงการการออกแบบเอง

เรื่อง วราภรณ์ ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียกำลังเติบโตขึ้น ผลกระทบที่ตามมาพร้อมกันนั้นคือ ปัญหา “สิ่งแวดล้อม” ที่กำลังแปรผันไปสู่สภาวะที่แย่ลง หนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดปัญหาดังกล่าวคือ ปัญหา “ขยะ” ที่มีปริมาณมากขึ้นทั้งขยะอุตสาหกรรม ขยะมูลฝอย ขยะทางการเกษตร ขยะจากการก่อสร้าง ไปจนถึงขยะจากทะเล ซึ่งไม่ได้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมด้วย

ข้อมูลสถิติปริมาณขยะในทะเลล่าสุดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าประเทศไทยติดอันดับ 6 ประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุดในโลก ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยจะมีความรู้ความสามารถในการจัดการกับขยะอย่างเป็นระบบ แต่ก็ทำให้สูญเสียงบประมาณในการจัดการขยะเหล่านี้เป็นจำนวนมาก

เครื่องนุ่งห่ม จากเส้นด้ายยีนส์เหลือทิ้ง ศิริณา เมืองมูล

จากสาเหตุดังกล่าววงการอุตสาหกรรมมากมายได้หันมาให้ความสำคัญในการลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้น และเปลี่ยนขยะเหล่านั้นให้กลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้งไม่เว้นกระทั่งวงการการออกแบบเอง เช่นเดียวกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาศิลปอุตสาหกรรม ภาควิชาการออกแบบสิ่งทอ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดให้เด็กๆ ได้ทำโปรเจกต์ส่งก่อนจบชั้นปีที่ 4 ของนักศึกษาอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพราะเศรษฐกิจหมุนเวียนกำลังเป็นเทรนด์งานออกแบบที่น่าจับตามอง

หลากหลายอุตสาหกรรมได้เริ่มต้นใช้กระบวนการจัดการของเสียผ่านการออกแบบวัสดุ หรือ Material Design ที่นำวัตถุดิบซึ่งผ่านกระบวนการผลิตและบริโภคกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ หรือนำมาใช้ซ้ำเพื่อช่วยลดปัญหามลภาวะที่เกิดจากขยะ และลดความเสี่ยงของการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต

เรย์-ศิริณา เมืองมูล นักศึกษาวัย 23 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาเอกศิลปอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็ได้เข้าส่งผลงานในโครงการออกแบบสิ่งทอจากเส้นด้ายยีนส์เหลือทิ้ง ซึ่งคณะของเธอสอนให้ออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะโปรเจกต์ก่อนที่จะจบการศึกษา อาจารย์ให้โจทย์ คือ ออกแบบสิ่งของหรือเครื่องนุ่งห่มจากของเหลือใช้ในอุตสาหกรรม เธอเลือกเส้นด้ายที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมผลิตยีนส์ เพราะเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว

“คณะของหนูสอนให้นักศึกษามีความอดทน เพราะงานแต่ละโปรเจกต์ที่ฝึกให้หนูคิด ออกแบบ และวางแผนเป็นงานที่ต้องใช้เวลา เพราะต้องผ่านกระบวนการคิด ออกแบบ ต้องละเอียดมากๆ เราจึงต้องใส่ใจ และนักศึกษาทุกคนต้องส่งงานให้ตรงเวลา ถึงแม้งานจะไม่ดีมากมายก็ต้องส่งให้ตรงเวลา ทำให้หนูต้องจัดแจงเวลาเพื่อให้ผลงานออกมาดี เพราะคำว่าตรงเวลาเป็นสิ่งสำคัญ เหมือนทำให้เราตัดสินใจ จัดสรรเวลา ต้องวางแผนก่อนว่าสิ่งใดควรทำก่อนทำหลัง ทำงานจนสำเร็จออกมาให้ได้ คณะหนูเน้นการเข้าช็อปทำงานจริง เช่น ไปเลื่อยไม้ ขึ้นรูปเอง หนูสามารถทอผ้าเอง ขึ้นเส้นยืนเองในโครงการที่หนูออกแบบ”

เครื่องนุ่งห่ม จากเส้นด้ายยีนส์เหลือทิ้ง ศิริณา เมืองมูล

สำหรับแรงบันดาลใจในงานออกแบบสิ่งทอจากเส้นด้ายยีนส์เหลือทิ้งเป็นแนวคิดที่เรย์หาไอเดียเอง เพราะมีวิชาหนึ่งที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เธอจึงอยากทำขั้นตอนของการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ครบทั้งระบบ เพราะตามหลักการรักษาสิ่งแวดล้อมและตามหลักรีไซเคิล ซึ่งหนูไปหาสิ่งเหลือทิ้งจากโรงงาน เช่น โรงงานผลิตยีนส์โรงงานก็จะทิ้งเศษยีนส์ไปเปล่าๆ หนูคิดว่ายีนส์ก็ทำมาจากเส้นใยคอตตอนซึ่งมีกระบวนการผลิตคอตตอนคือ ปลูก พ่นยา เก็บ เข้าสู่การทอซึ่งกว่าจะได้ผ้าแต่ละผืนต้องใช้ระยะเวลามากกว่าจะได้เส้นฝ้าย หนูจึงคิดอยากนำเอาคอตตอนมาจากเส้นด้ายยีนส์ เพราะยีนส์ผลิตจากคอตตอนอยู่แล้ว หนูจึงนำคอตตอนที่เหลือทิ้งมาปั้นใหม่ให้เป็นเส้นใยฟูๆ ปั้นเป็นเส้นด้ายจนไม่เหลือเค้าของยีนส์เลย เป็นการปรับคุณสมบัติให้ฝ้ายนุ่มด้วยเอนไซม์ทำให้ย่อยสลายทำให้ฝ้ายนุ่ม ถือเป็นการลดปริมาณการใช้ฝ้าย โดยใช้ยีนส์แทนเพราะฝ้ายปลูกนาน”

เมื่อปั่นยีนส์จนกลายเป็นเส้นใยแล้ว แนวคิดต่อมาคือการออกแบบลวดลายการทอ เรย์ออกแบบลายผ้าของเธอเป็น “ภูเขาน้ำแข็ง” เพื่อสื่อถึงภาวะโลกร้อนจนเกิดน้ำแข็งหลอมละลาย

“ถ้าสังเกตลายผ้าดีๆ ลายที่อยู่บนผ้าจะเหมือนเป็นภาพสเกตช์ หรือภาพเล่าเรื่องราวของการละลายของน้ำแข็ง ในหนึ่งผืนมีหนึ่งลาย ผ้าทออีกผืนก็มีอีก 1 ลวดลาย หนูออกแบบทั้งหมด 7 ลวดลาย ล้วนเล่าเรื่องราวของน้ำแข็งละลาย การแตกแยกน้ำแข็ง ซึ่งการแตกก็มีแตกหลายระดับ”

เครื่องนุ่งห่ม จากเส้นด้ายยีนส์เหลือทิ้ง ศิริณา เมืองมูล

การทำงานใช้ความคิดสร้างสรรค์มักย่อมเกิดปัญหาในการทำงาน เรย์เล่าว่า ขั้นตอนการทำงานที่ยากที่สุดคือ ของเธอเน้นการผลิตเส้นด้าย ดังนั้นขั้นตอนที่ยากที่สุด คือ การปั่นเส้นดาย ซึ่งคือขั้นตอนแรก เธอใช้วิธีทดลองใช้ที่ขูดขนสัตว์ทำให้เส้นด้ายฟูๆ เสร็จแล้วเธอนำมาทดลองให้ชาวบ้านปั่นให้เป็นเส้นด้าย เรียกว่าการเข็นเส้นด้าย ซึ่งชาวบ้านก็สามารถทำได้ ซึ่งกว่าความคิดจะตกผลึกที่เส้นด้ายจากยีนส์เหลือใช้ เธอเคยทดลองใช้วัสดุเส้นไหม โดยใช้เส้นไหมของชาวบ้าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ที่เลือกไปเชียงรายเพราะเป็นบ้านเกิด และเธออยากสร้างงาน เพราะชาวบ้านเคยมีโรงงานทอผ้าแต่หยุดกิจการไป แต่ยังเหลือชาวบ้านที่มีฝีมือด้านการทอผ้า ทำให้เธอคุ้นชินกับวิถีชาวบ้านคือการทอผ้า จึงเป็นที่มาของการเลือกทำเครื่องนุ่งห่ม

“อุปสรรคและการแก้ไขปัญหา มีตอนการปั่นเส้นใย หนูปั่นโดยใช้แรงงานคน ถ้าชาวบ้านปั่นเร็วเกินไป เส้นด้ายใหญ่ไป ทำให้เส้นด้ายไม่เท่ากันในแต่ละล็อต ส่งผลให้หนูเอาเส้นด้ายมาทอแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน หนูแก้ไขปัญหาด้วยการเปลี่ยนการทอ ถ้าด้ายเส้นเล็กใช้วิธีรวบเป็นสองเส้นให้เป็น 1 เส้น เพื่อให้เส้นด้ายมีขนาดเท่ากัน เพราะเราปั่นใหม่ไม่ได้มันเสียเวลาค่ะ”

กว่าจะเป็นหมอนอิง ผ้าคลุมไหล่สีฟ้าอมขาว เธอใช้เวลาค้นคว้าและทดลองใช้ระยะเวลาถึง 1 ปีเต็ม

“หลักการคิดกว่าจะเป็นโปรดักต์ของนักศึกษา เริ่มแรกคืออาจารย์ให้นักศึกษาคิดหัวข้อวิทยานิพนธ์ตอนจบ และคิดถึงความเป็นไปได้ หนูทดลองจนปั่นเป็นเส้นด้ายได้ใช้เวลา 1 เดือน เทอมแรกส่งงาน 3 รอบ ได้แก่ พัฒนาแบบรอบแรกผ่านแล้วรอบ 2 พัฒนาแบบ ต้องทอเป็นผืนผ้าให้ได้ แล้วก็รอบที่ 3 คิดเป็นโปรดักต์ทำจริง ว่าหากผลงานเสร็จแล้วใช้ได้จริงไหม”

สำหรับประโยชน์ใช้สอยของโปรเจกต์ของน้องเรย์ คือ ใช้นุ่งห่มให้คลายหนาว ใช้ปกปิดร่างกาย ซึ่งความคาดหวังกับผลงานชิ้นนี้คือเธออยากพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้นอกเหนือจากผ้าคลุม ปลอกหมอน อาจะเป็นชุดชนเผ่า คลุมตัวคอวี หรือบอนโซ ให้มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เพราะเป้าหมายของเรย์คือเธออยากให้ผลงานที่เธอสร้างสรรค์สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน มีความเรียบง่าย เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ คือ ชอบความคล่องตัว เรียบง่าย และไม่ซับซ้อน

หากใครสนใจงานของศิริณา สามารถติดต่อผ่านไอจี rayrayrai ได้เลย เธออยากพัฒนาตนเองเพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นนักออกแบบด้านสิ่งทอและนักออกแบบจิวเวลรี่ หากมีโอกาสเธออยากเพิ่มพูนประสบการณ์ทั้งสองด้านนี้ควบคู่กัน เพราะเป็นสองสิ่งที่เธอมีความสุขที่จะทำและได้เรียนรู้